×

เมื่อสงคราม ‘แย่งชิงคนเก่ง’ เข้าประชิดเมืองหลวงของประเทศ ถึงเวลากางแผนหาทางรอดที่แสนริบหรี่

19.12.2022
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 MIN READ
  • อนาคตเมืองต้องแข่งกันสร้างคนเก่งและดึงคนเก่ง หากเมืองและประเทศไม่สามารถทำได้ คนเก่งหนีไปอยู่ที่อื่น สุดท้ายเราจะมีแต่งานที่คุณภาพไม่ดี อุตสาหกรรมที่ไม่ดี และเมืองจะอยู่ไม่ได้
  • ประเทศไทยเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศในอาเซียนที่เด็กจบใหม่อยากย้ายไปทำงานต่างประเทศ เพราะพวกเขาไม่เห็นความหวังและอนาคต
  • ปัจจัยที่จะทำให้ประเทศไทยแพ้ในสงคราม Talent War คือความไว้วางใจ มั่นใจ และโปร่งใส…เพราะไม่มีใครอยากอยู่ในประเทศที่มีการคอร์รัปชัน

คลื่นยักษ์ใต้น้ำที่ช่วยจุดประกายความหวังให้คนครึ่งล้าน

ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องอนาคตที่ใกล้จะเกิด ทีม THE STANDARD พาย้อนกลับไปเมื่อปี 2564 ช่วงเดือนพฤษภาคม ช่วงเวลาแห่งความร้อนแรงในสังคม ที่สะท้อนความอดกลั้นของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในประเทศไทยที่ปะทุขึ้น โดยเริ่มมาจากกลุ่มเฟซบุ๊ก ‘ย้ายประเทศกันเถอะ’ พื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจละทิ้งประเทศไทยไปหาทางเลือก ทางรอด ได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน

 

“มันไม่ใช่การบ่น แต่เป็นการหาวิธีการอย่างเป็นรูปธรรม” ‘ภู’ แอดมินผู้ก่อตั้งกลุ่ม ‘ย้ายประเทศกันเถอะ’ ได้กล่าวย้ำในการให้สัมภาษณ์ในรายการ THE STANDARD NOW ที่ดำเนินรายการโดย เคน-นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ หัวข้อ ‘ย้ายประเทศกันเถอะ’ เมื่อคนรุ่นใหม่ไม่ขอฝากอนาคตกับประเทศไทย เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2564

 

ภู เป็นผู้ประกอบการร้านอาหาร ผับ บาร์ที่ประเทศไทย ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด ตัวเขาเองได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจอย่างไม่อาจเลี่ยง ความรู้สึกขณะนั้น ภูคิดว่าไม่ควรจะลงทุนเฉพาะที่ประเทศไทยประเทศเดียว และเริ่มมองหาการลงทุนในประเทศอื่นเผื่อเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด เขายอมรับว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่เชื่อในการบริหารงานของรัฐบาล

 

ภู สร้างกลุ่มเฟซบุ๊ก ‘ย้ายประเทศกันเถอะ’ มีสมาชิกเริ่มต้น 50 คน จุดประสงค์เพื่อกระจายข่าวสาร เทคนิค แชร์ประสบการณ์การอยู่ต่างประเทศ เพียง 1 คืนมีสมาชิกเข้ามาเพิ่มเป็น 60,000 คน และเป็น 500,000 คนภายใน 3 วัน ภูอธิบายว่า ต่อให้มีสมาชิกเพิ่มเข้ามาแต่ก็ไม่ได้เน้นหนักเรื่องการเมือง ยังคงจุดประสงค์เดิมที่ตั้งกลุ่มขึ้น จะมีการแบ่งย่อยเป็นอีก 3 กลุ่มด้วย เพื่อให้เนื้อหาตรงกับความต้องการ มีทั้งกลุ่มแนะนำประเทศ กลุ่มแนะแนวการเตรียมตัวสำหรับภาษา การใช้ชีวิต ขอวีซ่า และกลุ่มปรึกษาเกี่ยวกับอาชีพ ตลาดแรงงาน

 

จากโพลที่สำรวจสมาชิกกลุ่มพบว่า 60-70% เป็นเด็กจบใหม่ (ช่วงอายุ 20 ปีต้นๆ) ไปจนถึง 35 ปี และมีช่วงอายุ 13-20 ปีประมาณ 15% ในช่วงหนึ่งของการให้สัมภาษณ์ ภูระบุว่าสมาชิกทุกคนต่างมีจุดประสงค์ในการมองหาโอกาส ทางเลือก ทางรอด ให้ตัวเองอย่างจริงจัง ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องของการเมือง แต่ท้ายที่สุดพวกเขาทำเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น

 

‘กรุงเทพฯ’ แม่เหล็กชิ้นสำคัญที่จะช่วยดึง/ยื้อคนเก่ง

“เรากำลังเจอสงครามขนาดใหญ่ 1 เรื่อง ซึ่ง กทม. มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง สงครามนี้เกี่ยวข้องกับทุกคน เพราะจากนี้ต่อไปทั้งระดับเมืองอย่าง กทม. และภาพใหญ่ระดับประเทศ เราจะเจอกับภาวะสงคราม Talent War” ชัชชาติกล่าว

 

ในคำพูดหนึ่งของ Alain Bertaud นักวิชาการอาวุโส เชี่ยวชาญด้านการวิจัยผังเมืองเคยกล่าวไว้ว่า “Cities are primarily labor markets” เมืองคือตลาดแรงงาน 

 

 

ชัชชาติขยายความว่า เหตุผลหนึ่งที่หลายคนเลือกมาอาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯ ก็เพราะมีงานรองรับ มีตลาดแรงงาน ไม่มีงานเมืองอยู่ไม่ได้ ฉะนั้นแล้วหัวใจของเมืองคือการสร้างงาน ถ้ามองย้อนกลับไปกรุงเทพฯ สมัยก่อน เจ้าของงานคือข้าราชการ การสร้างงานเกิดจากภายในเท่านั้น แต่ปัจจุบันทุกอย่างเปลี่ยนไป งานไปอยู่กับเอกชนเป็นหลัก

 

หน้าที่ของ กทม. ที่ทำได้คือการช่วยเอกชนให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งดูแลคุณภาพชีวิตคนทำงานให้ดี สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเชื่อมั่นให้เมืองสามารถก้าวเดินไปพร้อมกันได้ 

 

“เมื่อเมืองคือตลาดแรงงาน คนที่สร้างงานคือคนหรือบริษัทที่เก่ง ฉะนั้น อนาคตเมืองต้องแข่งกันสร้างคนเก่งและดึงคนเก่ง หากเมืองและประเทศไม่สามารถทำได้ คนเก่งหนีไปอยู่ที่อื่น สุดท้ายเราจะมีแต่งานที่คุณภาพไม่ดี อุตสาหกรรมที่ไม่ดี เมืองจะอยู่ไม่ได้”

 

ชัชชาติกล่าวอีกว่า สถานการณ์หนึ่งที่น่ากังวลคือ อัตราการเกิดที่น้อยลงมาก คิดอย่างง่ายเมื่อก่อนประเทศไทยอัตราการเกิดจำนวนปีละกว่าล้านคน แต่ทุกวันนี้เกิดไม่ถึง 500,000 คน อนาคตจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องแข่งกันหาคนเก่ง เนื่องจากคนเก่งเป็นทรัพยากรที่จำกัด

 

ประโยคหนึ่งของ Edward Glaeser จากหนังสือ Triumph of the City ระบุไว้ว่า “To thrive, cities must attract smart people and enable them to work collaboratively.” แปลว่า เมืองที่ดี อนาคตต้องสามารถดึงดูดคนเก่ง 

 

ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า “ประเทศไทยสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ แต่ถ้าให้คนเก่งมาอยู่เป็นปีได้ไหม เรื่องนี้เป็นคำถาม”

 

 

‘ตัวเลข’ คือข้อเท็จจริงที่ยืนยันว่าสงครามนี้เรามีสิทธิ์ ‘แพ้’

ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลพบว่าขณะนี้ประเทศไทยเมื่อวัดจากประเทศอาเซียน 7 ประเทศ สิ่งที่น่ากลัวที่พบคือเด็กไทยที่เรียนจบอยากไปอยู่ต่างประเทศมากเป็นอันดับ 2 มีจำนวน 53% รองจากประเทศฟิลิปปินส์ที่เป็นอันดับ 1 ขณะที่สิงคโปร์มีเพียง 34% เท่านั้นที่ไม่อยากอยู่ในประเทศตัวเอง แต่เกินครึ่งอยากอยู่ในประเทศตามเดิม 

 

“พวกเขาไม่อยากอยู่ที่ประเทศไทย อยากทำงานเมืองนอก เพราะพวกเขาไม่เห็นความหวัง เด็กรุ่นใหม่ไม่เห็นอนาคต” ชัชชาติกล่าว

 

ชัชชาติกล่าวด้วยว่า ปัญหา Talent Shortage (ปัญหาการขาดแคลนผู้มีความสามารถ) เจอเหมือนกันทั่วโลก แต่หลายประเทศปรับตัว ตั้งรับ เตรียมสู้ในสงครามนี้ เช่นการมีรูปแบบวีซ่าที่พร้อมดึงดูดพลเมืองเข้าไปทำงานในประเทศของตนเอง อาทิ ประเทศสิงคโปร์ให้วีซ่าประเภท Overseas Networks & Expertise Pass (One Pass) ระยะเวลา 5 ปี, ประเทศอังกฤษให้วีซ่าประเภท High Potential Individual Visa (HPI) ระยะเวลา 2 ปี (เปลี่ยนเป็นวีซ่าทำงานระยะยาว) และประเทศญี่ปุ่นให้วีซ่าประเภท High End Talent Visa ไม่จำกัดระยะเวลา ทุกคนแข่งขันกันดึงดูดคนเก่ง

 

“เราสามารถจะเอาชนะ Talent War ครั้งนี้ได้หรือไม่…เรามีโอกาสแพ้ เพราะต้องยอมรับว่าเรามีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง” ชัชชาติกล่าว

 

ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า เรื่องแรกที่ต้องพิจารณาคือแนวคิด 1 กับ 98 โดย 1 คือ กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีผู้ต้องการเดินทางมาเยือนมากที่สุดในเอเชีย-แปซิฟิก (ผลการจัดอันดับ Reader’s Choice Awards 2022 ของนิตยสาร DestinAsian) แต่ 98 คือดัชนีเมืองที่น่าอยู่จากทั่วโลก (ผลการจัดอันดับของ The Economist Intelligence Unit: EIU) เมื่อวัดจาก140 ประเทศ

 

ชัชชาติกล่าวอีกว่า วิสัยทัศน์ที่เน้นย้ำเสมอคือ ‘เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน’ ประโยคนี้ทรงพลัง ถ้าทำได้เราจะชนะ Talent War เพราะเรามีอย่างอื่นครบถ้วนแล้ว ขอให้เมืองเราน่าอยู่สำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นแม่บ้าน รปภ. วีลแชร์ คนมีเงิน คนไม่มีเงิน ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนได้ อันนี้คือพลัง 

 

“เมืองเรามี Soft Power มหาศาล แต่ความน่าอยู่ยังไม่ค่อยน่าอยู่ เราไม่ต้องการเป็น Smart City เมืองฉลาด อัจฉริยะ เราไม่ต้องการขนาดนั้น เราฉลาดประมาณนี้พอ แต่ขอให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน เรื่องนี้ กทม. มีส่วนที่ต้องดูแล”

 

ในตัวอย่างหนึ่งของการปรับปรุงเมืองที่สะท้อนทิศทางที่ดี คือการทำสวนสุนัขภายในสวนเบญจกิติ จากเดิมมีแค่ที่เขตหนองจอกเท่านั้น ซึ่งสวนเบญจกิติ กทม. ใช้เนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ ตั้งใจทำขึ้นเนื่องจากสวนสุนัขในเมืองไม่ค่อยมี หลายคนที่เลี้ยงสุนัขในเมืองไม่มีพื้นที่ หากย้อนกลับไป 2 วันแรกที่เปิด มีสุนัขเข้ามา 1,460 ตัว แต่ประชาชนประมาณ 5,000 คน หลายคนที่ไม่มีสุนัขก็ได้มาเล่นสุนัขของคนอื่น

 

เรื่องสวนสุนัข ช่วงแรกที่ทำชัชชาติยอมรับว่าไม่คิดว่าจะเกี่ยวข้องกับ Talent War เพราะเป็นการทำแบบไม่ใช้งบประมาณ ต่อมาเมื่อได้ไปพูดคุยในงาน ‘American Chamber E-Commerce’ พูดจบมีผู้บริหารจากบริษัทในสหรัฐอเมริกาเข้ามาพูดคุยและบอกว่า “Thank you for the dog park” ผู้บริหารท่านนั้นบอกว่า แม้ตัวเขาจะไม่มีสุนัข แต่เขามีวิศวกรที่เก่งที่สุดของญี่ปุ่น สองคนที่สุดท้ายตัดสินใจยอมมาเมืองไทย เพราะมีสวนสำหรับสุนัขที่เขารักเหมือนลูก

 

 

“Talent หรือคนเก่ง การที่จะไปทำงานที่ไหนเขาย่อมพิจารณาถึงคุณภาพชีวิตที่เขาจะได้รับ เรื่องที่มองว่าเล็กแค่นี้แต่มีมิติที่เราสามารถดึงคนเก่งเข้ามาสร้างงาน สร้างธุรกิจ เป็นไปได้เพียงเราปรับมุมมองของเมือง เราก็สามารถขยับอันดับจาก  98 เป็น 50 ได้”

 

แผนผู้ว่าฯ ชัชชาติ งัดมาสู้ศึก Talent War และเรื่องสำคัญเดิมๆ ที่จะทำให้เราแพ้

เพื่อการเตรียมพร้อมในสงครามที่ใกล้เข้ามาระยะประชิด ชัชชาติกล่าวว่า กทม. ได้กำหนดทิศทางส่งเสริมศักยภาพใหม่ให้กับเมืองผ่าน 7 ด้าน ประกอบด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การท่องเที่ยว ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ อัญมณี ธุรกิจไมซ์ (MICE) หนึ่งในสาขาของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ศูนย์กลางของ MNCs (บรรษัทข้ามชาติ) และโครงการ EEC (Eastern Economic Corridor หรือ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก) ควรกำหนดกรุงเทพฯ ให้อยู่ใน EEC  ด้วย

 

ชัชชาติขยายความว่า ในด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พบว่ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นหัวใจที่กรุงเทพฯ ควรพัฒนาให้มากขึ้น มอบโอกาสให้กับผู้ประกอบการรายย่อย อำนวยความสะดวกให้ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์จากกรุงเทพ ‘Made in Bangkok’ ไปสู่ตลาดระดับโลก การท่องเที่ยว เทศกาลต่างๆ ของ กทม. จะต้องถูกผลักดันสู่ปฏิทินของโลก 

 

ด้านธุรกิจสุขภาพ มีการคาดการณ์ว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจของกลุ่มนี้ จะมีมูลค่ากว่า 87,000 ล้านบาทในปี 2022 โดยสองกลุ่มกิจกรรมที่สร้างงาน มากที่สุดคือ กลุ่มธุรกิจสปา 27,800 ล้านบาท และกลุ่มนักท่องเที่ยวด้านสุขภาพ 23,200 ล้านบาท กทม. ควรสนับสนุนด้านอัญมณี มูลค่าการส่งออกครึ่งปีที่ผ่านมาของเครื่องประดับและทองในประเทศ พบว่ารวมกันสูงถึง 300,000 ล้านบาท และสำหรับ กทม. ที่ทำได้เพื่อสนับสนุนคือ การผลิตบุคลากรฝีมือจากโรงเรียนฝึกอาชีพเพื่อป้อนเข้าสู่กลุ่มอุตสาหกรรม ให้กรุงเทพฯ เป็นแหล่งศูนย์กลางการค้าอัญมณีโลก

 

ธุรกิจไมซ์ (MICE) กรุงเทพฯ มีศูนย์ประชุมที่ครบครันถึง 3 แห่ง ทั้งศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ รวมถึงศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี เมืองจึงพร้อมที่จะรับศูนย์กลางของ MNCs กทม. มี Working Space มากกว่า 10 ล้านตารางเมตร และถ้าวัดจากหลายประเทศ ประเทศไทยมีราคาถูกที่สุด ซึ่งเป็นข้อดีให้หลายบริษัทย้ายมาทำการที่ไทยได้ด้วยต้นทุนที่ไม่สูง ค่าครองชีพไม่แพง และเรื่อง EEC กรุงเทพฯ เป็นส่วนที่ได้ประโยชน์มากสุด เช่น โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง เพราะมีสถานีมากกว่าครึ่งอยู่ใน กทม. 

 

ส่วนปัจจัยที่จะแพ้ใน Talent War ชัชชาติกล่าวว่า เรื่องแรกคือเรื่องความไว้วางใจ ความมั่นใจระหว่าง กทม. กับเอกชน หรือ กทม. กับประชาชน เพราะต้องยอมรับ ว่าหลายคนมอง กทม. ว่าทุจริต ไม่มีประสิทธิภาพ 

 

“เราไม่เคยเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง กทม. ที่ผ่านมาเอาผู้ว่าฯ เป็นศูนย์กลาง” ชัชชาติกล่าว

 

ชัชชาติกล่าวด้วยว่า ความไว้วางใจนี้ กทม. สร้างได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณ อย่างที่ผ่านมา กทม. สร้างความไว้วางใจผ่านการใช้แอปพลิเคชัน Traffy Fondue แอปพลิเคชันที่รับเรื่องร้องเรียนโดยตรงจากประชาชน เป็นการปฏิวัติจากระบบไซโล (การทำงานแบบแยกส่วน) ไม่ต่อเนื่องกัน แก้โดยนำดิจิทัลมาทำให้เชื่อมโยงมากขึ้น 

 

 

“ประชาชนไม่เคยขอเรื่องใหญ่ พวกเขาขอเรื่องเล็กๆ ที่ไม่เคยได้ตอบสนอง วิธีนี้โคตรประชาธิปไตย ทุกคนได้รับความเท่าเทียม” ชัชชาติกล่าว

 

ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า อีกส่วนคือเรื่องความโปร่งใส ถ้าไม่แก้ไขก็มีสิทธิ์แพ้ Talent War เพราะไม่มีใครอยากอยู่ในประเทศที่มีการคอร์รัปชัน สิ่งที่ กทม. แก้ไขคือการใช้ระบบ One Stop Service เพิ่มความรวดเร็วในการขออนุญาต ลดโอกาสการเกิดทุจริต ลดการพบเจ้าหน้าที่ใช้วิจารณญาณส่วนบุคคล และการเปิดเผยข้อมูล การใช้งบประมาณประจำปี 2566 เปิดให้ประชาชนเข้ามาช่วยตรวจสอบ 

 

ในภาวะสงคราม ‘Talent War’ ที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบในเวลาใกล้นี้ กทม. ในฐานะเมืองหลวงและแม่เหล็กชิ้นสำคัญของประเทศได้ประเมินทั้งหนทางแพ้ ชนะ ตั้งรับไว้ หลายสิ่งดูเป็นรูปธรรมเพราะถูกนำมาใช้จริง แต่ก็ต้องยอมรับว่า มีอีกหลายสิ่งที่ทำได้เพียงลุ้นผล ว่าการเดินเกมรูปแบบนั้นจะสามารถพิชิตคู่แข่งได้จริงหรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนต้องตระหนักคือ สงครามครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว เป็นเรื่องของทุกคน ตราบใดที่สายสัมพันธ์ยังเป็นห่วงโซ่ชีวิต

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising