ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทปิดตลาดรับวันแรกของสัปดาห์นี้ (4 ตุลาคม) ปรับตัวลดลงรุนแรง หลังนักลงทุนแห่เทขายอย่างหนัก เนื่องจากมีปัจจัยน่าวิตกกังวลหลายเรื่อง ทั้งปัญหาเพดานหนี้สาธารณะ และภาวะเงินเฟ้อจากราคาน้ำมันที่ขยับพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี
บรรยากาศตลาดหุ้นวอลล์สตรีทของสหรัฐฯ เมื่อวานนี้เปิดตลาดอย่างไม่ค่อยสดใสสักเท่าไรนัก ก่อนที่ราคาหุ้นในดัชนีทั้ง 3 กระดานจะพร้อมใจปรับตัวร่วงลงในช่วงสาย และปิดตลาดในแดนลบ โดยดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ลดลง 320 จุด หรือราว 0.9% ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดตลาดลดลง 1.3% และดัชนีแนสแด็ก คอมโพสิต ลดลงมากที่สุดที่ 2.1%
ทั้งนี้หุ้นบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยีเมื่อวานนี้ (4 ตุลาคม) ดิ่งลงมากที่สุด โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีสื่อสารและเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่าง Facebook ซึ่งกลายเป็นหุ้นบริษัทที่ลดลงมากที่สุดในกลุ่ม S&P โดยลดลงเกือบ 5% ทำสถิติทรุดตัวลงมากที่สุดในรอบเกือบ 1 ปี
ราคาหุ้นของ Facebook ที่ร่วงแรงมีขึ้นหลังจากที่ Facebook และแอปพลิเคชันอื่นๆ ในเครืออย่าง Instagram และ WhatsApp รวมถึงระบบภายในสำหรับพนักงานของ Facebook เกิดล่มโดยไม่ทราบสาเหตุในหลายพื้นที่ทั่วโลก แต่รายงานเบื้องต้นคาดว่าเป็นเหตุขัดข้องทางเทคนิค ทำให้ผู้ใช้บริการทั่วโลกไม่สามารถเข้าใช้งานได้ในวันนี้
จนถึงขณะนี้ Facebook ยังไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวใดๆ มีเพียงความเห็นผ่านทาง Twitter ที่ยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้น และทาง Facebook กำลังเร่งดำเนินงานกู้คืนการเข้าถึงเพื่อให้ผู้ใช้งานเกือบ 3,000 ล้านคนทั่วโลกสามารถใช้งานได้ตามปกติโดยเร็วที่สุดอีกครั้ง ขณะที่สำนักข่าว AP อ้างความเห็นของผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งที่คาดว่าภาวะติดขัดที่เกิดขึ้นอาจจะมาจากบั๊กซอฟต์แวร์ (Software Bug) ที่หลุดเข้ามาจากผู้ใช้งานขณะเปลี่ยนการติดตั้ง (Setting) ของตนเอง
ในส่วนของภาพรวมความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นเมื่อวานนี้ นักวิเคราะห์มองว่า สาเหตุการเทขายของนักลงทุนส่วนใหญ่เกิดจากความกังวลในเรื่องของการเจรจาขยายเพดานหนี้สาธารณะของรัฐบาลสหรัฐฯ ก่อนกำหนดเส้นตายในวันที่ 18 ตุลาคมนี้ ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ที่จะทำให้นักลงทุนวางใจได้ ประกอบกับประเด็นที่น่ากังวลอย่างภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นหลังราคาน้ำมันพุ่งทะยานแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี
ทั้งนี้หลายฝ่ายเริ่มกังวลว่าภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐฯ จะยืดเยื้อกว่าที่กระทรวงการคลังและธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า เริ่มจากดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (PCE) ไม่รวมอาหารและพลังงาน ในเดือนสิงหาคม พุ่งขึ้น 3.6% แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2000 ก่อนที่ปัจจัยด้านราคาน้ำมันจะเข้ามาซ้ำเติมหลังผลการประชุมของชาติสมาชิกกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกและชาติพันธมิตร หรือกลุ่ม OPEC+ ไม่สนกระแสกดดัน ยืนยันยึดมั่นตามข้อตกลงเดิมในการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน 400,000 บาร์เรลต่อวันในแต่ละเดือน เริ่มเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป แม้หลายประเทศจะเรียกร้องให้เพิ่มกำลังผลิตมากกว่านั้น เพื่อชะลอการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันในขณะนี้
รายงานระบุว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในตลาดฟิวเจอร์ส พุ่งขึ้นกว่า 2% แตะระดับ 78.38 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนต์ทะเลเหนือเพิ่มขึ้น 2.9% มาอยู่ที่ 81.57 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.48%
อ้างอิง:
- https://edition.cnn.com/2021/10/04/investing/dow-stock-market-oil-today/index.html
- https://apnews.com/article/facebook-whatsapp-instagram-outage-8b9d3862ed957029e545182a595fdce1
- https://apnews.com/article/coronavirus-pandemic-business-economy-prices-opec-54c606517408481b9f99895b168a07cb
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP