×

แพทย์เตือน 4 ประเด็นควรรู้ PM2.5 ทำให้อายุสั้น อยู่ในบ้านก็หนีไม่พ้น บุหรี่สร้างฝุ่นมากกว่าเครื่องยนต์ดีเซล

โดย THE STANDARD TEAM
01.02.2019
  • LOADING...

คณะกรรมการชมรมลมวิเศษ ร่วมกับแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ร่วมด้วยเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ เครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ และโครงการอุ่นใจเมื่อใกล้แพทยสมาคมฯ จัดงานแถลงข่าว ‘ถอด N95 ร่วมแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋ว’ เพื่อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ที่กำลังปกคลุมกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอย่างหนาแน่นและส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนอยู่ในขณะนี้อย่างเป็นระบบและยั่งยืน เพื่อคืนลมหายใจดีๆ กลับสู่คนกรุงเทพฯ อีกครั้ง

 

ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกรรมการที่ปรึกษาชมรมลมวิเศษ ผู้ที่ติดตามการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันพิษในจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือมาอย่างต่อเนื่อง ได้กล่าวว่าปัญหาฝุ่นจิ๋วที่กำลังคุกคามสุขภาพของคนกรุงเทพมหานครมี 4 ประเด็นสำคัญคือ

 

1. ผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชนขั้นรุนแรง โดยผลกระทบในระยะสั้นที่รุนแรงคือเพิ่มอัตราการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยรายวันจากโรคระบบการหายใจ หัวใจ และหลอดเลือดสมองให้สูงขึ้น เช่น โรคปอดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง ส่วนผลกระทบในระยะยาวที่ร้ายแรงคืออายุขัยเฉลี่ยสั้นลงตามระดับความเข้มข้นค่าเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 ในพื้นที่บ้านเกิด โดยพบว่าทุกๆ 10 มคก./ลบ.ม ของ PM2.5 ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ที่เกิดและอยู่อาศัยในพื้นที่นั้นอายุขัยสั้นลง 0.98 ปี ซึ่งหากสามารถลดระดับความเข้มข้นของ PM2.5 ลงมาตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำค่าเฉลี่ยต่อปีไว้คือ 10 มคก./ลบ.ม. จะทำให้อายุขัยของประชาชนยืนยาวเพิ่มขึ้นอีก 5.53, 4.37 และ 2.41 ปีตามลำดับ

 

2. การกำหนดค่ามาตรฐาน องค์การอนามัยโลกกำหนดระดับค่าความเข้มข้นของ PM2.5 รายวันและรายปีที่ทำให้ประชากรโลกเสี่ยงต่อการเสียชีวิตและมีผลกระทบต่อสุขภาพขั้นรุนแรงน้อย โดยมาตรฐานดังกล่าวสามารถดำเนินการควบคู่ไปกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมให้เจริญก้าวหน้าไปได้อย่างยั่งยืน สำหรับประเทศที่มีระดับมลพิษสูงมากๆ เช่น จีน อินเดีย บังกลาเทศ และเนปาล องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ตั้งเป้าหมายในการลดมลพิษเป็นลำดับขั้นให้ชัดเจน เช่น ขั้นแรกตั้งเป้าหมายค่าเฉลี่ยรายปี โดยลดให้ไม่เกิน 35 มคก./ลบ.ม และเมื่อทำได้ก็ตั้งเป้าหมายระยะกลาง โดยลดให้ได้ไม่เกิน 25, 15 และ 10 มคก./ลบ.ม ตามลำดับ

 

3. การประกาศใช้ดัชนีคุณภาพอากาศรายวัน สำหรับการเตือนประชาชนอย่างรวดเร็วเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพน้อยที่สุด และกระตุ้นให้ภาครัฐจัดสรรงบประมาณและมีมาตรการรองรับตามสมควรกับระดับดัชนีคุณภาพอากาศ ดังนั้นจึงควรใช้ค่าการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศที่ไวพอในการเตือนประชาชน เช่น US-EPA AQG ไม่ใช่ตั้งค่าไว้สูงๆ ไว้ก่อน เมื่อสูงมากแล้วค่อยเริ่มเตือน เสมือนลวงให้ประชาชนเข้าใจผิดว่ายังไม่เป็นอันตราย ทำให้ประชาชนไม่มีการป้องกันตนเองและครอบครัว ทำให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและสุขภาพ และยังมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจ การท่องเที่ยว การลงทุน ตลอดจนภาพลักษณ์ของประเทศอีกด้วย

 

4. คุณภาพอากาศในบ้าน ในห้อง ในอาคาร คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าการหลีกเลี่ยงปัญหาฝุ่นละอองภายนอกโดยการเก็บตัวอยู่ในบ้านหรือในอาคารก็ปลอดภัยเพียงพอ ออกไปที่โล่งค่อยใส่หน้ากาก N95 อันที่จริงแล้วเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะเมื่อพักอยู่ในอาคาร เช่น ห้างสรรพสินค้า ห้องเรียน ห้องทำงาน จะเปิดเครื่องปรับอากาศหรือไม่ก็ตาม สภาพห้องโดยทั่วไปมักปิดไม่สนิท อากาศภายนอกยังคงเล็ดลอดเข้ามาในอาคารได้ ทำให้ระดับของฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ภายในอาคารลดต่ำลงจากภายนอกเพียงแค่ร้อยละ 15-20 ของระดับฝุ่นภายนอกในขณะนั้นเท่านั้น อากาศที่ดูดเข้ามาใช้ในการหมุนเวียนในอาคารมักไม่ได้ผ่านการกรองละเอียด สภาพอากาศในอาคารจึงไม่ต่างจากภายนอกมากนัก ดังนั้นเมื่ออยู่บ้านหรือห้องทำงาน การมีเครื่องฟอกอากาศจึงเป็นเรื่องจำเป็นในช่วงที่คุณภาพอากาศภายนอกไม่ดี

 

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการที่ปรึกษาชมรมลมวิเศษ กล่าวว่า “นับจากนี้ไปคนกรุงเทพฯ จะต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้สามารถรับมือกับปัญหาฝุ่นจิ๋วนี้ให้ดีและปลอดภัยขึ้น เช่น การใส่หน้ากากในช่วงที่มีปริมาณฝุ่นอยู่ในระดับสูง การงดกิจกรรมทางกายกลางแจ้ง การใช้เครื่องฟอกอากาศในบ้าน การเช็ดถูบ้านด้วยผ้าเปียกแทนการกวาดบ้านหรือดูดฝุ่น เป็นต้น

 

“อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหานี้ในระยะยาวต้องอาศัยทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการลดที่มาของฝุ่นทั้งแหล่งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก เช่น โรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้าง โรงไฟฟ้าถ่านหิน การขนส่งต่างๆ ต้องมีการควบคุมปริมาณฝุ่นให้ลดลงตามมาตรฐานสากล ลดการบริโภคสินค้าที่ก่อให้เกิดฝุ่นควันมากขึ้น เช่น ยาสูบทุกประเภท นอกจากนี้ภาครัฐอาจต้องเข้ามาช่วยเหลือในการพัฒนานวัตกรรมในการผลิตและขนส่งให้มีฝุ่นน้อยลง การตรวจสอบมาตรฐานเครื่องยนต์ต่างๆ เช่น รถยนต์ที่เสื่อมสภาพ รถยนต์ดีเซลต้องได้รับการตรวจตราที่เข้มงวดอย่างจริงจัง รวมทั้งต้องมีระบบการแจ้งเตือนประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงให้ปฏิบัติตนอย่างถูกต้องเพื่อความปลอดภัยของตนเองและควรได้รับการดูแลที่ทันท่วงทีในช่วงที่เกิดวิกฤต เป็นต้น ซึ่งจากงานวิจัยพบว่าหากเราดำเนินมาตรการต่างๆ เหล่านี้ให้เห็นผลจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของประชาชนลงได้ถึง 3.5% ภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี”

 

รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และประธานกรรมการที่ปรึกษาชมรมลมวิเศษ กล่าวว่า “แหล่งที่มาของฝุ่นจิ๋วอีกแหล่งหนึ่งที่สำคัญและมักถูกมองข้ามคือกระบวนการผลิตและบริโภคยาสูบ มีงานวิจัยเปรียบเทียบปริมาณฝุ่นจิ๋วที่เกิดขึ้นจากการสูบบุหรี่เทียบกับควันไอเสียจากรถยนต์ดีเซล ปรากฏว่าระดับฝุ่นจิ๋วที่เกิดขึ้นในอากาศทั่วไปจากการสูบบุหรี่มีมากกว่าจากเครื่องดีเซลถึง 10 เท่า คือมีมากถึง 319 มคก./ลบ.ม. ในขณะที่มาตรฐานของฝุ่นจิ๋วในอากาศที่องค์การอนามัยโลกยอมรับได้อยู่ที่ 10 มคก./ลบ.ม. เท่านั้น นั่นหมายความว่าการสูบบุหรี่อย่างเดียวก็ทำให้อากาศของเรามีฝุ่นจิ๋วปนเปื้อนสูงกว่ามาตรฐานที่ยอมรับกันถึง 30 เท่า ไม่เพียงแค่นั้น ฝุ่นจิ๋วเหล่านี้ไม่ได้อยู่แค่ในสิ่งแวดล้อมทั่วไปเท่านั้น แต่ฝุ่นจิ๋วยังถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายของผู้สูบบุหรี่เองด้วยในปริมาณมากถึง 22 มคก./ลบ.ม. ต่อมวน ทำให้ผู้สูบได้รับอันตรายจากฝุ่นจิ๋วแบบสะสม เช่นเดียวกับการสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่ทำให้เกิดฝุ่นจิ๋วสูงถึงระดับ 515 มคก./ลบ.ม. ดังนั้นหากจะช่วยคนไทยให้มีลมหายใจไร้ฝุ่นทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ทำได้โดยเริ่มต้นที่ตนเองด้วยการเลิกบุหรี่ทั้งแบบดั้งเดิมและบุหรี่ไฟฟ้า ท่านจะช่วยชาติลดปริมาณฝุ่นจิ๋วลงได้ไม่น้อยเลย”

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising