×

ถอดบทเรียน โลกหลีกเลี่ยง Wage-Price Spiral ได้หรือยัง? จากปรากฏการณ์เงินเฟ้อสูงในช่วงที่ผ่านมา พร้อมจับตา Profit-Price Spiral ต่อ

22.04.2023
  • LOADING...
Wage-Price Spiral

HIGHLIGHTS

  • นักเศรษฐศาสตร์และผู้กำหนดนโยบายหลายประเทศมองว่า ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา Wage-Price Spiral ยังไม่ได้เกิดขึ้นอย่างที่เคยกังวลไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากค่าจ้างของผู้คนไม่ได้เพิ่มขึ้นเท่าเงินเฟ้อ นำไปสู่ ‘วิกฤตค่าครองชีพ’
  • IMF หนุนให้ปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงาน ยันไม่ก่อให้เกิด Wage-Price Spiral เนื่องจากภาคธุรกิจยังมีกำไรที่ค่อนข้างดี รองรับต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้นได้
  • ด้าน ING จับตา Profit-Price Spiral หรือวงจรการเพิ่มขึ้นของราคาและผลกำไรองค์กร

ย้อนกลับไปเมื่อปีก่อน นักเศรษฐศาสตร์และผู้กำหนดนโยบายหลายคน รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางอังฤษ (BOE) เคยกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงในการเกิด Wage-Price Spiral หรือวัฏจักรการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างและราคาสินค้าเป็นวงจรไม่รู้จบ คล้ายกับช่วงทศวรรษ 1970 โดยขณะนั้นอัตราเงินเฟ้อในสหราชอาณาจักรเพิ่มถึง 23% และอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ เพิ่มแตะ 14% (ในปี 1980)

 

ทั้งนี้ Wage-Price Spiral มักเกิดขึ้น หากผู้คนคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ความต้องการเงินเดือนที่สูงขึ้นชดเชยการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการก็จะเพิ่มขึ้นตาม ดังนั้น ผลกระทบจากความต้องการเงินเดือนที่สูงขึ้นก็จะบีบบังคับให้ภาคธุรกิจต้องขึ้นราคาสินค้าและบริการต่อไป เพื่อชดเชยต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น ทำให้เกิดวงจรเงินเฟ้อสูงและค่าแรงแพงไม่รู้จบ

 

เปิดมุมมองผู้เชี่ยวชาญ: Wage-Price Spiral รอบนี้ เกิดหรือยัง?

แม้ในขณะนี้ความกังวลเกี่ยวกับ Wage-Price Spiral ยังไม่หายไปทั้งหมด แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา Wage-Price Spiral ‘ยังไม่ได้เกิดขึ้น’

 

โดยในรายงานการประชุมประจำเดือนมีนาคมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี (20 เมษายน) ระบุว่า ค่าจ้างมีอิทธิพลเพียง ‘เล็กน้อย’ เท่านั้นต่ออัตราเงินเฟ้อในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

 

ด้าน เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ก็ยังยืนยันกับ Bloomberg ด้วยว่า เธอไม่เห็นภาวะ Wage-Price Spiral ในสหรัฐฯ 

 

ขณะที่ในการประชุมช่วงฤดูใบไม้ผลิของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปิแอร์-โอลิวิเยร์ กูรินชาส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ IMF เปิดเผยกับ CNBC ว่า Wage-Price Spiral ไม่ใช่เรื่องที่เขากังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

 

“สิ่งที่เราเห็นในปีที่แล้วคือราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ค่าจ้างไม่ได้เพิ่มขึ้นเท่าเงินเฟ้อ และนั่นคือสาเหตุที่ทำให้เราเผชิญ ‘วิกฤตค่าครองชีพ’ ดังนั้น เราควรคาดหวังว่า ค่าจ้างจะปรับตัวขึ้นในที่สุด และรายได้ที่แท้จริงของผู้คนจะฟื้นตัว” กูรินชาส์กล่าว

 

ทั้งนี้ รายได้ที่แท้จริง (Real Income) หมายถึง ค่าจ้างที่หักลบกับผลของอัตราเงินเฟ้อแล้ว ซึ่งสามารถสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของกำลังซื้อ (Purchasing Power) ของผู้คน

 

คริสติน มาคส์ซิน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองจาก Leiden University กล่าวว่า Wage-Price Spiral อยู่ในรายการข้อกังวล ‘ระดับต่ำ’ เมื่อเทียบกับปัญหาอื่นๆ โดยชี้ว่า ตั้งแต่วิกฤตการเงินโลก ค่าจ้างของผู้คนก็ยังไม่ฟื้นตัว ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา มีการขึ้นค่าจ้างประมาณ 3.5% ต่ออัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น 2% ขณะที่การเติบโตของผลิตภาพ (Productivity Growth) อยู่ที่ 1.5% เท่านั้น

 

“เมื่อค่าจ้างไม่เพียงพอที่จะดึงคนกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานหรือพื้นที่ที่พวกเขาต้องการ ทำให้ผลิตภาพลดลงและส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ” มาคส์ซินกล่าว

 

ด้าน ริชาร์ด พอร์เทส ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จาก London Business School ก็กล่าวว่า Wage-Price Spiral ‘ไม่ใช่ความเสี่ยงร้ายแรง’ ในสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา หรือประเทศใหญ่ในยุโรป นอกจากนี้ อำนาจการต่อรองของสหภาพแรงงานในภาคเอกชนยังลดลงด้วยจากทศวรรษ 1970

 

IMF หนุนเพิ่มค่าจ้าง ยันไม่ก่อให้เกิด Wage-Price Spiral

นอกจากนี้ กูรินชาส์ยังย้ำว่า การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างจะไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยง Wage-Price Spiral เนื่องจากภาคธุรกิจมีกำไรที่ค่อนข้างดี โดยระบุว่า “รายได้ของภาคธุรกิจยังเพิ่มขึ้นเร็วกว่าต้นทุน จึงยังมีพื้นที่รองรับต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้นได้”

 

สอดคล้องกับรายงานการประชุมประจำเดือนมีนาคมของ ECB ที่กล่าวว่า จากการวิเคราะห์พบว่า “การเพิ่มขึ้นของผลกำไรบริษัทมีพลวัตมากกว่าค่าจ้างอย่างมาก”

 

บางประเทศเสี่ยงเผชิญ Profit-Price Spiral

สถานการณ์ดังกล่าวนำมาสู่การถกเถียงกันที่ว่า ผลกำไรขององค์กรจะมีส่วนทำให้สนับสนุนเงินเฟ้อหรือไม่?

 

โดยในบันทึกเมื่อเร็วๆ นี้ของนักเศรษฐศาสตร์จาก ING ซึ่งให้ความสำคัญกับเยอรมนี ที่อัตราเงินเฟ้อกำลังกลายเป็นปัญหาด้านอุปสงค์ (Demand-side) มากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีสัญญาณว่าบริษัทต่างๆ ได้ขึ้นราคาไปก่อนที่ต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้น

 

โดย ING ยังพบว่า ตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2021 เป็นต้นไป การเพิ่มขึ้นของราคาส่วนสำคัญก็เป็นผลมาจากผลกำไรขององค์กรที่สูงขึ้น หรือ Profit-Price Spiral

 

สอดคล้องกับ คลาส น็อต ประธานธนาคารกลางเนเธอร์แลนด์ ที่เมื่อเดือนธันวาคมได้เรียกร้องให้บริษัทต่างๆ ขึ้นค่าจ้างคนงาน และกล่าวว่าการขึ้นค่าจ้าง 5-7% ในภาคส่วนที่สามารถจ่ายได้ เมื่อรวมกับการสนับสนุนค่าพลังงานของรัฐบาล จะช่วยปรับสมดุลผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อมากกว่าที่จะเป็นการเติมเชื้อเพลิงให้กับเงินเฟ้อ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising