×

สงคราม-โลกรวน อาจดันผู้พลัดถิ่นเพิ่มเป็น 139 ล้านคนในปี 2025

27.12.2024
  • LOADING...
war-climate-crisis-139-million-displaced-2025

“ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ความขัดแย้ง การกดขี่ข่มเหง และความรุนแรง บีบให้ผู้คนนับล้านต้องละทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง – ทั้งในซูดาน ยูเครน และล่าสุดที่เลบานอน ขณะเดียวกันอีกหลายล้านคนยังคงไร้ที่อยู่อาศัยเป็นเวลานานนับปีหรือนับทศวรรษจากการหลบหนีความรุนแรงและความไม่สงบ ตั้งแต่เมียนมา สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ไปจนถึงพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลก”

 

ข้อความนี้มาจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR สะท้อนภาพรวมของวิกฤตที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งไม่ได้เกิดจากสงครามเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภัยคุกคามใหม่ อาทิ ภาวะโลกรวน ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนมหาศาล 

 

จากยูเครนถึงเมียนมา: ผู้คนที่ถูกผลักดันให้ออกจากบ้าน

 

ยูเครน

 

สงครามยูเครน-รัสเซียที่ยืดเยื้อมานานเกือบ 3 ปี ผลักดันให้ประชากรกว่า 8 ล้านคนต้องอพยพไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรป เช่น โปแลนด์ เยอรมนี และสแกนดิเนเวีย ผู้พลัดถิ่นเหล่านี้ยังคงเผชิญกับความท้าทายในการตั้งถิ่นฐานใหม่

 

ซีเรีย

 

สงครามในซีเรียสร้างผู้พลัดถิ่นกว่า 13 ล้านคน โดยแบ่งเป็น 7.2 ล้านคนที่พลัดถิ่นในประเทศ และ 6 ล้านคนที่ลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ตุรกี เลบานอน และจอร์แดน การลดความช่วยเหลือด้านอาหารลงถึง 80% ในพื้นที่นี้ทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้าย

 

ซูดาน

 

สงครามกลางเมืองในซูดานส่งผลให้ประชากรหลายแสนคนต้องหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ชาดและอียิปต์ ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ยังคงต้องการความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน

 

เมียนมา

 

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาวโรฮิงญากว่า 1 ล้านคนยังคงอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยค็อกซ์บาซาร์ในบังกลาเทศ ซึ่งเป็นค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก ผู้ลี้ภัยเหล่านี้เผชิญปัญหาขาดแคลนอาหาร น้ำสะอาด และการศึกษา รวมถึงสถานะไร้รัฐไร้สัญชาติที่ยืดเยื้อมานาน

 

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งและสงครามที่ยังคงยืดเยื้อนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้จำนวนผู้พลัดถิ่นเพิ่มขึ้น 

 

โลกรวน: ปัจจัยใหม่ที่ผลักผู้คนให้พลัดถิ่น

 

อรุณี อัชชะกุลวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการแผนกส่งเสริมความร่วมมือภาคเอกชนของ UNHCR กล่าวว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สาเหตุหลักของการพลัดถิ่นมาจากสงครามและความขัดแย้ง แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ผู้คนต้องอพยพจากบ้านเรือน

 

ภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง และไฟป่า ทำให้ภูมิภาคแอฟริกา อาทิ จะงอยแอฟริกา ที่โซมาเลียกำลังเผชิญกับวิกฤตอาหารและภัยพิบัติที่รุนแรง กลายเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

 

UNHCR ได้พัฒนาโครงการในค่ายผู้ลี้ภัยหลายแห่งเพื่อช่วยผู้พลัดถิ่นปรับตัว ยกตัวอย่างเช่น การใช้พลังงานหมุนเวียนในกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่การประกอบอาหารไปจนถึงการดำรงชีวิต

 

การดำเนินงานของ UNHCR และความท้าทายที่เผชิญ

 

เพื่อรับมือกับวิกฤตนี้ UNHCR วางแผนดำเนินงานใน 16 ด้านหลัก (Outcome Areas) และเน้นความสำคัญใน 7 ด้านยุทธศาสตร์ (Areas of Strategic Focus) โดยใช้งบประมาณที่ต้องการสำหรับปี 2025 รวมทั้งสิ้น 10,248 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

อย่างไรก็ตาม ในปี 2024 UNHCR ได้รับเงินทุนเพียง 43% ของที่ต้องการ ส่งผลให้ต้องลดการช่วยเหลือในบางพื้นที่ อาทิ การลดความช่วยเหลือด้านอาหารในซีเรีย

 

อนาคตของผู้พลัดถิ่น: อุปสรรคและทางออก

 

อรุณีระบุว่า การแก้ไขวิกฤตผู้พลัดถิ่นอย่างยั่งยืนต้องเริ่มจากการหยุดสงครามและความขัดแย้งผ่านความร่วมมือจากภาครัฐทั่วโลก “สิ่งที่เราต้องการเห็นคือการหยุดยิง การไม่มีสงคราม ทางที่ดีที่สุดคือให้ทุกฝ่ายสงบสุขและคนสามารถอยู่บ้านของตัวเองได้อย่างปลอดภัย”

 

นอกจากนี้ข้อตกลงโลกว่าด้วยผู้ลี้ภัย (Global Compact on Refugees) ยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ UNHCR สามารถให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม อาทิ การพูดคุยกับผู้พลัดถิ่น เพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถกลับประเทศต้นทางได้อย่างปลอดภัยและยั่งยืน

 

วิกฤตผู้พลัดถิ่นไม่ได้เป็นเพียงปัญหาของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นบททดสอบของมนุษยชาติ หากเราไม่ร่วมมือแก้ไขในวันนี้ ตัวเลข 139 ล้านชีวิตที่ต้องพลัดถิ่นในปีหน้าอาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น คำถามคือ เราจะปล่อยให้วิกฤตนี้ดำเนินไป หรือจะเริ่มสร้างอนาคตที่ยั่งยืนตั้งแต่ตอนนี้?

 

ภาพ: Hatem Khaled TPX Images of the Day / Reuters

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X