×

หุ้นวอลล์สตรีทส่อเผชิญแรงขายหนัก พิษเงินเฟ้อพุ่ง-โอไมครอนระบาด ฉุดการลงทุน

20.12.2021
  • LOADING...
Wall Street

สถานีโทรทัศน์ CNN เผยรายงานกึ่งวิเคราะห์เกี่ยวกับแนวโน้มทิศทางความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นวอลล์สตรีทในช่วงส่งท้ายปี 2021 ซึ่งพบว่า ปัจจัยจากภาวะเงินเฟ้อ ปฏิกิริยาของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และการระบาดของโควิดกลายพันธุ์โอไมครอน ส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนในช่วงส่งท้ายปีไม่คึกคักสดใสเท่าที่ควร อีกทั้งนักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดเริ่มกังขาต่อภาวะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปีหน้า

 

รายงานระบุว่า ปัจจัยวิตกกังวลหลักๆ ยังคงเป็นเรื่องของภาวะเงินเฟ้อพุ่ง ซึ่งทำให้ดัชนีอุตสาหกรรม Dow Jones ปรับตัวลดลงมากกว่า 530 จุด หรือราว 1.5 เปอร์เซ็นต์ในช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา (17 ธันวาคม) เนื่องจากนักลงทุนต่างวิตกกังวลมากขึ้นว่าอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจะบีบให้ Fed ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและใช้นโยบายทางการเงินที่รัดกุมเข้มงวดจนทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอลง

 

ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่นักลงทุนในสหรัฐฯ เท่านั้นที่วิตกเรื่องภาวะเงินเฟ้อ นักลงทุนในนานาประเทศทั่วโลกต่างวิตกกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อและมาตรการรับมือกับภาวะเงินเฟ้อของธนาคารกลางของประเทศตนว่าอาจเดินตามรอยธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ขึ้นแท่นเป็นแบงก์ชาติแรกของโลกที่ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 0.1 เปอร์เซ็นต์ เป็น 0.25 เปอร์เซ็นต์ หลังอัตราเงินเฟ้อประเทศขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 10 ปี

 

นอกจากภาวะเงินเฟ้อที่น่าวิตกแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่น่ากังวลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของนานาประเทศทั่้วโลกก็คือสถานการณ์การระบาดของโควิดกลายพันธุ์โอไมครอน ที่เริ่มมีส่วนหนึ่งหวั่นเกรงว่าการระบาดอาจทำให้รัฐบาลหลายประเทศต้องงัดแผนล็อกดาวน์ขึ้นมาใช้อีกครั้ง 

 

โดยขณะนี้ผับและร้านอาหารหลายแห่งในอังกฤษต่างประกาศปิดตัวชั่วคราวเพื่อลดความเสี่ยงของการระบาด ขณะที่โชว์ละครบรอดเวย์ในเมืองนิวยอร์กต่างทยอยประกาศยกเลิกการแสดงบ้างแล้ว และบริษัทชั้นนำหลายแห่ง เช่น Apple, Ford Motor, Lyft และ Jefferiese ธนาคารเพื่อการลงทุน ก็ประกาศชะลอการเรียกพนักงานกลับเข้าออฟฟิศ

 

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ภาพรวมของตลาดดูจะยังไม่ได้รับผลประทบจากเงินเฟ้อและโอไมครอนเท่าไรนัก โดยตลอดทั้งปีนี้ดัชนี S&P 500 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 23 เปอร์เซ็นต์แล้ว ซึ่งสูงกว่าระดับสูงสุดตลอดกาลที่กว่า 1 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 18 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าเงินเฟ้อส่วนใหญ่จะฉุดใหัดัชนี Nasdaq ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 6 เปอร์เซ็นต์จากระดับสูงสุดตลอดกาล

 

ทั้งนี้ หุ้นในกลุ่มสายการบินและธุรกิจบริการ เช่น United Airlines, Carnival, Marriott, และ Expedia ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวทิ้งดิ่งอย่างรุนแรง เพราะนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ของโอไมครอนที่จะกลายเป็นปัจจัยหลักกระทบต่อการฟื้นตัว

 

กระนั้น สำหรับภาพรวมในมุมกว้าง นักลงทุนยังคงให้น้ำหนักกับภาวะเงินเฟ้อและท่าทีของธนาคารกลางมากกว่าสถานการณ์การระบาดของโอไมครอนที่อาจทำให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยถึงขั้นต้องปิดประเทศเหมือนช่วงเดือนมีนาคม 2020 โดยผลโพลสำรวจความเห็นนักลงทุนผ่านทาง Twitter พบว่า ผู้คนส่วนใหญ่มองว่าภาวะเงินเฟ้อจะกระทบต่อการที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัว ซึ่ง 60 เปอร์เซ็นต์ของนักลงทุนที่ตอบแบบสอบถามระบุว่า ภาวะเงินเฟ้อคือปัจจัยเสี่ยงหลักต่อตลาดในปี 2022 เมื่อเทียบกับอีก 27 เปอร์เซ็นต์ที่มองว่าโอไมครอนจะเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักฉุดตลาดโตในปีหน้า

 

ด้านสถานีโทรทัศน์ CNBC ระบุว่า 2 สัปดาห์สุดท้ายของปี 2021 กลายเป็นสัปดาห์ท้าทายที่บีบหัวใจบรรดานักลงทุนผู้คาดหวังที่จะผ่านช่วงปลายปีไปได้อย่างราบรื่นสงบสุข เพราะภาวะเงินเฟ้อบวกกับการระบาดของโอไมครอนฉุดให้ตลาดร่วงลงอย่างรุนแรง

 

กระนั้นในรอบสัปดาห์นี้ก็มีรายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจให้ตามลุ้น โดยเฉพาะปัจจัยด้านความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีราคาการใช้จ่ายผู้บริโภคส่วนบุคคล (PCE)

 

ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งตลาดที่น่าจับตามองนอกเหนือจากตลาดหุ้นก็คือกลุ่มตลาดพันธบัตรของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีรายงานว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวลดลงอย่างมากจนน่าประหลาดใจ เพราะตามปกติหาก Fed ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จะต้องปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ครั้งนี้กลับพบว่าการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปีปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 0.63 เปอร์เซ็นต์ จากระดับก่อนหน้าที่ 0.67 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงบ่ายวันศุกร์ที่ผ่านมา (17 ธันวาคม)

 

ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีที่อยู่ที่ 1.44 เปอร์เซ็นต์ก่อนการประกาศของ Fed ได้ปรับตัวลดลงแตะ 1.40 เปอร์เซ็นต์หลัง Fed ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย โดยนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งประเมินว่าน่าจะเป็นผลจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ของโอไมครอน

 

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งต่างจับตามองความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางจีนที่อาจมีเซอร์ไพรส์ข่าวดีส่งท้ายปีสวนทางกับ Fed และ BOE กลายเป็นแรงหนุนทางบวกต่อตลาด โดยนักวิเคราะห์คาดหวังว่าธนาคารกลางจีนอาจออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโลกในภาพรวม

 

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์แนะว่า ภายใต้สถานการณ์ข้างต้น นักลงทุนควรเดินหน้าลงทุนอย่างเต็มที่ เพียงแต่ให้กระจายพอร์ตการลงทุนให้มีความหลากหลายมากขึ้น และเน้นหุ้นที่มีแนวโน้มการเติบโตที่แข็งแกร่ง อย่างหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งสภาพการณ์โดยรวมของตลาดหุ้นในปี 2022 ยังคงไปได้ดี แต่อาจไม่หวือหวาเท่ากับปี 2021

 

อ้างอิง:


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising