×

การแยกขยะในชุมชน เพิ่มมูลค่า รักษาสิ่งแวดล้อม ทุกคนทำได้

โดย THE STANDARD TEAM
17.06.2020
  • LOADING...

“เริ่มต้นจากการแยกขยะให้ถูกต้อง ขยะก็จะถูกนำกลับไปสร้างคุณค่าใหม่ได้”

 

เมื่อได้รับความรู้เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ภายใต้แนวปฏิบัติ SCG Circular Way ด้วยการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตั้งแต่การผลิต การใช้ และวนกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นวัตถุดิบใหม่มาใช้ ชาวชุมชนตำบลบ้านสาและตำบลเมืองมาย ในอำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง จึงได้นำแนวทางดังกล่าวข้างต้นมาเป็นวิถีปฏิบัติสำหรับการแก้ปัญหาเรื่องขยะได้อย่างยั่งยืนของชาวชุมชนทั้งสองด้วยความเต็มใจ 

 

 

คุณป้าทัศนีย์ สูงงาม หัวหน้าฐานขยะแห่งบ้านแป้นโป่งชัย ตำบลบ้านสา ที่บ้านของคุณป้ามีถังขยะอยู่ 6 ถัง แบ่งตามประเภทชนิดของขยะ เหตุนี้ทุกคนจึงยึดมั่นต่อหน้าที่ในการจัดการขยะ ช่วยกันรับผิดชอบ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่ 

 

เริ่มจากการคัดแยกในครัวเรือน เพื่อให้เหลือขยะทิ้งน้อยที่สุด ก่อนที่ขยะแต่ละประเภทจะถูกส่งต่อไปตามเส้นทางสายใหม่ที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะเหมือนเช่นในอดีต

 

 

คุณเกษร หมั่นทำ หัวหน้าฐานขยะอินทรีย์ นำเศษอาหารไปหมักไว้ในถังปุ๋ยก่อน แล้วฝังไว้ในดิน และ คุณป้าสายทอง สูงงาม กับการจัดการขยะประเภทใบไม้ ใบหญ้า โดยหากเป็น ขยะประเภทเศษอาหาร ใบไม้ ใบหญ้า จะถูกนำมาทิ้งไว้ใน ‘เสวียน’ (สิ่งประดิษฐ์จากภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่นำไม้ไผ่มาสานกันเป็นคอกรอบบริเวณต้นไม้) ทำเป็นปุ๋ยหมักตามธรรมชาติ สามารถสร้างความชุ่มชื้นให้กับดิน จึงไม่จำเป็นต้องรดน้ำต้นไม้บ่อยๆ  

 

คุณลุงไพบูลย์ เก่งจริง ผู้นำด้านการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างคุ้มค่า ในส่วน ขยะประเภทรีไซเคิล อย่างขวดพลาสติกประเภทต่างๆ สามารถนำมาขายกับโครงการธนาคารขยะ และใช้ความคิดสร้างสรรค์เพิ่มมูลค่าแปรเป็นผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ตะกร้า พัด หมวก หรือผ้ากันเปื้อน ที่นอกจากจะนำมาใช้งานในชีวิตประจำวันได้แล้ว ยังสามารถจำหน่ายและสร้างรายได้เสริมให้กับชาวชุมชนอีกด้วย

 

 

คุณศิริ ตามวิสัย หัวหน้าฐานขยะอันตราย สำหรับประเภท ขยะอันตราย อย่าง ถ่านไฟฉาย หลอดไฟฟ้า และกระป๋องสารเคมีต่างๆ ชาวชุมชนทั้งสองตำบลสามารถเก็บรวบรวมเพื่อนำมาแลกเป็นไข่ไก่กับทางเทศบาล ที่พร้อมให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

 

แม้จะพยายามจัดการขยะตามแนวทาง ‘Circular Economy’ อย่างเต็มที่แล้วก็ตาม แน่นอนที่สุดย่อมมีขยะส่วนเกินที่ไม่สามารถนำไปหมุนเวียนใช้ประโยชน์ใดๆ ได้ สำหรับขยะประเภทนี้จะถูกนำไปทำเป็นเชื้อเพลิงขยะ หรือ RDF (Refuse Derived Fuel) เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ต่อไป

 

 

นอกจากเรื่องการแยกขยะทั้งหมดแล้ว อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ทั้งสองตำบลดำเนินการควบคู่ไปด้วยนั่นคือ การปลูกฝังจิตสำนึกแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับเยาวชน และคนในพื้นที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ ไม่ว่าจะเป็น การสอนให้เด็กนักเรียนคัดแยกกล่องนม หลังจากดื่มเสร็จแล้ว นำมาล้างทำความสะอาดให้เรียบร้อยก่อนทิ้ง หรือการที่ชาวบ้านนำขยะที่คัดแยกและล้างจนสะอาดมาทำเป็นผ้าป่ารีไซเคิลให้กับวัดในแต่ละปี เป็นต้น

 

 

จากความสำเร็จของการบริหารจัดการขยะในตำบลบ้านสา ชุมชนได้ขยายผลการดำเนินการไปยังตำบลเมืองมายที่อยู่ใกล้เคียง โดยมี พรกนก ลาภเกิด ตัวแทนจากองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองมาย และ ละมัน ฟังเพราะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านนางาม เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการขับเคลื่อนการจัดการขยะในชุมชน รวมถึงการให้ความรู้และเก็บสถิติของการจัดการขยะของแต่ละบ้าน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับคนในชุมชนที่จะทดลองอะไรใหม่ๆ และนำมาปรับใช้ให้เข้ากับวิถีชีวิตประจำวันของชุมชน 

 

โดยในปี 2562 ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างในเอสซีจี ได้สนับสนุนโรงคัดแยกขยะให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองมาย อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ภายใต้โครงการปันโอกาสปีที่ 13

 

จะเห็นได้ว่าวิธีการคัดแยกขยะในครัวเรือนเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ใครๆ ก็ทำได้ เพียงแค่มีความตั้งใจ มองเห็นมูลค่าจากสิ่งของรอบตัว พร้อมกับความมุ่งมั่น ได้รับความร่วมมือจากทุกคนในชุมชนและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพียงเท่านั้น

 

ครั้งหน้าเราจะมาเล่าถึงเรื่องราวหลังจากชาวชุมชนคัดแยกขยะในครัวเรือนกันแล้ว พวกเขาจะไปทำอะไรต่อ และมีกิจกรรมใดบ้างที่น่าสนใจแบบเจาะลึก รับรองรู้แล้วจะต้องทึ่ง

 

สามารถเข้าไปอ่านเรื่องราวของตอนที่ 1 ทำความรู้จักตำบลบ้านสาและตำบลเมืองมาย กับการยืนหนึ่งวิถีชุมชนจัดการขยะที่ https://thestandard.co/scg-circular-economy-2/

เราทุกคนสามารถร่วมมือกันช่วยสร้างโลก เพียงเปลี่ยนวิธีคิด ปรับวิธีการแยกขยะ เรียนรู้แนวปฏิบัติของ ‘SCG Circular Way’ ได้ที่ http://bit.ly/FBSCGCES028

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising