×

ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทร่วงหนัก ดาวโจนส์ดิ่ง 600 จุด สวนทาง ‘ราคาทอง’ พุ่งแตะ 1,900 ต่อออนซ์

18.02.2022
  • LOADING...
Dow Jones and Wall Street.

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ร่วงหนัก ตลาดวิตกสถานการณ์ในยูเครน หลังมีข่าวรัสเซียเตรียมโจมตี ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งกว่า 600 จุด สวนทางราคาทองคำพุ่งแตะ 1,900 ดอลลาร์ ขณะที่ราคาน้ำมันอ่อนตัวลงจากอานิสงส์อิหร่านใกล้บรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์ หนุนซัพพลายน้ำมันออกสู่ตลาดเพิ่ม

 

ความวิตกกังวลของนักลงทุนต่อกรณีความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตก นำโดยสหรัฐฯ ซึ่งมีชนวนเหตุมาจากยูเครน ส่งผลให้ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทพลิกตัวร่วงหนัก โดยเฉพาะในชั่วโมงสุดท้ายของการซื้อขายที่ดัชนีในตลาดดิ่งเหวลงอย่างรุนแรง

 

โดยดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ดิ่งหนักถึง 622.24 จุด หรือ 1.78% ปิดที่ 34,312.03 จุด ส่วนดัชนี S&P 500 ร่วงลง 94.75 จุด หรือ 2.12% ปิดที่ 4,380.26 จุด และดัชนี Nasdaq ลดลง 407.38 จุด หรือ 2.88% ปิดที่ 13,716.72 จุด 

 

ทั้งนี้ สถานการณ์ในยูเครนดูจะยังไม่คลี่คลายได้โดยง่าย เมื่อล่าสุดประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ออกมาระบุว่ามีทุกข้อบ่งชี้ว่ารัสเซียกำลังวางแผนรุกรานยูเครนในอีกไม่กี่วันข้างหน้า และกำลังเตรียมการหาข้ออ้างเพื่อความชอบธรรมต่อปฏิบัติการดังกล่าว หลังกองกำลังยูเครนและกบฏที่ได้รับการสนับสนุนจากมอสโกยิงปะทะกันทางภาคตะวันออกของยูเครน

 

ขณะที่ฟากรัสเซียก็ออกมาโต้ตอบด้วยการกล่าวหาว่าผู้นำสหรัฐฯ จงใจจุดชนวนโหมกระพือความตึงเครียด โดยได้ออกแถลงการณ์ระบุชัดเจนว่าวอชิงตันกำลังเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องด้านความมั่นคงของรัสเซีย พร้อมขู่ใช้มาตรการทางเทคนิคทหารอย่างไม่เจาะจง

 

นักวิเคราะห์หลายสำนักประเมินตรงกันว่าปัจจัยทางลบฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนที่จะลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง บวกกับรายงานผลประกอบการประจำไตรมาสของบริษัทสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งที่แม้จะขยับเพิ่มขึ้นแต่ก็ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ดังนั้นจึงเกิดแรงเทขายครั้งใหญ่ในช่วงท้ายๆ ของชั่วโมงการซื้อขาย กระนั้นก็ยังมีหุ้นในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตที่ยังสามารถเคลื่อนไหวในแดนบวก เช่น หุ้นของ Walmart ที่ขยับขึ้นมากกว่า 3%

 

ราคาทองปิดตลาดพุ่งแตะ 1,900 ดอลลาร์

ในภาพรวมรายสัปดาห์ ดัชนีหุ้นทั้ง 3 ตลาดของวอลล์สตรีทยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในแดนลบ ขณะเดียวกัน ความกังวลต่อความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลให้นักลงทุนส่วนใหญ่เร่งหันหน้าถือครองสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำอย่างทองคำ ทำให้ราคาทองคำในวันพฤหัสบดี (17 กุมภาพันธ์) ขยับเพิ่มขึ้นปิดเหนือ 1,900 ดอลลาร์ โดยราคาทองคำโคเม็กซ์งวดส่งมอบเดือนเมษายน เพิ่มขึ้น 30.50 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,902.00 ดอลลาร์ต่อออนซ์

 

ราคาน้ำมันดิ่งอานิสงส์ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันเมื่อวานนี้ (17 กุมภาพันธ์) กลับปรับตัวลดลง เนื่องจากฝรั่งเศสและอิหร่านที่ออกมาเผยว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใกล้บรรลุข้อตกลงการรื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 ที่รัฐบาลอิหร่านทำไว้กับบรรดาชาติมหาอำนาจ ดังนั้นจึงช่วยลดความกังวลเกี่ยวกับซัพพลายน้ำมันไปได้เล็กน้อย ท่ามกลางความตึงเครียดเกี่ยวกับวิกฤตยูเครน

 

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส งวดส่งมอบเดือนมีนาคม ลดลง 1.90 ดอลลาร์ ปิดที่ 91.76 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ด้านราคาน้ำมันดิบเบรนต์ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนเมษายน ลดลง 1.84 ดอลลาร์ ปิดที่ 92.97 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

 

“ข่าวด้านบวกเกี่ยวกับการเจรจานิวเคลียร์อิหร่าน-สหรัฐฯ มอบแรงปลดเปลื้องที่จำเป็นต่อราคาน้ำมันโลก ในขณะที่ความเป็นไปได้ของอุปทานน้ำมันดิบใหม่จากอิหร่านอาจช่วยบรรดาภาวะไม่สมดุลระหว่างอุปทานและอุปสงค์” เคลาดิโอ กาลิมเบอร์ติ รองประธานบริษัทที่ปรึกษาไรสตัด เอเนอร์จีกล่าว

 

วันเดียวกัน ทางกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ได้เปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกที่เพิ่มขึ้นเหนือความคาดหมาย 23,000 ราย มาอยู่ที่ 248,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 219,000 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกยังคงสูงกว่าระดับ 215,000 ราย ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในสหรัฐฯ

 

ขณะที่ในภาพรวม กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ระบุว่ามีชาวอเมริกันน้อยกว่า 1.6 ล้านคน ที่ขอรับสวัสดิการช่วยเหลือว่างงานในช่วงสัปดาห์ สิ้นสุดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ โดยลดลงราว 26,000 ราย เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า

 

ทั้งนี้ ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ทางกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เพิ่งจะรายงานตัวเลขการจ้างงานในเดือนมกราคมที่เพิ่มขึ้นมาเหนือความคาดหมายที่ 467,000 ตำแหน่ง ทำให้อัตราการว่างงานขยับลดลงมาอยู่ที่ราว 4% ท่ามกลางแนวโน้มที่ชาวอเมริกันส่วนใหญ่เริ่มมองหางานทำมากขึ้น

 

นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งหวั่นเกรงว่าการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งสัญญาณเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้ออาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ และความสามารถในการจ้างงานของบรรดาผู้ประกอบการในภายหลัง

 

ในส่วนของสถานการณ์ความตึงเครียดกับรัสเซียกรณียูเครน ล่าสุด เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ได้ออกมายอมรับว่า ในกรณีที่พันธมิตรชาติตะวันตกอย่างสหรัฐฯ กับยุโรป ตัดสินใจงัดมาตรการคว่ำบาตรออกมาใช้ลงโทษรัสเซียจริง เศรษฐกิจโลกส่วนหนึ่งย่อมหนีไม่พ้นที่จะได้รับผลกระทบและทำให้เกิดการชะลอตัวในบางอุตสาหกรรม บางธุรกิจอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

 

อย่างไรก็ตาม เยลเลนย้ำระหว่างให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า หากจำเป็นต้องใช้มาตรการคว่ำบาตรจริง สหรัฐฯ กับยุโรป ย่อมพิจารณาให้ความเสียหายส่วนใหญ่อยู่ในฟากของรัสเซียเป็นหลัก

 

ความเห็นของรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ในครั้งนี้ สอดคล้องกับความเห็นของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ออกมาเตือนก่อนหน้านี้ว่า ความตึงเครียดขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อชาวอเมริกัน

 

เยลเลนกล่าวว่า ประธานาธิบดีไบเดนได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าสหรัฐฯ ตั้งใจที่จะออกมาตรการที่กระทบต่อเศรษฐกิจของรัสเซียเป็นหลัก ในกรณีที่รัสเซียตัดสินใจบุกยูเครน โดยทางกระทรวงการคลังสหรัฐฯ มีแผนคว่ำบาตรทางการเงินภายใต้ความร่วมมือกับชาติพันธมิตรในยุโรป ซึ่งมาตรการทางการเงินดังกล่าวล้วนพุ่งเป้าไปที่เศรษฐกิจของรัสเซียอย่างชัดเจน แต่ด้วยความที่เศรษฐกิจหลักของรัสเซียคืออุตสาหกรรมพลังงาน ดังนั้นจึงไม่อาจรับรองได้ว่าจะสามารถจำกัดผลกระทบไม่ให้ลุกลามเป็นวงกว้างได้ แต่สหรัฐฯ กับยุโรป จะพยายามให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อเลี่ยงผลกระทบทางลบให้มากที่สุด

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X