×

ฟังเสียง ‘เกษตรกร’ คนลุ่มเจ้าพระยา ‘ถ้าน้ำไม่มี พื้นดินก็ไร้คุณค่า’ [PR NEWS]

โดย THE STANDARD TEAM
21.03.2023
  • LOADING...

จนถึงตอนนี้ข้อกังขาของโครงการผันน้ำยวม หรือชื่อที่เป็นทางการว่า ‘โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล’ บนพื้นที่แนวเขตป่ารอยต่อ 3 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดตาก และจังหวัดเชียงใหม่ ถึงความ ‘คุ้มได้’ หรือ ‘ไม่คุ้มเสีย’ เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าจะมีผู้ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน 

 

ผลกระทบด่านแรกคือคนต้นน้ำ จำนวนคร่าวๆ ของชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบกว่า 46 หมู่บ้านในเขตป่า 3 จังหวัดคือ แม่ฮ่องสอน ตาก และเชียงใหม่ ยังไม่นับรวมพื้นที่อื่นๆ ในจังหวัดใกล้เคียง จากการก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำยวมความสูง 69 เมตร ในอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน พื้นที่อ่างเก็บน้ำ 2,075 ไร่ สถานีสูบน้ำบ้านสบเงาและอาคารประกอบ อุโมงค์คอนกรีต ความยาว 61 กิโลเมตร เจาะผ่านผืนป่าต้นน้ำรอยต่อ 3 จังหวัด จุดกองดินที่ขุดขึ้นจากอุโมงค์ 6 จุด และพื้นที่ปากอุโมงค์บริเวณบ้านแม่งูด ตำบลนาคอเรือ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่

 

ความสูญเสียที่เกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้คือ พื้นที่ป่า 3,641.78 ไร่ แบ่งออกเป็นพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ (Zone C) 2,735.06 ไร่ ป่าเพื่อการเศรษฐกิจ (Zone E) 899.65 ไร่ ป่ากันออกจากพื้นที่ของรัฐที่อยู่ในเขตป่าแต่ราษฎรใช้ที่ดินทำกินได้ (Zone N) 4.28 ไร่ และป่าที่เหมาะสมต่อการเกษตรกรรม (Zone A) 2.79 ไร่ ทั้งหมดนี้คือตัวเลขที่เผยในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ (Environmental Impact Assessment: EIA) ปี 2564  

 

นี่ยังไม่นับรวมผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบนิเวศของสัตว์น้ำ สัตว์ป่า เมื่อเทียบกับงบประมาณ ค่าใช้จ่ายโครงการ งานดำเนินงาน บำรุงรักษา และค่าลงทุนจะสูงถึง 1.7 แสนล้านบาท อาจยังสรุปไม่ได้ว่าสิ่งที่ได้จะคุ้มเสียหรือเปล่า  

 

 

แต่หากย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นของแนวคิดโครงการผันน้ำยวม มีวัตถุประสงค์ที่จะผันน้ำจากแม่น้ำยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ไปเติมเข้าเขื่อนภูมิพลให้คนภาคกลางมีน้ำใช้ เหตุผลเพราะจังหวัดตามแนวลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนใหญ่แล้วเป็นพื้นที่ทางการเกษตร ซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนน้ำมาโดยตลอด ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลมีเพียง 40% ซึ่งเก็บได้ 13,500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ยังขาดอีก 8,000 กว่าล้าน ลบ.ม.

 

แม้ว่าปัญหาขาดแคลนน้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจะเกิดจากเขื่อนหลัก ไม่ว่าจะเป็น เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ รวมถึงเขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ แต่จากการศึกษาโดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน พบว่า แนวส่งน้ำที่มีความเหมาะสมในการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล คือแนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล

 

ข้อมูลจากเอกสารกรมชลประทานระบุว่า โครงการนี้จะเติมน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตรในฤดูแล้ง จำนวนกว่า 1.6 ล้านไร่ เพิ่มพลังงานการผลิตไฟฟ้าให้เขื่อนภูมิพล เฉลี่ย 417 ล้านหน่วยต่อปี นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มการผลิตน้ำประปา การประมงในเขื่อนและการท่องเที่ยว 

 

THE STANDARD ลงพื้นที่จังหวัดชัยนาท สำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรและกลุ่มชาวนา เพื่อฟังเสียงสะท้อนจากคนในพื้นที่ถึงผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำและสิ่งที่พวกเขา ‘หวัง’ ว่าจะได้รับประโยชน์หากโครงการผันน้ำยวมแล้วเสร็จ  

 

 

ประทีป พรหมแจ้ง ประธานสภาสมาชิกเทศบาลตำบลห้วยกรดพัฒนา จังหวัดชัยนาท เล่าว่า พื้นที่ตรงนี้ชาวบ้านทำนาเป็นหลัก ฤดูนาปีไม่ค่อยมีปัญหา แต่นาปรังเมื่อไรน้ำแล้งทันที 

 

“พื้นที่ของผมเป็นพื้นที่ขั้นบันได เวลาน้ำจากกรมชลประทานปล่อยมา เราเป็นพื้นที่ปลายทางไม่ค่อยได้รับน้ำเท่าไร ส่วนมากต้องใช้น้ำเดรน ให้มันเอ่อแล้วก็มาวิดใส่นา แก้ปัญหากันแบบนี้ตลอด แต่ถ้าช่วงไหนเขื่อนภูมิพลน้ำไม่พอ อย่างปีที่แล้วต้องขอให้กรมชลประทานช่วยเอาเครื่องวิดน้ำ 3 เครื่องไปวิดน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาใส่คลองระยะทาง 18 กิโลเมตร เพื่อให้ชาวนาพอจะมีน้ำใช้ช่วงนาปรัง”

 

พจน์ คุ้มศรี สมาชิกเทศบาลตำบลห้วยกรดพัฒนา จังหวัดชัยนาท เล่าเสริมว่า “แต่ก่อนชาวนาถ้าไม่มีน้ำต้องต่อบ่อบาดาล ราคาอยู่ที่ 10,000-30,000 บาท บางทีขุดบ่อน้ำก็ไม่มี พอดีว่าพื้นที่ของเรามันเหมาะจะทำเป็นที่เก็บน้ำ ตอนนี้ก็ได้หน่วยงานของชลประทานมาช่วยดูแล สามารถผันน้ำได้โดยที่ชาวบ้านไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย ก็เข้าใจนะที่เขื่อนภูมิพลปล่อยน้ำมาไม่ได้เพราะน้ำต้นทุนน้อย พวกเราก็ต้องแก้ปัญหากันเอาเอง” 

 

ดำเนิน รุ่งศรี เกษตรกร อดีตสมาชิกเทศบาลตำบลห้วยกรดพัฒนา จังหวัดชัยนาท บอกว่า “ทุกปีพอหมดฤดูฝนจะเข้าฤดูหนาว น้ำในคลองจะแห้ง เคยแห้งนานเกือบครึ่งปี ช่วงหลังๆ ยิ่งแย่ นึกจะแล้งช่วงไหนก็แล้ง พออากาศแปรปรวน นากำลังออกรวงเจอฝนมาก็ไปหมดเลย เอาแน่เอานอนไม่ได้” 

 

 

จักรรินทร์ คุ้มชะนะ เจ้าของสวนส้มโอลุงผ่อนจักรรินทร์ จังหวัดชัยนาท เล่าว่า ครอบครัวของเขาทำสวนส้มโอมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ ทำสวนทำไร่สมัยก่อนไม่มีปัญหาเลยเพราะน้ำอุดมสมบูรณ์ แต่ช่วงหลังๆ น้ำไม่สมบูรณ์ ดินไม่ดี และเริ่มมีโรคแมลงเข้ามาทำลายผลผลิต ทำให้แต่ละปีผลผลิตน้อยลง 

 

“ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำมาหลายปีแล้ว สมัยก่อนคลองชลประทานน้ำไม่เคยขาด เริ่มท้อเหมือนกัน ปุ๋ยก็แพง ยาก็แพง ราคาส้มโอก็ตก และถ้าน้ำไม่พอ ส้มโอก็ไม่ติด ผลก็ร่วงเสียหาย ช่วงไหนน้ำแล้งก็ต้องไปสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ แต่มันก็ได้ไม่เท่าไร แค่รดประทังไม่ให้มันตาย ปีไหนแล้งมากๆ เกษตรกรบางคนที่เคยทำไร่ ทำสวน ผลผลิตไม่ดี เขาก็ทำต่อไม่ได้ ก็ต้องเลิกทำ เมื่อก่อนพอหมดหน้านาก็ยังทำสวน ทำไร่ หารายได้เสริม ตอนนี้จะทำอะไรก็ติดขัด” 

 

 

จากการพูดคุยยังพบว่า ทุกวันนี้เกษตรกรจังหวัดชัยนาทที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในการทำนา ทำเกษตร ต้องสูบน้ำบาดาลจากบ่อบาดาล บางรายต้องใช้เวลา 2 วัน กว่าจะได้ปริมาณน้ำที่ต้องการ ตามมาด้วยค่าไฟ ค่าน้ำมัน แม้จะมีหน่วยงานอย่างกรมชลประทานเข้ามาช่วยแก้ปัญหา สูบน้ำจากคลองมาไว้ให้เกษตรกรใช้น้ำต่อ แต่ช่วงแล้งจัด ไม่มีน้ำในคลองก็ชาวบ้านก็ต้องสูบน้ำบาดาลมาใช้แก้ปัญหา 

 

เมื่อถามว่า หากปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลเพิ่มขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ปริมาณน้ำที่มาถึงจังหวัดชัยนาทก็จะเพิ่มมากขึ้น จักรรินทร์บอกว่า “ถ้าน้ำในเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น ชาวนา ชาวไร่ คนชัยนาทจะได้ประโยชน์มากๆ พืชสวนนาไร่ก็สมบูรณ์ ทุกคนดึงน้ำมาใช้ได้เต็มที่”



“ถามชาวไร่ ชาวนา คนชัยนาท ก็ต้องเป็นผลดีแน่นอน ยิ่งน้ำมากการเพาะปลูกก็ให้ผลผลิตดีขึ้น ตอนนี้บางพื้นที่แค่ระยะทางห่างกันครึ่งกิโลเมตร น้ำไปไม่ถึง ถ้าน้ำมากขึ้นก็สามารถจัดสรรน้ำให้ทุกคนได้อย่างเท่าเทียม ทุกวันนี้เราก็ช่วยกันส่งน้ำให้ทั่วถึง” พจน์กล่าวเสริม 

 

ประทีปบอกว่า “อยากให้คิดไปถึงลูกหลาน ผมว่าอีก 9 ปี ถ้าโครงการนี้สำเร็จ ลูกหลานเกษตรกรก็ไม่ต้องประสบปัญหาแล้งน้ำเหมือนรุ่นเรา ปีไหนน้ำแล้ง ข้าวไม่ดี สภาพความเป็นอยู่ก็ไม่ดี” 

 

ดำเนินก็บอกว่าตัวเขาเห็นด้วยกับโครงการผันน้ำยวม และคิดว่าคนชัยนาทก็ได้ประโยชน์เยอะ “ถ้าน้ำไม่แห้งคลอง ตามห้วย ตามหนองที่ยังเหลือน้ำ พ่อแม่ปลายังอยู่ วางไข่ได้ ก็จะขยายพันธุ์ไปได้อีก ก็ทำให้ชาวบ้านหากินคล่องขึ้น ช่วงทำนาก็ไม่ขาดฤดู ถ้าสร้างเขื่อนเสร็จ คิดว่าน้ำน่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่า ปีไหนฝนเหนือเยอะน้ำก็มาก”  

 

“เสียงคัดค้านมันเลี่ยงไม่ได้ เพราะมีทั้งคนที่ได้ประโยชน์และเสียผลประโยชน์ แต่ถ้าโครงการนี้ทำได้จริงก็น่าจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรในจังหวัดภาคกลางตอนล่าง” จักรรินทร์กล่าว 

 

“เราก็เห็นใจพี่น้องที่ได้รับผลกระทบเหมือนกัน แต่คิดว่ารัฐบาลก็ควรจะมีการเยียวยาหรือชดเชยที่ชัดเจนให้กับเขาด้วย บางคนที่เขาคัดค้านเพราะเขาต้องย้ายถิ่น เขาเสียที่ทำกินก็ต้องชดเชยให้เขาส่วนนี้ แต่ถ้าพูดกันถึงผลประโยชน์ที่เกษตรกรภาคกลางจะได้รับ ผมเป็นชาวนาในพื้นที่ก็อยากให้มันเกิดขึ้น” พจน์กล่าว 

 

อย่างไรก็ดี คงไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ‘ไม่คุ้มเสีย’ หรือ ‘คุ้มได้’ เพราะนี่ก็เป็นเพียงเสียงเล็กๆ ของเกษตรกรและชาวนาจังหวัดชัยนาท ที่บอกเล่าถึงสิ่งที่พวกเขากำลังเผชิญและความในใจหากวันหนึ่งพื้นที่ทำกินของพวกเขาจะกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising