×

หุ้น Wall Street พลิกร่วง หลังตัวเลขยอดค้าปลีกชะลอ สวนทางเงินเฟ้อ นักลงทุนรอลุ้นท่าที Fed คืนนี้

16.06.2021
  • LOADING...
Wall Street

ความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้น Wall Street ของสหรัฐฯ เมื่อวานนี้ (15 มิถุนายน) ปิดตลาดปรับตัวในแดนลบ หลังมีรายงานข้อมูลเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและยอดค้าปลีกที่ซบเซา บวกกับนักลงทุนชะลอการลงทุนเพื่อรอฟังผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ว่าจะส่งสัญญาณต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างไร

 

ทั้งนี้ดัชนีอุตสาหกรรมดาวน์โจนส์ปรับตัวลดลง 94.42 จุด หรือ 0.3% มาอยู่ที่ 34,299.33 จุด ดัชนี S&P 500 ดิ่งหนัก 8.56 จุด หรือ 0.2% มาอยู่ที่ 4,246.59 จุด และดัชนี Nasdaq ปรับตัวลดลง 101.29 หรือ 0.7% มาอยู่ที่ 14,072.86 จุด

 

ข้อมูลเศรษฐกิจที่เงินเฟ้อสูงขึ้นแต่ยอดค้าปลีกซบเซา แสดงให้เห็นว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิขของสหรัฐฯ ยังคงเปราะบางไม่มั่นคง โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ได้เปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) หนึ่งในมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิตปรับตัวขึ้น 0.8% ในเดือนพฤษภาคม สูงกว่าเดือนเมษายนก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ 0.6% ขณะที่เมื่อเทียบอัตรารายปี ดัชนี PPI พุ่งขึ้น 6.6% ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในปี 2010 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 6.3% หลังจากดีดตัวขึ้น 6.2% ในเดือนเมษายน

 

ขณะเดียวกันทางด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้เปิดเผยยอดค้าปลีกในเดือนพฤษภาคมที่พบว่าปรับตัวลดลง 1.3% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.9% ในเดือนเมษายน โดยการลดลงครั้งนี้ถือว่ามากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กันไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะลดลง 0.8% ส่วนยอดค้าปลีกพื้นฐานเดือนพฤษภาคม ซึ่งไม่รวมยอดขายรถยนต์ น้ำมัน วัสดุก่อสร้าง และอาหาร ลดลง 0.7% หลังจากลดลง 0.4% ในเดือนเมษายน

 

ยอดค้าปลีกที่ลดลงทำให้นักลงทุนกังวลและมีส่วนฉุดให้ตลาดหุ้น Wall Street ปิดตลาดปรับตัวในแดนลบ

 

ขณะเดียวกันนักลงทุนยังรอดูท่าทีของ Fed โดยผลสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญล่าสุดโดยสถานีโทรทัศน์ CNBC ลงความเห็นไปในทางเดียวกันว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะคงมาตรการผ่อนคลายทางการเงินอย่างน้อยไปจนถึงสิ้นปี 2021 แม้จะมีความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อและปัญหาในตลาดแรงงานก็ตาม

 

ผลการสำรวจครั้งนี้ยังเป็นไปตามการสำรวจครั้งก่อนเมื่อเดือนเมษายนที่มองว่า หากจะต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบาย Fed น่าจะประกาศลดปริมาณการซื้อพันธบัตรมูลค่า 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนในช่วงเดือนตุลาคม ก่อนที่จะมีการดำเนินการจริงในช่วงเดือนมกราคม 2022

 

ในส่วนของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ผู้ตอบแบบสอบถามคาดการณ์ว่า Fed น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงเดือนพฤศจิกายน ขณะที่ 86% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 35 คนระบุว่า ปริมาณการซื้อพันธบัตรต่อเดือนในปัจจุบันไม่มีความจำเป็นต่อการช่วยขับเคลื่อนตลาด ขณะที่ 89% มองว่า โครงการดังกล่าวไม่มีความจำเป็นต่อการช่วยเหลือเศรษฐกิจสหรัฐฯ และ 63% มองว่า เงินเฟ้อในปัจจุบันมีความเสี่ยงมากพอต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และ Fed ควรลดการซื้อพันธบัตรได้แล้ว

 

ด้านราคาน้ำมันขยับขึ้นเกือบ 2% แตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 2 ปี ท่ามกลางความคาดหวังว่าปริมาณการผลิตน้ำมันจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ โดยสัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสงวดส่งมอบเดือนกรกฎาคม เพิ่มขึ้น 1.24 ดอลลาร์สหรัฐ ปิดที่ 72.12 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบเบรนต์งวดส่งมอบเดือนสิงหาคม เพิ่มขึ้น 1.13 ดอลลาร์สหรัฐ ปิดที่ 73.99 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนทางด้านผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า ราคาน้ำมันจะขยับขึ้นลงอยู่ระหว่าง 70-80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงครึ่งหลังปีนี้ที่มีแนวโน้มจะฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ครั้งใหญ่

 

ในส่วนของราคาทองคำ เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่ Fed จะผ่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ราคาทองคำปรับลดลงเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน แม้จะมีความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ โดยราคาทองคำตลาดโคเม็กซ์งวดส่งมอบเดือนสิงหาคม ลดลง 9.50 ดอลลาร์สหรัฐ ปิดที่ 1,856.40 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า ราคาทองคำจะปรับตัวลงเพียงช่วงสั้นๆ ก่อนที่จะมีความแน่นอนในนโยบาย Fed

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising