×

‘วิศวกรกรมชลประทาน’ บทบาทใหม่ที่กลมกล่อมไปกับตัวตนของ ว่าน ธนกฤต ในซีรีส์ ‘เพื่อนผมมีมรดกเป็นโฮมสเตย์ครับ’ [ADVERTORIAL]

28.08.2023
  • LOADING...

ว่าน ธนกฤต ที่กำลังนั่งสนทนากับ THE STANDARD วันนี้ไม่ได้มาในฐานะนักร้อง แต่มาพร้อมหมวกนักแสดงที่สวมบทบาทเป็น ‘เจ้าหน้าที่กรมชลประทาน’ ในซีรีส์ ‘เพื่อนผมมีมรดกเป็นโฮมสเตย์ครับ (Escape to Homestay)’ 

 

บทบาทใหม่สำหรับเขาไม่ต้องพลิกชีวิต ไม่ถึงกับท้าทายความสามารถในการแสดงที่สุด แต่การรับบท ‘เตอร์’ วิศวกรกรมชลประทาน ที่ชีวิตการทำงานส่วนใหญ่ต้องคลุกคลีอยู่ในห้อง SCADA (ศูนย์ควบคุมการบริหารจัดการน้ำ) และชีวิตหลังเลิกงานคือการขับรถพูดคุยและช่วยเหลือคนในชุมชน กลับทำให้เขามีมุมมองต่ออาชีพนี้เปลี่ยนไป มองเห็นแง่งามที่ไม่เคยเข้าใจผ่านการทำงานของกรมชลประทาน และไม่มองว่าเขื่อนเป็นเพียงสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่มีไว้ให้พวกเราถ่ายรูปลงโซเชียลเท่านั้น 

 

เพื่อนผมมีมรดกเป็นโฮมสเตย์ครับ (Escape to Homestay) ซีรีส์ขนาด 8 ตอนที่ผลิตโดยบริษัท ทีวี ธันเดอร์ จำกัด (มหาชน) ได้ผู้กำกับฝีมือดี พร้อมทีมนักแสดงคนรุ่นใหม่ฝีมือดี ไม่ว่าจะเป็น แปลน-รัฐวิทย์ กิจวรลักษณ์, พร้อม-ราชภัทร วรสาร, มาร์ค-ศิวัช จำลองกุล, ฟ้อนด์-ณัฐทิชา จันทรวารีเลขา, ฟาง-ธนันต์ธรญ์ นีระสิงห์ และ จ๊ะจ๋า-จินต์จุฑา ศิริเพ็ง 

 

เสริมทัพด้วยนักแสดงรุ่นใหญ่มากฝีมืออย่าง ต๊งเหน่ง-รัดเกล้า อามระดิษ, หนุ่ม-สันติสุข พรหมศิริ, โจ๊ก-กรภพ จันทร์เจริญ, ติ๊ก-เจษฎาภรณ์ ผลดี, และ ว่าน-ธนกฤต พานิชวิทย์

 

 

ซีรีส์เรื่องนี้จะชวนคนดูฟีลกู๊ดไปกับเรื่องราวของสามเพื่อนซี้ที่ปลีกตัวจากปัญหาในเมืองกรุง มุ่งสู่โฮมสเตย์อันอบอุ่น ท่ามกลางเรื่องราวน่ารักๆ ของคนในชุมชนที่จะช่วยให้พวกเขาได้ชาร์จพลัง พร้อมหาแรงบันดาลใจและเรียนรู้วิถีชีวิตท่ามกลางธรรมชาติที่ไม่สามารถพบเจอได้ในเมืองใหญ่ 

 

โฮมสเตย์ของพวกเขาถูกปักหมุดไว้ที่จังหวัดนครนายก จังหวัดที่มีเขื่อนขุนด่านปราการชลเป็นแลนด์มาร์ก เขื่อนแห่งนี้ถูกใช้เป็นโลเคชันหลักของเรื่องอย่างไม่ต้องสงสัย โดยมี ‘เตอร์’ วิศวกรกรมชลประทาน ที่รับบทโดย ว่าน ธนกฤต เป็นหนึ่งตัวละครสำคัญที่ทำให้คนดูได้เห็นถึงความสำคัญของเขื่อนและการทำงานของเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน

 

มี 3 เหตุผลน่ารักๆ ที่ทำให้เขาตัดสินใจรับบท เตอร์ ข้อแรกว่านบอกว่า 18 ปีในวงการบันเทิงเขาไม่เคยรับบทข้าราชการเลย “ชุดแบบนี้ไม่เคยใส่ พอลองใส่ เออ มันก็ได้นะ” ข้อต่อมา พอรู้ว่าโลเคชันหลักของเรื่องต้องถ่ายต่างจังหวัด “ดีเลย ได้เปลี่ยนบรรยากาศการทำงาน” 

 

เหตุผลสุดท้ายว่านบอกว่า “ผมชอบคาแรกเตอร์นี้ สำหรับผมมันเข้าถึงง่าย หน้าที่ของเตอร์จะต้องดูแลการจัดสรรน้ำ เป็นที่พึ่งพาได้ของคนในชุมชน คุ้นเคยกับลุงป้าน้าอาที่เป็นเกษตรกร พอทำงานดูแลเขื่อนเสร็จ เวลาขับรถกลับบ้าน บ้านไหนอะไรเสียก็กวักมือเรียกให้ไปช่วย เตอร์เลยเป็นที่รักของคนในชุมชน แต่จริงๆ แล้วเตอร์ไม่ใช่คนพื้นที่นะ เป็นคนกรุงเทพฯ แต่ด้วยความที่อยากทำงานแบบลงพื้นที่จึงขอย้ายมาทำงานที่นครนายก อยู่ไปอยู่มาก็รู้สึกผูกพันและอยากจะช่วยเหลือคนในชุมชน เลยกลายเป็นเหมือนคนที่ทำงานเพื่อชุมชน 

 

“ผมรู้สึกว่าตัวเองเข้าถึงตัวตนของเตอร์ได้ง่ายเพราะผมเองก็เป็นแบบนี้อยู่แล้ว เป็นคนง่ายๆ ถ้อยทีถ้อยอาศัย สามารถคุยกับคนไม่รู้จักได้ ผมก็ไม่ต้องเซ็ต ปล่อยเซอร์ โฟกัสที่ตัวงาน ทำงานเสร็จก็ใช้ชีวิต”

 

 

ทำไมต้องเป็นว่าน? เขาบอกว่า “เหตุผลหนึ่งคงเพราะผมเคยทำงานกับกรมชลประทานในหลายโปรเจกต์ ผู้ใหญ่ทางกรมชลประทานและทีวี ธันเดอร์ คงมองว่าผมเข้าใจกระบวนการทำงานของกรมชลประทานง่ายกว่าคนอื่น ไม่ต้องอธิบายใหม่ทั้งหมด และทำงานเข้าขากันด้วย รวมถึงอายุและคาแรกเตอร์ของตัวละครก็ค่อนข้างใกล้เคียงและเข้าปากเข้าคอผมดี มันก็ต้องเป็นผมละครับ (ยิ้ม)”  

 

ความจริงแล้วที่มาที่ไปของตัวละครเตอร์เป็นไอเดียที่ทีวี ธันเดอร์ ตั้งใจสร้างขึ้นมาใหม่ เพราะต้องการถ่ายทอดให้เห็นอีกหนึ่งอาชีพที่มีความสำคัญในชุมชน และยังถือเป็นการขอบคุณกรมชลประทานที่สนับสนุนพื้นที่เขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก ซึ่งใช้เป็นโลเคชันหลักในการถ่ายทำซีรีส์ โดยเฉพาะพื้นที่สำคัญอย่าง ห้อง SCADA (ศูนย์ควบคุมการบริหารจัดการน้ำ) และอุโมงค์ตรวจพฤติกรรมเขื่อน

 

‘กรมชลประทาน การทำงานของเจ้าหน้าที่ และเขื่อน’ มุมมองที่เปลี่ยนไปจากการแสดง

 

ว่านและคนไทยเกือบค่อนประเทศน่าจะเหมือนกันคือ รู้แค่ว่ากรมชลประทานมีหน้าที่ดูแลน้ำ เขื่อนมีหน้าที่กักเก็บน้ำและเป็นแหล่งท่องเที่ยว ส่วนเจ้าหน้าที่กรมชลประทานก็คงทำหน้าที่ที่ไม่ซับซ้อนนัก 

 

แต่เมื่อต้องรับบทวิศวกรกรมชลประทานที่ต้องพูดศัพท์เทคนิค ต้องเข้าถึงความคิดและความรู้สึกของคนในชุมชน เขาจึงต้องลงพื้นที่และทำการบ้านอย่างมาก

 

 

“โชคดีที่เมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมาผมมีโอกาสทำงานกับกรมชลประทานเยอะ เลยได้เดินทางไปเขื่อนแทบจะทุกจังหวัด ไปดูว่าต้นน้ำมาอย่างไร เกิดอะไรขึ้นระหว่างทาง ถึงได้รู้ว่ารายละเอียดมันเยอะมากๆ ยิ่งตอนที่เข้าไปดูศูนย์ควบคุมการบริหารจัดการน้ำ โห มันเยอะแยะดูยากไปหมด เขาใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาวิเคราะห์ข้อมูลน้ำและควบคุมระบบต่างๆ ผมนี่เกร็งมาก ปุ่มหรืออุปกรณ์ต่างๆ ถ้าเผลอไปกดอะไรสุ่มสี่สุ่มห้านี่น้ำท่วมหมู่บ้านเลยนะ เจ้าหน้าที่ในห้องบอกผมว่า คุณว่านครับ ถ้าเป็นไปได้มือไม้อย่าไปโดนอะไรนะครับ

 

“ผมว่ามุมมองที่มีต่ออาชีพนี้มันเปลี่ยนไปเลยนะ จากที่เคยคิดว่าเขื่อนสร้างเสร็จแล้วงานก็จบ แต่ความจริงมันเป็นงานที่เหนื่อยและต้องใส่ใจกว่าที่เราจินตนาการเยอะ กว่าน้ำจะส่งมาถึงพวกเราทุกคนมันมีการคำนวณ การบริหารจัดการเยอะมากๆ และเขาวางแผนล่วงหน้ากันเป็นปีๆ อาชีพนี้ไม่ง่ายเลยจริงๆ” 

 

 

นอกจากจะต้องศึกษาการทำงานจริงของเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน ว่านยังลงพื้นที่ชุมชนเพื่อคุยกับหัวหน้าชุมชนและเกษตรกร 

 

“พวกพี่ๆ ในชุมชนบอกว่า เมื่อ 10 ปีก่อนไม่เหมือนกับสิ่งที่ผมเห็นวันนี้ เมื่อก่อนมองไปตรงไหนก็แล้ง ปลูกพืชได้แค่ 1-2 ชนิดต่อปี แล้วเขาก็พาไปดูระบบแจกจ่ายน้ำตอนนี้ สามารถเพาะปลูกร่วมกันได้ ไม่ต้องแย่งกันสูบน้ำ แถมยังปลูกพืชได้หลากหลายและปลูกได้ตลอดทั้งปี มีน้ำใช้ตลอดทั้งปีได้ มีการแบ่งเก็บในจุดที่ใช้ร่วมกันได้ ซึ่งแต่ละชุมชนก็มีวิธีการต่างกันตามลักษณะของพื้นที่ มันต่อเนื่องไปในอีกหลายมิติ เพราะพอผลผลิตดี หลายๆ ชุมชนก็พัฒนาผลิตภัณฑ์ เริ่มมีหลายหน่วยงานนำองค์ความรู้และนวัตกรรมเข้ามาช่วย เช่น ทำไซรัปจากกล้วยตาก แทนที่จะขายกล้วยหรือกล้วยตากเท่านั้น” 

 

ว่านบอกว่า ไม่แปลกถ้าคนทั่วไปจะไม่รู้ว่ากรมชลประทานทำอะไรอยู่ เจ้าหน้าที่กรมชลประทานมีหน้าที่อะไรบ้าง เพราะความเป็นจริงก็ไม่มีหน่วยงานไหนที่จะเปิดให้คนทั่วไปเข้าไปดูการทำงาน หรืออย่างเขื่อน สำหรับคนทั่วไปคงมองเป็นเพียงสถานที่ท่องเที่ยว 

 

“ก็ไม่ผิดที่ประชาชนจะไม่รู้ว่าเบื้องหลังการทำงานคืออะไร แต่ถ้าอยากเข้าใจ ในซีรีส์เรื่องนี้จะทำให้คนดูเห็นในมุมที่เตอร์พยายามอธิบายให้เข้าใจว่า ใช้น้ำแบบนี้ไม่ได้นะ ถ้าจะใช้น้ำร่วมกันให้มีความสุขจะทำอย่างไร อย่างในซีนที่ผมคุยกับพี่หนุ่ม สันติสุข ในบทจะมีการพูดคุยในมุมของเตอร์ว่า ปีนี้เราไม่น่าขาดน้ำนะครับ เพราะปริมาณฝนมันโอเค แต่พี่หนุ่มจะบอกว่าคิดแบบนี้ไม่ได้ เพราะว่าต้องดูตัวเลขแบบนี้มาเทียบกัน ซึ่งจากประสบการณ์ของเขา ตัวเลขแบบนี้เคยแล้งมาแล้ว เพราะฉะนั้นต้องคิดให้รอบคอบ ไม่ใช่ฝนตกทุกวันแปลว่าปีนี้มีน้ำใช้ กว่าจะผ่านซีนนี้หรือซีนที่ต้องพูดศัพท์เทคนิคเยอะๆ คือโหดมาก ไม่มีบทสนทนาทั่วไปเลยนะครับ มีเทคนิคเรื่องน้ำล้วนๆ แต่ก็เป็นมุมที่ดีครับ เพราะว่าเป็นเรื่องการทำงานของเจ้าหน้าที่กรมชลประทานจริงๆ” 

 

ส่วนมุมมองเรื่องเขื่อน ว่านบอกว่า สามารถมองได้หลายมิติ “การสร้างเขื่อนมันมีหลายข้อคิดเห็นอยู่แล้ว อาจจะต้องเสียอะไรบางอย่างเพื่อสร้างอะไรบางอย่าง ผมเองก็ไม่ได้บอกว่ายินดีกับทุกเขื่อนที่เกิดขึ้น แต่ผมจะยินดีกับทุกประโยชน์ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น เมื่อมันถูกสร้างหลังจากที่เขาหารือกันแล้วว่ามันจำเป็นต้องเกิดเพื่ออะไรบ้าง ซึ่งในหลายพื้นที่ที่ผมได้ไปเห็นทั้งเขื่อนขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ ก็มอบประโยชน์ให้กับคนในพื้นที่จริงๆ เท่าที่ผมได้ไปคุยกับพวกเขานะครับ

 

“มุมมองที่เปลี่ยนอาจจะเป็นมุมที่เคยมองเขื่อนเป็นสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ไว้เก็บน้ำไว้เยอะๆ พอได้มาคลุกคลีกับคนหลังบ้านและคนที่ใช้ประโยชน์จากมันโดยตรงถึงได้เข้าใจมากขึ้นว่า มันมีประโยชน์มากกว่าการเป็นแค่ที่เก็บน้ำและสถานที่ท่องเที่ยว”

  

หากถามในมุมของกรมชลประทาน ผู้ให้การสนับสนุนพื้นที่ในการถ่ายทำซีรีส์ตลอดทั้งเรื่อง เชื่อว่า ‘เตอร์’ วิศวกรกรมชลประทาน จะเป็นตัวแทนของกรมชลประทานพูดคุยกับคนดูกลุ่มใหม่ ผ่านช่องทางและวิธีการใหม่ๆ ในการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ถึงภารกิจหน้าที่ของกรมชลประทาน ทำให้คนดูเข้าใจถึงประโยชน์ของเขื่อนมากขึ้น 

 

 

นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีฝ่ายบริหาร กรมชลประทาน บอกว่า นอกจากภารกิจของกรมชลประทานจะถูกเล่าผ่านตัวละครแล้ว จุดที่จะสามารถดึงคนดูให้สนใจซีรีส์เรื่องนี้ผมมองว่าเป็นเรื่องของสถานที่ เขื่อนขุนด่านปราการชลที่ใช้เป็นโลเคชันหลักในการถ่ายทำ ซึ่งเป็นแลนด์มาร์กของจังหวัดนครนายก ความสวยงามของวิวสวยๆ บนสันเขื่อนที่โอบล้อมไปด้วยภูเขา ซุ้มเฟื่องฟ้าใกล้อุโมงค์กั้นน้ำ และมุม Unseen ของเขื่อนขุนด่านปราการชลที่หลายคนต้องคาดไม่ถึง ทั้งหมดนี้จะถ่ายทอดผ่านฉากต่างๆ ของซีรีส์ และทำหน้าที่เป็น Soft Power ดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติให้อยากจัดทริปเที่ยวตามรอยซีรีส์แน่นอน

 

และนอกจากความสวยงามจากภาพที่เห็น หลายคนยังไม่รู้ถึงที่มาและความสำคัญของการสร้างเขื่อนนี้ สิ่งเหล่านี้จะถูกสอดแทรกเข้าไปในซีรีส์ผ่านการทำงานของเตอร์ ทั้งเรื่องการบริหารจัดการน้ำที่ถูกต้อง ความมุ่งมั่นดูแลคนในชุมชนตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งช่วงฤดูแล้งและฤดูน้ำหลาก เพื่อให้พี่น้องเกษตรกร พี่น้องประชาชน ได้รับประโยชน์มากที่สุด เหมือนกับคาแรกเตอร์ของเตอร์ที่คอยให้ความช่วยเหลือคนในชุมชนด้วยความเต็มใจ

 

หวังว่าซีรีส์เรื่องนี้จะทำให้คนดูรับรู้ถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินภารกิจของกรมชลประทาน ไม่ว่าจะเป็นด้านการบริหารจัดการน้ำหรือการพัฒนาแหล่งน้ำต่างๆ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ ทั่วถึง และเป็นธรรม โดยเฉพาะเกษตรกรในพื้นที่ที่มีอาชีพหลักในการทำการเกษตร ที่สำคัญอยากให้คนดูได้เห็นถึงความตั้งใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่กรมชลประทานทุกคน เข้าใจในบทบาทและภารกิจของกรมชลประทานมากขึ้น” รองฯ เดช กล่าว

 

 

ว่านเสริมว่า “ความบันเทิงในซีนอื่นๆ ของเรื่องจะสนุกขนาดไหน อันนี้คนดูต้องดูและตัดสินเอาเอง เพราะผม นักแสดง และทีมงานทุกคนเราตั้งใจกันเต็มที่ แต่ที่แน่ๆ ซีรีส์นี้จะทำให้คุณเห็นว่ามันเกิดอะไรขึ้นระหว่างการทำงาน ในการวางแผนการทำงานเกี่ยวกับน้ำ การบริหารน้ำเพื่อแจกจ่ายไปให้คนจำนวนมาก เป็นการเล่าเรื่องภารกิจของกรมชลประทานแบบบันเทิง” 

 

ติดตามชมซีรีส์ เพื่อนผมมีมรดกเป็นโฮมสเตย์ครับ (Escape to Homestay) ทุกวันเสาร์ เวลา 22.00 น. ทางช่อง 9 กด 30 และดูออนไลน์เวลา 23.00 น. บนแอป iQIYI และเว็บไซต์ www.iQ.com หรือทาง YouTube www.youtube.com/watch?v=wd1sUJoKri4

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X