วันนี้ (8 ตุลาคม) ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (ผู้ว่าการ กกท.) เร่งแก้ปัญหาที่องค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (WADA) แบนไทย โดยได้ประสาน วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แก้กฎหมายสารต้องห้ามฉบับใหญ่ พระราชบัญญัติสารต้องห้าม ให้หน่วยงานที่ตรวจสารต้องห้ามทำงานเป็นอิสระจากภาครัฐแล้ว ขณะที่ คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล บอร์ดของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) พร้อมจะช่วยประสานงานให้ โดยที่ผ่านมา พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และประธานบอร์ด กกท. ได้ช่วยดำเนินการอย่างเต็มที่ แต่การแก้กฎหมายต้องใช้เวลา ซึ่งเรามีประเด็นปัญหาแค่เรื่องนี้เท่านั้น ส่วนกระบวนการตรวจสารต้องห้าม เราทำทุกอย่างถูกต้องดีแล้ว
โดยก่อนหน้านี้สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า WADA ได้ออกแถลงการณ์ว่า ประเทศไทย, เกาหลีเหนือ และอินโดนีเซีย ทำผิดกฎเรื่องสารกระตุ้นเกี่ยวกับนักกีฬา
โดยประเทศไทยถูก WADA ระบุความผิดไว้ว่า ไทยไม่ได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติสารกระตุ้นของ WADA ในด้านของการบังคับใช้กฎหมาย ในขณะที่อินโดนีเซียและเกาหลีเหนือผิดกฎในด้านของการไม่ส่งนักกีฬาเข้ารับการตรวจหาสารกระตุ้น
ซึ่งทั้ง 3 ชาติจะต้องพบกับบทลงโทษจาก WADA อย่างร้ายแรง ประกอบไปด้วย การห้ามเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันระดับชาติ ทวีป และระดับโลก ทุกรายการ และคณะกรรมการของทั้ง 3 ประเทศจะถูกสั่งให้ออกจากตำแหน่งคณะกรรมการของ WADA เป็นการชั่วคราวอย่างน้อย 1 ปี หรือจนกว่าจะมีคำสั่งคืนตำแหน่ง
อย่างไรก็ตาม นักกีฬาของทั้ง 3 ชาติ จะยังสามารถแข่งขันในระดับโลกได้ แต่หากรายการไหนเป็นการแข่งขันที่มี WADA และ IOC เป็นผู้ดูแลการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นโอลิมปิกเกมส์หรือพาราลิมปิกเกมส์ ทั้ง 3 ชาติจะไม่สามารถใช้ธงชาติในนามประเทศลงแข่งขันได้
สำหรับเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นจากการที่ WADA ต้องการให้ National Anti-Doping Agencies หรือ NADOs ดำเนินการอย่างอิสระ แต่ในส่วนของประเทศไทย หน่วยงานดังกล่าวอยู่ภายใต้การบริหารของ กกท.
ซึ่งทางก้องศักดได้ออกมาเปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กกท. ได้ให้ความร่วมมือทำงานควบคู่กับทาง WADA มาเป็นอย่างดี ทั้งการแก้ไขกฎหมายลูก การอัปเดตสารต้องห้ามใหม่ๆ ที่ถูกห้าม หรือแม้กระทั่งกระบวนการตรวจสารต้องห้าม ก็ไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังติดในประเด็นที่หน่วยงานตรวจสารต้องห้ามจะต้องแยกออกจาก กกท. หน่วยงานภาครัฐ อย่างเป็นอิสระ
“WADA ต้องการให้หน่วยงานตรวจสารต้องห้ามของไทยคือ ศูนย์ตรวจสารต้องห้าม มหาวิทยาลัยมหิดล แยกการทำงานออกมาเป็นเอกเทศ ทำงานด้วยความอิสระ ซึ่งในเรื่องนี้ติดขัดตรงที่ต้องไปแก้ในกฎหมายใหญ่คือ พระราชบัญญัติสารต้องห้าม ซึ่งเมื่อทราบเรื่องก็ไม่ได้รอช้า ได้เสนอให้ผู้ใหญ่ในรัฐบาลทราบ โดยทาง วิษณุ เครืองาม ก็ได้รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้น และเสนอให้คณะรัฐมนตรีทราบ เพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป ซึ่งเรื่องอยู่ที่กฤษฎีกา กกท. ก็ได้ชี้แจงไปแล้ว โดยขั้นตอนจากนี้ก็จะได้ออกมาเป็นพระราชกำหนดไปก่อน เพื่อนำมาบังคับใช้ก่อนเป็นการเร่งด่วน” ก้องศักดกล่าว
ก้องศักดยอมรับว่า การแก้ไขกฎหมายต้องใช้เวลา โดยหากมองไปที่การเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬานานาชาติของไทย หรือแม้กระทั่งการส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันรายการระดับนานาชาติ ซึ่งรายการใหญ่ๆ น่าจะเป็นเอเชียนเกมส์ 2022 ที่เมืองหางโจว ประเทศจีน เดือนกันยายน ก็น่าจะทันเวลา ยกเว้นแค่เพียงกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 เดือนกุมภาพันธ์ ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ที่อาจจะไม่ทันเวลา เรื่องนี้ กกท. ไม่ได้นิ่งเฉย จะเร่งแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด
ขณะที่คุณหญิงปัทมากล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมา WADA ได้ฝากให้เร่งแก้ปัญหาการทำงานของหน่วยงานตรวจสารต้องห้ามให้เป็นอิสระจากภาครัฐมาตลอด โดยได้มีการเตือนมาเป็นระยะๆ แล้ว มาครั้งล่าสุดเป็นช่วงโอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ต้องยอมรับว่า การแก้ไขกฎหมายต้องใช้เวลา ที่ผ่านมา พล.อ. ประวิตร ก็ได้ช่วยดำเนินการให้อย่างเต็มที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม คุณหญิงปัทมาพร้อมจะช่วยประสานงานให้ “โดยปัญหาสำคัญอยู่ที่เรื่องการแก้กฎหมายพระราชบัญญัติสารต้องห้าม ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาพอสมควร ส่วนกระบวนการตรวจสารต้องห้าม เราทำทุกอย่างถูกต้องดีแล้ว” คุณหญิงปัทมากล่าว
อ้างอิง: