ขึ้นแท่นตำนานเต็มตัวแล้ว สำหรับ วอร์เรน บัฟเฟตต์ มหาเศรษฐีนักลงทุน ผู้ก่อตั้ง Berkshire Hathaway บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการลงทุนที่มีเงินสดหมุนเวียนภายในบริษัทสูงถึง 1.44 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้ฉลองวันเกิดครบรอบวัย 91 ปีในวันจันทร์ที่ผ่านมา (30 สิงหาคม) ด้วยการปรับกลยุทธ์การลงทุนของบริษัทให้มีพลวัตและความยืดหยุ่นมากขึ้น เห็นได้จากการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนของ Berkshire Hathaway ในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีให้มากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งประเมินว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นการส่งสัญญาณให้นักลงทุนเห็นว่า แม้อายุจะเลยวัยเกษียณมาหลายสิบปี แต่ปู่บัพเฟตต์ยังคงมีวิสัยทัศน์ที่แจ่มชัดด้านการลงทุน และพร้อมเปิดรับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ติดตามบัฟเฟตต์มาอย่างยาวนานย่อมต้องตระหนักดีว่าสไตล์การลงทุนของบัฟเฟตต์จะมุ่งเน้นไปยังธุรกิจที่เป็น ‘กระดูกสันหลัง’ ของเศรษฐกิจ ไล่เรียงตั้งแต่สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การรถไฟ ประกันภัย บ้าน และค้าปลีก ซึ่งต่อให้ที่ผ่านมาจะทำให้บริษัท Berkshire Hathaway ยืนอยู่ได้อย่างมั่นคง แต่ก็ทำให้พลาดโอกาสเติบโตและทำกำไรจากบริษัทหน้าใหม่ด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมทั้งหลายอย่างเช่น Amazon
อย่างไรก็ตาม เจ้าพ่อนักลงทุนเจ้าของฉายา Oracle of Omaha ได้เริ่มมีการปรับกลยุทธ์และแนวทางการลงทุนของตัวเองจากเดิมไปแล้ว เพื่อปรับตัวให้เข้ากับเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ ด้วยการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นบริษัทกลุ่มเทคโนโลยีมากขึ้น
โดยมีรายงานว่าสัดส่วนพอร์ตการลงทุนของ Berkshire Hathaway ให้น้ำหนักไปที่หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีมากถึง 44.5% รองลงมาคือหุ้นบริษัทการเงินที่ 30.3% ตามด้วยบริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค 12.7% สินค้าฟุ่มเฟือย 4.7% และสื่อสารโทรคมนาคมที่ 3.3%
รายงานระบุว่า หุ้นเทคโนโลยีหลักๆ ที่ Berkshire Hathaway ลงทุนมากที่สุดคือ Apple ที่เริ่มเข้าซื้อในปี 2016 ก่อนจะเพิ่มปริมาณการลงทุนจนมาอยู่ที่มากกว่า 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน ขึ้นแท่นเป็นหุ้นที่ถือครองมากที่สุดในขณะนี้ นับเป็นก้าวย่างที่ค่อนข้างแหวกขนบอนุรักษ์นิยมของ Berkshire Hathaway ไม่น้อย เมื่อพิจารณาจากเมื่อสิบปีที่แล้ว หุ้นเทคโนโลยีที่ Berkshire Hathaway ยอมถือเป็นจำนวนมากมีเพียง IBM เท่านั้น
ขณะเดียวกัน ปู่บัฟเฟตต์ยังฉีกกฎของตัวเองอีกครั้งด้วยการหันไปลงทุนในหุ้นที่เสนอขายต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก หรือหุ้น IPO ซึ่งเป็นสิ่งที่บัฟเฟตต์เคยปรามาสไว้ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าลงทุนใน StoneCo ฟินเทคสตาร์ทอัพสัญชาติบราซิล ที่ออกหุ้น IPO ในปี 2018 หรือซื้อหุ้น IPO ของ Paytm สตาร์ทอัพด้านการชำระเงินดิจิทัลของอินเดียในปี 2020 และล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ที่เข้าซื้อหุ้น Pre-IPO ของ Nubank ธนาคารดิจิทัลในบราซิล
ทั้งนี้ ครั้งล่าสุดที่บัฟเฟตต์ยอมซื้อหุ้น IPO คือปี 1956 โดยเป็นหุ้นของ Ford ค่ายรถยนต์ชั้นนำของสหรัฐ
เจมส์ ชานาฮัน นักวิเคราะห์จาก Edward Jones กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นสะท้อนการเปลี่ยนแปลงด้านพอร์ทการลงทุนของ Berkshire Hathaway ภายใต้บัตเฟตต์อย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงเป็นการปล่อยและส่งไม้ต่อให้ผู้สืบทอดอย่าง ท็อดด์ โคมบ์ส และ เท็ด เวชเลอร์ ให้มีพื้นที่และโอกาสแสดงฝีไม้ลายมือในแวดวงธุรกิจ ก่อนที่บัฟเฟตต์จะอำลาตำแหน่งซีอีโอของตนอย่างจริงจัง
ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งมองว่า การที่บัฟเฟตต์ยอมปรับกลยุทธ์การลงทุนของตนในครั้งนี้ ได้แสดงให้เห็นวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของเจ้าพ่อนักลงทุนอาวุโสรายนี้ ที่ตระหนักดีว่าอนาคตของเศษฐกิจโลกยุคใหม่ไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยธุรกิจแบบเดิมๆ อีกต่อไป และเทคโนโลยีนวัตกรรมทั้งหลายคือหนึ่งในเดิมพันใหม่ของการเติบโตของ Birkshire Hathaway
กระนั้น หลายฝ่ายมองว่าสิ่งที่ปู่บัฟเฟตต์ไม่มีวันและไม่มีทางยกเลิกไปแน่ๆ ก็คือวินัยทางการลงทุน ที่พร้อมจะมองหาและเข้าหาหุ้นมูลค่าต่อไป
อ้างอิง:
เตรียมพบกับฟอรัมที่ผู้บริหาร ‘ต้องดู’ ก่อนวางแผนกลยุทธ์ปีหน้า! The Secret Sauce Strategy Forum คัมภีร์กลยุทธ์ฝ่าวิกฤตปี 2022
📌 เฟรมเวิร์กกลยุทธ์ใช้ได้จริง
📌 ฉากทัศน์เศรษฐกิจไทย–โลก
📌 เทรนด์ผู้บริโภค–การตลาด
📌 เคสจริงจากผู้บริหาร
พิเศษ! บัตร Early Bird 999 บาท วันนี้ถึง 27 สิงหาคมนี้เท่านั้น
ซื้อบัตรได้แล้วที่ www.zipeventapp.com/e/the-secret-sauce