กระทรวงสาธารณสุข ออกคำเตือนในช่วงฤดูร้อน ที่ประเทศไทยจะมีอากาศร้อนจัด ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคลมแดด หรือ Heat Stroke เนื่องจากร่างกายไม่สามารถปรับตัวและควบคุมความร้อนภายในได้ ส่งผลให้เสียชีวิตจากอวัยวะต่างๆ ทำงานล้มเหลว
โดยเฉพาะ 6 กลุ่มเสี่ยงที่เกิดโรคนี้ได้ง่าย ได้แก่ ผู้ที่ทำงานหรือกิจกรรมกลางแดด เช่น ออกกำลังกาย กรรมกร ก่อสร้าง เกษตรกร เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง คนอ้วน ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ และผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ทั้งนี้สถานการณ์ของโรคลมแดดตั้งแต่ปี 2557-2559 มีผู้ป่วยประมาณ 2,500-3,000 รายต่อปี แนวโน้มเพิ่มขึ้น มีผู้ป่วยสูงสุดในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมของทุกปี ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยทำงานที่มีกิจกรรมกลางแจ้ง อาชีพที่พบผู้ป่วยมากสุดคือ เกษตรกรรม รับจ้าง ทหาร ผู้ป่วยมีอายุเฉลี่ยประมาณ 41 ปี ซึ่งเป็นวัยกลางคนและเป็นวัยทำงาน
สำหรับอาการของผู้ที่เป็นลมแดด ได้แก่ อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ไม่มีเหงื่อออก รู้สึกกระหายน้ำมาก ตัวร้อนขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะ ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว เพ้อ ชัก มึนงง หน้ามืด หากไม่ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงทีอาจหมดสติและเสียชีวิตได้ กรณีพบผู้มีอาการโรคลมแดด ขอให้รีบนำเข้าที่ร่ม อากาศถ่ายเทสะดวก ให้นอนราบ ยกเท้าทั้งสองข้างขึ้นสูงเพื่อเพิ่มการไหลเวียน ถอดเสื้อผ้าให้เหลือน้อยชิ้น คลายชุดชั้นใน ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น น้ำแข็งประคบตามซอกคอ หน้าผาก รักแร้ ขาหนีบ ร่วมกับใช้พัดลมเป่าเพื่อระบายความร้อนและลดอุณหภูมิร่างกายให้ต่ำลงอย่างรวดเร็วที่สุด หากไม่หมดสติให้ดื่มน้ำเปล่ามากๆ
สำหรับวิธีป้องกันโรคลมแดด ขอให้พยายามหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดจัด หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ควรดื่มน้ำชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำ