×

ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทยังร่วงต่อเนื่อง ดัชนี Nasdaq ปิดลดลง 2.28% นักลงทุนกังวล Fed ขึ้นดอกเบี้ย ผวารัสเซียบุกยูเครน สวนทางราคาทองคำ-น้ำมันพุ่ง

26.01.2022
  • LOADING...
Wall Street stocks

บรรยากาศความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นวอลล์สตรีทของสหรัฐฯ ในรอบสัปดาห์นี้เจอปัจจัยลบรุมเร้ารอบด้าน ทำให้ตกอยู่ในสภาวะที่ค่อนข้างผันผวน เห็นได้จากดัชนีของ 3 ตลาด ที่แม้จะดีดตัวฟื้นกลับมายืนในแดนบวกได้เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (24 มกราคม) แต่ก็พลิกร่วงลงมาปิดตลาดในแดนลบเมื่อวานนี้ (25 มกราคม) ทำให้ภาพรวมของดัชนีทั้ง 3 ตลาด ในช่วงเดือนมกราคม นับตั้งแต่เริ่มต้นปีใหม่ 2022 ยังถือว่าอยู่ในช่วงขาลง

 

โดยดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปิดตลาดปรับตัวลดลง 66.77 จุด หรือ 0.19% มาอยู่ที่ 34,297.73 จุด ด้านดัชนี S&P 500 ปิดลดลง 53.68 จุด หรือ 1.22% มาอยู่ที่ 4,356.45 จุด และดัชนี Nasdaq ร่วง 315.83 จุด หรือ 2.28% ปิดที่ 13,539.30 จุด

 

ความเคลื่อนไหวของตลาดที่ค่อนข้างซบเซาเมื่อวานนี้ เป็นผลจากความวิตกว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าและเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้เพื่อสกัดเงินเฟ้อ บวกกับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซียที่ส่อเค้าทวีความตึงเครียดมากขึ้น ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ตัดสินใจชะลอการลงทุน

 

นักวิเคราะห์หลายสำนัก รวมถึง อดัม คริซาฟูลี แห่ง Vital Knowledge ระบุว่า นักลงทุนในขณะนี้กำลังนั่งอยู่บนรถไฟเหาะตีลังกาที่เดี๋ยวพุ่งขึ้นแรง เดี๋ยวดิ่งลงเร็ว ดังนั้นสิ่งที่ทำได้มีเพียงแต่ต้องนั่งให้ดีและรัดเข็มขัดที่นั่งให้แน่นเท่านั้น

 

ก่อนหน้านี้เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ดัชนีทั้ง 3 ตลาดของวอลล์สตรีทพลิกกลับมาปิดในแดนบวกได้เล็กน้อยจากแรงช้อนซื้อเก็งกำไรระยะสั้นของนักลงทุนในช่วงท้ายตลาด ช่วยให้บรรยากาศกลับมาสดใสได้บ้าง

 

อย่างไรก็ตาม บรรยากาศตลาดก็กลับมาหม่นหมองอีกครั้งเมื่อวันวานนี้ อันเป็นผลจากความตึงเครียดในยูเครน ตะวันออกกลาง และแนวโน้มความเป็นไปได้ที่ Fed จะใช้แนวทางแข็งกร้าวด้านอัตราดอกเบี้ยรับมือกับภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งทั้งหมดฉุดให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดลบอย่างแรงในที่สุด และหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีร่วงลงหนักสุด โดยหุ้นของ Nvidia ลดลง 24% ขณะที่ Microsoft ลดลง 2.7% และ General Electric ลดลงมากสุดถึง 6%

 

ขณะเดียวกัน ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นของ Fed และความตึงเครียดในตะวันออกกลาง กลับทำให้หุ้นในกลุ่มของธนาคารและสถาบันการเงิน ตลอดจนหุ้นในกลุ่มพลังงาน กลับค่อนข้างสดใสสวนทางกับบรรยากาศโดยรวมของตลาด โดยหุ้นของ Bank of America และ Citi Group ปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 2% ขณะที่หุ้นของ American Express พุ่งขึ้นถึง 8.9% ด้านหุ้นพลังงานอย่าง Occidental Petroleum และ APA Corporation ขยับเพิ่มขึ้นมากกว่า 8%

 

ทั้งนี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของ Fed ได้เริ่มประชุมนโยบายการเงินเป็นเวลา 2 วัน ในวันอังคาร (25 มกราคม) และจะสิ้นสุดในวันพุธ (26 มกราคม) ที่เหล่านักวิเคราะห์และนักลงทุนต่างเฝ้ารอรับฟังถ้อยแถลงปิดการประชุม เช่นเดียวกับการตอบคำถามของ เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed เพื่อหาความชัดเจนในเรื่องของกรอบเวลาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อ

 

ข้ามฟากมาที่ราคาน้ำมันเมื่อวานนี้ ขยับขึ้น 2% โดยน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส งวดส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้น 2.29 ดอลลาร์ ปิดที่ 85.60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนต์ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้น 1.93 ดอลลาร์ ปิดที่ 88.20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

 

ราคาน้ำมันที่ขยับขึ้นเป็นผลจาก 2 ปัจจัยหลัก คือกรณีขัดแย้งในตะวันออกกลางที่กลุ่มกบฏฮูตี พันธมิตรของอิหร่านในเยเมน ยิงขีปนาวุธลูกหนึ่งโจมตีฐานทัพแห่งหนึ่งในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งมีทหารสหรัฐฯ ประจำการอยู่ แต่ถูกขีปนาวุธของสหรัฐฯ สกัดกั้นไว้ ขณะที่กรณีของยูเครน รัสเซียสั่งคุมเข้มเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด หลังสหรัฐฯ สั่งทหาร 8,500 นาย เตรียมพร้อมสูงสุดสำหรับเข้าประจำการในยุโรป ในกรณีที่วิกฤตยูเครนลุกลามบานปลาย ขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ อยู่ระหว่างการเจรจากับบรรดาประเทศผู้ผลิตพลังงานรายหลักๆ และบริษัทต่างๆ ทั่วโลก เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการจัดหาอุปทานพลังงานที่หลากหลายแก่ยุโรป หากว่ารัสเซียบุกยูเครน

 

สถานการณ์ของตลาดทุน ผลักให้นักลงทุนหันถือครองสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ ทำให้ราคาทองคำเมื่อวานนี้ ขยับเพิ่มขึ้นค่อนข้างแรง โดยราคาทองคำโคเม็กซ์งวดส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้น 10.80 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,852.50 ดอลลาร์ต่อออนซ์

 

ส่วนทางด้าน Microsoft บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ชั้นนำของสหรัฐฯ ที่ออกมาเปิดเผยรายได้ผลประกอบการประจำไตรมาส 2 ของปีงบประมาณปัจจุบัน ซึ่งทำเงินได้มากกว่าที่คาดการณ์กันไว้ก่อนหน้า โดยรายได้สุทธิของบริษัทอยู่ที่ 51,730 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าตัวเลขที่คาดการณ์ไว้ที่ 50,880 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มขึ้นในอัตรารายปีที่ 20%

 

ทั้งนี้ รายได้ส่วนใหญ่ของ Microsoft มาจากการให้บริการคลาวด์ ซึ่งเติบโตมากถึง 456% สอดคล้องกับที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่รายได้จากการให้บริการซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล เช่น โปรแกรมตระกูล Windows บวกกับรายได้โฆษณา และการขายอุปกรณ์ รวมแล้วเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 15.5%

 

ขณะเดียวกัน รายได้จากอุปกรณ์เกม เช่น Xbox กลับมากระเตื้องขึ้นอีกครั้ง โดยเพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยแผนกเกมของ Microsoft ได้รับความสนใจอีกครั้งหลังจากที่หลายวันก่อน Microsoft ได้ประกาศเข้าซื้อกิจการของค่ายเกมชื่อดังอย่าง Activision รวมมูลค่าเกือบ 70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จนทำให้ Microsoft ขยับขึ้นกลายเป็นบริษัทเกมที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ในแง่ของรายได้รองจากอันดับหนึ่งอย่าง Tencent ของจีน และอันดับ 2 อย่าง Sony ของญี่ปุ่น

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X