1. เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา มติคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ใน 3 รูปแบบคือ นัดผ่านไลน์หรือแอปพลิเคชัน ‘หมอพร้อม’ หรือแอปพลิเคชันอื่นๆ ที่รัฐบาลจะจัดให้, นัดเป็นกลุ่มองค์กรภาครัฐหรือเอกชน และการ Walk-in เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน
2. ทำให้หลังเผยแพร่มติดังกล่าว มีประชาชนบางส่วนไปขอรับบริการฉีดวัคซีนด้วยการ Walk-in ในวันถัดมา
3. จากนั้นมหากาพย์แห่งความสับสนของการ Walk-in ฉีดวัคซีนก็เริ่มต้น เมื่อ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่มีหมวกอีกใบคือหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ย้ำว่าการ Walk-in เข้าไปฉีดวัคซีนนั้นเริ่มได้ในวันที่ 1 มิถุนายนที่จะถึงนี้ แต่ภายหลังระบุว่าเป็นช่องทางเสริม และจะพร้อมก็ต่อเมื่อมีวัคซีนเพียงพอ
4. ขณะที่เหล่าดารา คนดัง เช่น ชมพู่-อารยา เอ ฮาร์เก็ต บอกว่าตนเข้าฉีดวัคซีนแล้วภายหลังมีเจ้าหน้าที่มาตั้งโต๊ะให้บริการแถวบ้านที่ซอยร่วมฤดี
5. ในเวลาต่อมา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่าตนไม่เห็นด้วยกับการ Walk-in เพราะกลัวว่าหากประชาชนเข้าไปรวมตัวในจุดเดียวเพื่อรอรับวัคซีนจะทำให้เกิดความชุลมุนได้ และเปลี่ยนเป็นระบบ On-site แทน
6. ภายหลังจากการออกมาให้สัมภาษณ์ของ พล.อ. ประยุทธ์ ก็ทำให้นักการเมืองหลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันมากมาย กลายเป็นสมรภูมิการเมืองย่อมๆ ผ่านสงครามตัวแทนในแต่ละขั้ว
7. วันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา ภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส. อ่างทอง และโฆษกพรรคภูมิใจไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า หากยังยึดติดอยู่กับแอปพลิเคชัน ‘หมอพร้อม’ ประชาชนจะติดโควิด-19 กันหมด หาก พล.อ. ประยุทธ์ตั้งเป้าหมายฉีดให้ได้ครบ 50 ล้านคนก็ต้องหาวิธีอื่นมาอำนวยความสะดวกให้ประชาชนด้วย เพราะหากเป็นเช่นนี้ต่อไปจะทำให้การฉีดวัคซีนกลายเป็นเรื่องเข้าถึงยาก
8. คืนวันเดียวกันนั้น สิระ เจนจาคะ ส.ส. กทม. สมัยแรก พรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงโพสต์ของภราดรว่า “ขอฝากไปถึง อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และ สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ผู้เป็นพ่อของภราดรด้วยว่าให้อบรมดูแลมารยาทของภราดร เพราะอีกฝ่ายมีตำแหน่งเป็นถึงโฆษกพรรคร่วมรัฐบาล แต่กลับพูดจาถึงผู้ใหญ่ด้วยท่าทีเช่นนี้ แสดงให้เห็นถึงความไร้วุฒิภาวะ
“ต้องถามกลับไปยังพรรคภูมิใจไทยว่า คิดดีแล้วหรือที่เลือกคนแบบนี้เข้ามาทำหน้าที่เป็นโฆษก ทั้งในเวลานี้ก็ควรเป็นเวลาที่ทุกคนต้องร่วมมือกันฝ่าฟันวิกฤต หากภราดรมีข้อเสนอแนะที่ดีก็ควรเสนอมา แต่การกระทำของภราดรกลับสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นเด็กไร้มารยาทและอาจจะไร้สมองด้วย โดยสิระกล่าวว่า “หากมีความคิดอะไรก็ควรนำเสนอต่ออนุทิน ให้อนุทินนำมาปรึกษานายกฯ ไม่ใช่ออกมาใช้คำพูดแบบเด็กปากไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม”
9. ฟาก สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส. ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย ก็ออกมาแสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กเช่นกันว่า ตลอดสองสัปดาห์ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า มีปัญหาในการลงทะเบียนหมอพร้อม ขณะที่การได้เห็นประเทศต่างๆ ฉีดวัคซีนนั้นทำให้ประชาชนเริ่มตื่นตัวและอยากฉีด แต่แอปพลิเคชันกลับไม่พร้อม เมื่อมีข่าว Walk-in ให้เข้าไปฉีดได้ ตนเชื่อว่าคนมีทางเลือกมากขึ้นและตื่นตัวมากขึ้น แต่นายกฯ กลับเบรกไม่ให้มีการ Walk-in แล้วบอกว่าแอปพลิเคชันห้ามล่ม ตนก็รู้สึกว่าเป็นการบริหารแบบยุคเก่ามาก แทนที่จะหาแนวทางฉีดวัคซีนโดยไม่ต้องแออัดกัน การตัดสินใจเช่นนี้เท่ากับว่านายกฯ ไม่ได้เรียนรู้ปัญหาและการแก้ไขในกรณีที่สถานการณ์ไม่เป็นไปตามแผนเลย
10. ด้าน สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล พ่อของภราดร ก็ออกมาตอบโต้สิระผ่านเฟซบุ๊กว่า ตนสอนลูกให้อ่อนน้อมถ่อมตนอยู่เสมอ แต่ต้องไม่อ่อนข้อให้ความไม่ถูกต้อง และที่สำคัญต้องไม่กลัวและอย่าก้มหัวให้คนที่กร่างไม่เข้าท่า ลูกของตนเป็น ส.ส. มาหลายสมัย สิระเป็น ส.ส. สมัยแรก ใครที่ปากไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม
11. วันนี้ (20 พฤษภาคม) ภราดรจึงโต้กลับคำวิจารณ์ของสิระว่า ไม่ได้อ่านและไม่ได้ฟังความคิดเห็นของสิระเลย เพราะเหมือนมวยไม่มีราคา ม้าไม่มีชั้น เนื่องจากทุกครั้งที่คนคนนี้แสดงความคิดเห็นก็แทบไม่มีครั้งใดที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และยอมรับว่าหลังจากโพสต์เฟซบุ๊กไปนั้น ก็มีผู้ใหญ่ในพรรคติดต่อมาเพื่อชี้แจงให้ใช้วิธีสื่อสารที่นุ่มนวลขึ้น
12. ในเวลาต่อมา เสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ก็กล่าวถึงพฤติกรรมของภราดรว่า ตอนนี้นายกฯ ก็ให้การฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติแล้ว โดยวางแผนจะปูพรมฉีดวัคซีนให้ประชาชนในกรุงเทพฯ ให้ได้อย่างน้อย 5 ล้านคน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภายในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม และกล่าวว่า ภราดรไม่ควรออกมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการฉีดวัคซีนทั้งๆ ที่เป็น ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาล ควรจะเข้าใจการทำงานของคนอื่นบ้าง ทั้งหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยก็ยังเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขด้วย “ประเทศต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่าย ภราดรควรพูดช่วยนายกฯ เพื่อสร้างความรับรู้ให้ประชาชน แต่กลับทำตัวเป็นฝ่ายค้านออกมาโจมตีนายกฯ เช่นนี้ ตนถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรตินายกฯ และในฐานะเป็นลูกพรรคภูมิใจไทย อย่างน้อยก็ควรให้เกียรติอนุทิน รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขบ้าง”
13. ต่อมา ดร.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส. กทม. เขต 2 และโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่ภราดรตำหนิการทำงานและการบริหารของภาครัฐว่า ที่ผ่านมานั้นนายกฯ ต้องการสื่อสารให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสน การลงทะเบียนในแอปพลิเคชันหมอพร้อมนั้นช่วยลดความแออัดของการมารอฉีดวัคซีนได้และทำให้บริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบ ขณะที่การ Walk-in นั้นอาจทำให้เกิดการรวมตัวของประชาชนซึ่งผิดกับหลักตามมาตรการควบคุมโควิด-19 ของสาธารณสุข โดยแนะให้ประชาชนฟังข้อมูลจากทาง ศบค. เพื่อที่จะได้ไม่เกิดความเข้าใจผิด
ดร.พัชรินทร์ย้ำว่าภราดรก็น่าจะทราบปัญหาเหล่านี้อยู่แล้ว เพราะกระทรวงสาธารณสุขก็อยู่ภายใต้การบริหารจัดการโดยรัฐมนตรีที่มาจากพรรคภูมิใจไทย ทั้งในเวลานี้รัฐเองก็เร่งหาทางในการกระจายวัคซีน อยากให้โฆษกพรรคภูมิใจไทยช่วยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน และเข้าใจหัวอกคนทำงานมากกว่ามาวิพากษ์วิจารณ์ในสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์
14. ล่าสุด พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวโต้ตอบกรณีการวิพากษ์วิจารณ์ของภราดรว่า ส่วนตัวไม่ขอแสดงความคิดเห็น และย้อนถามผู้สื่อข่าวว่า พฤติกรรมของภราดรนี้เป็นเรื่องสมควรหรือไม่ให้คิดเอาเอง เพราะต่างเป็นพรรคร่วมรัฐบาล และกล่าวว่า ศบค. เป็นผู้ดำเนินการการพิจารณามาตรการต่างๆ รวมถึงแนวทางการกระจายวัคซีน โดย พล.อ. ประวิตรย้ำว่ากรณีของภราดรนี้เป็นเรื่องของบุคคล และไม่เห็นความจำเป็นต้องไปกำชับอนุทิน เพราะต่างก็เป็นผู้ใหญ่กันหมดแล้ว ส่วนที่พรรคพลังประชาชนออกมาตอบโต้ภราดรนั้นก็เป็นเรื่องความเห็นของโฆษกพรรคเท่านั้นเอง
15. ขณะที่ สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แกนนำพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า เป็นการเสียมารยาท การจะพูดอะไรต้องมีข้อมูล ไม่ใช่พูดเอามันอย่างเดียว เป็น ส.ส. พูดอะไรแล้วต้องรับผิดชอบคำพูด จะมาพูดเอามันไม่ได้
16. เหตชุลมุนทางการเมืองจากปม ‘Walk-in ฉีดวัคซีน’ ไม่ใช่เหตุแรกที่ดูเหมือนการเมืองภายในของขั้วรัฐบาลจะมีรอยร้าวในวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมามีสัญญาณหลายอย่าง และต้องจับตาว่าหลังวิกฤตนี้ซาไปจะเกิดวิกฤตใหม่หรือรอยแตกทางการเมืองที่ชัดขึ้นหรือไม่
พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ