ประเด็นความสูญเสียของ ‘Archegos’ ซึ่งเป็นหนึ่งใน Hedge Fund ขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ ทำให้หลายคนย้อนนึกไปถึงเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันนี้ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ซึ่งเป็นความสูญเสียจำนวนมหาศาลที่ไม่ได้สร้างความเสียหายแก่บริษัทใดบริษัทหนึ่ง แต่ยังกระทบต่อไปเป็นลูกโซ่ จนบางครั้งยังลุกลามกลายเป็นวิกฤตการเงินขึ้นมาภายหลัง
ชื่อของ ‘Archegos Capital Management’ อาจไม่เป็นที่คุ้นหูก่อนหน้านี้ จนกระทั่งสองวันมานี้ Archegos อาจได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งใน Private Investment Fund ที่ถูกเรียกหลักประกัน (Margin Call) ด้วยมูลค่าที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งทำให้บริษัทถูกบังคับขายปิดสถานะ (Forced Liquidation) ที่ถือครองอยู่ในตราสารอนุพันธ์คิดเป็นมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือกว่า 6 แสนล้านบาท เพื่อจำกัดความเสี่ยงไม่ให้มากไปกว่านี้
ในความเป็นจริงแล้วกองทุน Archegos น่าจะมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารเพียงประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์ ถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่มูลค่าของสถานะที่กองทุนถือครองนั้นสูงถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์
และไม่ใช่เพียงแค่กองทุน Archegos เท่านั้นที่ใช้อัตราทด (Leverage) อย่างหนัก เข้ามาช่วยในการลงทุน จากข้อมูลของ Treasury Department’s Office of Financial Research ระบุว่า การใช้ Leverage โดยเฉลี่ยของ Hedge Funds ขนาดใหญ่ 10 แห่ง อยู่ที่ 15.9 เท่า เมื่อเดือนมิถุนายน 2020 แม้จะเป็นระดับที่ลดลงจากจุดพีกที่ราว 24.6 เท่า แต่ก็ยังสูงกว่าการใช้ Leverage ของกองทุนขนาดใหญ่รองลงมาอีก 40 แห่ง ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 5 เท่า
สัญญาณเตือนของการใช้ ‘อัตราทด’ ที่มากเกินไป
แน่นอนว่าสำหรับกองทุน Archegos คงหนีผลขาดทุนจำนวนมหาศาลไม่พ้น แต่สำหรับโบรกเกอร์ต่างๆ ที่ทำสัญญาซื้อขาย Block Trade กับกองทุนอาจจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงแตกต่างกัน
ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ มองว่า ในกรณีของโบรกเกอร์ที่ไหวตัวก่อน และสามารถปิดสถานะของ Archegos ได้เร็ว ก็จะได้รับความเสียหายไม่เท่ากับผู้ที่ปิดสถานะช้า อย่างกรณีของ Morgan Stanley และ Goldman Sachs ถือว่าทำได้เร็ว
แต่หลังจากที่มีแรง Forced Sell มูลค่ามหาศาลออกมาแล้ว ส่งผลให้ราคาหุ้นที่ถูกเทขายออกมาปรับตัวลงแรง ก็จะทำให้โบรกเกอร์ที่ Forced Sell หลังจากนั้นได้รับผลกระทบหนักขึ้น อย่างในกรณีของ Nomura และ Credit Suisse
“ล่าสุดทาง Nomura และ Credit Suisse ก็ออกมายอมรับแล้วว่าผลกระทบจากเหตุการณ์นี้อาจทำให้บริษัทต้องแบกรับผลขาดทุนจำนวนมาก ซึ่งเราก็จะเห็นว่าราคาหุ้นของทั้งสองโบรกเกอร์ต่างก็ลดลงตอบรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น”
ทั้งนี้ ราคาหุ้นของโบรกเกอร์เหล่านี้ช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา ได้แก่ Nomura -17.2% Credit Suisse -13.9% ขณะที่ Morgan Stanley -2.8% Goldman Sachs -1.5%
ณัฐชาตกล่าวต่อว่า ในแง่ของการ Forced Sell อาจจะจบไปแล้วสำหรับโบรกเกอร์ต่างๆ แต่ก็อาจจะมีผลกระทบต่อตลาดได้อีกหากกองทุนดังกล่าวยังมีการถือครองหุ้นอื่นๆ และจำเป็นต้องขายเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องระมัดระวังเพิ่มเติมคือ เหตุการณ์ลักษณะนี้อาจจะเกิดขึ้นได้อีก
“สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสัญญาณเตือนเบื้องต้นสำหรับนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในกลุ่มหุ้นเหล่านี้ ซึ่งส่วนมากเป็นหุ้น Growth และมี P/E สูง ทำให้หลายคนจะเริ่มระวังตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในภาวะที่บอนด์ยีลด์ยังคงเป็นขาขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่บทสรุปที่ว่า กลยุทธ์การลงทุนของปีนี้ควรจะเน้นไปที่หุ้น Value และ Cyclical ที่ยังสามารถเข้าลงทุนไปได้ตลอดทั้งปีนี้”
ส่วนหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากการ Forced Sell หากเป็นบริษัทที่พื้นฐานดี เชื่อว่าจะเป็นโอกาสสำหรับการเข้าลงทุนหลังจากนี้
มณฑล จุนชยะ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.วรรณ มองว่า การใช้อัตราทดเข้ามาช่วยในภาวะที่ตลาดเริ่มปรับขึ้นมาในระดับหนึ่งแล้วเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้อยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมาจะไม่ค่อยเห็นการเปลี่ยนธีมการลงทุนต่างๆ ที่รวดเร็วเท่ากับปัจจุบัน ซึ่งกรณีของ Archegos ก็อาจจะเกิดขึ้นจากการที่ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ไม่ทัน และไม่สามารถปิดสถานะที่มีได้ทันเวลา
“ปัจจุบันตลาดตอบรับกับปัจจัยต่างๆ ได้ดีมากขึ้น ทั้งเรื่องของ Valuation หรือ Relative Yield ส่งผลให้ภาพการลงทุนเปลี่ยนเร็ว และเป็นความเสี่ยงต่อการลงทุนที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการ Forced Sell ครั้งนี้น่าจะจำกัด และในระยะหลังนี้การควบคุมความเสี่ยงของหน่วยงานกำกับก็ทำได้ค่อนข้างดี”
ขณะที่ข้อมูลจาก Bloomberg ระบุว่า ช่วงที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ วิ่งขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง มูลค่าของการใช้มาร์จิ้น (Margin Debt) ก็ปรับตัวขึ้นเช่นกัน จากข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อยู่ที่ราว 8.13 แสนล้านดอลลาร์
Jason Goepfert ประธานบริหารของ Sundial Capital Research กล่าวว่า สมมติให้ยอด Margin Debt พุ่งขึ้นไปสูงกว่า 8.13 แสนล้านบาท สำหรับ ณ สิ้นเดือนเมษายน เท่ากับว่าตัวเลขดังกล่าวจะพุ่งขึ้นมาถึง 70% จากปีก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัวอย่างรวดเร็วมากที่สุดนับแต่ปี 1931 และช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา จะเห็นว่าการเพิ่มขึ้นของ Margin Debt มากกว่าการเพิ่มขึ้นของดัชนี S&P 500 ถึงกว่า 20%
“เมื่อคุณอยู่ในตลาดกระทิงพร้อมกับสภาพคล่องที่เอ่อล้น มันทำให้คุณตกอยู่ในสภาวะมั่นใจมากเกินไป (Overconfidence) และทำให้นักลงทุนบางรายเริ่มระวังตัวน้อยลง” Keith Lerner หัวหน้านักกลยุทธ์ของ Truist Advisory Services กล่าว
ส่องหุ้นที่ได้รับผลกระทบ
จากการ Forced Sell ที่เกิดขึ้น หลักๆ แล้วกระทบต่อหุ้น 9 บริษัท ได้แก่ ViacomCBS, Discovery, Shopify Inc., Baidu, Tencent Music Entertainment Group, GSX Techedu Inc., iQiyi Inc., Vipshop Holdings Ltd. และ Farfetch Ltd.
อย่างไรก็ตาม หุ้นบางตัวในกลุ่มนี้ต่างมีปัจจัยกดดันเฉพาะตัวอยู่ก่อนแล้ว เช่น GSX Techedu ซึ่งถูก Credit Suisse ปรับลดประมาณการเนื่องจากเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น หรืออย่าง ViacomCBS ซึ่งถูก Wells Fargo & Co. หั่นเรตติ้ง ขณะที่ Discovery ซึ่งถูกนักลงทุนตั้งคำถามต่อความสามารถในการรุกธุรกิจทีวีสตรีมมิง
ส่วนหุ้นที่อาจจะเป็นโอกาสสำหรับการเข้าซื้อหลังจากที่ถูกเทขายลงมา Citigroup Inc. มองว่าหุ้นอย่าง Baidu, Tencent Music และ Vipshop คือหุ้นเหล่านั้น
รัฐศรัณย์ ธนไพศาลกิจ หัวหน้าฝ่ายหลักทรัพย์ต่างประเทศและฟิวเจอร์ส บล.บัวหลวง มองว่า มีโอกาสที่หุ้นซึ่งมีมูลค่าสูงในสหรัฐฯ จะถูกเทขายออกมาได้อีก ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่จะเห็นแรงเทขายจาก Hedge Fund อื่นๆ ตามมาได้ แต่การคาดเดาว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ หรือเกิดขึ้นเมื่อใดเป็นเรื่องยาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำได้คือการระมัดระวังการลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงเหล่านี้
ทั้งนี้ หุ้นกลุ่มที่ต้องระมัดระวังคือ หุ้นจีนที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งมีความเสี่ยงในเรื่องของการที่จะถูกเพิกถอนออกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาหลายบริษัทของจีนเริ่มลดความเสี่ยงดังกล่าวด้วยการเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกงเช่นกัน
นอกจากนี้ หุ้นในกลุ่มที่มีค่า P/E สูงมากในระดับเกิน 50 เท่าขึ้นไป ก็มีโอกาสที่จะถูกเทขายออกมาได้เช่นกัน โดยเฉพาะในภาวะที่บอนด์ยีลด์กลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้ง
“ในช่วงนี้นักลงทุนควรจะสลับไปหาหุ้นที่มีราคาสมเหตุสมผล โดยเฉพาะหุ้นที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เช่น Home Depot, Costco และ Caterpillar”
ย้อนรอยตัวอย่างวิกฤตการเงินที่มีชนวนจาก Hedge Fund
การล้มละลายของ Long-Term Capital Management (LTCM) ในปี 1998 หลังจากที่กองทุน LTCM ถูกก่อตั้งก่อนหน้านั้นเพียงแค่ 4-5 ปี โดยมี Myron Scholes และ Robert C. Merton ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ เป็นผู้จัดการกองทุน
ช่วงแรกกองทุน LTCM สร้างผลตอบแทนได้ถึง 27% ต่อปี ทำให้นักลงทุนแห่ใส่เงินเข้ามาจำนวนมาก จน LTCM กลายเป็น Hedge Fund ขนาดยักษ์ และมีเงินลงทุนภายใต้การบริหารถึง 5 พันล้านดอลลาร์ ในปี 1998
ไม่เพียงแค่นั้น กองทุน LTCM ยังได้กู้ยืมเงินเพื่อมาลงทุนเพิ่มอีกกว่า 1.2 แสนล้านดอลลาร์ แต่เมื่อบางอย่างผิดไปจากความคาดหมาย อย่างการเกิดวิกฤตการเงินในรัสเซีย ในขณะที่ LTCM ถือครองพันธบัตรรัฐบาลรัสเซียเอาไว้ด้วย จนทำให้กองทุน LTCM ต้องขาดทุนมากถึง 4.6 พันล้านดอลลาร์
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-03-29/block-trade-mess-revives-fierce-debate-on-leverage-gone-wrong?sref=CVqPBMVg
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-03-29/goldman-block-trade-what-to-know-about-bill-hwang-viacom-discovery-stock-sale?sref=CVqPBMVg
- https://www.cnbctv18.com/market/stocks/explained-archegos-margin-call-bill-hwang-credit-suisse-goldman-sachs-nomura-8757301.htm
- https://www.investopedia.com/terms/l/longtermcapital.asp