วันนี้ที่ย่านสยามสแควร์ดูจะคึกคักเป็นพิเศษ เพราะ พันเอก วันชนะ สวัสดี ผู้ช่วยโฆษกกระทรวงกลาโหม คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ปรองดองฯ ควงแขน ‘น้องเกี่ยวก้อย’ มาสคอตแห่งความปรองดอง ลงพื้นที่แจกสัญญาประชาคม และพบปะแฟนคลับบริเวณสถานีรถไฟฟ้าสยาม ฝั่งสยามสแควร์วัน
นอกจากนี้ยังมีการเปิดตัวแอมบาสเดอร์สามัคคีปรองดอง ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นน้องๆ ทหารที่อยู่ในกระทรวงกลาโหม
พันเอก วันชนะ กล่าวว่า วันนี้มารณรงค์ให้ประชาชนได้ร่วมกันสร้างบรรยากาศของความสามัคคีปรองดองซึ่งอยู่ในข้อที่หนึ่งของสัญญาประชาคมที่พวกเราทุกคนร่วมกันคิดร่วมกันเขียนขึ้นมา ซึ่งจากการลงพื้นที่ครั้งที่แล้วที่บริเวณอนุสาวรีย์ได้มีคำถาม ว่าสิ่งที่ คสช. ทำถูกต้องหรือไม่ ตั้งแต่เข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศและจัดตั้งรัฐบาล ตนขอชี้แจงว่าเราได้แบ่งขั้นตอนของการดำเนินการเรื่องความสามัคคีปรองดองออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การเข้ามาของ คสช. เพื่อต้องการจัดการเรื่องความวุ่นวายที่เกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้ คสช. ได้ทำสำเร็จไปแล้ว ระยะที่ 2 เมื่อเรารับทราบปัญหาความวุ่นวายที่เกิดขึ้นมาจากความเหลื่อมล้ำในสังคม เราได้ดำเนินการปฏิรูปในทุกๆ ด้าน และระยะที่ 3 รัฐบาลต้องการที่จะส่งต่อเรื่องความมั่นคงยั่งยืนต่อไปในอนาคต คือกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ
“ดังนั้นการแก้ไขปัญหาในระยะที่ 2 และที่ 3 จะดำเนินการพร้อมๆ กัน เมื่อมีการปฏิรูปเกิดขึ้น พร้อมทั้งกำหนดยุทธศาสตร์ชาติและขณะนี้มีแนวโน้มที่ดีขึ้นแต่ยังไม่สำเร็จร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งยังต้องอาศัยความร่วมมือของพี่น้องประชาชนในชาติ เพื่อให้การปฏิรูปยุทธศาสตร์ชาติเห็นเป็นรูปธรรม
พันเอก วันชนะ กล่าวอีกว่า ส่วนของการเลือกตั้งก็บรรจุอยู่ในสัญญาประชาคมรวมอยู่ในข้อที่ 1 เราก็มารณรงค์ให้ทุกคนปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของกฎหมาย เพื่อให้การเลือกตั้งเกิดความเท่าเทียมกัน เช่น มีพรรคเล็กได้ให้ข้อเสนอมาว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่มีความเท่าเทียมกันในการหาเสียง ซึ่งข้อปัญหาตรงนี้เราจะนำไปสู่การปฏิรูปในด้านการเมือง
“หลังจากนี้ไปจะนำน้องเกี่ยวก้อยและคณะเข้าไปยังหน่วยทหารเพื่อให้กำลังใจทหารที่เข้ามารับใช้ชาติ เพราะผมเห็นว่าทหารเหล่านั้นได้ทำหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเข้ามาด้วยวิธีการสมัครใจหรือจับสลากมาก็ตาม ส่วนคนที่จะมาแสดงความคิดเห็นนั้นขอให้แสดงความคิดเห็นด้วยความจริงใจ เราพร้อมที่จะรับฟังทุกความคิดเห็น พร้อมจะนำมาแก้ไขปรับปรุงและขอขอบคุณสำหรับทุกความคิดเห็น ซึ่งที่ผ่านมาการสร้างความสามัคคีปรองดองมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ซึ่งสะท้อนมาจากโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ที่ประชาชนสะท้อนปัญหาปากท้องมากกว่าปัญหาการเมือง”