วันนี้ (26 กรกฎาคม) วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ให้สัมภาษณ์ถึงการงดประชุมรัฐสภาในการเลื่อนโหวตนายกรัฐมนตรีออกไปอีกว่า จะส่งผลให้ขั้นตอนบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลใหม่ล่าช้าออกไป เมื่อยังไม่มีนายกรัฐมนตรีใหม่ก็จะยังไม่มีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ การพิจารณาทำงานในเรื่องต่างๆ เช่น งบประมาณ ก็จะล่าช้าออกไป ต้องเข้าใจก่อนว่าการบริหารราชการแผ่นดินทุกอย่างมีกรอบเวลา ยังไม่นับถึงสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ข้อตกลงต่างประเทศหลายอย่างที่ประเทศไทยมีความร่วมมือและลงนามไว้ ซึ่งเป็นพันธะที่เราต้องดำเนินการ การทำงานภายใต้สถานะรัฐบาลที่ไม่เต็มตัวนั้นมีข้อจำกัดหลายอย่าง ดังนั้นการที่มีผู้เสนอให้รัฐบาลรักษาการไปอีก 10 เดือนนั้น ตนคิดว่าไม่สามารถทำได้ เชื่อว่าความคิดดังกล่าวเป็นความคิดส่วนบุคคล และ 8 พรรคร่วม รวมทั้งพรรคที่ได้เสียงข้างมากทราบดีอยู่แล้ว เข้าใจดีว่าข้อจำกัดเรื่องการใช้งบประมาณ การอนุมัติกรอบงบประมาณ การทำงานระหว่างประเทศมีความสำคัญเพียงใด
วราวุธกล่าวว่า ยกตัวอย่างเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งเป็นการดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีเรื่องที่จะต้องทำกับต่างประเทศมากมาย ซึ่งรัฐบาลที่อยู่ในช่วงยังไม่เป็นรัฐบาลเต็มตัวไม่สามารถดำเนินการได้ ทำได้เพียงขอความเห็นชอบจากแต่ละหน่วยงาน ไม่มีอำนาจเต็มตัว และยังกระทบไปถึงระบบเศรษฐกิจ การส่งออก และอีกหลายๆ เรื่อง ดังนั้นเรื่องของการรักษาการไปอีก 10 เดือนนั้นตนคิดว่าคงไม่เหมาะสม
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากทอดเวลาออกไปแล้วยังไม่ได้นายกรัฐมนตรีและ ครม. ชุดใหม่ ทางออกควรเป็นอย่างไร วราวุธกล่าวว่า 8 พรรคที่จับมือกันอยู่นั้นคงเข้าใจถึงสภาพเป็นอย่างดี 8 พรรค 312 เสียง 2 พรรคใหญ่ก็ 192 เสียง ดังนั้นหัวใจสำคัญอยู่ที่พรรคใดพรรคหนึ่งคงต้องพิจารณาว่าหากจะให้ประเทศไทยเดินหน้าต้องทำอย่างไร เป็นสิทธิที่พรรคใหญ่จะต้องพิจารณา
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคก้าวไกลระบุไม่เอาพรรคพลังประชารัฐกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ส่วนพรรคชาติไทยพัฒนาจะทำงานกับก้าวไกลได้หรือไม่ วราวุธกล่าวว่า เป็นการตอกย้ำในสิ่งที่ตนเคยพูดไว้ว่าแต่ละพรรคจะมีแนวทางการทำงานที่แตกต่างกันไป พรรคก้าวไกลก็จะมีจุดยืนที่ชัดเจนว่าทำงานในลักษณะใด พรรคชาติไทยพัฒนาเองตนย้ำเสมอตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ จุดยืนเราไม่เคยเปลี่ยน
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สามารถโหวตชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ซ้ำได้อีก พรรคชาติไทยพัฒนาจะโหวตแบบเดิมหรือไม่ วราวุธกล่าวว่า ทุกครั้งที่สภาจะโหวตเรื่องสำคัญๆ พรรคชาติไทยพัฒนาต้องมีการประชุมหารือกันก่อนทุกครั้ง ตนตอบแทน ส.ส. ท่านอื่นไม่ได้ เพราะเวลาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีนั้นไม่ใช่มติพรรค แต่เป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส. แต่ละคน คงต้องมีการประชุมเหมือนทุกครั้ง
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากสุดท้ายแล้วไม่สามารถโหวตนายกฯ ได้ ใครควรจะเป็นผู้เสียสละ วราวุธกล่าวว่า อย่างที่ตนบอกข้างต้น ใน 8 พรรคที่หารือกันนั้น 2 พรรคใหญ่คงต้องพิจารณากันแล้วว่าควรจะดำเนินการอย่างไร เพราะแต่ละคนล้วนแต่เป็นผู้มีประสบการณ์และมีความสามารถ คงวางแนวทางกันได้ คิดกันได้ว่าควรจะเป็นอย่างไร จะดันทุรังต่อ จะเอาอนาคตหรือประชาชนมาเป็นตัวประกันหรืออย่างไร ก็คงต้องสุดแล้วแต่ 2 พรรคใหญ่จะพิจารณา
“ถ้าใครได้มีโอกาสย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์การเมืองไทย สมัย บรรหาร ศิลปอาชา ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งนั้นบรรหารโดนอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างหนักหนาสากรรจ์มากที่สุด แต่เมื่อยุบสภาแล้วมีรัฐบาลใหม่ เลือกตั้งใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ได้เสียงข้างมาก แต่จะไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้หากพรรคชาติไทยในขณะนั้นไม่เข้าร่วมรัฐบาลด้วย มีการมาทาบทามเชิญ ผมไม่ได้ต้องการฟื้นฝอยหาตะเข็บ เพียงแต่อยากบอกว่า วันนั้นถ้าบรรหารยังยึดติดกับความโกรธแค้นที่มีจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่รวมกับพรรคประชาธิปัตย์ ในวันนั้นการเมืองไทยและเศรษฐกิจไทยจะไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้ ฉะนั้นเมื่อถึงจุดหนึ่งต้องใช้ความอดทน อดกลั้น มองถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติมาก่อน”
วราวุธกล่าวว่า ที่ยกประวัติศาสตร์การเมืองไทยนี้ขึ้นมาเพื่อเตือนสติหลายๆ ฝ่ายว่าอย่าเอาความโกรธแค้นส่วนตัว อย่าเอาเรื่องนั้นเรื่องนี้มาเป็นเหตุอ้างในการทำให้ประเทศชาติไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้ เรื่องที่เกิดขึ้นผ่านมาหลายสิบปีแล้ว แต่ที่หยิบยกมาเพราะเป็นหลักการในการทำงานด้านการเมือง แม้ว่าสถานการณ์เปลี่ยน ความคิดคนเปลี่ยน แต่หลักการทางการเมืองไม่เคยเปลี่ยน ยึดผลประโยชน์ของประเทศ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าได้ วันนี้เรากำลังมาถึงจุดเปลี่ยนผ่านของประเทศไทยอีกจุดหนึ่ง หากทุกฝ่ายเอาทิฐิมานะเป็นที่ตั้ง ไม่ยอมกันท่าเดียว ประเทศชาติก็จะไปไม่ได้ ต้องขอฝากหลายๆ ฝ่ายที่มีคะแนนเสียงอยู่ในมือคิดถึงอนาคตของประเทศชาติ แล้วมาคิดกันจริงจังว่าจะทำอย่างไร