×

วันนอร์ชี้ ต้องเข้มงวดเรื่องบุคคลเข้าออกรัฐสภา หลังมีผู้แอบอ้างให้เสียหาย ชี้ ปมคลิปเสียงโยง The iCon Group ต้องมีบุคคลภายนอกร้องมา

โดย THE STANDARD TEAM
15.10.2024
  • LOADING...

วันนี้ (15 ตุลาคม) ที่อาคารรัฐสภา วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า เรียก ว่าที่ ร.ต.ต. อาพัทธ์ สุขนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และคณะดูแลความปลอดภัยของสภาผู้แทนราษฎร หารือในหลายเรื่อง รวมถึงกรณีคลิปเสียงแอบอ้างว่าจะประสานกรรมาธิการเพื่อจัดการเรื่องคดีแลกกับการรับผลประโยชน์

 

วันมูหะมัดนอร์ระบุว่า ในคลิปเสียงนั้นได้ฟังแล้วแต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นใคร ซึ่งยังไม่มีการแจ้งความ แต่หากมีกรรมาธิการคณะใดแจ้งว่าได้รับความเสียหาย สภาผู้แทนราษฎรจะต้องดำเนินการต่อไป หากประชาชนที่เกี่ยวข้องได้รับความเสียหายจากคลิปเสียง หรืออย่างน้อยคู่สนทนาแจ้งต่อสภาว่าได้รับความเสียหายก็จะมีการดำเนินการ

 

ส่วนในกรณีอื่นๆ ที่มีการแอบอ้างถึงกรรมาธิการ หรือการแอบอ้างโดยเข้ามาถ่ายรูปในพื้นที่บริเวณรัฐสภาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เรียกร้องในเรื่องต่างๆ จากบุคคลภายนอก และทำให้เกิดความเสียหายนั้น ได้มีการเข้าแจ้งความแล้ว 2 คดี คือ

 

  1. กรณีสุภาพสตรีแต่งกายชุดข้าราชการ แจ้งความตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กำลังติดตามความคืบหน้าคดี

 

  1. กรณีมีผู้ชายไปถ่ายรูปในบริเวณห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร จากภาพกล้องวงจรปิดในวันที่ 11 กันยายน 2567 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เลิกประชุมสภาแล้ว เจ้าหน้าที่นำเอกสารซึ่งจะใช้ในการประชุมในวันถัดไปวางไว้ตรงที่นั่งกรรมาธิการ แต่บุคคลดังกล่าวนำไปใช้ประกอบการถ่ายรูปเพื่อแสดงให้เห็นว่าอยู่ในห้องประชุม

 

ทั้งนี้ สภาแจ้งความดำเนินคดีแล้วเมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา ทั้ง 2 คดีพบว่าเป็นบุคคลที่เคยถูกดำเนินคดีตามศาลต่างๆ นับ 10 คดีแล้ว แต่ยังถือโอกาสหาเรื่องที่สภาอีก สภาจึงดำเนินการแจ้งความเพิ่มเติมอย่างน้อย 2 คดี ข้อหาเข้าในพื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาตและติดบัตรปลอม

 

ขณะเดียวกันในช่วงเช้าที่ผ่านมา ได้หารือกับเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยว่า นับจากนี้จะต้องมีการเข้มงวดเรื่องบุคคลภายนอกที่จะเข้ามายังรัฐสภามากยิ่งขึ้น และจะทำหนังสือถึงประธานคณะกรรมาธิการสามัญทั้ง 35 คณะ และคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ให้ตรวจสอบบุคคลต่างๆ ที่ตั้งเป็นที่ปรึกษา หรือคณะทำงานของแต่ละกรรมาธิการ ว่ามีบุคคลใดที่ไม่น่าเชื่อถือก็ขอให้พิจารณาถอดถอนรายชื่อออกจากกรรมาธิการ

 

“หากมีเรื่องเกิดขึ้น ไม่ว่ากรรมาธิการชุดใดหากมีที่ปรึกษาหรือคณะทำงานนั้นไปแอบอ้างให้เกิดความเสียหายแล้ว คนแต่งตั้งหรือประธานคณะกรรมาธิการนั้นจะต้องรับผิดชอบ อย่างน้อยที่สุดคือตามประมวลจริยธรรมฯ เพราะประมวลจริยธรรมฯ ของสภาผู้แทนราษฎรครอบคลุมไปถึงครอบครัวของ สส. และประธานกรรมาธิการ”

 

วันมูหะมัดนอร์กล่าวต่อไปว่า หากตัวกรรมาธิการเองทำให้เกิดความเสียหายก็ต้องรับผิดชอบ หากร้ายแรงต้องส่งไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ดำเนินการตามกฎหมาย หากไม่ร้ายแรงก็มีบทลงโทษของสภาตามขั้นตอน ตั้งแต่การตักเตือน การไล่ออก ซึ่งจะดำเนินการโดยไม่ละเว้น

 

สำหรับกรณีของบริษัท The iCon Group ที่เคยมีกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบผ่านมาแล้ว 2 ปีก่อนสภาชุดนี้ ประธานสภาระบุว่า หากมีความต่อเนื่องถึงปัจจุบัน และบุคคลนั้นยังคงเป็นกรรมาธิการ หรือได้รับการแต่งตั้งในสภาชุดปัจจุบันก็สามารถสอบได้ แต่หากอยู่ในสภาชุดที่แล้ว พ้นจากหน้าที่ไปแล้ว แต่เกิดความเสียหาย บุคคลภายนอกก็สามารถร้องให้ตรวจสอบได้ แต่ต้องไปร้องที่สถานีตำรวจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

“เฉพาะเรื่องคลิปเสียง เราไม่สามารถจะบอกได้ว่าคลิปนี้เป็นของใคร ต้องมีคนมาร้องเรียน และต้องมีการสอบผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป” วันมูหะมัดนอร์กล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising