×

เสียง (ไม่) เงียบ 2022 หนังสั้น 4 เรื่อง ฝีมือนิสิต-นักศึกษา เพื่อร่วม ‘ส่งเสียง’ แทนผู้คนที่ถูกอำนาจกดทับให้ ‘ต้องเงียบ’

25.08.2022
  • LOADING...
Voices of the New Gen

Voices of the New Gen หรือ เสียง (ไม่) เงียบ 2022 คือภาพยนตร์รวมเรื่องสั้น 4 เรื่อง จากฝีมือของนิสิตนักศึกษา 4 สถาบัน ที่จะชวนผู้ชมมาร่วม ‘ฟังเสียง’ ของปัญหาสังคมและการเมืองที่เกิดขึ้นในปี 2022 ซึ่งถูกบังคับให้ ‘ต้องเงียบ’ โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการหนังเลือกทาง ที่ได้ทีมงานจากสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย มารับหน้าที่รวบรวมภาพยนตร์สั้นจากฝีมือของนิสิตนักศึกษา และได้รับการสนับสนุนการจัดจำหน่ายภาพยนตร์อิสระโดยสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติและกระทรวงวัฒนธรรม

 

โดยต่อจากนี้ผู้เขียนจะขอกล่าวความรู้สึกหลังจากได้ชมภาพยนตร์สั้นแต่ละเรื่องตามลำดับการฉาย

 

Voices of the New Gen

Voices of the New Gen

 

เสียง (ไม่) เงียบ 2022 เปิดตัวด้วย เรียบ / อาวุธ – After a Long Walk, He Stands Still (ความยาว 30 นาที) ภาพยนตร์สั้นของผู้กำกับหญิง กันตาภัทร พุทธสุวรรณ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ว่าด้วยเรื่องราวของ ธง ทหารเกณฑ์ที่ต้องเผชิญกับระบบอาวุโสและความรุนแรงในค่ายทหาร จนนำไปสู่การตัดสินใจครั้งสำคัญที่เขาต้องเลือกระหว่างมิตรภาพหรือการเอาตัวรอด

 

ข่าวความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับทหารเกณฑ์นับว่าเป็นหนึ่งในปัญหาซ้ำซากที่ยังคงเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งภาพยนตร์เรื่อง เรียบ / อาวุธ เลือกจะทำหน้าที่พาผู้ชมไปสำรวจประเด็นดังกล่าวในแง่มุมของ ‘ความสัมพันธ์’ ระหว่างธงและเพื่อนทหารร่วมค่าย ว่าการถูกอำนาจของครูฝึกกดทับส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขาและเพื่อนอย่างไร รวมถึงสิ่งที่เขาต้องเผชิญในค่ายฝึกทุกวันค่อยๆ เปลี่ยนแปลงความคิดของตัวเขาเองอย่างไร

 

สำคัญที่สุด เรียบ / อาวุธ กำลังฉายภาพให้เราอย่างแจ่มชัดถึง ‘วังวน’ ของการใช้อำนาจกดทับต่อกันไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีสิ้นสุด จากผู้มีอำนาจระดับสูงมาสู่ครูฝึกและตกทอดมาถึงทหารเกณฑ์ ซึ่งดูเหมือนว่าต้นเหตุของวังวนเหล่านี้คือ ‘ความหวาดกลัว’ ตั้งแต่ความกลัวว่าจะถูกเปิดโปงความผิดของผู้มีอำนาจ จึงใช้ความกลัวข่มขู่กลับไปอีกทอดหนึ่ง ไปจนถึงความกลัวการถูกลงโทษ (เสมือนว่าตนเองไม่ใช่มนุษย์คนหนึ่ง) ของทหารเกณฑ์

 

ไม่มากไม่น้อย เรียบ / อาวุธ อาจกำลังทำหน้าที่ส่งเสียงแทนเหล่าทหารเกณฑ์ เพื่อให้เราทุกคนตระหนักถึงและช่วยกันส่งเสียงให้ดังขึ้นกว่าเดิมว่าทหารเกณฑ์ทุกคนกำลังเผชิญกับอะไรอยู่ และเหตุใด ‘วังวน’ แห่งการกดทับด้วยอำนาจเหล่านี้ถึงยังไม่สิ้นสุดไปเสียที 

 

Voices of the New Gen

Voices of the New Gen

 

ภาพยนตร์เรื่องต่อมาคือ คืนพิพากษ์ – The Reproduction of a Catastrophic Reminiscence (ความยาว 15 นาที) ภาพยนตร์สั้นโดย กุลพัทธ์ เอมมาโนชญ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่หยิบนำวิวาทะระหว่าง ‘สันติวีธี’ กับ ‘ความรุนแรง’ มานำเสนอผ่านเรื่องราวการเผชิญหน้ากันระหว่าง นนท์ อดีตนักกิจกรรมที่วางมือ กับ หมี อดีตผู้ร่วมขบวนการที่ปัจจุบันผันตัวมาเป็นแกนนำแถวหน้า ในค่ำคืนที่สถานการณ์การชุมนุมเต็มไปด้วยความดุเดือดและไม่น่าไว้วางใจ

 

แม้ว่าเนื้อหาเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ของ คืนพิพากษ์ จะเป็นเรื่องราวการถกเถียงกันระหว่างนนท์และหมี แต่ผู้กำกับและทีมสร้างก็นำเสนอฉากการถกเถียงดังกล่าวออกมาได้อย่างทรงพลัง ผ่านงานภาพมุมแคบ เสียงบรรยากาศภายนอกที่สร้างความกดดันให้กับทั้งตัวละครและคนดู ไปจนถึงการไต่ระดับความรุนแรงทางอารมณ์ของสองนักแสดง

 

แม้ว่าผู้กำกับและทีมสร้างจะไม่ได้เฉลยให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่าท้ายที่สุดแล้ว จุดยืนของใครคือจุดยืนที่ถูกต้องที่สุด แต่ความจริงข้อหนึ่งที่ คืนพิพากษ์ นำเสนอออกมาได้อย่างแจ่มชัดคือ การที่ภาครัฐเลือกที่จะนิ่งเฉยและไม่ออกมาขานรับคำเรียกร้องของประชาชน มันก็ไม่ต่างอะไรกับการที่ภาครัฐเลือกที่จะมองข้ามปัญหาที่ประชาชนกำลังเผชิญ และความนิ่งเฉยนี้เองที่อาจนำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรงที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น

 

Voices of the New Gen

Voices of the New Gen

 

ต่อเนื่องกันที่ สันดานกรุง – Bangkok Tradition (ความยาว 60 นาที) ภาพยนตร์ย้อนยุคโดยผู้กำกับหญิงข้ามเพศ ฐามุยา ทัศนานุกุลกิจ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จะพาผู้ชมย้อนเวลากลับไปในยุค 90 ที่สื่อสิ่งพิมพ์ยังคงรุ่งเรือง เมื่อ ดารารัตน์ พนักงานในบริษัทหนังสือพิมพ์แห่งหนึ่งรู้ตัวว่ากำลังจะถูกไล่ออก เธอจึงตัดสินใจแอบสืบข่าวเรื่องโรคร้ายแรงที่ระบาดอยู่ในคาเฟ่แห่งหนึ่งต่อจากนักข่าวที่หายตัวไป เพื่อหวังว่าผลงานจะช่วยให้เธอรอดพ้นจากการตกงาน โดยที่ไม่รู้เลยว่าเรื่องนี้จะพาเธอไปเจอกับอำนาจมืด

 

ในบรรดาภาพยนตร์สั้นทั้ง 4 เรื่อง สันดานกรุง คือผลงานที่มีความยาวมากที่สุด แต่กลับอัดแน่นไปด้วยความตลกร้ายและการดำเนินเรื่องที่มีกลิ่นอายสืบสวนหาความจริงที่ชวนให้เราสงสัยและอยากหาคำตอบไปพร้อมกับตัวละครภายในเรื่อง

 

แต่องค์ประกอบหนึ่งที่โดดเด่นและสำคัญไม่แพ้รูปแบบการนำเสนอคือประเด็นหลักของเรื่อง ที่ว่าด้วยเรื่องราวการถูกกดทับในแวดวงสื่อมวลชน เมื่อสื่อที่ควรจะทำหน้าที่เปิดโปงความจริงให้ประชาชนได้รับรู้ กลับเลือกที่จะเกื้อหนุนผู้มีอำนาจเพื่อช่วยปกปิดความผิด พร้อมกันนั้นภาพยนตร์ยังฉายภาพให้เราเห็นถึงการถูกกดทับของผู้หญิงท่ามกลางสังคมชายเป็นใหญ่ออกมาได้อย่างชัดเจนและทรงพลัง

 

ซึ่งความตลกร้ายของเรื่อง (แต่กลับหัวเราะไม่ออก) ก็คือ แม้ว่าภาพยนตร์จะดำเนินเรื่องราวอยู่ในช่วงยุค 90 ก็ตาม แต่หลายประเด็นที่ภาพยนตร์พยายามนำเสนอกลับเป็นประเด็นที่เรายังสามารถพบเห็นได้ตามหน้าข่าวในปัจจุบัน

 

Voices of the New Gen

Voices of the New Gen

 

และปิดท้ายด้วย แดนฝันสลาย – Fatherland (ความยาว 26 นาที) ภาพยนตร์ดราม่าทริลเลอร์โดย ปัญญา ชู จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำและการถูกกดทับโดยชนชั้นปกครองผ่านเรื่องราวของ เฟย ลูกหลานครอบครัวเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่กับ นก แม่ของเขา และอากงที่ป่วยติดเตียงในตึกแถวเก่าๆ ที่กำลังถูกไล่ที่ พ่อของเฟยได้หายตัวไปในเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในปี 2553 นกยังคงเชื่อว่าสักวันสามีของเธอจะกลับมาบ้าน ในขณะที่เฟยพยายามดิ้นรนหาทางออกให้กับตัวเองและครอบครัว ภายใต้บรรยากาศลึกลับของสิ่งที่มองไม่เห็น

 

แม้ว่า แดนฝันสลาย อาจไม่ได้หยิบประเด็นของการถูกบังคับสูญหายมานำเสนออย่างตรงไปตรงมามากนัก แต่ผู้กำกับและทีมสร้างก็เลือกที่จะนำเสนอประเด็นดังกล่าวผ่านแง่มุมของคนในครอบครัว เพื่อพาเราไปสำรวจความรู้สึกของภรรยาอย่างนก ผู้เป็นตัวแทนของคนที่ต้อง ‘เฝ้ารอ’ คนรักกลับบ้านตลอดเวลา แม้จะไม่รู้ว่าสามียังมีชีวิตอยู่หรือไม่ รวมถึงผลกระทบของการสูญเสียเสาหลักของบ้านไปอย่างกะทันหันที่ส่งผลกระทบมาสู่ลูกชายอย่างเฟยที่ต้องทำงานหาเงินอย่างยากลำบาก

 

ซึ่งสิ่งที่น่าเจ็บปวดจริงๆ คือครอบครัวของเฟยไม่ได้สูญเสียพ่อผู้เป็นเสาหลักของบ้านไปด้วยอุบัติเหตุ ป่วยไข้ หรือแก่ชราตามอายุขัย แต่กลับเป็นการถูกบังคับให้สูญหาย ซึ่งทุกคนในบ้านไม่อาจรับรู้ได้เลยว่าผู้เป็นพ่อหายตัวไปไหนและยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า

 

 

ในภาพรวมแล้วแม้ว่าภาพยนตร์สั้นทั้ง 4 เรื่องต่างก็มีประเด็นและกลวิธีนำเสนอที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน แต่หากเราลองถอยออกมามองภาพรวมทั้งหมด เสียง (ไม่) เงียบ 2022 คือผลงานของกลุ่มคนรุ่นใหม่ (ผู้กำกับและทีมสร้าง) ที่เลือกใช้สื่อภาพยนตร์เป็นสื่อกลางในการ ‘ส่งเสียง’ แทนกลุ่มคนที่กำลังถูกกดทับจากอำนาจที่ไม่ชอบธรรมไปสู่ผู้คนวงกว้าง ทั้งเสียงทหารเกณฑ์ที่ถูกอำนาจของผู้บังคับบัญชากดทับ, เสียงของคนรุ่นใหม่ที่ออกมาตั้งคำถามต่ออำนาจรัฐแต่กลับถูกตอบกลับด้วยการนิ่งเฉยจนนำไปสู่ความรุนแรง, เสียงของผู้หญิงและคนในแวดวงสื่อที่ถูกอำนาจมืดครอบงำ และเสียงของครอบครัวที่ถูกพรากคนสำคัญไป เพื่อให้ทุกคนได้รับรู้ว่ายังมีผู้คนอีกมากมายที่กำลังถูกกดทับไม่ต่างไปจากตัวละครภายในเรื่อง และมันถึงเวลาแล้วที่ปัญหาเหล่านี้ควรได้รับการแก้ไขและเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังเสียที

 

เสียง (ไม่) เงียบ 2022 มีกำหนดเข้าฉายวันที่ 25 สิงหาคมนี้ ในโรงภาพยนตร์ 

 

สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของภาพยนตร์ได้ที่นี่

https://www.facebook.com/MovetheMovies?_rdc=2&_rdr 

 

รับชมตัวอย่างได้ที่นี่

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising