×

ฉากและชีวิตของพ่อวัฒน์ ผ่านสายตาลูกสาว ‘วจนา วรรลยางกูร’ เมื่อต้องลี้ภัยไกลบ้าน

25.06.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • วจนา วรรลยางกูร หรือเตย เธอคือลูกสาวของ พ่อวัฒน์ วรรลยางกูร กวีและนักเขียนเจ้าของรางวัลศรีบูรพา ที่ปัจจุบันต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างแดน ทำให้ต้องตัดขาดจากครอบครัวเป็นเวลากว่า 6 ปีแล้ว นับแต่ คสช. ออกคำสั่งเรียกรายงานตัว
  • เตยเป็นลูกสาวคนสุดท้องในจำนวนพี่น้องสามคน เตยเติบโตมาในครอบครัวที่พ่อและแม่ต้องเข้าป่าต่อสู้ทางการเมือง เธอเติบโตมาในโลกหนังสือของพ่อ แต่วันนี้โลกและครอบครัวของเธอไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เมื่อพ่อต้องไกลบ้านและมีชีวิตที่ไม่อาจรู้ชะตากรรม

“ชาติกำเนิดของบุคคลไม่ใช่เครื่องหมายบ่งบอกถึงความดีของมนุษย์” (ศรีกรุง ปีที่ 13 ฉบับที่ 1905 วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2475) 

 

ข้างต้นคือความตอนหนึ่งที่ ศรีบูรพา หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เขียนลงในหนังสือพิมพ์ ศรีกรุง ฉบับวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 ไม่ถึง 1 เดือนหลังการปฏิวัติสยาม 2475 โดยคณะราษฎร

 

ในกาลต่อมา นามปากกาศรีบูรพาได้ถูกยกย่องให้เป็นชื่อรางวัลที่มอบให้แก่นักเขียน นักแปล กวี หรือนักหนังสือพิมพ์ ที่มีแบบฉบับการใช้ชีวิตที่ดีงาม และแบบฉบับของการสร้างสรรค์งานที่มีคุณค่าต่อสังคมและมนุษยชาติมาอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน เช่นเดียวกับศรีบูรพา สำหรับผู้ที่ได้รางวัลนี้ เช่น ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์ (เสนีย์ เสาวพงศ์), เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, ธีรยุทธ บุญมี, เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ รวมถึง วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนรางวัลศรีบูรพา คนที่ 19 เมื่อ พ.ศ. 2550 ผู้มีชะตากรรมแตกต่างไปจากนักเขียนรางวัลศรีบูรพาหลายๆ คน 

 

ไม่ควรต้องมีใครถูกฆ่าเพียงเพราะเขาแสดงความคิดเห็น นี่คือคอนเซปต์ความคิดง่ายๆ ที่เป็นสากล หากแต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับคนใกล้ตัวของ วัฒน์ วรรลยางกูร สวนทางกับข้อความนี้ 

 

ราวเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562 ที่ประเทศฝรั่งเศส ประเทศที่ วัฒน์ วรรลยางกูร เพิ่งย้ายมาอาศัยได้ราวหนึ่งเดือนครึ่ง เขาให้สัมภาษณ์ผ่านบีบีซีไทย เล่าถึงชะตากรรมที่ต้องพบเจอ รวมถึงเรื่องราวของเพื่อนผู้ลี้ภัยที่ได้รับ

 

วัฒน์ วรรลยางกูร คือหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิด

 

ราวบ่ายโมงในวันที่อุณหภูมิร้อนแรง ท่ามกลางกระแสข่าวการหายตัวไปของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ในประเทศกัมพูชา ที่สร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมไทยต่อประเด็นการอุ้มหาย ซึ่งเกิดกับผู้ลี้ภัยในกรณีล่าสุด 

 

ตราบที่ผู้มีอำนาจยังจะรักษาโครงสร้างอำนาจแบบนี้ต่อไป มันมีสิ่งที่เขาต้องรักษาไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลง ฉะนั้น มันก็ไม่มีโอกาสสำหรับผู้ลี้ภัย

 

 

เรานัดหมาย เตย-วจนา วรรลยางกูร ลูกสาวของวัฒน์ เพื่อพูดคุยถึงเรื่องราว มุมคิด ความเห็น ต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ลี้ภัย ซึ่งไม่ได้เกิดแค่กับพ่อเธอ แต่ยังเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ตราบที่ผู้มีอำนาจยังจะรักษาโครงสร้างอำนาจแบบนี้ต่อไป มันมีสิ่งที่เขาต้องรักษาไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลง ฉะนั้น มันก็ไม่มีโอกาสสำหรับผู้ลี้ภัย

 

 

 

ตอนนี้เตยทำอะไรอยู่ 

เคยเป็นสื่อมวลชนมาก่อนตั้งแต่เรียนจบ เคยเป็นนักข่าวรายวัน แต่ตอนนี้ทำงานประจำเป็นนักเขียน

 

ทำไมถึงเลือกทำงานสายนี้ เพราะพ่อเป็นนักเขียนหรือเปล่า

ที่มาทำด้านนี้ ไม่ได้อยากเป็นนักเขียนขนาดนั้น แต่อยากทำงานเกี่ยวกับการเขียน เพราะเราโตมากับโลกของพ่อ โลกของนักเขียน เราโตมากับหนังสือ แล้วเราเข้าเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ เอกการละคร วิชาโทปรัชญา ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร เพราะเราคิดว่าคนจะทำงานเขียน ไม่ว่าเรียนอะไรก็ทำได้ แค่เราสื่อออกมา

 

มีแพสชันอย่างไร

ไม่ได้มีแบบนั้น แต่มันเป็นโลกแบบเดียวที่เรารู้จัก โตมาในครอบครัวที่ทุกคนอ่านหนังสือ ช่วยอีดิตงานพ่อ ช่วยพ่อขายหนังสือ พ่อกับแม่เราสร้างสภาพแวดล้อมให้เราโตมาด้วยความสนใจของทั้งพ่อและเแม่ เรื่องทางสังคม เรื่องทางวรรณกรรม ทุกอย่าง และเราไม่ได้ปฏิเสธมัน เรารักมันด้วย 

 

 

แล้วมีโลกใบอื่นที่เป็นโลกของพ่อเราที่ไม่ใช่มุมหนังสืออีกไหม

มันมาควบคู่กันทั้งการอ่าน การเขียน และเรื่องสังคม ตั้งแต่เด็กเราไปงานรำลึก 6 ตุลา 14 ตุลา ตลอด เพราะพ่อแม่เราเจอกันในป่า เขาจะจัดงานรำลึกกันเสมอ เป็นคนเดือนตุลา เราไม่ได้คิดว่ามันแปลก เราเห็นวิดีโอเหตุการณ์ 6 ตุลา ตั้งแต่เราอยู่ชั้นประถม 

 

ความรู้สึกต่อ 6 ตุลา คืออย่างไร

ไม่ได้แปลกใจ และตอนเด็กเราอาจไม่ได้รู้ว่าโหดร้ายหรือเลวร้ายขนาดไหน แต่รู้ว่ามีเหตุการณ์อย่างนี้อยู่ แต่มันก็ค่อยๆ ซึมซับ รู้มาเรื่อยๆ 

 

เป็นสิ่งที่พ่อต้องการสอนไหม

ไม่ถึงขนาดนั้น แต่เหมือนเป็นบทสนทนาตอนกินข้าว หรืออย่างพ่อเปิดเพลง พ่อก็จะเล่าสภาพสังคมในตอนนั้นว่าทำไม ครูไพบูลย์ บุตรขัน ถึงแต่งเพลงนั้นขึ้นมา หรือพ่อแม่เราก็จะคุยกัน มันเป็นบทสนทนาธรรมดา หรืออย่างไปเที่ยวต่างจังหวัด เมื่อก่อนก็จะมีไปตั้งแคมป์ ไปเจอเพื่อนต่างจังหวัด ไปจัดงานรำลึกนอกสถานที่

 

 

 

การที่เราเป็นลูกสาวคนเดียวในบ้านเป็นอย่างไรบ้าง

ด้วยความเป็นลูกสาวคนเดียว คุณแม่จะเข้มงวด อะไรที่พี่ชายทำได้บางอย่าง แม่จะไม่ให้เราทำ พี่ชายจะบอกว่าพ่อเราเอาใจเรามาก พี่เคยพูดว่าพ่อเลี้ยงเหมือนเตยเป็นเทพธิดา แต่เราไม่ได้รู้สึกว่าเท่ากับบ้านอื่นๆ แต่ก็ด้วยความเป็นลูกสาวคนเดียว พี่ชายก็ดูแลนะ 

 

ความสนิทล่ะ สนิทกับใครในบ้านมากกว่ากัน

สนิทกันคนละแบบ แม่จะมาเกี่ยวพันกับชีวิตประจำวันมากกว่า เราก็สนิทกับพ่อ เวลามีอะไรที่อยากได้ ถ้าแม่ไม่ให้ก็จะไปบอกพ่อ

 

 

งานของพ่อวัฒน์ดูไม่ได้เป็นเรื่องน่ากลัว แต่วันหนึ่งงานของพ่อก็กลายเป็นเรื่องน่ากลัวสำหรับรัฐ การที่พ่อนำเสนอความจริง ซึ่งเป็นเรื่องที่เราก็รู้สึกว่าคุยกันในบ้านได้ปกติ แต่วันนี้กลับน่ากลัวสำหรับบางกลุ่ม เตยคิดอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น

เราว่างานของพ่อมันเด่นเรื่องการสะท้อนชีวิตชาวบ้าน กลิ่นกองฟาง ลมที่พัดไปตามทิวข้าว นักอ่านที่ชอบงานของพ่อในยุคนั้นเขาจะบอกว่าทำไมไปยุ่งการเมือง แต่ถ้าเขาอ่านงานของพ่อจริงๆ งานจะไม่ได้เน้นแค่ชนบท แต่จะเน้นการต่อสู้ของคนตัวเล็กๆ ด้วย มันมีการสอดแทรกเรื่องความเท่าเทียม เสมอภาค การถูกกดขี่ ภายใต้ภาพที่สวยงาม ภายใต้ชีวิตเรียบง่าย ชนบทมันมีความรุนแรงของการถูกกดทับอยู่ในนั้น และถ้าเขาอ่านงานอื่นๆ ไม่ใช่แค่นิยาย แต่อ่านบทกวี พ่อเขียนมาตลอดตั้งแต่หนุ่มๆ มันคือสิ่งที่เขาคิดและไม่ได้เปลี่ยนไปเลย การเรียกร้องเสรีภาพ การแสดงออก การพูดความจริง การสนับสนุนพลังประชาชน

 

 

ภายใต้ชีวิตเรียบง่าย ชนบทมันมีความรุนแรงของการถูกกดทับอยู่ในนั้น และถ้าเขาอ่านงานอื่นๆ ไม่ใช่แค่นิยาย แต่อ่านบทกวี พ่อเขียนมาตลอดตั้งแต่หนุ่มๆ มันคือสิ่งที่เขาคิดและไม่ได้เปลี่ยนไปเลย

 

คิดอย่างไรกับการที่คนมีความรู้สึกเปลี่ยนไปต่องานของพ่อวัฒน์

มันมีหลายอย่าง เพราะเขาคิดว่าพ่อเราแดงเกินไป เป็นองค์ประกอบหนึ่ง หรืออย่างเวลาคนที่พูดว่าภูมิใจที่เห็นพ่อเราเขียนงานเรียกร้องเพื่อคนจน แต่พอมาสัมพันธ์กับปัจจุบัน การโปรประชาธิปไตย เรียกร้องความเท่าเทียม มันถูกแยกออกจากกัน ทั้งที่พ่อเราพูดเรื่องเดิม แต่มันอาจเพราะพ่อเราไปมีบทบาทการแสดงออกอย่างอื่นนอกจากเรื่องงานเขียนด้วย เช่น ไปขึ้นเวที

 

 

การที่สังคมมีความหวาดกลัวการพูดความจริง การถ่ายทอดการถูกกดขี่ ทำให้การพูดถึงงานของวัฒน์กลายเป็นเรื่องน่ากลัว หรือการพูดถึงวัฒน์กลายเป็นเรื่องน่ากลัวไหม

ทุกอย่างมันค่อยๆ เสริมกันมา คือก่อนถึงรัฐประหาร 2557 การพูดถึงพ่อเราเป็นเรื่องปกติมาก แต่พอหลังปี 2557 ทุกอย่างมันเป็นองค์ประกอบกัน คสช. ไปกดขี่กับฝ่ายที่เห็นต่าง คนจำนวนมากต้องเดินทางออกนอกประเทศ พ่อเราเป็นหนึ่งในคนที่ต้องเดินทางออก เพราะสิ่งต่างๆ ที่ คสช. ทำ 

 

รวมถึงการถูกดำเนินคดีในมาตรา 112 ซึ่งคนที่โดนคดีนี้ไม่ว่าอย่างไรแค่มีชื่อว่าต้องข้อหานี้ เขาก็โดนแบนจากสังคมไปแล้ว มีชื่อติดกับมาตรานี้ก็ไม่มีคนยุ่งแล้ว เป็นคนผิดโดยปริยาย มันเป็นการตีตราไปเลย โดยไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการยุติธรรมก็ได้ คนทั้งสังคมพร้อมจะบีบออกไป 

 

รู้สึกอย่างไร

มันคือความรู้สึกว่า พ่อเราทำอะไรผิด พ่อเราค้ายา ฆ่าคนตายหรือ คือเขาเป็นนักเขียนที่เคลื่อนไหวทางการเมือง ถ้าเราทำอย่างนี้ในประเทศที่พัฒนาแล้วมันไม่ใช่เรื่องผิด

 

 

เตยเคยคุยกับพ่อถึงสิ่งที่พ่อคิดไหม หรือพ่อเคยพูดอะไรให้ฟังถึงการต่อสู้ที่ผ่านมาบ้างไหม 

พ่อได้รับผลกระทบจากการแสดงจุดยืนทางการเมืองมาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว ตั้งแต่พ่อแสดงตัวเป็นเสื้อแดง งานของพ่อก็ถูกสำนักพิมพ์ปฏิเสธ โดนยกเลิกคอลัมน์ แต่ก็มีกัลยาณมิตรที่พร้อมสนับสนุนเขา แม้ว่าจะรู้จุดยืนเขา แต่พ่อเราก็เหมือนเป็นคนบ้า ตั้งแต่ไม่มีเสื้อแดง ก่อนหน้านั้นเป็นนักเขียนที่ได้รับการยอมรับจากสังคมไทยอย่างกว้างขวางขนาดนี้ ชีวิตมันก็ดีแล้ว 

 

ชีวิตเขามันออกห่างจากเรื่อง 6 ตุลา ไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่เขาคิดมาตลอดชีวิต มันเป็นปมในใจเขา เขาเห็นเพื่อนเขาตาย แล้วไม่มีความจริงเกิดขึ้น ไม่มีใครถูกลงโทษ ถูกทำให้ลืมด้วยซ้ำ 

 

แล้วสังคมก็วนกลับมาสู่ความขัดแย้ง เขาก็พร้อมจะออกไปยืนจุดเดิมเพื่อบอกว่าเขาไม่เห็นด้วยกับอะไร ตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 เขาก็ออกไปร่วมม็อบในฐานะผู้ชุมนุมคนหนึ่ง แสดงออกว่าต้านรัฐประหาร ตั้งแต่ไม่มีเสื้อแดง 

 

 

เขารู้ต้นทุนที่ต้องจ่ายใช่ไหม

เขารู้ แน่นอนเสมอ แต่คิดว่าเรื่องเงื่อนไขทางครอบครัวเป็นตัวปลดล็อกเขาด้วย แม่ก็เสียไปแล้ว ทุกคนเรียนจบ เขาก็เหมือนกลายเป็นหนุ่มโสดอีกครั้ง ทำทุกอย่างได้ตามปรารถนา เขาทำโดยรับผลของมัน 

 

 

ชีวิตเขามันออกห่างจากเรื่อง 6 ตุลา ไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่เขาคิดมาตลอดชีวิต มันเป็นปมในใจเขา เขาเห็นเพื่อนเขาตาย แล้วไม่มีความจริงเกิดขึ้น ไม่มีใครถูกลงโทษ ถูกทำให้ลืมด้วยซ้ำ

 

 

เราเคยเตือนเขาไหม ท่าทีเขาเป็นอย่างไร

ก็ห่วงเรื่องความอันตราย มีคุยกัน ประเมินสถานการณ์กันว่าช่วงนี้ไม่ควรออกไปหรือเปล่า แต่ไม่มีบอกให้หยุดเถอะ เพราะเรารู้ว่าเขาทำไปทำไม มีคุยว่าเตรียมตัวกันบ้าง ว่าจะต้องเจออะไร 

 

ระหว่างที่พ่อต้องไกลบ้าน ติดต่อกันอย่างไร 

ก็คุยเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2557 ที่เขาออกนอกประเทศ

 

 

ตอนนั้นรู้สึกอย่างไร

ช่วงนั้นตั้งแต่ก่อนมีรัฐประหาร เขาก็เตรียมตัวประมาณหนึ่ง ก็เก็บของใส่กระเป๋าเตรียมไว้ที่บ้าน เพราะสถานการณ์เริ่มงวดเข้ามา แล้วคิดว่าน่าจะมีรัฐประหารและน่าจะหนัก ตอนที่เขาออกไป เขาไม่ได้บอกเรานะ เขาบอกพี่ชายคนโต เพราะเขากับพี่ชายคนโตสนิทกันเหมือนเพื่อน ก็รู้ตอนที่เขาไปกัมพูชาแล้ว แต่ก็ไม่ใช่จู่ๆ เขาไปเลย ก็รู้ว่าเขาเตรียมตัวอยู่แล้ว มันหายห่วง เพราะเห็นว่า คสช. มาเรียกคนไปคุมตัวมาปรับทัศนคติ มันน่ากลัวมาก ตอนนั้นเราไม่ได้คิดเรื่องคดีอะไรด้วยซ้ำ แต่อย่างน้อยพ่อก็ไม่ต้องไปอยู่ใต้กระบวนการพวกนี้ และตอนหลังมันก็เริ่มชัดเจนเรื่องคดี พวกเราที่บ้านก็เห็นว่าพ่อมีความเสี่ยงอะไรบ้าง ก็คิดว่ามันเป็นทางที่ดีที่สุดแล้ว 

 

คิดว่าจะมีผลกระทบที่เลวร้ายกว่านี้ไหม

คือถ้าอยู่ไทยต่อ เราไม่รู้ว่าพ่อจะติดคุกกี่สิบปี ตอนแรกมันไม่มีคดี แต่พอออกไปแล้วก็มีคดี 4-5 คดีแล้ว และของพวกนี้มันก็แจ้งเพิ่มได้เรื่อยๆ 

 

 

เรารู้สึกว่าประเทศนี้มันขอความเป็นมนุษย์มากกว่านี้หน่อยได้ไหม เราคาดหวังจะเห็นสิ่งที่อารยะกว่านี้ ความเป็นมนุษย์คือคุณมีความเข้าใจกัน คุณไม่ได้อยากฆ่าใครสักคนเพียงเพราะความเห็นทางการเมือง

 

แต่ว่าระหว่างนั้นก็ได้ติดต่อกัน

มันก็ไม่ยากเหมือนสมัยก่อน ก็เหมือนตอนมหาวิทยาลัยที่เราอยู่หอ เราไม่ค่อยได้กลับบ้าน นานๆ ก็โทรหากันที

 

พ่อได้คุยอะไรกับเราบ้าง ได้ส่งสารอะไรให้เราคลายกังวลบ้าง

ก็จะรู้ผ่านพี่มา เพราะถ้าเราติดต่อกันเองก็จะอันตราย ช่วงแรกๆ ก็จะไม่รู้รายละเอียดเท่าไร เพื่อความปลอดภัยด้วย

 

 

ถ้าเทียบกับเวลานี้ จากตอนแรกออกไปเพื่อจะปลอดภัย  แต่ตอนนี้คนที่ออกไปกลับมีชะตากรรมอย่างที่เห็น ความกังวลกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างไรบ้าง

คือตั้งแต่ปี 2557 ก็มีเรื่องความเป็นอยู่ คือเขาต้องไปหลบอยู่ บางทีสภาพสถานที่อยู่ก็ไม่ได้ดีขนาดนั้น มันต่ำกว่ามาตรฐานที่เราควรจะมี แล้วมันแย่มาก กระทบเรื่องสุขภาพด้วย และเขาก็ต้องเปลี่ยนที่อยู่ไปเรื่อยๆ ด้วย เพราะแต่ละที่ที่เขาไปอยู่ก็จะมีวิธีติดต่อ เพื่อให้รู้สถานการณ์ของตัวเองจากที่ใดที่หนึ่ง

 

เราเคยเห็นเอกสารที่เป็นแผนที่พิกัดบ้านว่าผู้ลี้ภัยแต่ละคนอยู่ที่ไหนบ้าง มีชื่อ เลขบัตรประชาชน มีภาพถ่ายดาวเทียมว่าอยู่บ้านหลังนี้ ส่งมาจากทางการไทย คือเขารู้หมดว่าอยู่ที่ไหน และมันใช้ชีวิตด้วยความหวาดระแวงตลอดเวลา 

 

พูดตามตรงว่าในหมู่ผู้ลี้ภัยไม่ใช่ทุกคนจะรู้จักกันหมด ก็หวาดระแวงกันเองด้วย มันก็เสียสุขภาพจิต หรืออย่างเคสที่โดนอุ้มหายในลาวแรกๆ ในหมู่ผู้ลี้ภัยก็ไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรกันแน่ เพราะไม่มีใครเห็นเหตุการณ์ แต่พอพบศพที่แม่น้ำโขง มันก็ชัดเจนว่ามีการอุ้มฆ่า 

 

แล้วอย่างเคส สุรชัย แซ่ด่าน ไม่ต้องพูดถึงพ่อเรา แค่เรารู้ข่าวก็แทบจะเป็นบ้า แล้วทำให้เรารู้ว่าพ่อเราอยู่ในสถานการณ์แบบไหน มันเป็นการฆ่าแบบที่เลวร้ายที่สุดที่จะทำได้กับมนุษย์คนหนึ่ง 

 

มันอึดอัดใจทุกอย่าง การไปประเทศที่สามมันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย คือทำไมพ่อเราต้องมาเจอเหตุการณ์แบบนี้

 

 

เพราะเหตุการณ์ในลาวที่เกิดกับ สุรชัย แซ่ด่าน, ภูชนะ, กาสะลอง เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ต้องขยับตัวเองไปอีกประเทศหนึ่งไหม

พอเกิดเหตุการณ์นั้นก็เลยทำเรื่องลี้ภัย ด้วยพ่อเราเป็นคนบ้านๆ ลูกทุ่ง อยากอยู่กับทุ่งนา ผืนดิน การอยู่กัมพูชา ลาว ก็ไม่ได้ต่างกับไทยมาก แล้วพ่อเราอายุเยอะแล้ว มันเป็นเรื่องยากสำหรับการไปเริ่มต้นใหม่ การปรับตัว ภาษา แล้วเราก็รู้สึกว่ายังไปหาเขาได้โดยง่าย แต่พอเกิดเรื่องแบบนั้น ก็ไม่ต้องตัดสินใจแล้ว ก็ต้องไป

 

ใช้เวลานานไหมก่อนจะเดินทาง

เหตุการณ์เกิดช่วงปีใหม่ปีที่แล้ว เขาก็เดินทางช่วงพฤษภาคมปีที่แล้ว

 

ต้องปรับตัวเยอะไหม

ก็มีเรื่องอาหารการกิน เรื่องภาษาก็ยังพอมี Google Translate แต่เรื่องสภาพจิตใจก็ดีขึ้นมากจากหน้ามือเป็นหลังมือ ตั้งแต่เกิดเรื่องกับสุรชัยเขาได้รับผลกระทบทางจิตใจมาก คือจะเปลี่ยนที่อยู่ทุกวัน ไปนอนโรงแรมก็ไม่ได้เพราะเงินไม่มี จะให้หนีทุกวันจะทำอะไรได้ 

 

สิ่งที่เขาทำได้คือนั่งดื่มทุกวัน อยู่กับบ้าน เขาเครียด หนีก็ไม่ได้ ถ้ามาจะสู้อย่างไร คือเขาก็พูดนะ ถ้ามาก็ทำอะไรไม่ได้ อาวุธเขาก็ไม่มี ก็คงต้องอย่างนั้น พอได้ไปก็หมดเรื่องความหวาดระแวง ตอนอยู่ลาวคือกินข้าวไม่ลง ผอม ป่วย เพราะเหตุการณ์เมื่อปีนั้นทำให้พ่อเราแก่ขึ้นแบบสังเกตเห็นได้ ไม่เคยเห็นพ่อดูแก่ขนาดนั้น ดูป่วย ดูไม่ใช่เขาคนเดิมที่เราเคยเห็นว่าเขามีพลังมาก 

 

 

ตั้งแต่ปี 2557-2563 ก็ 6 ปีแล้ว เรายึดโยงกันด้วยความเป็นครอบครัวแบบไหน

ตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยทุกคนก็แยกกันอยู่อยู่แล้ว ทุกคนมีที่ของตัวเอง ก็แยกกันอยู่ แต่คุยกันเรื่อยๆ ว่าใครต้องการอะไร ต้องไปช่วยซัพพอร์ตแบบไหน ทุกคนก็มีชีวิตของตัวเอง แต่เราก็เป็นห่วงกันอยู่เรื่อยๆ 

 

คืออำนาจที่ คสช. ใช้ มันแยกความเป็นครอบครัวเราไหม

ตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2-3 วัน วันนั้นช่วงสายๆ เราเปิดทีวีทิ้งไว้ เราเห็นประกาศ คสช. เรียกตัว แล้วมีชื่อพ่อเรา เราร้องไห้เป็นบ้าเลย มันรู้ว่าชีวิตต่อจากนี้จะไม่เหมือนเดิมแน่ๆ เรารู้ว่ามันจะมีอะไรแย่ๆ เกิดขึ้นอีกมากที่เรามองไม่เห็น มันมืด ช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา มีเรื่องที่ทำให้เราต้องเจ็บปวดมากหลายเรื่อง ความเครียด การไม่รู้จะจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร เรื่องเงิน เรื่องสุขภาพพ่อ มันเป็นความแค้น

 

 

อยากจะเอาคืนไหม อยากให้อีกฝ่ายรู้สึกเจ็บปวดด้วยวิธีการหนึ่ง

ไม่ คนเราจะให้อภัยได้เมื่อเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว แล้วอีกฝ่ายรู้สึกผิดกับสิ่งที่เขาทำ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นยังเกิดขึ้นอยู่ มันยังดำเนินต่อเนื่องมา ยังไม่จบ แล้วก็ไม่ได้มีใครเสียใจกับสิ่งที่เขาได้ไปทำลายหลายๆ ครอบครัวที่เกิดขึ้นเพราะการรัฐประหาร 2557 แล้วยังทำซ้ำขึ้นเรื่อยๆ เขาสร้างเหยื่อมาเรื่อยๆ 

 

ทำให้การเป็นประชาชนในประเทศนี้ไร้ค่า ถ้าเขาอยากให้ตายก็ตาย แล้วมันน่าแค้นไหมล่ะ แต่คนอย่างเราไม่ใช่คนที่จะไปจับอาวุธ เราไม่เคยคิดเรื่องความรุนแรงแบบนั้น เราอยากเห็นประชาชนมีพลังขึ้นมาจริงๆ อยากเห็นความถูกต้องเกิดขึ้น เวลาเราเห็น คสช. บอกว่ามาปรองดองกัน เรายังรู้สึกว่าเหมือนเขายังบีบคอคนไว้แล้วบอกว่ามาปรองดองกันเถอะ มันแค้นที่เราทำอะไรไม่ได้ เราอยากเห็นสังคมนี้ดีกว่านี้ แต่ทำไมพลังเราน้อยนิดเหลือเกิน ทำไมเราอยู่กับสังคมที่สิ้นหวังขนาดนี้ บางทีเรารู้สึกว่าสิ่งที่เราเรียกร้องมันเหมือนเป็นเรื่องง่ายๆ นะ 

 

คุณมีความเป็นมนุษย์ให้กันหน่อยได้ไหม คนที่เห็นต่างไม่ควรถูกฆ่านะ มันควรเป็นเรื่องปกติ แค่คุณแสดงความเห็นจุดยืนทางการเมืองต่างกัน มันไม่ใช่เรื่องที่จะต้องถูกฆ่า ทำไมเราต้องขอร้องทั้งๆ ที่มันควรเป็นสิ่งที่ได้มาแต่ต้นด้วยซ้ำ

 

 

 

คิดว่าเราได้อะไรมาจากความเป็นตัวตนของพ่อหรือแม่ที่ส่งต่อมาที่ตัวเรา

คงได้มาจากทั้งพ่อและแม่คือความคิดเรื่องความเป็นธรรม เราไม่อยากเห็นคนในสังคมโดนคนกดขี่ โดนหาประโยชน์ สิ่งสำคัญคือต้องให้พลังกับประชาชน พ่อแม่เราเชื่อมากกับการต่อสู้ของประชาชน การต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม เราคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ทำไมคนอื่นไม่คิดแบบนี้

 

มันรู้ว่าชีวิตต่อจากนี้จะไม่เหมือนเดิมแน่ๆ เรารู้ว่ามันจะมีอะไรแย่ๆ เกิดขึ้นอีกมากที่เรามองไม่เห็น มันมืด ช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา มีเรื่องที่ทำให้เราต้องเจ็บปวดมากหลายเรื่อง

 

 

จากทุกสิ่งที่เจอมา มองเห็นความหวังในประเทศไทยอยู่ไหม 

มันก็มีความคิดเล็กๆ ว่าระบบที่มันเน่า มันเลวร้าย มันอาจทำลายตัวมันเอง แต่มันอาจไม่เป็นอย่างนั้นก็ได้ ถ้าโครงสร้างมันแข็งแรงและพร้อมจะมีคนถักทอมันไปเรื่อยๆ ยิ่งปีหลังๆ เราอยู่กับชีวิตที่สิ้นหวัง จะไปพูดถึงความหวังได้อย่างไร แค่โอกาสในการมีชีวิตอยู่ของพ่อเรายังดูเลือนราง ขอแค่พ่อเรามีชีวิตอยู่ก่อนเถอะ เรารู้สึกแบบเราอยู่ในประเทศที่โหดเหี้ยมมากๆ แล้วพร้อมเสมอที่จะใช้ความรุนแรงกับประชาชนของตัวเอง 

 

แล้วยิ่งเกิดเคสวันเฉลิม เราจิตตกเป็นอาทิตย์ เราร้องไห้อยู่คนเดียวที่ห้อง เราสามารถแทนที่หน้าของวันเฉลิมกับพ่อเราได้ มันเป็นใครก็ได้ เกิดกับใครก็ได้ พ่อเราก็อยู่ในสถานะตรงนั้นมาก่อน 

 

มันเป็นความทุกข์ที่เราแบกมานาน และสิ่งที่เราโกรธมากกว่าคือ เจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้มีอำนาจที่ทำเรื่องแบบนี้ การมาเห็นใครสักคนตายเพราะมีจุดยืนทางการเมือง ทั้งที่คุณก็เป็นประชาชนเหมือนกันไม่ใช่หรือ ทำไมคุณถึงย่ำยีคนแบบเราขนาดนี้ โอกาสในการใช้ชีวิตต่อ คุณยังไม่เห็นควรให้เรามีชีวิต

 

 

คิดว่ามีโอกาสที่พ่อจะกลับมาไหม

มองไม่เห็นความหวัง ถ้ามีโอกาสคือน้อยนิดมากๆ ที่ผ่านมาเวลามีความขัดแย้งทางการเมือง มีความรุนแรงต่อประชาชน มันไม่เคยมีการสะสาง เยียวยา 

 

คนที่รับผลกระทบจากรัฐประหาร 2557 มีโอกาสได้รับการสะสาง เยียวยา น้อยมาก ตราบที่ผู้มีอำนาจยังจะรักษาโครงสร้างอำนาจแบบนี้ต่อไป มันมีสิ่งที่เขาต้องรักษาไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นมันก็ไม่มีโอกาสสำหรับผู้ลี้ภัย 

 

แต่คนอย่างเราไม่ใช่คนที่จะไปจับอาวุธ เราไม่เคยคิดเรื่องความรุนแรงแบบนั้น เราอยากเห็นประชาชนมีพลังขึ้นมาจริงๆ อยากเห็นความถูกต้องเกิดขึ้น

 

 

สมมตินั่งคุยกับคนที่ไม่เคยสนใจเรื่องพวกนี้ รวมถึงวาทกรรมที่มักพูดว่า ‘ไม่ได้ทำผิดจะหนีทำไม’ เพราะประเด็นแบบนี้เกิดขึ้นตลอดเวลา อยากจะอธิบายอะไรไหม

เราอยากบอกว่า สิ่งที่เรากับครอบครัวเจอเจ็บปวดมากนะ เรากับพี่ชายร้องไห้ไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง เรารู้สึกว่าประเทศนี้มันขอความเป็นมนุษย์มากกว่านี้หน่อยได้ไหม เราคาดหวังจะเห็นสิ่งที่อารยะกว่านี้ ความเป็นมนุษย์คือคุณมีความเข้าใจกัน คุณไม่ได้อยากฆ่าใครสักคนเพียงเพราะความเห็นทางการเมือง และสิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราเชื่อ มันเป็นสิ่งสากล แล้วการที่เราเชื่อในสิทธิมนุษยชน เราไม่ได้บอกว่าถ้าคุณมีเสื้ออีกสีเราไม่ปกป้อง เราปกป้องทุกฝ่าย มันเป็นสิ่งที่ทั่วโลกเขายอมรับ เราอยากให้มีความเป็นมนุษย์กันมากกว่านี้ 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง: 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X