×

วีระเตือนรัฐบาลถอนคันเร่งโครงการเงินดิจิทัล หวั่นสัญญาณอันตราย ถูกองค์กรอิสระตีความ

โดย THE STANDARD TEAM
31.07.2024
  • LOADING...

วันนี้ (31 กรกฎาคม) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 9 สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 1 วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจผ่านโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต

 

ในช่วงหนึ่ง วีระ ธีระภัทรานนท์ นักวิชาการและสื่อมวลชน ในฐานะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณเพิ่มเติมปี 2567 สัดส่วนของพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ได้อภิปรายสงวนความเห็นต่อที่ประชุมสภา โดยระบุว่า ให้รัฐบาลถอยคันเร่งในการใช้โครงการดังกล่าวกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเห็นชัดเจนว่ามีปัญหาและอาจต้องส่งให้องค์กรอิสระตีความในอนาคต 

 

นอกจากนี้ ในสถานการณ์ของงบประมาณพบสัญญาณที่เป็นอันตรายคือ ส่วนรายจ่ายดอกเบี้ยที่สูงเกือบ 10% ของรายได้ที่หามาได้ โดยในการจัดทำงบปี 2568 พบมีการตั้งงบเพื่อชดใช้หนี้ 4.1 แสนล้านบาท แบ่งเป็นเงินต้น 1.5 แสนล้านบาท และดอกเบี้ย 2.6 แสนล้านบาท เท่ากับ 9% และยังมีการทำงบขาดดุลสูงที่สุด ติดเพดานงบขาดดุลมากแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ขณะนี้มียอดขาดดุลรวม 8.05 แสนล้านบาท ซึ่งมีเพดานที่สูงสุดโดยไม่ผิดกฎหมายคือ 8.15 แสนล้านบาท ดังนั้นจึงเหลือเงิน 10,000 ล้านบาท ข้อกังวลจึงอยู่ที่วิกฤตการเงินการคลังในอนาคตหากบริหารจัดการไม่ถูกต้องและไม่รอบคอบ

 

วีระยังตั้งข้อสังเกตในประเด็นการเมืองด้วยว่า โครงการดังกล่าวเป็นนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นนโยบายหาเสียงที่เป็นภาระต่องบประมาณ และอาจเป็นตัวอย่างของการทำนโยบายที่เสี่ยงต่อการทำงบประมาณในอนาคต ดังนั้นขอให้ สส. พิจารณาก่อนลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว

 

“ด้วยเหตุนี้เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตการคลังในอนาคต จึงเสนอให้ลดวงเงินในงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2567 จากเดิม 1.22 แสนล้านบาท เหลือเพียง 50,000 ล้านบาท และลดการขาดดุลจากเดิมจาก 1.22 แสนล้านบาท เหลือเพียง 40,000 ล้านบาท” วีระกล่าว

 

จากนั้น สส. ได้อภิปรายแสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดที่ประชุมสภามีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบเพิ่มเติมฯ ดังกล่าว ในวาระ 2 และ 3 ด้วยคะแนนเสียง 291 ต่อ 161 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง และจะนำร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าพิจารณาในที่ประชุมวุฒิสภาต่อไป

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X