อรรณว์ ชุมาพร หรือ วาดดาว ประธานและผู้ก่อตั้งบริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด ในฐานะผู้จัดงาน Bangkok Pride (บางกอกไพรด์) ผู้เสนอแก้ไขกฎหมายสมรสเท่าเทียมภาคประชาชน ในฐานะนักเคลื่อนไหวกลุ่มเพศหลากหลายที่มาจากชนบททางภาคใต้ของประเทศไทย และนักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนกลุ่มหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+) เป็นตัวแทนคนไทยที่ได้รับเลือกหรือยกย่องโดย BBC ให้เป็นหนึ่งในผู้หญิง 100 คนแห่งปี 2024 ขึ้นแท่นเป็นหญิงไทยคนเดียวใน BBC 100 Women 2024 จากการผลักดันเรื่องความเท่าเทียมทางเพศมากว่า 20 ปี
ขณะที่ BBC Thai เขียนรายละเอียดไว้ว่า อรรณว์ ชุมาพร เป็นผู้นำในความพยายามที่จะทำให้กฎหมายฉบับนี้ผ่านรัฐสภา ด้วยการทำหน้าที่เป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เป็นผู้ร่วมก่อตั้งนฤมิตไพรด์ (Bangkok Pride) และเป็นนักเคลื่อนไหวกลุ่มเพศหลากหลายที่มาจากชนบททางภาคใต้ของประเทศไทย เธอยังสนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิทธิครอบครัว LGBTQIA+ มานานกว่าทศวรรษ
ในระหว่างการประท้วงของกลุ่มเยาวชนในประเทศไทยเมื่อปี 2020 เธอกลายเป็นผู้นำในกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกที่สนับสนุนประชาธิปไตย และถูกตั้งข้อหาทางการเมือง 8 ข้อหาจากการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเธอ
อรรณว์ ชุมาพร กล่าวว่า การได้รับเลือกหรือยกย่องโดย BBC ให้เป็นหนึ่งในผู้หญิง 100 คนแห่งปี 2024 หรือหญิงไทยยืนหนึ่งใน BBC 100 Women 2024 จากการผลักดันเรื่องความเท่าเทียมทางเพศมากว่า 20 ปี ครั้งนี้ รู้สึกขอบคุณและดีใจอย่างมากที่การทำงานสมรสเท่าเทียมของเราได้รับการมองเห็นในระดับโลก เพราะการเคลื่อนไหวในทั่วโลก น้อยมากที่การนำแบบเฟมินิสต์จะได้รับการยอมรับและได้รับเสียงสำคัญจาก BBC ซึ่งคาดหวังว่าเราจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มเฟมินิสต์และนักเคลื่อนไหวในเรื่องของสิทธิมนุษยชนและสิทธิครอบครัว LGBTQIA+ รวมถึงเรื่องสมรสเท่าเทียมในประเทศอื่นๆ
โดยส่วนตัวมองว่ารางวัลนี้ควรเป็นของทุกคน ไม่ใช่เป็นของตัวเองคนเดียว เพราะไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวแบบเฟมินิสต์หรือสมรสเท่าเทียม การเปลี่ยนแปลงของสังคมต่างๆ ได้มาเพราะทุกคน ทุกภาคส่วน ร่วมแรงร่วมใจกันช่วยผลักดัน
ทั้งนี้ อยากให้ทุกคนติดตามการต่อสู้ของผู้หญิงทั้ง 100 คนจากทั่วโลกที่ได้รับเลือกหรือยกย่องโดย BBC ด้วย เพราะในหลายๆ ประเทศ เรื่องความหลากหลายทางเพศและความเป็นผู้หญิงยังมีการต่อสู้อย่างยากลำบากมากๆ เช่น ผู้หญิงหลายคนถูกทำร้ายและถูกสังหารจากการผลักดันให้เกิดความเท่าเทียม การยอมรับในเพศสภาพ การยอมรับในตัวตน ซึ่งความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้น อยากให้ได้รับการซัพพอร์ตจากทั่วโลก
สามารถอ่านเนื้อหาเพิ่มเติมและดูรายชื่อผู้หญิงทั้ง 100 คนได้ที่
https://www.bbc.com/thai/resources/idt-4f79d09b-655a-42f8-82b4-9b2ecebab611