ตลาดหุ้น Wall Street วานนี้ (8 กรกฎาคม) ปิดตลาดในแดนลบ โดยดัชนี S&P 500 และดัชนี Nasdaq หลุดจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เหตุจากนักลงทุนตัดใจเทขาย เนื่องจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอัตราการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ท่ามกลางวิกฤตการระบาดของโควิดที่มีแนวโน้มรุนแรงอีกระลอกจากสายพันธุ์เดลตา
โดยดัชนีอุตสาหกรรม Dow Jones ลดลง 259.86 จุด หรือ 0.75% ปิดที่ 34,421.93 จุด ดัชนี S&P 500 ลดลง 37.31 จุด หรือ 0.86% ปิดที่ 4,320.82 จุด และดัชนี Nasdaq ลดลง 105.28 จุด หรือ 0.72% ปิดที่ 14,559.79 จุด
ทั้งนี้ ตัวเลขการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตาที่กลับมาเพิ่มจำนวนในหลายประเทศ กลายเป็นภัยคุกคามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยในสหรัฐฯ มีรายงานว่า มีอัตราผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10% ใน 24 รัฐในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ญี่ปุ่นเพิ่งจะตัดสินใจประกาศภาวะฉุกเฉินตั้งแต่วันนี้จนถึง 22 กรกฎาคม และคณะกรรมาธิการสุขภาพแห่งชาติจีนเผยตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันที่เพิ่มสูงขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม
ขณะเดียวกันหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยียังได้รับแรงกดดันจากนโยบายของรัฐบาลจีน ที่ต้องการจัดระเบียบบริษัทด้านเทคโนโลยีของจีนที่ไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนหวั่นใจและเทขายหุ้นดังกล่าวออกมา
นอกจากนี้รายงานตัวเลขผู้เข้ารับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ ดีดตัวขึ้นแตะระดับ 373,000 รายเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มากกว่าที่คาดหมายไว้ ถือเป็นการส่งสัญญาณว่าการฟื้นตัวของตลาดแรงงานยังคงผันผวน
ความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนวิ่งหาสินทรัพย์ปลอดภัย หนึ่งในนั้นก็คือพันธบัตรรัฐบาล ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ลดลงต่ำกว่า 1.3% ถือเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์
การหันหน้าเข้าหาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในฐานะ Safe Haven ยังมีขึ้นในเวลาประจวบเหมาะกับที่มีรายงานตัวเลขความผันผวนของตลาด Wall Street หรือ VIX ที่พุ่งขึ้นมากกว่า 15% แสดงให้เห็นว่าตลาดกำลังอยู่ในภาวะผันผวนแรง เช่นเดียวกับดัชนี Businees Fear & Greed ของ CNN ที่พิจารณา VIX กับอีก 6 ตัวบ่งชี้สภาวะอารมณ์ของตลาด พบว่า ตัวเลขต่างชี้ไปที่ฝั่งหวาดกลัว ซึ่งไม่ไกลจากระดับกลัวสุดขีด
ด้านสถานการณ์ราคาน้ำมัน หลังปรับตัวดิ่งลงแรงเพราะกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันและชาติพันธมิตร หรือ OPEC+ ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับกำลังการผลิตได้ กระนั้น ด้วยรายงานจากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานแห่งสหรัฐฯ (EIA) ที่ออกมาเปิดเผยว่า คลังน้ำมันดิบสำรองของอเมริกาลดลง 6.9 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว เหลือ 445.5 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดหมายว่าจะลดลง 4 ล้านบาร์เรล
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสงวดส่งมอบเดือนสิงหาคม เพิ่มขึ้น 74 เซนต์ ปิดที่ 72.94 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ด้านน้ำมันดิบเบรนต์ทะเลเหนืองวดส่งมอบเดือนกันยายน เพิ่มขึ้น 69 เซนต์ ปิดที่ 74.12 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ในส่วนของราคาทองคำในตลาด COMEX งวดส่งมอบเดือนสิงหาคม ลดลง 1.90 ดอลลาร์สหรัฐ ปิดที่ 1,800.20 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ แต่ก็เป็นราคาทองคำที่อยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ โดยนักวิเคราะห์มองว่า ทองคำน่าจะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 1,800 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ต่อไปได้อีกสักระยะในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย
อ้างอิง:
- https://edition.cnn.com/2021/07/08/investing/dow-stock-market-today/index.html
- https://edition.cnn.com/2021/07/08/investing/bond-yields-economy-inflation/index.html
- https://www.cnbc.com/2021/07/08/oil-markets-opec-and-allies-covid.html
- https://www.cnbc.com/2021/07/08/gold-markets-dollar-federal-reserve-european-central-bank.html