วานนี้ (2 มกราคม) สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยมีใจความสำคัญระบุว่า นโยบายการคัดแยกขยะที่ต้นทางที่ไม่จริงจังของรัฐบาลเป็นสาเหตุของการล่มสลายในการจัดการปัญหาขยะในประเทศ พร้อมระบุข้อความอธิบายแยกไว้ ดังนี้
- การคัดแยกขยะเป็นเรื่องที่สำคัญ การที่ประชาชนทิ้งขยะโดยไม่ได้คัดแยก ทำให้ขยะที่คัดแยกได้มีปริมาณน้อยและช้ากว่าความต้องการของโรงงาน ดังนั้น การนำเข้าขยะสำเร็จรูปจึงตอบโจทย์ได้ดีกว่า จึงเป็นที่มาของการที่ราคาขยะตกต่ำ ซาเล้งเลยชอกช้ำไปตามๆ กัน
- ประเทศในแถบยุโรปเกือบทุกแห่ง รัฐบาลจะออกกฎหมายให้แต่ละบ้านต้องแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ดังเช่นในประเทศเยอรมนีและเบลเยียม รัฐบาลจะขอให้มีถังสำหรับแยกขยะประเภทต่างๆ ตั้งอยู่หน้าบ้าน 4 ถัง มีสีต่างๆ กัน ดังนี้ ถังสีดำสำหรับทิ้งขยะแห้งที่ย่อยสลายไม่ได้ทั่วไป เช่น ไม้สำลี ทิชชู่เช็ดมือ, ถังสีน้ำตาลเรียกว่าถัง Bio สำหรับทิ้งเศษอาหาร ผลไม้, ถังสีเหลืองสำหรับทิ้งผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติกทั้งหมด, ถังสีเขียวสำหรับทิ้งกระดาษเก่า รวมทั้งกล่องกระดาษ, สำหรับขยะประเภทขวดแก้ว กระป๋องจะถูกนำไปทิ้งในตู้คอนเทนเนอร์ที่ตั้งไว้แหล่งชุมชน ขยะขนาดใหญ่ เช่น โต๊ะ เตียง ที่นอน ฯลฯ ต้องแจ้งเทศบาลมาเก็บเป็นครั้งคราว ส่วนขยะชุมชนอันตราย เช่น หลอดนีออน ถ่านไฟฉาย กระป๋องสเปรย์ ฯลฯ ให้รวบรวมไปใส่ภาชนะไว้ที่ปั๊มน้ำมัน ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่รัฐมารวบรวมไปจัดการอีกที
- วันไหนเจ้าของบ้านนำขยะผิดประเภทไปใส่ในถังขยะหน้าบ้าน เช่น เอาขยะเศษอาหารไปใส่ในถังขยะแห้ง รถเก็บขยะของเทศบาลซึ่งจะมาเก็บรวบรวมขยะทุกวันในช่วงเช้าระหว่างเวลา 06.00-07.00น. เมื่อเปิดเจอจะถ่ายรูปไว้ และไม่เก็บขยะที่บ้านนั้น รวมทั้งจะไม่เก็บขยะในชุมชนของวันนั้นด้วย โดยจะมีหนังสือมาให้เจ้าของบ้านไปเสียค่าปรับที่เทศบาล (ประมาณ 3,000-5,000 บาท) ขณะเดียวกันจะมีประกาศไปติดในชุมชน แจ้งสาเหตุของการไม่เก็บขยะในชุมชนวันนั้น ซึ่งอาจทำให้บ้านที่ทิ้งขยะผิดประเภทถูกชุมชนรุมประณามได้ (Social Sanction) ทำให้ทุกบ้านในชุมชนจะเคร่งครัดในการแยกขยะกันอย่างมาก สิ่งที่ตามมาคือ เกิดการแยกขยะกันทั้งประเทศ
- หลังจากนั้นรัฐบาลนำขยะแห้งทั้งหมดไปใช้เป็นเชื้อเพลิงเข้าโรงไฟฟ้าขยะ (Waste to Energy), ขยะเปียกนำไปทำปุ๋ยหมักขายให้ประชาชนในราคาถูก, ขยะประเภทอื่นๆ นำไปรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ ส่วนขยะอันตรายนำไปฝังกลบอย่างปลอดภัย (Secure Landfill)
- ประเทศไทยเน้นการสร้างจิตสำนึกและการจัดการรณรงค์ให้ประชาชนแยกขยะเป็นครั้งคราว ซึ่งมีประชาชนจำนวนมากได้แยกขยะเช่นกัน แต่ระบบการเก็บรวบรวมขยะของรัฐเองกลับล้าสมัย ไม่สามารถนำขยะดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ได้ รวมทั้งที่ผ่านมา รัฐไม่มีนโยบายหรือกฎหมายให้ประชาชนแยกขยะที่ต้นทางอย่างจริงจัง แต่กลับไปเน้นการสร้างโรงคัดแยกขยะและการกำจัดขยะที่ปลายทางมากกว่า ซึ่งทำได้ยากและต้องลงทุนสูง จึงเป็นสาเหตุที่มาของกองภูเขาขยะจำนวนมากตามเทศบาลต่างๆ นั่นเอง
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล