×

15 ปี สถานการณ์ความรุนแรง ความหวังยังมีที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้

โดย THE STANDARD TEAM
29.08.2019
  • LOADING...
Voice of Hope เสียงแห่งความหวัง

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • 15 ปีที่ผ่านมา ภาพความรุนแรงและผลกระทบที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ปรากฏในข่าวอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดเป็น ‘ภาพจำ’ ที่ฝังลึกในความรู้สึกของคนไทยจำนวนมาก 
  • เพื่อเปลี่ยนภาพจำที่ฝังลึกในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทำให้เกิดวงเสวนาที่ว่าด้วยความหวังต่อพื้นที่ชายแดนใต้ โดยผู้ร่วมสนทนา ได้แก่ วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว THE STANDARD ก้อง ฤทธิ์ดี นักวิจารณ์ภาพยนตร์ และ ฮาดีย์ หะมิดง นักกิจกรรมชายแดนใต้ ดำเนินการสนทนาโดย ณรรธราวุธ เมืองสุข
  • บทสรุปในวงเสวนาทำให้เห็นว่า ความหวังที่จะเห็นความสงบสุขเกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ยังคงไม่หายไปไหน และมีหลากหลายวิธีที่จะเปลี่ยนภาพจำความรุนแรงให้กลายเป็นความสงบดังเช่นอดีต

นับตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2547 ซึ่งเกิดเหตุการณ์ ‘ปล้นปืน’ ที่จังหวัดนราธิวาส ความรุนแรงจากสาเหตุที่ซับซ้อนได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส 

 

ภาพความรุนแรงจากการก่อเหตุลอบทำร้ายด้วยอาวุธ และผลกระทบที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตปรากฏในรายงานข่าวตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา กลายเป็น ‘ภาพจำ’ ที่ฝังลึกอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของคนไทยจำนวนมาก

 

กลางเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 ณ Cinema Oasis สุขุมวิท 43 กรุงเทพฯ กลุ่มชาวมุสลิมรุ่นใหม่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการเสียงแห่งความหวังของผู้คนชายแดนใต้ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้จัดกิจกรรมชื่อ ‘Voice of Hope’ โดยมีผู้มาร่วมงานอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ทั้งคนจาก 3 จังหวัดและคนกรุงเทพฯ ที่สนใจเรื่องราวในพื้นที่ 

 

นอกจากมีการฉายหนังสั้นและหนังสารคดี ยังมีวงเสวนาว่าด้วยความหวังต่อพื้นที่ชายแดนใต้ โดยผู้ร่วมสนทนา ได้แก่ วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว THE STANDARD ก้อง ฤทธิ์ดี นักวิจารณ์ภาพยนตร์ และ ฮาดีย์ หะมิดง นักกิจกรรมชายแดนใต้ ดำเนินการสนทนาโดย ณรรธราวุธ เมืองสุข

 

Voice of Hope เสียงแห่งความหวัง

 

ในฐานะคนปัตตานีโดยกำเนิด ฮาดีย์เกริ่นว่า แท้จริงแล้ว ปัญหาความขัดแย้งใน 3 จังหวัดเกิดขึ้นมานานกว่า 15 ปี แต่รอบของความรุนแรงเริ่มชัดเจนนับจากเหตุการณ์ปี 2547

 

“ตอนนั้นแม้แต่คนในพื้นที่ก็ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ความรุนแรงซึ่งคืออาการของความขัดแย้ง มันพูดยากว่าเกิดจากอะไร เพราะมันมีหลายสาเหตุ ทั้งอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ภาษา ความยุติธรรม สังเกตว่า ในช่วงแรกของเหตุการณ์ อัตราการยกฟ้องจะสูงมากเวลาขึ้นศาล ซึ่งหมายถึงมีการจับผิดตัวเยอะ ผมคิดว่า ประเด็นเรื่องศาสนาไม่ใช่ประเด็นที่ทำให้คุยยาก จริงๆ รัฐบาลไทยจัดการเรื่องศาสนาได้ค่อนข้างดีมาก แต่เรื่องที่ทำให้คุยกันยากและไปต่อยากคือ เรื่องชาติพันธุ์และดินแดน คน 3 จังหวัด 80 เปอร์เซ็นต์ นิยามตนเองว่าเป็นมลายู แม้จะถือสัญชาติไทย ใช้บริการของรัฐไทย เรียนภาษาไทย แต่เกิดมาพูดมลายูเป็นภาษาแรก มันก็ยากที่จะนิยามตนเองเป็นอื่น”

 

 

ในฐานะคนกรุงเทพฯ ที่ไปเรียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี วงศ์ทนงเล่าถึงประสบการณ์ 4 ปีที่ปัตตานีเมื่อกว่า 2 ทศวรรษที่แล้วว่า มีค่าอย่างยิ่งในหลายแง่มุมสำหรับคนแปลกถิ่นเช่นเขา

 

“รู้สึกตื่นตาตื่นใจที่ได้สัมผัสความหลากหลายทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนที่นั่น ได้มีเพื่อนนักศึกษาที่เป็นมุสลิมมากมาย ได้ลงพื้นที่ในหลายอำเภอรอบนอกในปัตตานีจากการเรียนวิชาพัฒนาชุมชน พอได้สัมผัสก็ได้รู้ว่า คนมุสลิมน่ารัก จิตใจดี และจริงใจมาก ผมคิดว่า คนส่วนใหญ่ถ้าไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามจะไม่ค่อยมีเพื่อนเป็นมุสลิม เราจึงไม่ค่อยมีโอกาสได้รู้จักพวกเขาจริงๆ พอไม่รู้จัก ก็ไม่ค่อยเข้าใจ นั่นอาจเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดอคติต่างๆ ได้ง่ายเวลาเสพข่าว 4 ปีที่ปัตตานี เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านชีวิตที่มีค่าสำหรับผม อาจแปลกที่จะพูดคำนี้ในเวลานี้ แต่ในความรู้สึกของผมตอนนั้น ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ที่ผมได้พบเจอ เป็น 3 จังหวัดในประเทศไทยที่สงบงามมาก”

 

ก้อง ฤทธิ์ดี ซึ่งเป็นมุสลิมชาวกรุงเทพฯ เล่าว่า “เวลาไปไหน พอรู้ว่าเป็นมุสลิม คนมักถามว่า เป็นคนใต้หรือเปล่า ทั้งๆ ที่มุสลิมกรุงเทพฯ ก็เยอะเหมือนกัน ตรงนี้น่าสนใจ ส่วนความไม่ค่อยเข้าใจเกี่ยวกับมุสลิมใน 3 จังหวัดก็เป็นเรื่องปกติ เพราะปัญหาภาคใต้ไม่ใช่เรื่องศาสนาอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ ความอยุติธรรมต่างๆ บางเรื่องแชร์ได้ แต่บางเรื่องก็ต้องบอกว่า มุสลิมกรุงเทพฯ ไม่ค่อยอินกับ 3 จังหวัด เพราะมันมีระยะห่าง 

 

“สำหรับผมเอง ที่สนใจอาจเพราะส่วนตัวเราสนใจการเมือง รัฐศาสตร์ แต่ถ้ามุสลิมกรุงเทพฯ ทั่วๆ ไป มันมีระยะห่างนิดหนึ่ง มันมีการแชร์ความเป็นมุสลิมเช่นกันแหละ แต่มันยังมีมิติอื่นๆ ที่ไม่ค่อยแชร์ เช่น ความเป็นคนเมือง ความเป็นคนต่างจังหวัด ได้อ่านพาดหัวข่าวว่า โจรใต้เหมือนคนอื่นๆ สังคมมุสลิมเองก็มีหลากหลายความเข้าใจ มุสลิมที่เดินพารากอน เดินไอคอนสยาม เขาคงไม่ค่อยเห็นว่าเหตุการณ์ที่ 3 จังหวัด เป็นปัญหาสำหรับเขา คนแถวบ้านผมเขาอาจเฉยๆ ไม่ค่อยรับรู้ข่าวด้วยซ้ำ ผมว่า มุสลิมกรุงเทพฯ ใช้เวลานานเหมือนกัน กว่าจะเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น”

 

ก้องให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า เหตุวินาศกรรม 11 กันยายน พ.ศ. 2544 หรือ 9/11 คือ เหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อภาพพจน์ของมุสลิมทั่วโลก

 

“หลังจากเหตุการณ์ 9/11 และสถานการณ์ที่อิรัก มุสลิมทั้งโลกมีปัญหาเรื่องภาพพจน์ทั้งหมด มุสลิมเท่ากับก่อการร้าย วางระเบิด ผมคิดว่า นี่เป็นประเด็นที่สื่อทั้งไทยและเทศมองมุสลิมเป็นภาพลบไว้ก่อน มันเป็นภาพจำที่ลบยาก พอมีเหตุการณ์ปล้นปืนผนวกกัน ทำให้ภาพพจน์มุสลิมมีปัญหา ข้อความ คำพูดที่มาจากส่วนกลาง จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ค่อนข้างเป็นข่าวที่โปรทางการ ภาพที่ออกมาจึงมิติเดียวว่า เป็นพวกก่อความรุนแรง แบ่งแยกดินแดน ผมคิดว่า เหตุการณ์ภาคใต้ที่มีปัญหาเรื่องภาพพจน์มุสลิมมาจากสื่ออย่างหนึ่ง และผมคิดว่า มุสลิมช้าเกินไปในการแก้ปัญหาภาพพจน์ ทำให้มันติดมานาน พอคนรุ่นใหม่เริ่มลืมเรื่อง 9/11 ไปแล้ว ก็มีข่าวไอเอสมาอีกดอก ซึ่งไอเอสนี่โหดจริง แล้วเขาใช้คำว่า Islamic State มันก็เกิดปัญหาภาพพจน์ ยิ่งพอหลังปี 2010 เกิดโซเชียลมีเดีย ทำให้ทุกอย่างมันซับซ้อนเข้าไปอีก แต่ก่อนคุณเกลียดหรือเชียร์มุสลิมจะแค่คุยกับเพื่อน แต่ตอนนี้มีเฟซบุ๊ก มีโซเชียลมีเดีย ความอัดอั้นเกลียดชังมันก็ระเบิดออกมา ในแง่ของสื่อ ผมคิดว่า แนวทางของข่าวส่วนใหญ่ยังไม่ต่างจากเดิมเท่าใดนัก มีสื่อที่พยายามนำเสนอข่าวมิติอื่นบ้าง แต่นักข่าวที่มีอุดมการณ์มันสู้ไม่ได้กับสื่อกระแสหลัก แต่การที่มีโซเชียลมีเดีย มีคนรุ่นใหม่ทำคอนเทนต์ในด้านอื่นๆ ออกมา อย่างน้อยก็เอามาคานกับเรื่องเล่าจากส่วนกลางได้พอสมควร”

 

 

วงศ์ทนงให้ทรรศนะว่า นอกจากประชาชนทั่วไปแล้ว คนทำสื่อก็ต้องพัฒนาตนเอง พยายามศึกษาเรียนรู้สถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่ยึดติดอยู่แต่กับกรอบความคิดความเชื่อเดิม

 

“อาจเพราะผมเคยใช้ชีวิตที่นั่น ก็จะได้เห็นพื้นที่จริงและรู้สึกผูกพันกว่าคนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นคนในท้องที่ ผมคิดว่า ปัตตานีเป็นบ้านอีกหลังหนึ่งของผม เวลาเกิดเหตุรุนแรง มีการสูญเสียก็จะรู้สึกสะเทือนใจ ในฐานะคนทำสื่อ เราก็พยายามมีส่วนในการถ่ายทอดเรื่องราวด้านอื่นๆ ของ 3 จังหวัดออกมา ตั้งแต่ a day ฉบับมุสลิม หรือ THE STANDARD ปีที่แล้วผมก็พาทีมงานลงไปทำคอนเทนต์เรื่องธรรมชาติ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องวิถีชีวิตของผู้คนใน 3 จังหวัดมานำเสนอ ต้องยอมรับว่า 15 ปีที่ผ่านมา ภาพความรุนแรงมันฝังแน่น คนจำนวนมากยังมอง 3 จังหวัดเป็นแดนมิคสัญญี คนจำนวนมากไม่กล้าลงไปเที่ยว 3 จังหวัด ซึ่งส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากสถานการณ์จริง แต่อีกส่วนหนึ่งผมคิดว่า มาจากการที่สื่อส่วนใหญ่นำเสนอเรื่องราวด้านเดียวมากเกินไป ผมจึงยินดีมากที่ช่วงหลังมีคนรุ่นใหม่ใน 3 จังหวัดลุกขึ้นมาสื่อสารกับสังคมด้วยคอนเทนต์อื่นๆ นอกจากเรื่องความรุนแรงและความขัดแย้ง อะไรต่างๆ เหล่านี้จะช่วยลบล้างภาพจำที่มีต่อ 3 จังหวัดได้ ไม่ได้หมายความว่า เหตุการณ์มันไม่มีจริงหรือเราปกปิดมันหรอก แต่อย่างน้อยก็ช่วยละลายอคติด้านเดียวลงได้บ้าง”

 

 

 

ฮาดีย์ซึ่งคลุกคลีกับการทำกิจกรรมต่างๆ ของคนรุ่นใหม่ใน 3 จังหวัดกล่าวว่า โดยพื้นฐานทางภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ ความที่อยู่ใกล้ปีนัง มาเลเซีย คนใน 3 จังหวัดแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและวิถีชีวิตกับต่างประเทศมานานแล้ว ไม่ว่าการดูหนัง ฟังเพลง ไปจนถึงเรื่องแฟชั่น ในช่วงหลายปีให้หลัง การที่คนรุ่นใหม่ในพื้นที่เริ่ม ‘กลับบ้าน’ มาให้ความสำคัญกับบ้านเกิด ทำให้เกิดการสื่อสารในเรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจออกมามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

 

“ผมคิดว่า คนเราไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ไหน มันจะพยายามอยู่ให้ได้ ช่วงแรกๆ ที่เกิดเหตุก็จะมีคนลุกขึ้นมาพูดเรื่องความรุนแรง ความขัดแย้ง ความยุติธรรมกันมาก แต่ 4-5 ปีให้หลัง แม้แต่คนในพื้นที่เองก็เบื่อที่จะพูดเรื่องความรุนแรง ความขัดแย้ง 

 

“คนรุ่นใหม่พยายามลุกขึ้นมาตั้งคำถามว่า จะอยู่อย่างไรให้มันสบายใจ อย่างช่วงแรกๆ ที่ระเบิดถี่ ร้านน้ำชาคนจะหายไปเลย อยู่ปัตตานี ระเบิดที่ยะหริ่ง หลบอยู่บ้านดีกว่า แต่ช่วงหลังเวลามีเหตุการณ์ สังเกตว่า มันจะหายไปเร็ว ผมรู้สึกแย่ถ้าจะบอกว่า คนมันชิน แต่จริงๆ คือคนพยายามจะอยู่ให้ได้ 

 

“หลายปีที่ผ่านมา มีความพยายามของคนรุ่นใหม่ที่จะทำอะไรใหม่ๆ สื่อสารด้วยวิธีใหม่ๆ พยายามปรับตัวให้ทันโลก อยากเท่ อยากคุยกับคนอื่นๆ ได้ ก็เกิดเป็นกิจกรรมต่างๆ มีการเล่นสเกตบอร์ด ทำหนัง ฉายหนัง จัดนิทรรศการที่เล่าเรื่องตัวเองด้วยวิธีการใหม่ๆ คนรุ่นใหม่พยายามที่จะสร้างบทสนทนาแบบใหม่ พยายามสื่อสารกับคนข้างนอก อย่างกลุ่มมลายูปริทัศน์, Melayu Living สถาปนิก นักออกแบบ คนทำสื่อ ก็พยายามสร้างสรรค์เนื้อหาใหม่ๆ ออกมา คำว่า ‘สร้างบรรยากาศ’ คือคีย์เวิร์ดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โอเค เรารู้แล้วว่าใครเป็นใครในความขัดแย้ง รัฐกำลังทำอะไร มีทหารเท่าไรอยู่ที่นี่ แต่อย่างน้อยต้องสร้างบรรยากาศให้พออยู่กันได้ บรรยากาศที่ไม่ต้องกังวลเรื่องความรุนแรง มันยังมีเรื่องราวอื่นๆ ในชีวิตที่เรายังไม่ได้พูด เลยจะเห็นงานอีเวนต์ใน 3 จังหวัดเยอะมาก ซึ่งก็ใช้เวลาหลายปีกว่าหลายคนจะมาที่ 3 จังหวัดแล้วรู้สึกว่า มันไม่ได้เป็นอย่างที่คิด”

 

ในฐานะคนทำสื่อที่เคยสร้างหนังสั้นที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับมุสลิม ก้องเห็นว่า การเปลี่ยนรุ่นของคนมีส่วนทำให้เนื้อหาในพื้นที่ที่ถูกถ่ายทอดออกไป เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

 

“คนรุ่นอายุ 20 กว่าอาจจะมองมันอีกแบบ เมื่อเทียบกับคนที่โตมาตอนสถานการณ์มันพีกๆ พอเปลี่ยนรุ่น เขาก็อยากเอาเรื่องเล่าออกมาจากพื้นที่มากขึ้น ไม่ว่าเรื่องวรรณกรรม ดีไซน์ ภาพยนตร์ กิจกรรมภาคใต้จึงเยอะมาก มีความครึกครื้นต่อเนื่องตลอดเวลา เมื่อคนในพื้นที่เปลี่ยนรุ่น คนส่วนกลางที่รับข่าวโจรใต้มา 10 กว่าปี ก็อาจจะเปลี่ยนรุ่นด้วยเช่นกัน คนรุ่นใหม่รับสื่อทางอื่นมากขึ้น ไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์อย่างเดียว อย่างอ่านเดอะสแตนดาร์ด ความรับรู้เขาก็จะขยับขยายไปจากเดิม ส่วนตัวผมที่ทำหนังเกี่ยวกับมุสลิม ผมก็ทำเพื่อให้คนอื่นดูด้วย ไม่ใช่เฉพาะมุสลิมดู ผมคิดว่า การสื่อสารมันต้องนึกถึงว่า เราคุยกับใครด้วย อย่าง Melayu Living หรือ The Melayu Review ก็พยายามสื่อสารกับคนนอกพื้นที่หรือคนส่วนกลาง ไม่ใช่มุสลิมทำกันเอง คุยกันเอง ให้กำลังใจหรือวิจารณ์กันเอง ซึ่งจะแคบไป ผมคิดว่า เป็นเรื่องสำคัญที่คนในพื้นที่ควรสื่อสารให้คนข้างนอกรับรู้มากขึ้น”

 

 

บทสนทนาในวงเสวนาเดินทางมาถึงช่วงสุดท้าย เมื่อถามผู้ร่วมเสวนาว่า ยังคงมีความหวังที่จะเห็นความสงบสุขเกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนใต้หรือไม่ ก้องกล่าวว่า 

 

“ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่ และก็หวังว่า เมื่อคนในพื้นที่เปลี่ยนแล้ว คนนอกพื้นที่หรือในพื้นที่อื่นก็จะเปลี่ยนตามไปด้วย”

 

ฮาดีย์กล่าวว่า “ผมเห็นถึงความพยายามของคนในพื้นที่จะสร้างบรรยากาศที่ดี ส่วนความรุนแรง ความขัดแย้ง และสถานการณ์มันยังอยู่แหละ ยังไม่ได้หมดไป แต่สิ่งที่สำคัญคือ คุณต้องมีความหวัง ความหวังเป็นเรื่องของมนุษย์ทุกคน เราต้องพยายามสร้างความหวัง ชีวิตคนหนึ่งคนมันต้องมีชีวิตต่อ”

 

 

วงศ์ทนงเล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวว่า เขาเคยถามคนหลายคนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ว่า เคยคิดจะย้ายไปอยู่จังหวัดอื่นไหม ทุกคนที่เขาถามตอบตรงกันว่า ไม่เคยคิด และเหตุผลก็คือ ทุกคนคิดว่า ที่ที่พวกเขาอยู่คือ ‘บ้าน’

 

“ผมคิดว่า คำว่า ‘บ้าน’ มันมีความหมายมากนะ บ้านหมายถึงที่ที่เราอยู่แล้วมีความสุข รู้สึกปลอดภัย รักและผูกพัน อยากปักหลักอยู่ตลอดไป ไม่ใช่จะทอดทิ้งมันไปง่ายๆ ผมเชื่อว่า คนใน 3 จังหวัดคิดอย่างนี้ 15 ปีที่ผ่านมา ที่ต้องอดทนอยู่กับสถานการณ์ ก็เพราะพวกเขามีความหวังว่าทุกอย่างจะดีขึ้น สำหรับผม ความหวังมันมีพลังนะ ความหวังคือรากฐานของการมีชีวิตอยู่ ความหวังไม่ใช่เรื่องนามธรรมอย่างเดียว แต่เป็นแรงผลักดันให้คนมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ ผมเชื่อว่า คนใน 3 จังหวัดมีสิ่งนี้ สันติภาพจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีความหวัง และผมก็หวังว่า ในช่วงชีวิตนี้จะสามารถใช้คำว่า สงบงาม กับ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ของเราได้เช่นที่เคยเป็นมา

 

 

อ่านบทสัมภาษณ์ผู้คนในพื้นที่ชายแดนใต้ได้ทางเพจ www.facebook.com/pages/category/Media/VoiceOfHope.blog/posts

 

ภาพ: Voice of Hope เสียงแห่งความหวัง

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising