ก้าวไกลเตือนรัฐบาลเล็งขยายกรอบการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณตาม ม.28 เป็น 45% เพื่อทำดิจิทัลวอลเล็ต-พักหนี้ เพิ่มภาระการคลัง เสมือนเทหมดหน้าตัก เสี่ยงไม่เหลือทางหนีทีไล่เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน นักเศรษฐศาสตร์มองกระทบเสถียรภาพระยะยาว แม้ไม่ถูกนับรวมเป็นหนี้สาธารณะ หวั่นไทยถูกหั่นอันดับความน่าเชื่อถือ
วันที่ 25 กันยายน 2566 ชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แสดงความเห็นกรณี เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่ารัฐบาลจำเป็นต้องขยายกรอบการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ไม่เกิน 32% ของวงเงินงบประมาณ โดยมีแผนจะขยายเพิ่มเป็น 45% ของวงเงินงบประมาณในปีงบประมาณ 2567 เพื่อรองรับการดำเนินนโยบายรัฐบาลในการดูแลประชาชน และกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น
ชัยวัฒน์กล่าวว่า นโยบายรัฐบาลดังกล่าวน่าจะหมายถึงการแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต และการพักหนี้เกษตรกร ความน่ากังวลของแนวทางนี้ คือความโปร่งใสของการใช้เงินงบประมาณมหาศาลหลายแสนล้านบาท โดยมติของ ครม. ไม่ต้องผ่านสภา ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะให้ตรวจสอบ ทั้งในแง่การใช้เงินและภาระการคืนเงินต้นและดอกเบี้ย
สิ่งที่ตามมาจากการทลายเพดานภาระการคลังตามมาตรา 28 คือ
- เพิ่มภาระทางการคลัง แม้การให้แบงก์รัฐหรือหน่วยงานของรัฐใดๆ สำรองจ่ายไปก่อน ซึ่งในกรณีนี้คือการล้วงเงินจากแบงก์รัฐอย่างธนาคารออมสินมาใช้ก่อน จะไม่ถูกนับเป็นหนี้สาธารณะตามกฎหมาย แต่รายจ่ายก้อนนี้ก็หนีไม่พ้นต้องเป็นภาระผูกพันของรัฐบาลที่ต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้คืนในอนาคต เช่น ปัจจุบันที่จ่ายหนี้คืนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปีละเกือบแสนล้านบาท เบียดบังงบที่จะใช้พัฒนาประเทศในด้านอื่น และถ้างบประมาณไม่พอก็จำเป็นต้องทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้น หรือกู้เงินมาเพื่อชดเชยการขาดดุล
.
- การทลายกรอบสร้างภาระการคลังอย่างหมดหน้าตัก จะทำให้ไม่เหลือขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการคลัง (Policy Space) เสมือนรัฐบาลเดินเข้าตาจน จะไม่มีทางหนีทีไล่เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน
- อันดับเครดิต (Credit Rating) ของประเทศไทยอาจแย่ลง จากระดับหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ย่อมส่งผลให้รายจ่ายดอกเบี้ยของรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการกู้ยืมของรัฐบาลไทย เกี่ยวข้องไปถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุน เงินทุนไหลออก และค่าเงินบาทอ่อนตัวในระยะกลาง
ชัยวัฒน์กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลควรชี้แจงและเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส คือ
- เปิดเผยข้อมูลภาระทางการคลังตามมาตรา 28 ณ ปัจจุบัน และคาดการณ์ภาระใหม่ว่าต้องการเพิ่มเติมอีกกี่แสนล้านบาทจากการผลักดันนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทย พร้อมประมาณการต้นทุนทางการเงินทั้งหมด
- พิจารณาตัวเลขกรอบวินัยการเงินการคลังที่จำเป็นให้สมเหตุสมผลตามข้อมูลจริง ว่าหากต้องมีการผ่อนคลาย ควรเป็นเท่าไร ไม่ควรเผื่อไว้ที่ 45% แต่ควรชี้แจงให้ชัดเจนว่าต้องการเพิ่มรายจ่ายอีกเท่าใด ต้องปรับเพดานเพิ่มขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์
- ชี้แจงความจำเป็นและผลประเมินความคุ้มค่าของการขยายกรอบวินัยการเงินการคลัง รวมถึงมีแผนที่เป็นข้อผูกพันที่ชัดเจนกับสังคมด้วยว่าจะปรับลดภาระทางการคลังอย่างไร ภายในกรอบเวลาใด ตามที่ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังระบุไว้ว่า คณะรัฐมนตรีต้องพิจารณาประโยชน์ที่รัฐหรือประชาชนจะได้รับ ความคุ้มค่า และภาระการเงินการคลังที่เกิดขึ้นแก่รัฐ รวมถึงความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างรอบคอบ
- กลไกการตรวจสอบการใช้เงินนอกงบประมาณ ที่ล้วงจากกระเป๋าแบงก์รัฐ ว่าไม่ได้ถูกใช้ไปนอกเหนือวัตถุประสงค์
ชัยวัฒน์ตั้งข้อสังเกตอีกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือ Moral Hazard เป็นการตัดสินใจที่เสี่ยงในการบริหารประเทศ ด้วยการสร้างบรรทัดฐานที่ผิดๆ ว่าสามารถทำลายกรอบวินัยการเงินการคลังได้ง่ายๆ เพื่อหาเงินมาทำนโยบายใดก็ตาม เพียงมีมติกรรมการวินัยการเงินการคลังและ ครม. ซึ่งมีนายกฯ และ รมว.คลัง นั่งอยู่ในทั้งสองคณะ ถือเป็นโครงสร้างธรรมาภิบาลที่เหมาะสมแล้วหรือไม่ ดังนั้น ขอให้รัฐบาลคิดเรื่องนี้อย่างรอบคอบ เพื่อให้สามารถรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน โดยไม่สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและต่อประชาชนในระยะยาว
รศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า การขยายกรอบการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณตามมาตรา 28 เป็นหนึ่งในทางเลือกที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้แล้วว่ารัฐบาลจะใช้เพื่อนำเงินมาดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี แม้การกู้ยืมเงินในรูปแบบดังกล่าวจะไม่ถูกนับรวมเป็นหนี้สาธารณะ แต่จะส่งผลให้หนี้ของรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งรัฐบาลต้องจัดงบประมาณไปใช้คืนอยู่ดี ทำให้ในท้ายที่สุดผลลัพธ์อาจไม่ได้แตกต่างกับการกู้ยืมปกติในแง่ที่รัฐบาลต้องไปปรับกรอบวินัยการคลังของตัวเอง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพในระยะยาวอยู่ดี
รศ.ดร.อธิภัทรกล่าวอีกว่า ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา Moody’s Investors Service บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลก ได้เผยแพร่รายงานที่มีเนื้อหาระบุว่า อันดับเครดิตของไทยมีแนวโน้มที่จะถูกปรับลดลงได้ หากตัวชี้วัดทางการคลังและภาระหนี้อ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัด นอกเหนือจากที่คาดการณ์ไว้ หรือ/และความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการปรับภาวะการคลังให้เข้าสู่สมดุล หรือการรัดเข็มขัดทางการคลัง (Fiscal Consolidation) ในระยะปานกลางลดลง ซึ่งส่งผลให้ความแข็งแกร่งทางการคลังของรัฐบาลถดถอยอย่างต่อเนื่อง
“คำถามคือถ้าเราถูกดาวน์เกรดจะโดนระดับไหน แค่ปรับ Outlook หรือปรับลดอันดับเลย สิ่งที่น่ากังวลคือครั้งนี้จะต่างจากในช่วงโควิดที่เราถูกปรับลดมุมมองจาก Positive เป็น Stable ซึ่งมีเหตุผลรองรับว่าจำเป็นต้องกู้เพิ่ม แต่ถ้าเราถูกปรับลดลงอีกในครั้งนี้มันจะตอกย้ำว่าฐานะการคลังของเราอ่อนแอจริงๆ” รศ.ดร.อธิภัทรกล่าว
ด้าน อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ให้ความเห็นว่า แม้การขยายกรอบการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณตาม ม.28 จะไม่ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่ม แต่ภาระที่เกิดขึ้นถือเป็นหนี้ที่ภาครัฐต้องรับผิดชอบในอนาคตอยู่ดี ทำให้ต้องระมัดระวังเรื่องผลกระทบที่จะมีต่อความเชื่อมั่นในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ
“ถ้าต่างชาติมองว่าภาระหนี้ของเราสูงขึ้น โดยไม่มีแผนเรื่องการหารายได้เพิ่มที่ชัดเจนมารองรับ หรือผลของการทำนโยบายกระตุ้นการบริโภคอาจนำไปสู่เงินเฟ้อ อาการที่เราเห็นในรอบเดือนที่ผ่านมา เช่น ภาวะเงินไหลออก บอนด์ยีลด์ปรับสูงขึ้น และเงินบาทอ่อน ก็จะดำเนินต่อไป ยีลด์ที่สูงขึ้นสะท้อนว่าภาครัฐเราจะมีต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น ซึ่งจะลามไปถึงต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนด้วย ถ้าเอกชนต้องจ่ายแพงขึ้นเพื่อกู้เงิน ก็อาจกระทบต่อแผนการลงทุนในอนาคตของเขา” อมรเทพกล่าว