×

“แลนด์บริดจ์มาทำลายคนท้องถิ่นอย่างสิ้นเชิง” เสียงจากชาวบ้านที่รัฐยังรับฟังไม่มากพอ

โดย THE STANDARD TEAM
23.01.2024
  • LOADING...

22 มกราคม 2567 คือวันที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลงพื้นที่ที่อุทยานแห่งชาติแหลมสน ตำบลม่วงกลวง อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง นับเป็นการลงพื้นที่เพื่อดูสถานที่จริงซึ่งใช้ในการก่อสร้างโครงการเมกะโปรเจกต์ ‘แลนด์บริดจ์’ เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่มีการโปรโมตโครงการ

 

ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายนปี 2566 นายกรัฐมนตรีเริ่มเดินสายโรดโชว์ทำหน้าที่เซลส์แมนอันดับ 1 ในหลายประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ซาอุดีอาระเบีย และอีกหลายประเทศ โดยเฉพาะล่าสุด สมาพันธรัฐสวิส

 

เศรษฐายืนยันอย่างหนักแน่นว่า “นี่ถือเป็นโอกาสสำคัญ ไม่ใช่เฉพาะชาวระนอง แต่เป็นโอกาสของจังหวัดแถบฝั่งอันดามันทั้งหลาย ควบคู่ไปกับการพัฒนาภาคใต้ทั้งภูมิภาค รัฐบาลมีความเชื่อมั่นว่าจะยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนและคนไทยทั้งประเทศ” ขณะเดียวกันรัฐบาลพร้อมรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนทุกคน

 

THE STANDARD พูดคุยกับ สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และ สมโชค จุงจาตุรันต์ คณะทำงานเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ ถึงการรับฟังความเห็นของภาครัฐ ในการลงพื้นที่จังหวัดระนอง ทำไมถึงต้องคัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์ และค้านเพื่ออะไร 

 

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ติดตามพื้นที่โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเล อ่าวไทย-อันดามัน ที่อุทยานแห่งชาติแหลมสน จังหวัดระนอง
เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2567 

ภาพ: สำนักโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี

 

บอกแต่ด้านดี ไม่ตอบโจทย์ 

 

สมบูรณ์เริ่มเล่าให้ฟังว่า ในช่วงสิงหาคม 2566 มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นและเชิญชาวบ้านที่อยู่ในรัศมีของโครงการมารับฟังว่า แลนด์บริดจ์คืออะไร จะเป็นอย่างไร ชาวบ้านที่โดนเวนคืนที่ดินคือใคร สิ่งที่บอกมีเพียงด้านดี เป็นโครงการของรัฐบาลที่จะสร้างความเจริญให้กับภาคใต้ ชาวบ้านจะต้องเสียสละ 

 

ในฐานะคนที่ติดตามเรื่องนี้มานาน สมบูรณ์มองว่า สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง เพราะมีแต่ด้านดี ไม่บอกถึงข้อเสียของโครงการ อาทิ การขนถ่ายสินค้าไปอีกฝั่งมีความเห็นค้านของนักวิชาการ ผู้ประกอบการเดินเรือก็ออกมาบอกว่าไม่น่าจะตอบโจทย์ 

 

ทั้งในการเชิญมารับฟังความคิดเห็น รัฐจะมีข้อมูลว่าที่ดินเป็นของใคร อยู่ในโครงการแลนด์บริดจ์หรือไม่ แล้วเชิญเจ้าของที่เหล่านั้นมาร่วมรับฟัง 

 

แต่…เจ้าของที่ดินต้องที่มีโฉนดเท่านั้น ส่วนคนที่ไม่มีก็ไม่ถูกเชิญ ทั้งนี้เมื่อมาดูความเป็นจริงจะพบด้วยว่า ในภาคใต้ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ ฉะนั้นที่บอกว่าเป็นการรับฟังผู้ได้รับผลกระทบจึงยังไม่ถูกต้อง 

 

สมบูรณ์กล่าวอีกว่า ชาวบ้านบางคนไปอย่างงงๆ ไปลงชื่อให้ และสุดท้ายรัฐบาลก็เหมาว่ามาลงชื่อหมดแล้ว นี่คือปัญหาที่เราอยากให้นายกรัฐมนตรีรับฟัง ไม่ใช่พิธีกรรมเพื่อรับรองให้เดินหน้าโครงการ โดยไม่สนใจไยดีความทุกข์ร้อนของชาวบ้านว่าจะเสียที่ดินไปเท่าไร

 

สมบูรณ์ยังตั้งคำถามด้วยว่า การที่นายกรัฐมนตรีเดินสายโรดโชว์โครงการนี้ไปในหลายประเทศ เป็นการเคารพความคิดเห็นของประชาชนหรือไม่ ทำไมถึงไม่ฟัง และในรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งผ่านการประชุมมากว่า 10 ครั้ง เชิญหน่วยงานต่างๆ มาชี้แจง และลงพื้นที่จริง กลับไม่พบข้อมูลความทุกข์ร้อนของชาวบ้านเท่าที่ควร ตนจึงไม่แปลกที่ 4 สส. ของพรรคก้าวไกลประกาศลาออกจาก กมธ.วิสามัญแลนด์บริดจ์นี้

 

4 สส. ก้าวไกล ลาออก กมธ.แลนด์บริดจ์ หลัง กมธ. อนุมัติรายงานศึกษา ที่รัฐสภา

เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2567 

ภาพ: พรรคก้าวไกล

 

ศึกษาเป็นแค่องค์ประกอบ ให้รัฐบรรลุเป้าหมาย

 

โครงการแลนด์บริดจ์ตั้งงบประมาณเพื่อศึกษาและจัดรับฟังความคิดเห็นใน 4 โครงการ คือ

 

  1. โครงการท่าเรือน้ำลึก2 ฝั่ง แหลมอ่าวอ่าง อันดามัน จังหวัดระนอง และแหลมริ่ว อ่าวไทย จังหวัดชุมพร โดยมีสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ทำหน้าที่จัดรับฟังความคิดเห็น
  2. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ช่วงชุมพร-ระนอง (MR8) โดยมีกรมทางหลวง ทำหน้าที่จัดรับฟังความคิดเห็น
  3. โครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างกันด้วยระบบราง (รถไฟทางคู่) โดยมีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทำหน้าที่จัดรับฟังความคิดเห็น
  4. สร้างการขนส่งแบบ Pipeline หรือการขนส่งโดยใช้ระบบท่อ โดยมีการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นผู้รับผิดชอบ

 

สมบูรณ์กล่าวว่า ชาวบ้านกำลังกังขางานวิชาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพราะในขณะที่การศึกษาโครงการเหล่านี้ยังไม่แล้วเสร็จ กมธ.วิสามัญแลนด์บริดจ์ ได้สรุปรายงานไปแล้ว ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า หรือจริงๆ รัฐบาลตั้งโครงการศึกษาเพื่อให้ครบถ้วนตามกฎหมายเท่านั้น  

 

“โครงการใหญ่ คนทั้งจังหวัดระนองและชุมพรควรมีสิทธิรับรู้เรื่องพวกนี้ คนในภาคใต้ทั้งภาคควรมีสิทธิรับรู้ เพราะว่าเป็นโครงการอภิมหาโปรเจกต์ สร้างผลกระทบต่อคนจำนวนมหาศาล” สมบูรณ์กล่าว

 

สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) นำชาวบ้านคัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์ ที่อุทยานแห่งชาติแหลมสน จังหวัดระนอง

เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2567 

ภาพ: THE STANDARD

 

เวนคืนที่ดินภาคใต้ เคยสูงถึงตารางวาละ 1.5 ล้านบาท

 

ในปี 2561 กระทรวงคมนาคมจะเร่งผลักดันโครงการลงทุนก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายหาดใหญ่-ชายแดนไทย-มาเลเซีย (สะเดา) ระยะทาง 62.59 กิโลเมตร ในเวลานั้น ตลอดแนวเส้นทางจะต้องเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างถนนใหม่

 

เบื้องต้นที่ปรึกษาประเมินว่าจะมีค่าเวนคืน 6,974 ล้านบาท แต่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาที่ดินปัจจุบันปรับตัวสูงขึ้นมาก ล่าสุดที่ดินบริเวณด่านสะเดาแห่งที่ 2 อยู่ที่ตารางวาละ 1.5 ล้านบาท อีกทั้งยังต้องจ่ายค่าทดแทนให้กับเจ้าของสวนยางที่ถูกเวนคืนด้วย

 

สมบูรณ์ระบุว่า เหตุการณ์นี้ตอนนั้นชาวบ้านอำเภอสะเดาไม่ยอม ออกมาประท้วงจนรัฐบาลยอมถอยต้องเวนคืนที่ดินในราคาหลักล้าน แต่การประเมินที่ดินสำหรับโครงการแลนด์บริดจ์ในพื้นที่แห่งนี้กลับได้เพียง 3 แสนบาทเท่านั้น ที่กล่าวมาไม่ได้เพื่อต่อรองราคา แต่พวกเราคือชาวสวนที่ไม่พร้อมไปอยู่ในเมือง ไม่พร้อมไปอยู่กรุงเทพฯ นายกรัฐมนตรีเศรษฐารู้หรือไม่ว่ามีคนได้รับผลกระทบจำนวนเท่าไร ไม่ใช่บอกแค่ว่าประเทศจะดีขึ้น และยอมให้ต่างชาติได้สัมปทาน 50+49 ปี 

 

สมบูรณ์ยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า “ผมไม่เชื่อว่าแลนด์บริดจ์จะเกิดขึ้นได้ง่ายในประเทศไทยด้วยเหตุผล ข้อมูลทางวิชาการ แต่เชื่อว่าหากคนในพื้นที่รับรู้เกี่ยวกับโครงการมากขึ้นเสียงก็จะดังขึ้น”

 

ขณะที่สมโชค คณะทำงานเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ กล่าวถึงการเวนคืนที่ดินโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในส่วนของพื้นที่จังหวัดชุมพรว่า โครงการที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่คือ รถไฟรางคู่ ซึ่งส่วนตัว บ้านของตนห่างจากโครงการเพียง 800 เมตร กลับไม่ได้รับหนังสือให้เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นจากโครงการที่ต้องครอบคลุมการรับฟังในระยะ 5 กิโลเมตร 

 

แต่สมโชคก็ยังทราบกำหนดการรับฟัง และพยายามเข้าร่วมสังเกตการณ์ทุกครั้ง ทำให้รู้ว่ามีบางคนมีชื่อแต่ไม่ทราบว่าได้รับหนังสือเข้าร่วม บางคนอยู่ในพื้นที่โครงการแต่ไม่ได้รับหนังสือ 

 

“ผมขอเรียกมันว่า กิกะโปรเจกต์ เพราะงบประมาณ​ 1 ใน 3 ของประเทศถูกนำมาใช้ในโครงการนี้ ประชาชนเกิดข้อสงสัยว่าทำโครงการขนาดนี้ทำไมไม่เปิดเผยภาพรวม ผมต้องมาถอดบทเรียนมาจากโครงการแลนด์บริดจ์กระบี่-ขนอมแทน ทำให้ทราบว่ามีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 3 ที่ที่อยู่ในโครงการ แต่ที่ผ่านมา สนข. พูดเพียงแต่ว่านิคมอุตสาหกรรมหลังท่า ซึ่งมีการเขียนว่า Pipeline และมีคนถาม สนข. เรื่องปิโตรเคมีและโรงกลั่น สนข. ตอบว่าไม่มี” สมโชคกล่าว 

 

ขณะที่การชี้แจงงบประมาณปี 2567 ของนายกรัฐมนตรีช่วงหนึ่ง มีการพูดถึงโครงการแลนด์บริดจ์ว่า ถ้าเกิดขึ้นจริงจะมีประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีความมั่นคงทางพลังงานสูงมาก จะมาสร้างโรงกลั่นน้ำมันและโรงงานที่เป็นผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องจากน้ำมันนั้น สมโชคบอกว่า สิ่งนี้ทำให้อนุมานได้ว่าเป็นปิโตรเคมี จึงเกิดข้อสงสัย นายกรัฐมนตรีกับ สนข. ได้หารือกันหรือไม่ หรือสร้างข้อมูลเท็จให้ประชาชนสับสน

 

โครงการแลนด์บริดจ์

ภาพ: กระทรวงคมนาคม

 

คนพะโต๊ะมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ

 

สมโชคให้ข้อมูลในฐานะคนพะโต๊ะด้วยว่า เป็นดินแดนที่ทิศเหนือและทิศใต้มีภูเขาล้อมรอบ ทิศตะวันออกติดอ่าวไทย ทิศตะวันตกติดทะเลอันดามัน หากนิคมอุตสาหกรรมเกิดในจังหวัดระนองและอำเภอหลังสวนจะก่อให้เกิดมลพิษ ทุกสิ่งจะมารวมกันที่อำเภอพะโต๊ะ เพราะมีภูมิประเทศเป็นแอ่ง

 

ขณะที่ประชากรในอำเภอพะโต๊ะ 97.36% มีอาชีพทำสวน และ 2.64% มีอาชีพเกษตรกรรม มีรายได้ที่มั่นคงตลอดปี เนื่องจาก

 

รายได้ประจำวัน: จากการกรีดยาง

รายได้ประจำสัปดาห์: จากกล้วยเล็บมือนาง กล้วยน้ำว้า กล้วยหอมทอง 

รายได้ประจำ 15 วัน: จากปาล์มน้ำมัน

รายได้ประจำปี: จากทุเรียน มังคุด กาแฟพันธุ์โรบัสต้า ลองกอง 

 

ทุเรียน ผลไม้หนึ่งในผลผลิตของชาวพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร

ภาพ: AFP Photo

 

“แลนด์บริดจ์มาทำลายคนท้องถิ่นอย่างสิ้นเชิง”

 

“โครงการแลนด์บริดจ์ไม่ได้มาสร้างอาชีพ แต่มาทำลายอาชีพคนท้องถิ่นอย่างสิ้นเชิง จากนายจ้างไปสู่ลูกจ้าง มาเป็นผม ท่านรับได้ไหมครับ รายได้ในจังหวัดชุมพร เฉพาะอำเภอพะโต๊ะประมาณ 4 พันล้านบาท เป็นอันดับ 1 ของ GDP มาจากเกษตร 50% การท่องเที่ยว 40% อุตสาหกรรมแค่ 10% รายได้ต่อหัวต่อคนเฉลี่ย 26,000 บาท เราหลุดกับดักรายได้ปานกลางมานานแล้ว และเงินล้านไม่ได้เกินฝันสำหรับคนพะโต๊ะ” สมโชคกล่าว 

 

สมโชคยังบอกด้วยว่า คนพะโต๊ะมีรายได้เป็นกอบเป็นกำที่เราจับต้องได้ ไม่เหมือนอุตสาหกรรมที่รัฐบาลภูมิใจ ขอให้ลองมองย้อนกลับไปว่า หากรัฐเวนคืนที่ดินจำนวนเงินที่ได้ก็ไม่สามารถทดแทนได้กับความอุดมสมบูรณ์ และหากไม่ขายสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตไปได้จนกว่าตนจะตาย และที่สำคัญเป็นมรดกให้ลูกหลาน 

 

ทุเรียนที่ทำรายได้หลักแสน แต่รัฐบาลบอกว่าจะเวนคืนให้ต้นละ 18,470 บาท คิดว่าชาวบ้านจะอยากได้หรือไม่ หากโครงการนี้เกิดขึ้นจะตัดผ่านแม่น้ำทำให้ทางน้ำเปลี่ยน และมีการขุดเจาะอุโมงค์ทำให้แหล่งน้ำใต้ดินเปลี่ยน การเกษตรในพื้นที่จะได้รับผลกระทบ สัตว์ป่าและพื้นที่ป่าได้รับผลกระทบ ซึ่ง สนข. ไม่เคยพูดถึงในส่วนนี้ 

 

“พื้นที่พะโต๊ะบ้านผม มีความบอบช้ำมาจากสัมปทานเหมืองแร่ดีบุกและสัมปทานป่าไม้ เราบอบช้ำมาเยอะมาก รัฐบาลมีแต่เอาทรัพยากรของเราไปให้กลุ่มทุน แต่ไม่เคยมาดูแลเรา” สมโชคกล่าว

 

กลุ่มคัดค้านขึ้นป้ายข้อความ NO LANDBRIDGE ต้อนรับนายกรัฐมนตรี ที่อุทยานแห่งชาติแหลมสน จังหวัดระนอง

เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2567

ภาพ: THE STANDARD

 

แลนด์บริดจ์ สู่กฎหมาย SEC

 

สมโชคระบุว่า การที่ สนข. ให้ข้อมูลว่า หากโครงการแลนด์บริดจ์เกิดขึ้น คนในพื้นที่ชุมพร-ระนองจะเกิดการจ้างงานกว่า 2.8 แสนคน รัฐและ สนข. กำหนดได้อย่างไรว่าบริษัทใดจะรับคนไทย ในเมื่อร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ที่เสนอโดย อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สิทธิผู้ประกอบการ จึงต้องถามว่าตำแหน่งงานของประชาชนจะอยู่ในส่วนไหน 

 

รัฐมุ่งเรื่อง GDP มากเกินไป หากเปรียบเทียบกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) GDP ที่มองว่าสูงในจังหวัดระยอง ลึกลงไป กลุ่มที่จะได้คือนายทุน ขณะที่ชาวบ้านได้รับมะเร็งทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้ จนเป็นอันดับ 1 ของประเทศ คณะกรรมการ EEC สนข. หรือรัฐบาลไม่เคยช่วยเหลือประชาชน จนต้องไปฟ้องศาล เพื่อประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นพื้นที่ควบคุมมลพิษ แต่ก็ควบคุมไม่ได้ เพราะมีกฎหมายพิเศษควบคุมในพื้นที่ EEC 

 

“มันเป็น พ.ร.บ. พิเศษสำหรับกลุ่มทุน แต่เป็นกฎหมายที่เข่นฆ่าพี่น้องประชาชนคนท้องถิ่นอย่างสิ้นเชิง และอีกไม่นานจะเอา พ.ร.บ. SEC มาใช้กับพื้นที่ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และที่แล้วร้ายกว่านั้นคือในกฎหมายนี้ระบุว่า หากมีพื้นที่ไหนขยายเป็นนิคมอุตสาหกรรมได้ แค่ประกาศให้ ครม. รับทราบ เพราะกฎหมาย SEC นี้ยกเลิกกฎหมายเก่า 19 ฉบับ ครอบคลุม 16 กระทรวง ผมจึงต้องค้าน SEC และแลนด์บริดจ์” สมโชคกล่าว

 

ด้านสมบูรณ์กล่าวด้วยว่า ภายใต้โครงการแลนด์บริดจ์ พรรคภูมิใจไทยกำลังเสนอกฎหมาย SEC และมีร่างกฎหมายของรัฐบาลอีกฉบับ ซึ่งจะอำนวยให้โครงการแลนด์บริดจ์เกิดได้ง่ายขึ้น ที่ผ่านมาเราปล่อยให้มีกฎหมายนี้ได้อย่างไร หากกฎหมายนี้เคลื่อนไปยังภาคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเหนือ กลาง ใต้ อีสาน จะเป็นการยอมรับอำนาจพิเศษเพื่อเอื้อประโยชน์ให้นักลงทุนต่างชาติมากเกินไปหรือไม่

 

นายกรัฐมนตรีรับหนังสือจากกลุ่มคัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์ ที่อุทยานแห่งชาติแหลมสน จังหวัดระนอง

เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2567

ภาพ: THE STANDARD

 

รัฐบาลฟังทุกความเห็น

 

วานนี้ (22 มกราคม) นายกรัฐมนตรีกล่าวระหว่างการลงพื้นที่บริเวณอุทยานแห่งชาติแหลมสน ตำบลม่วงกลวง อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง ว่า “ไม่ต้องห่วงครับ ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเป็นเรื่องที่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญ แลนด์บริดจ์เป็นโอกาส แต่ว่าการมีโอกาสก็ต้องให้โอกาสกับคนในพื้นที่เช่นเดียวกันในการแสดงความคิดเห็น เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนทุกคน” 

 

ขณะที่ตัวแทนคนไทยพลัดถิ่น จังหวัดระนองกล่าวระหว่างยื่นหนังสือคัดค้าน ไม่เห็นด้วยกับโครงการว่า  “ที่มาวันนี้ อยากจะจับมือกับท่านนายกฯ เพราะเห็นว่าท่านนายกฯ เป็นคนดี ทะเลสวยไหมคะ ที่แลนด์บริดจ์จะมาลงทำท่าน้ำลึก มันตรงกับบ้านมะเป๊ะๆ เลย แล้วที่ทำกินของมะตรงนั้น ท่านขอชะลอไปก่อนได้ไหมคะ” 

 

แลนด์บริดจ์ กระทบพื้นที่ใดบ้าง

 

เพราะสิ่งที่ตัวแทนคนไทยพลัดถิ่นพูด ไม่ต่างกับที่สมโชคเปิดเผยให้ THE STANDARD ฟังว่า พื้นที่เหล่านี้คือที่ทำกิน โอโซน และชีวิตของคนระนอง-ชุมพร 

 

เพราะคนใต้ส่วนใหญ่มีอาชีพไม่กี่อย่างคือ การทำประมง การท่องเที่ยว และการปลูกพืชผลทางการเกษตร อาชีพเหล่านี้จะยังคงอยู่ หากรัฐบาลแค่เข้ามาเปลี่ยนศักยภาพ งบประมาณแลนด์บริดจ์สามารถพัฒนาศักยภาพของพี่น้องชุมพร-ระนองให้ยั่งยืนได้โดยไม่ต้องย้ายไปไหน 

 

แต่หากทำโครงการแลนด์บริดจ์ รัฐบาลทราบหรือไม่ว่าจะมีสิ่งใดที่จะหายไปบ้าง 

 

  • ประมงพื้นบ้าน บริเวณแหลมอ่าวอ่างที่หล่อเลี้ยงคนชุมชน 6 อำเภอ 
  • แหล่งต้นน้ำอำเภอพะโต๊ะ กระทบต่อพื้นที่เกษตร แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ และสัตว์ป่า
  • ที่นาของชาวบ้านในพื้นที่ที่โครงการพาดผ่าน
  • พื้นที่อุทยานและป่าสงวนแห่งชาติ ได้แก่
  1. ป่าพรุใหญ่ ป่าเลนคลองริ่ว อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร
  2. ป่าพะโต๊ะ ป่าปังหวาน และป่าปากทรง อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร
  3. ป่าเลนคลองม่วงกลวง บ้านบางเบน-บ้านอ่าวเคย ตำบลม่วงกลวง จังหวัดระนอง
  4. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าควนแม่ยายหม่อน บ้านห้วยปลิง และบ้านช้างแหก ตำบลราชกรูด จังหวัดระนอง
  5. ป่าคลองหินกอง และป่าคลองม่วงกลวง บ้านคลองของ ตำบลราชกรูด จังหวัดระนอง
  6. บ้านอ่าวเคย บ้านบางเบน ตำบลม่วงกลวง จังหวัดระนอง
  7. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง และอุทยานแห่งชาติแหลมสน จังหวัดระนอง
  8. แรมซาร์ไซต์ อุทยานแห่งชาติแหลมสน-ปากน้ำกระบุรี-ปากคลองกะเปอร์ ตำบลราชกรูด ตำบลม่วงกลวง จังหวัดระนอง
  9. ป่าชายเลน พื้นที่เตรียมประกาศเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ จังหวัดระนอง 
  • พื้นที่ทะเลและชายฝั่ง 
  1. ถมทะเล ชุมพร-ระนอง รวม 12,783 ไร่
  2. ขุดลอกร่องน้ำ รวมกว่า 270 ล้านลูกบาศก์เมตร
  3. แนวปะการังเกาะพิทักษ์ เกาะคราม จังหวัดชุมพร และเกาะพยาม จังหวัดระนอง
  4. แหล่งหญ้าทะเล เกาะพยาม จังหวัดระนอง
  5. ป่าชายเลนตามมติ ครม. ปี 2543 ตำบลบางน้ำจืด จังหวัดชุมพร และตำบลราชกรูด, ตำบลม่วงกลวง จังหวัดระนอง

 

  • แหล่งต้นน้ำพื้นที่ชุ่มน้ำ 1A ในอำเภอหลังสวน อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร
  • พื้นที่ปลูกทุเรียน 25,153.26 ไร่
  • พื้นที่ปลูกมังคุด 8,022.07 ไร่
  • พื้นที่ปลูกยางพารา 37,315.32 ไร่
  • พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน 49,085.41 ไร่
  • พื้นที่เกษตรรวม 119,576.06 ไร่

 

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมกิจกรรม Thailand Landbridge: Connecting ASEAN with the World ที่สมาพันธรัฐสวิส
เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 

ภาพ: สำนักโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี

 

คัดค้านด้วย 4 เหตุผล

 

จากที่กล่าวมา สมโชคระบุว่า ขอคัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์ด้วย 4 เหตุผล คือ

 

  • ไม่คุ้มค่าการลงทุน: ไม่ตอบโจทย์นักเดินเรือ ไม่ตอบโจทย์ผู้ขนส่ง
  • ไม่เหมาะสม: กระทบต่อระบบนิเวศ ธรรมชาติ และพื้นที่ทำมาหากินของชาวบ้าน
  • ไม่โปร่งใส ขาดธรรมาภิบาล: ประชาชนไม่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เลือกที่จะเอาใครก็ได้มาแสดงความคิดเห็น
  • โครงการแลนด์บริดจ์อยู่ภายใต้กฎหมาย SEC: ซึ่งมีเนื้อหาสอดคล้องกับ EEC โดยมีนักการเมืองบางกลุ่มพยายามผลักดันเรื่องนี้เป็นอย่างมาก และมองว่ากระทบต่อคนในพื้นที่อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง 

 

“เราไม่คัดค้าน เราสนับสนุน ถ้าคุณพัฒนาแล้วเจริญ ทำให้คนในพื้นที่มีฐานะดีขึ้น ร่ำรวยขึ้น มีความมั่นคงในอาชีพ เลี้ยงครอบครัวได้อย่างสุขสบาย เรายินดี ทุกวันนี้กลุ่มพะโต๊ะเปลี่ยนคอนเซปต์จะเน้นเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด เพราะนายกฯ ไปโรดโชว์ใช้ภาษาอังกฤษ เมื่อรัฐบาลใช้ภาษาอังกฤษเช่นไร เราก็ใช้ภาษาอังกฤษเช่นเดียวกัน ว่าโครงการนี้มันขาดธรรมาภิบาล ไม่ถูกต้องตามกระบวนการ” สมโชคกล่าว

 

แกนนำเครือข่ายพะโต๊ะกล่าวด้วยว่า ตนขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีศึกษาผลกระทบในเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) และให้นายกรัฐมนตรีหยุดโรดโชว์ เพราะผลการศึกษายังไม่แล้วเสร็จ แต่นายกรัฐมนตรีกลับปักธงต้องการจะสร้างโครงการนี้ ทำให้ตนมองว่ากระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA และ EHIA) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตขาดความชอบธรรมว่านายกรัฐมนตรีต้องการโครงการนี้ 

 

ทั้งนี้ขอให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณารับใช้พี่น้องประชาชน ไม่ใช่กลุ่มการเมือง สผ. จะเป็นตรายางให้กับกลุ่มใดขอให้ไปพิจารณาให้ดีว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เม็ดเงินเท่าไรก็ไม่สามารถฟื้นฟูเยียวยาระบบนิเวศได้ มีแต่เวลาเท่านั้น 

 

สมโชคยังมองด้วยว่า ภายใต้ข้อความว่าสัมปทาน รัฐมีหน้าที่ขับไล่ประชาชนด้วยการจ่ายค่าเวนคืน เป็นการขับไล่ประชาชนไม่ต่างจากดินแดนฉนวนกาซา ประชาชนจะไปอยู่ที่ไหน รัฐบาลต้องคิดให้ดี อพยพคนหลายหมื่นหลานแสนไร่ ประชาชนจะไปอยู่ที่ไหน นอกจากนี้ตนยังมองเห็นประโยชน์ของต่างชาติที่จะได้สิทธิครอบครองสิทธิเข้าถึงทรัพยากรในพื้นที่ที่เราหวงแหน 

 

สุดท้ายขอถามกลับไปยังรัฐบาลว่า ผลประโยชน์ GDP ตกอยู่ที่ใคร อยู่ที่คนไทยหรือกลุ่มทุน 

 

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ติดตามพื้นที่โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน ที่อุทยานแห่งชาติแหลมสน จังหวัดระนอง
เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2567 

ภาพ: สำนักโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี

 

เตรียมนอนค้างทำเนียบ-ยื่นหนังสือถึงสถานทูตทั่วโลกค้านแลนด์บริดจ์

 

แกนนำเครือข่ายพะโต๊ะเปิดเผยด้วยว่า การพบปะกับนายกรัฐมนตรีจะเกิดขึ้นหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่เสร็จสิ้น โดยเวลาประมาณ 11.30 น. วันนี้ (23 มกราคม) ทางเครือข่ายมีจุดประสงค์ในการพูดคุย 3 ประเด็น ดังนี้

 

  1. ปกป้องนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ไม่ให้โดน หนู (อนุทิน) หลอกจากความจริงบางประการ เพราะตนมองว่าบางโครงการที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานของ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในรัฐบาลที่แล้ว และ สนข. ก็อยู่ภายใต้การดูแลของศักดิ์สยาม มีการเร่งรัดการศึกษามาตลอด
  2. อยากให้นายกรัฐมนตรีเจอกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ 
  3. ไม่ต้องการเวนคืนที่ดินเพื่อทำโครงการแลนด์บริดจ์ แต่ต้องการให้มีการพัฒนาศักยภาพในพื้นที่เท่านั้น
  4. ถ้านายกรัฐมนตรียืนยันที่จะทำโครงการแลนด์บริดจ์ ตนยินดีที่จะปักหลักค้างคืนหน้าทำเนียบรัฐบาล และยินดีส่งหนังสือถึงสถานทูตทุกที่ทั่วโลกให้เห็นว่าโครงการนี้ขาดธรรมาภิบาล รัฐบาลมีหน้าที่โรดโชว์ แต่ตนมีหน้าที่ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า กระทบ ทอดทิ้ง และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising