×

วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล บทเรียนจากดวงดาว และการหยุดพักเดินทางเพื่อค้นหาสิ่งที่ต้องการลำดับต่อไป

23.02.2019
  • LOADING...
Wannasingh Prasertkul

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • วรรณสิงห์เคยใช้ชีวิตช่วงวัยรุ่นอุทิศให้กับการทำเพลงด้วยความมุ่งมั่นอยู่หลายปี ก่อนที่จะหันไปสนใจงานศิลปะแขนงอื่นๆ มากขึ้น รวมทั้งการเป็นพิธีกรรายการสารคดีท่องเที่ยวที่หลายคนรู้จักเป็นอย่างดี
  • ช่วงแรกที่เริ่มออกเดินทาง วรรณสิงห์คือคนหนุ่มที่ตื่นเต้นกับทุกสิ่งที่เขามองเห็น และเคยมีช่วงเวลาที่คิดว่าตัวตนของเขา ‘ใหญ่’ ไปพร้อมกับโลกกว้างที่ได้เจอ ก่อนที่เขาจะค้นพบความจริงที่ว่า แท้จริงแล้วตัวตนของมนุษย์นั้นเป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็กๆ ถ้าเทียบกับความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ
  • ตอนนี้วรรณสิงห์อยู่ในช่วงหยุดพักการเดินทาง เพื่อค้นหาสิ่งที่เขาอยากทำเป็นลำดับต่อไป ซึ่งคำตอบที่ใกล้เคียงที่สุด คือเขาอยากกลับมาทำงานเพลงที่ห่างหายไป 10 ปีอีกครั้ง ด้วยความรู้สึกที่แตกต่างออกไป

ภาพที่ชัดเจนที่สุดเวลาพูดถึงชื่อวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล คือชายหนุ่มนักเดินทาง ที่มักจะออกเดินทางเพื่อเก็บเรื่องราวที่น่าสนใจจากทั่วทุกมุมโลก แล้วนำมาส่งให้กับผู้ชมอยู่เสมอ โดยเฉพาะกับรายการล่าสุด เถื่อน Travel ทั้ง 2 ซีซัน ที่เขายกระดับพาตัวเองไปสำรวจซอกมุมที่ลึกและเสี่ยงอันตรายมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

 

แต่ความน่าสนใจอย่างหนึ่งที่เราเห็นจากรายการ ‘The Melody to Masterpiece สงครามทำเพลง’ ที่เขาเป็นแขกรับเชิญ ส่งต่อเรื่องราวการเดินทางให้โปรดิวเซอร์จากค่าย Muzik Move และ LOVEiS นำไปสร้างเป็นบทเพลงที่สะท้อนตัวตนของเขาออกมาจนกลายเป็นเพลง ‘ลอง’ และเพลง ‘เพลงถึงดาว’ ที่สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองต่อการเดินทางของเขา ที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลาที่เติบโตขึ้นจากการมองเห็นโลกกว้างมาตลอดระยะเวลา 10 ปี

 

เพลง ‘ลอง’ คือความรู้สึกที่เขาออกเดินทางในช่วงวัยรุ่น ที่เต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น และตื่นเต้นกับทุกสิ่งที่ได้เจอ ส่วนเพลง ‘เพลงถึงดาว’ คือมุมมองต่อการเดินทางที่เปลี่ยนไป ในวันที่เขารู้สึกว่ายิ่งเดินทางมากเท่าไร ธรรมชาติก็ยิ่งยิ่งใหญ่ และตัวตนของเขาก็ยิ่งลดลงมากเท่านั้น

 

รวมไปถึงความคิดที่ว่าเขาอยากพักจากการเดินทาง เพื่อตกผลึกและค้นหาสิ่งที่เขาอยากทำต่อไปในชีวิต ซึ่งคำตอบที่ใกล้เคียงที่สุด คืออยากกลับมาลองทำเพลงอีกครั้ง หลังห่างหายจากการทำเพลงไปมากกว่า 10 ปี

 

ถ้าเทียบกับงานศิลปะแขนงต่างๆ คิดว่าดนตรีเป็นงานศิลปะที่มีอิทธิพลกับความคิดและชีวิตของคุณมากขนาดไหน

ณ ปัจจุบันอาจจะไม่ได้เยอะเท่าช่วงอายุ 20 ต้นๆ ที่เคยตั้งใจทำวงดนตรี Rhashomon กับเพื่อนๆ อุทิศชีวิตให้ดนตรีอยู่ประมาณ 5-6 ปี ฟังเพลงเยอะมากทุกแนว ร็อก แจ๊ส เมทัล อีดีเอ็ม เพราะรู้สึกว่าดนตรีทำให้เรามีแรง กระตือรือร้นกับการใช้ชีวิตเยอะมาก พอเวลาผ่านไปเราก็หันไปสนใจสื่อด้านอื่นๆ มากยิ่งขึ้น ทั้งหนังสือ หนัง นิยาย หรือว่าเกมก็เข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงอายุที่มากขึ้น แต่ถ้านับเฉพาะวัยเด็ก ดนตรีถือว่าเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการทำงานมากที่สุดแล้ว

 

แต่ตอนนี้ก็อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านอีกครั้งเหมือนกัน เพราะว่าตอนนี้เป็นช่วงพักหลังจากทำงานสารคดีเดินทางมา 10 ปี กำลังหาอะไรใหม่ๆ ดูว่าแรงในใจมันมีแนวโน้มว่าอยากทำอะไรต่อไปเชิงงานศิลปะ แล้วรู้สึกว่าความรักในเสียงดนตรี ความชอบเล่น ชอบฟังมันเริ่มกลับมาอีกครั้ง หลังจากหายไปหลายปีเพราะทำอย่างอื่นอยู่ คิดว่าดนตรีจะกลับมามีอิทธิพลกับชีวิตมากขึ้น

 

เพลง Stardust (ละอองดาว) ที่สิงห์เคยทำเอาไว้เมื่อ 10 ปีก่อน

 

คิดว่ามองเห็นหรือได้ยินอะไรจากเสียงดนตรีมากขึ้นบ้างไหม หลังจากออกไปโฟกัสที่การเดินทางมาหลายปี

ตอนอายุน้อยๆ ผมอาจจะตั้งใจเล่นดนตรีเพื่อให้มันสำเร็จมากไปหน่อย จนกลายเป็นความเครียด แล้วความสุขในพาร์ตดนตรีก็หายไปเยอะเหมือนกัน แต่พอกลับมาเล่นดนตรีอีกครั้ง ความรู้สึกเปลี่ยนเป็นเราเล่นเพื่อให้มีความสุขมากกว่า แต่ก่อนเราคิดว่าเล่นแล้วต้องออกเพลงได้ ต้องออกไปเล่นให้คนอื่นดู ตอนนี้แค่เล่นอยู่ที่บ้านเฉยๆ เราก็แฮปปี้แล้ว

 

แล้วการอุทิศชีวิตให้กับดนตรีในช่วงวัยนั้น ก็เป็นบทเรียนสำคัญกับช่วงวัยต่อมาในอนาคต ถ้าคนมองตัวผมในตอนนี้ อาจจะเห็นภาพว่าประสบความสำเร็จแล้วประมาณหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วผมก็ได้ทำหลายสิ่งที่ล้มเหลวมามากเหมือนกัน และดนตรีก็นับว่าเป็นหนึ่งในสิ่งที่ผมทุ่มเทกับมันมาก แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ผลอะไรมากมายในเชิงคอมเมอร์เชียล ซึ่งทำให้ผมเรียนรู้ในการปล่อยวางเรื่องบางอย่าง ถ้าเราพยายามอย่างเต็มที่ที่สุดแล้วไปไม่ถึงจุดหมายที่คิดไว้ แล้วทำให้ชีวิตสงบขึ้นเยอะ

 

กับบทเรียนเรื่องศิลปะกับการทำมาหากิน ว่าถ้าเราทำอะไรเพราะความรัก แต่ตั้งใจว่ามันต้องประสบความสำเร็จมากเกินไป สุดท้ายมันจะกลายเป็นสิ่งที่เราไม่รักไปโดยอัตโนมัติ ก็เลยพยายามเอาบทเรียนนี้มาเตือนตัวเองเวลาทำงานศิลปะอื่นๆ ว่าก่อนอื่นต้องเริ่มจากความสนุกและมีความสุขกับมันก่อน และถ้าบังเอิญมันหาเงินได้ค่อยว่ากัน

 

อย่างรายการ เถื่อน Travel ก็เริ่มต้นด้วยความคิดว่าไม่อยากหาเงิน หรืออยากให้มันดังอะไรเลย ทำเพราะความอยากทำล้วนๆ ปรากฏว่ามันกลายเป็นสิ่งที่สำเร็จขึ้นมาในระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้มาจากจุดแรกที่ตั้งใจว่าต้องทำให้สำเร็จ ซึ่งตอนทำเพลงผมเริ่มต้นแบบนั้น อยากเป็นชาวร็อก อยากเป็นซูเปอร์สตาร์ แล้วก็ไปเครียดตรงนั้นเพราะโฟกัสที่ความสำเร็จของมันมากเกินไป

 

wannasingh-prasertkul

 

นอกจากบทเรียนสำคัญที่ได้เรียนรู้ ดนตรีทำงานกับตัวคุณในแง่การช่วยเยียวยารักษาจิตใจเมื่อเกิดความเครียดหรือความทุกข์ได้มากขนาดไหน

ได้เป็นอย่างดีเลยครับ ทุกวันนี้ไม่ว่าเครียดจากเรื่องอะไร ผมแค่เปิดเปียโนเล่น หรือว่าเล่นเชลโล เล่นเบสไปเรื่อยๆ สักพักจะรู้เลยว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นค่อยๆ ละลายหายไป แล้วจิตใจเราจะไม่มานั่งคิดแล้วว่าปัญหาที่เจอมาวันนี้คืออะไร เราทะเลาะกับใครมา เราอยู่แค่กับตัวโน้ต กับเพลงที่เล่นอยู่ มันก็ให้ความสุขกับเราได้แล้ว

 

ซึ่งผมว่าการเล่นดนตรีแบบนี้มันน่าจะดีกว่าสำหรับช่วงอายุ 34-35 ในตอนนี้เป็นช่วงวัยที่ผ่านการมุ่งไปข้างหน้าแบบ 100% มาแล้ว เป็นช่วงที่เราจะใช้ชีวิตช้าลงบ้าง แต่ในขณะเดียวกันก็ยังหวังว่าในอนาคตจะได้ทำเพลงที่ออกไปสู่สาธารณชนเหมือนกัน แต่ไม่ได้ทำด้วยความรู้สึกแบบเดิม

 

มีเพลงไหนบ้างที่คุณเลือกหยิบมาฟังอยู่เสมอระหว่างออกเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ

มีเพลย์ลิสต์ที่ชื่อ Deep Focus ใน Spotify ที่รวมเพลงไม่มีเนื้อร้องของศิลปินหลายคน เป็นซาวด์เวิ้งว้าง ที่ช่วยให้บรรยากาศในตัวเรามันเคลิ้มไปกับธรรมชาติ ทำให้ทุกอย่างที่เราเห็นเหมือนมีแสงเปล่งออกมา ยิ่งเวลาทำงานอยู่ในป่าเขาแล้วฟังเพลงเหล่านี้ ก็ยิ่งทำให้เราโฟกัสกับสิ่งที่เจอ และเสริมบรรยากาศของชีวิตที่อยู่ตรงหน้ามากขึ้นไปอีก

 

wannasingh-prasertkul

Photo: Instagram @wannasingh

 

มีอยู่ครั้งหนึ่งผมเดินออกไปถ่ายท้องฟ้าที่มีแต่ดาวในทะเลทรายซาฮารา ระหว่างถ่ายผมก็เปิดเพลงในเพลย์ลิสต์ขึ้นมามั่วๆ ผมจำชื่อเพลงไม่ได้นะ แต่มันเป็นความรู้สึกแบบนั้นเลย คือบรรยากาศรอบตัวในวันนั้น กับเพลงที่เปิดมันล็อกเข้าหากัน แล้วทำให้ทุกอย่างสมบูรณ์ขึ้นไปอีก ทำให้เห็นว่าเมื่อเอาส่วนผสมทุกอย่างมารวมกัน โลกทั้งโลกมันเป็นงานศิลปะได้จริงๆ ถึงแม้จะมีผู้ชมเป็นแค่ตัวเราคนเดียวก็ไม่เป็นไร  

 

ในเพลง เพลงถึงดาว ของค่าย Muzik Move ที่ได้ยินในรายการจะมีท่อนหนึ่งที่ร้องว่า ‘มองฟ้าด้วยความรู้สึกที่เปลี่ยนไป’ ตลอดหลายปีที่ออกเดินทางและเห็นท้องฟ้ามาจากทั่วทุกมุมโลกของคุณ เคยเกิดความรู้สึกแบบนั้นขึ้นมาบ่อยขนาดไหน

ผมว่าไม่ใช่เรื่องสถานที่ แต่เป็นเรื่องของช่วงวัยที่ทำให้มองท้องฟ้าด้วยความรู้สึกแตกต่างกันออกไป อย่างแต่ก่อน ผมอาจจะมองท้องฟ้าด้วยความรู้สึก จะออกไปแตะขอบฟ้า (เพลง เรือเล็กควรออกจากฝั่ง ของวงบอดี้สแลม) หรือเพลงอะไรก็ตามที่ให้ความรู้สึกมุ่งไปข้างหน้า ไปคว้าให้ถึงดวงดาว เป็นความรู้สึกของวัยหนุ่ม ในฐานะที่เราเองก็เป็นคนมุ่งมั่นและตั้งใจทำอะไรหลายอย่างให้สำเร็จให้ได้

 

แต่พอมาวัยนี้ ผมกลับรู้สึกเชื่อมโยงกับเนื้อร้องในเพลง เพลงถึงดาว มากๆ เพราะบางทีเราไม่ต้องไปไขว่คว้าดวงดาว เราแค่ปล่อยเขาไว้เฉยๆ แล้วนั่งดู ชื่นชม แล้วขอบคุณที่ทำให้รู้ว่าตัวเราไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไรขนาดนั้น ในแง่หนึ่งมันเป็นน้ำหนักที่เบาลงต่อชีวิตมากๆ พอจ้องธรรมชาติ ดวงดาว ท้องฟ้า ภูเขา ในเวลานี้ความรู้สึกอยากพิชิต อยากทำอะไรที่เสริมตัวตน เสริมอัตตาของตัวเองมันแทบจะหายไปหมดแล้ว ธรรมชาติเป็นครูที่ทำให้ผมรู้สึกว่า ตัวเราเล็กลงเรื่อยๆ จากสิ่งที่ได้ค้นพบจากทุกๆ การเดินทาง

 

เพลง เพลงถึงดาว ของค่าย Muzik Move

 

ส่วนเพลง ลอง ของค่าย LOVEiS ให้ความรู้สึกเหมือนตอนแรกๆ ที่เริ่มออกเดินทาง แล้วตื่นเต้นกับทุกอย่างไปหมด บนโลกใบนี้มีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นด้วยเหรอ ความอยากรู้อยากเห็นเป็นแรงผลักดันที่สำคัญมากในตอนนั้น คิดว่าถ้าผมไปออกรายการนี้สัก 3-4 ปีก่อน ผมคงเลือกให้เพลงนี้ชนะแน่นอนอยู่แล้ว

 

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทุกคนย่อมมีการเติบโตและเปลี่ยนแปลง ผมมองว่าความรู้สึกอยากลอง อยากค้นหาอาจจะเป็นเรื่องของคนที่หนุ่มกว่าเรา อย่างในปีนี้ผมมีเป้าหมายที่แปลกมาก คือผมกำลังเรียนรู้ที่จะอยู่เฉยๆ ซึ่งคนทั่วไปก็จะงงว่าจะเรียนรู้ไปทำไม แต่สำหรับผมที่ไม่ได้อยู่เฉยๆ มาหลายปีมากแล้ว ปีที่แล้วก็เดินทางไป 19 ประเทศในปีเดียว ความรู้สึกที่ว่าอยากออกไปเห็นอะไรใหม่ๆ ลดลงเยอะมากแล้ว กลายเป็นอยากอยู่แบบสงบ นั่งดูจิตใจเราอย่างชัดเจนว่าอยากทำอะไรต่อไปกับชีวิต แล้วเพลง เพลงถึงดาว มันสะท้อนมุมมองของตัวผมในวัยนี้ บางทีเราไม่จำเป็นต้องมุ่งไปข้างหน้า ไปหาอะไรใหม่ๆ อย่างเดียว แต่เป็นเวลาที่ต้องกลับมาดูข้างในตัวเราเอง โดยอาจจะมีกระจกสะท้อนตัวเราคือสิ่งที่ใหญ่กว่าเราอย่างเช่นดวงดาวเป็นต้น

 

เพลง ลอง ของค่าย LOVEiS

 

แต่ก่อนที่ธรรมชาติจะบอกให้รู้ว่าที่จริงแล้วมนุษย์เราตัวเล็กมากแค่ไหน คุณน่าจะต้องเคยผ่านช่วงเวลาที่คิดว่าตัวตนของเรายิ่งใหญ่ไปพร้อมๆ กับการได้มองเห็นโลกที่กว้างขึ้นไปด้วย

ใช่ครับ พอเดินทางเยอะๆ ได้ออกสื่อ มีคนบอกว่า โห ดีจัง ได้ใช้ชีวิตคุ้มจังเลย ก็จะมีช่วงที่เราอินกับคำพูดพวกนั้น แล้วคิดว่า เออ กูเจ๋งเว้ย เพราะคนอื่นไม่ได้ทำสิ่งเหล่านี้ นั่นคือตอนแรกที่เรามองเรื่องการเดินทางเป็นการเสริมสร้างตัวเอง

 

แต่พอเดินทางไปสักพัก กลายเป็นว่าการเดินทางไม่ใช่เรื่องของเราเลย มันคือเรื่องของสิ่งที่เราไปพบเจอ ยิ่งได้เจอผู้คนจำนวนมาก เจอธรรมชาติที่โคตรยิ่งใหญ่ ได้เห็นความคิดที่แตกต่างกันมากมายเหลือเกินบนโลกใบนี้ จนเกิดเป็นความรู้สึกที่ผมชอบมาก คือการที่ผมลืมตัวเองไปเลย เราแค่โฟกัสกับสิ่งที่ทุกคนคิด ทุกคนเจอมา

 

ถ้าสังเกตช่วงหลังๆ ผมจะพยายามไม่ใส่ความคิดของตัวเองเข้าไปในรายการเลย แค่นำเสนอสิ่งที่อยู่ตรงหน้าและทำให้มันเอ็นเตอร์เทนที่สุด แต่ความคิดที่ว่าผมคิดแบบนี้นะ มันต้องเป็นอย่างนี้สิ หรือผมไปพิชิตที่โน่นที่นี่ได้แล้ว มันแทบไม่อยู่ในหัวผมเลย

 

เพราะสุดท้าย ถึงแม้ผมจะเดินทางไปเข้าป่าหรือยอดเขาที่ไหนก็ตามแต่ ผมไม่ได้พิชิตอะไรเลย เพราะเขาอยู่ตรงนั้นของเขาอยู่แล้ว เขามีความยิ่งใหญ่อยู่ตรงนั้น เราทำได้เพียงแค่ขอไปยืมดูความยิ่งใหญ่นั้นสักแป๊บหนึ่งแล้วก็เดินกลับบ้านเท่านั้นเอง

 

wannasingh-prasertkul

 

ใช้เวลาอยู่นานไหม กว่าจะค้นหาจุดสมดุลระหว่างการทำรายการที่ผลักดันให้อัตตาของเราใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ กับสิ่งที่การเดินทางสอนให้เรารู้ว่ามนุษย์เราตัวเล็กแค่ไหนได้พอดี

ผมว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ต้องค้นหาด้วยซ้ำ แต่มันเป็นกระบวนการตามธรรมชาติที่รู้สึกขึ้นเองโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว ว่าที่จริงแล้วตัวเราไม่ได้มีอะไรพิเศษถ้ามีสิ่งเหล่านี้อยู่ในใจ เราจะไม่หลงไปกับตัวตนที่ใหญ่ขึ้นเท่าไร แน่นอนว่าผมยังไม่สามารถทำได้ 100% บางทีก็มีอีโก้โตขึ้นมาบ้างตามประสามนุษย์ทั่วไป

 

แต่เมื่อเป็นอย่างนั้น ทุกครั้งที่ได้ออกเดินทางไปเจออะไรใหม่ๆ มันจะค่อยๆ ลดตัวเรากลับมาอีกครั้งเหมือนกัน เป็นกระบวนการที่ต้องปรับไปทั้งชีวิต แน่นอนว่าความมั่นใจในตัวเองที่ผลักดันให้ทำสิ่งต่างๆ ยังมีอยู่ แต่เราควรใช้แรงผลักดันพวกนี้ไปในเชิงว่า จะทำอย่างไรให้เรามีประโยชน์กับโลกใบนี้มากที่สุด ดีกว่าผลักดันด้วยความรู้สึกว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้ฉันโดดเด่น พิสูจน์ตัวเองหรือสร้างความเป็นวรรณสิงห์ขึ้นมา

 

อย่างงานดนตรีที่ผมบอกไปตอนแรก ผมก็อยากทำงานดนตรีที่มีความหมาย สะท้อนความคิดของคน ทำให้เขามีความหวัง มีความรู้สึกที่ดีกับโลกใบนี้ หรือทำให้เขามีไฟอยากออกไปทำอะไรก็ตามแต่ แน่นอนว่าทั้งหมดเป็นเพลงที่ออกมาจากสิ่งที่ผมรู้สึกเหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนจากพูดเพื่อตัวเอง เป็นพูดเพื่อคนอื่น

 

มีกำหนดการไว้บ้างหรือเปล่า ว่าเราจะได้ฟังเพลงแบบนั้นของคุณเมื่อไร

คงเริ่มเร็วๆ นี้ครับ ผมอยากทำเพลงที่มีความหมายอย่างที่สะท้อนความรู้สึกข้างในของคนจริงๆ ผมมองศิลปินอย่างบ็อบ ดีแลน ที่ร้องเพลงไม่เพราะเลย แต่เขาเป็นเสียงของยุคสมัยได้ เพราะสิ่งที่เขาพูดมันโคตรจริง และโคตรถึงความรู้สึกของคนในยุคสมัยนั้น ผมก็อยากลองดูว่าจะสามารถทำเพลงแบบนั้นได้หรือเปล่า แล้วก็เลิกคิดเรื่องค่าย เรื่องความสำเร็จอะไรเลย เพราะสมมติว่าเพลงมันพูดกับคนได้จริงๆ เดี๋ยวคนจะได้ยินมันเอง แต่เรื่องกำหนดเวลา ตอนนี้ผมใช้ชีวิตโดยไม่กำหนดเวลาให้ตัวเองแล้ว เพราะว่าพอพักเยอะ มันก็ดีในแง่หนึ่ง แต่มันก็เร่งรีบในอีกแง่หนึ่ง ตอนนี้ก็เลยเป็นช่วงชิลมากกว่า เพราะว่าเร่งรีบติดกันมาหลายปีมากๆ แล้ว

 

ระหว่างการเดินทาง ได้มองเห็นความผูกพันระหว่างมนุษย์และเสียงดนตรีเรื่องไหนบ้างที่รู้สึกประทับใจคุณมากที่สุด

มีเยอะนะครับ ถ้าเราไปเห็นพวกวัฒนธรรมชาวเผ่าทั้งหลายที่จะมีเพลงของตัวเองทั้งหมด เป็นโมเมนต์ที่พิเศษเสมอที่ได้ไปฝั่งเขาร้องเพลงกลางป่าแอมะซอน หรือเอาไมค์ออกมาอัดเสียงชาวเผ่าที่แอฟริกาตอนร้องเพลงรอบกองไฟ ในแง่นี้ดนตรีเหมือนเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติของมนุษย์ที่อยากพูดในสิ่งที่รู้สึก หรือเล่าเรื่องราวอะไรบางอย่างออกมา แต่การพูดเฉยๆ ยังดีไม่พอ ต้องมีอะไรบางอย่างเพิ่มเข้าไปในนั้น เหมือนทุกวัฒนธรรมไม่ว่าที่ไหนในโลก ถ้าปล่อยไปสักพักจะเกิดเสียงดนตรีขึ้นเองตามธรรมชาติ

 

wannasingh-prasertkul

Photo: Instagram @wannasingh

 

ทั้งที่ถ้ามองในแง่วิทยาศาสตร์ เสียงดนตรีเป็นแค่คลื่นเสียงที่มีระดับความถี่ต่างกันมาเรียงลำดับตามขั้นเวลาเท่านั้น มันแปลกมากเลยนะที่สัตว์ชนิดหนึ่งจะมานั่งหาความบันเทิงจากสิ่งเหล่านี้ และสุดท้ายมนุษย์ก็เป็นสัตว์ชนิดนั้นจริงๆ ที่มานั่งชื่นชมคลื่นความถี่เหล่านี้กัน แล้วพัฒนาเป็นสิ่งที่มีความหมายจากพวกเราจำนวนมากมาย แค่นี้เสียงดนตรีก็มหัศจรรย์ในตัวของมันเองมากแล้ว

 

wannasingh-prasertkul

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

FYI
  • รายการ Melody to Masterpiece สงครามทำเพลง คือวาไรตี้โชว์ที่มีโจทย์แต่ละสัปดาห์จากแขกรับเชิญ (The Melody) 13 คน ให้ 4 ค่ายเพลงชั้นนำของเมืองไทยอย่าง LOVEiS, SpicyDisc, I AM และ Muzik Move มาร่วมแบตเทิลเพื่อสร้างสรรค์ผลงานทางดนตรี
  • หลังจากผ่านการแข่งขันทางด้านดนตรี สุดท้ายจะมีเพียง 2 ทีมที่ได้สิทธิ์ในการทำเพลง โดยผ่านการตัดสินของ The Melody และสุดท้ายจะมี 1 บทเพลงเท่านั้นที่จะได้ตำแหน่ง Masterpiece ประจำสัปดาห์ไปครอง
  • รายการ Melody to Masterpiece ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 21.15 น. ทาง True4U ช่อง 24 และแอปพลิเคชัน TrueID
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X