ความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้น Wall Street ของสหรัฐฯ วานนี้ (18 มกราคม) ปิดตลาดปรับตัวร่วงลงอย่างหนัก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรายงานรายได้ของ Goldman Sachs ที่น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ กลายเป็นสัญญาณลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมในสหรัฐฯ ขณะที่นักลงทุนอีกส่วนหนึ่งยังคงเดินหน้าเทขายหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี สวนทางกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ที่ขยับปรับตัวขึ้น
ทั้งนี้ ดัชนีอุตสาหกรรม Dow Jones ปิดตลาดปรับตัวร่วงลงถึง 543.34 จุด หรือ 1.51% ปิดที่ 35,368.47 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ลดลง 85.74 จุด หรือ 1.84% ปิดที่ 4,577.11 จุด และดัชนี Nasdaq ลดลง 386.86 จุด หรือ 2.60% ปิดที่ 14,506.90 จุด
หุ้นที่ปรับตัวลดลงมามากที่สุดวานนี้คือ หุ้นในกลุ่มการเงิน อันเป็นผลจากรายงานผลประกอบการของ Goldman Sachs ประจำไตรมาสที่ 4 ปี 2021 ซึ่งพบว่า มีกำไรลดลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ฉุดหุ้นของธนาคารปรับตัวลดลงเกือบ 7% กดดันให้หุ้นในกลุ่มการเงินโดยรวมลดลงตาม ขณะที่หลายฝ่ายต่างจับตารอดูรายงานผลประกอบของธนาคารชั้นนำรายอื่นๆ เช่น Wells Fargo, JPMorgan Chase และ Citigroup ซึ่งจะมีขึ้นในวันศุกร์นี้ (21 มกราคม)
เดวิด โซโลมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของ Goldman Sachs ออกมาเปิดเผยสาเหตุที่รายได้ลดลงว่า เป็นเพราะบริษัทต้องจัดสรรเงินเพิ่มมากขึ้น เพื่อจ่ายเป็นเงินเดือนและเงินชดเชยให้กับบรรดาพนักงาน แต่การจัดสรรเงินอีกส่วนหนึ่งไปเข้าซื้อควบรวมกิจการต่างๆ เพื่อต่อยอดการเติบโตของธนาคารให้สอดรับกับโลกยุคเศรษฐกิจดิจิทัลก็ทำให้ธนาคารยังคงมีกำไร
Goldman Sachs ระบุว่า ธนาคารมีกำไร 10.81 ดอลลาร์ต่อหุ้น ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 11.76 ดอลลาร์ต่อหุ้น ทำให้กำไรไตรมาส 4 ปี 2021 ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า 13% เนื่องจากธนาคารต้องจ่ายเงินชดเชยและเงินเดือนให้กับพนักงานเพิ่มขึ้น 33% หรือราว 17,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 4,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้บริษัทจ่ายเงินชดเชยโดยเฉลี่ยให้กับพนักงานที่ 404,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน เพิ่มขึ้นจากปี 2020 ซึ่งอยู่ที่ 329,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน
อย่างไรก็ตาม รายได้โดยรวมของธนาคารอยู่ที่ระดับ 12,640 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ก่อนหน้า 8% อันเป็นผลจากการลงทุนของธนาคารและการบริหารจัดการความมั่งคั่ง
นอกจากนี้นักลงทุนในตลาดยังคงเดินหน้าเทขายหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะขยับปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินว่า ตลอดทั้งปี 2022 ตลาด Wall Street อาจจะไม่ได้เติบโตอย่างหวือหวาเหมือนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ขยับขึ้นแตะระดับ 1.87% ทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2020 และขยับปรับขึ้นจากต้นปี 2022 ซึ่งอยู่ที่ราว 1.5% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 ปี พุ่งแตะระดับ 2% ส่งสัญญาณบ่งชี้ว่า นักลงทุนวิ่งเข้าหาพันธบัตรเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับกรณีที่ Fed ใช้มาตรการเชิงรุกเพิ่มเติมในการจัดการกับภาวะเงินเฟ้อที่ยังไม่อ่อนตัวลง
ทั้งนี้ แรงกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ บวกกับค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงและเปิดตลาดในแดนลบต่อเนื่องกันเป็นวันที่สาม โดยราคาทองคำ ตลาด COMEX งวดส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ วานนี้ (18 มกราคม) ลดลง 4.10 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,812.40 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ด้านราคาน้ำมันขยับพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี หรือตั้งแต่ปี 2014 เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งในตะวันออกกลางจะส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิต ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส ส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้น 1.61 ดอลลาร์สหรัฐ ปิดที่ 85.43 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบเบรนต์ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้น 1.03 ดอลลาร์สหรัฐ ปิดที่ 87.51 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
อ้างอิง:
- https://www.cnbc.com/2022/01/17/stock-market-futures-open-to-close-news.html
- https://www.cnbc.com/2022/01/18/goldman-ceo-says-he-sees-real-wage-inflation-everywhere-after-33percent-jump-in-pay-expenses.html
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP