สถานีโทรทัศน์ CNN รายงานคาดการณ์ทิศทางความเคลื่อนไหวของตลาดในรอบสัปดาห์นี้ ระบุว่ามีการเปลี่ยนแปลงมุมมองของนักลงทุนในตลาดวอลล์สตรีท ซึ่งเห็นว่าข่าวร้ายไม่ได้เป็นข่าวดีอีกต่อไป
พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือว่า ท่ามกลางการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) เพื่อสกัดเงินเฟ้อ การที่ข่าวร้ายออกมา เช่น ข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง มักจะเป็นกลายเป็นข่าวดีที่บ่งชี้ว่า Fed อาจหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม มุมมองปัจจุบันของนักลงทุนกลับไม่ได้เป็นเช่นนี้อีกต่อไป
เนื่องจากขณะนี้ตัวเลขเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงกลับกลายเป็นข้อบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจกำลังอ่อนแอลงจริงๆ และจะเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างแน่นอน โดยส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากการล้มของสองธนาคารใหญ่อย่าง Silicon Valley Bank และ Signature Bank ที่สั่นคลอนความเชื่อมั่นในภาคการเงินของสหรัฐฯ อย่างรุนแรง
ทั้งนี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดสั่นคลอนหลังจากรายงานทางเศรษฐกิจจำนวนมากส่งสัญญาณว่าตลาดแรงงานที่ร้อนระอุกำลังเย็นลงในที่สุด ทำให้บรรดานักลงทุนแห่ทิ้งหุ้นขนาดใหญ่ที่มีการเติบโตสูง และหันเข้าสู่หุ้นแนวรับในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การดูแลสุขภาพและสินค้าอุปโภคบริโภค ในขณะที่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีฟื้นตัวบ้างในช่วงปลายสัปดาห์ โดยดัชนี Nasdaq ยังคงลดลง 1.1% ดัชนี S&P 500 ลดลง 0.1% ส่วนดัชนี Dow Jones Industrial Average เพิ่มขึ้น 0.6%
รายงานอธิบายว่า เมื่อนักลงทุนอยู่ในโหมด ‘ข่าวร้ายก็คือข่าวร้าย และข่าวดีก็คือข่าวดี’ นักลงทุนจะมองหาสัญญาณว่าเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวได้ ซึ่งสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือนักลงทุนยังคงต้องการดูข้อมูลเงินเฟ้อที่เย็นลง ในขณะที่ธนาคารกลางได้ส่งสัญญาณว่าจะหยุดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยชั่วคราวในปีนี้ แต่การกระทำดังกล่าวทำให้ราคามีเสถียรภาพเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดัชนีราคาค่าใช้จ่ายในการบริโภคส่วนบุคคลซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ต้องการของ Fed เพิ่มขึ้น 5% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อ 2% อย่างมาก
นอกจากนี้ นักลงทุนในตลาดวอลล์สตรีทอาจมองโลกในแง่ดีเกินไปเกี่ยวกับการดำเนินการของ Fed ในอนาคต โดยนักลงทุนบางคนคาดว่าธนาคารกลางจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งในปีนี้ แม้ว่าธนาคารกลางจะระบุเมื่อเดือนที่แล้วว่าไม่มีความตั้งใจที่จะลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2023 ก็ตาม
George Cipolloni ผู้จัดการพอร์ตโฟลิโอของ Penn Mutual Asset Management กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าตลาดจะตอบสนองอย่างไรหาก Fed ไม่ลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ แต่ความเห็นที่ดูประดักประเดิดหรือเผยให้เห็นความกังวลเรื่องเงินเฟ้ออาจส่งผลกระทบต่อตลาดได้
ทั้งนี้ Fed จะจัดการประชุมครั้งต่อไปในต้นเดือนพฤษภาคม ดังนั้นนักลงทุนจะต้องแยกวิเคราะห์รายงานเศรษฐกิจหลายฉบับ เพื่อให้เข้าใจว่าเศรษฐกิจเป็นอย่างไร และจะสามารถจัดการกับอะไรได้บ้าง โดยขณะนี้ตลาดคาดว่า Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25%
นอกจากนี้ แม้ว่ารายงานจ้างงานเดือนมีนาคมจะพบว่านายจ้างสหรัฐฯ เพิ่มงานต่ำกว่าคาดที่ 236,000 ตำแหน่ง แต่ก็ยังเร็วเกินไปที่จะสันนิษฐานว่าตลาดงานสูญเสียความแข็งแกร่งไปแล้ว โดยนักเศรษฐศาสตร์ส่วนหนึ่งคาดว่าการจ้างงานสุทธิจะเพิ่มขึ้น 239,000 ตำแหน่งในเดือนเมษายนนี้
นักวิจัยของ Bank of America ชี้ว่าตำแหน่งงานที่ลดลงไม่ได้หมายความว่าตลาดงานสหรัฐฯ แข็งแกร่งขึ้นแล้ว เพราะตลาดแรงงานยังมีภาวะตึงตัวอยู่มาก
ยิ่งไปกว่านั้นอัตราการว่างงานในเดือนมีนาคมยังลดลงเหลือ 3.5% ตามสถิติของสำนักแรงงาน ซึ่งต่ำกว่าที่คาดไว้ว่าจะทรงตัวที่ 3.6% และต่ำที่สุดในรอบ 12 เดือน
ดังนั้นความเคลื่อนไหวดังกล่าวจึงไม่น่าจะเพียงพอที่จะทำให้ Fed หยุดอัตราดอกเบี้ยชั่วคราวในการประชุมครั้งหน้า โดย Quincy Krosby หัวหน้านักยุทธศาสตร์ระดับโลกของ LPL Financial กล่าวว่า Fed ยังคงมีแนวโน้มที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนพฤษภาคม เนื่องจากตลาดแรงงานยังคงมีแรงรองรับผลกระทบสะสมของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เริ่มขึ้นเมื่อปีที่แล้วได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เปิดปม ‘Silicon Valley Bank’ ประสบเหตุ Bank Run และถูกสั่งปิดชั่วคราว พร้อมหาคำตอบว่าวิกฤตนี้จะลุกลามแค่ไหน?
- บรรดาหุ้นแบงก์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ถูกถล่มขายกว่า 5.2 หมื่นล้านดอลลาร์ หวั่นวิกฤต ‘Bank Run’ กระทบสภาพคล่องรุนแรง
- เหรียญ USDC หลุด Peg หลังพบว่า Circle มีเงิน 3.3 พันล้านดอลลาร์อยู่ใน Silicon Valley Bank ที่เพิ่งล้ม
อ้างอิง: