×

แผน Vision 2030 มูฟออนซาอุดีอาระเบียไปสู่อนาคตด้วยเศรษฐกิจใหม่ ไมตรี และกีฬา

21.07.2023
  • LOADING...
Vision 2030

HIGHLIGHTS

  • ซาอุดีอาระเบียจำเป็นต้องเร่งปรับตัวให้เร็วตามกระแสโลก เพื่อลดการพึ่งพาน้ำมัน ทำให้เกิดแผน Vision 2030 ซึ่งมีเสาหลัก 3 ต้นด้วยกัน คือ Vibrant Society, Thriving Economy และ Ambitious Nation
  • ไม่ใช่แค่ไทยที่ซาอุดีอาระเบียหันมาจับมือด้วยตลอดช่วงระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลซาอุดีอาระเบียมีความพยายามอย่างยิ่งในการที่จะผูกสัมพันธ์กับชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น ชาติที่เห็นไม่ตรงกันอย่างสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่คู่ขัดแย้งอย่างกาตาร์
  • NEOM (นิอุม) NEOM คือชื่อของโปรเจกต์ยักษ์ และเป็นหัวใจของ Vision 2030 ยุทธศาสตร์แห่งชาติระยะยาว โดยมี THE LINE เมืองแนวนอนที่เหมือนออกจากภาพยนตร์ไซไฟ เป็นสุดยอดโครงการที่สร้างความฮือฮามากที่สุด
  • ตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แฟนฟุตบอลทั่วโลกได้ตื่นเต้นกับข่าวการโยกย้ายของนักเตะระดับซูเปอร์สตาร์ของโลกที่ทยอยเก็บข้าวของย้ายมาค้าแข้งในซาอุดี​โปรลีก ซึ่งทุกอย่างเริ่มต้นจากการย้ายมาสโมสรอัล นาสเซอร์ ของ คริสเตียโน ​โรนัลโด เพราะกีฬามีส่วนสำคัญใน Vision 2030 เช่นกัน

ถึงความเปลี่ยนแปลงจะเป็นนิรันดร์ แต่ไม่ใช่ทุกสิ่งในโลกที่จะเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย โดยเฉพาะในเรื่องของ ‘ภาพลักษณ์’ จากสายตาคนอื่นที่มองเข้ามา

           

สำหรับซาอุดีอาระเบีย เดิมภาพในความทรงจำของชาวโลกนอกจากการเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกแล้ว ยังเป็นประเทศเคร่งศาสนาที่ยากจะเข้าถึง อีกทั้งยังมีเรื่องราวของการละเมิดสิทธิมนุษยชนและปัญหาสิทธิสตรี ที่ทำให้ภาพลักษณ์ดูติดลบมากขึ้นไปอีก

 

โดยเฉพาะคดีการฆาตกรรม จามาล คาช็อกกี นักหนังสือพิมพ์ผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ในสถานกงสุลที่กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี ซึ่งเป็นคดีสะเทือนขวัญที่ส่งผลมหาศาลต่อภาพลักษณ์ของซาอุดีอาระเบีย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สั่งการในเรื่องนี้

           

อย่างไรก็ดี ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาหลายอย่างในซาอุดีอาระเบียได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะนับตั้งแต่ปี 2016 ที่เริ่มมีการประกาศแผน ‘Vision 2030’ ที่จะพลิกโฉมประเทศซาอุดีอาระเบียให้เป็นประเทศแห่งอนาคต

 

แผนนี้ประกอบไปด้วยอะไร และมีอะไรที่พวกเขาเริ่มทำไปแล้วบ้าง?

 

Vision 2030 เสาหลัก 3 ต้น เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน

 

ในเอกสารความยาว 85 หน้าที่ซาอุดีอาระเบียเผยแพร่ต่อชาวโลกเกี่ยวกับแผน Vision 2030 เมื่อปี 2016 มีรายละเอียดมากมายที่บอกเล่าถึงเหตุและผลที่ทำให้ประเทศที่มีทุกอย่างได้เพราะทองคำดำหรือน้ำมันจากใต้ผืนทะเลทราย ต้องการที่จะไม่หวังพึ่งพาทรัพย์ในดินของพวกเขาอีกแล้ว

 

นั่นไม่เพียงเพราะน้ำมันเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป โดยที่ไม่สามารถผลิตขึ้นมาเองได้ใหม่ ซึ่งนั่นหมายถึงหากน้ำมันหมด ซาอุดีอาระเบียก็จะกลายเป็นแผ่นดินที่ไม่เหลืออะไร แต่สถานการณ์ของโลกในปัจจุบันเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ

           

ซาอุดีอาระเบียยังเผชิญความเสี่ยงจากราคาน้ำมันที่ผันผวนตลอด ซึ่งหากพิจารณาจากกราฟราคาน้ำมันโลกในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่ราคาน้ำมันดิ่งลงเหวในแบบที่เรียกว่า Oil Crash ถึง 2 ครั้งด้วยกัน ในช่วงวิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐอเมริกา ปี 2009 ต่อด้วยในช่วงระหว่างปี 2014-2016 ที่ราคาน้ำมันโลกดิ่งลงกว่า 70 เปอร์เซ็นต์

           

เมื่อรวมกับกระแสความนิยมของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ที่เพิ่มขึ้นสูงอย่างมาก โดยเฉพาะหลังช่วงโรคระบาดโควิดที่ผ่านมา ทำให้ซาอุดีอาระเบียจำเป็นต้องเร่งปรับตัวให้เร็วตามกระแสโลก เพราะน้ำมันคือเส้นเลือดใหญ่ของประเทศ จากการพึ่งพาการส่งออกน้ำมันคิดเป็นรายได้ถึง 87 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ และมีการส่งออกน้ำมันมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของการส่งออกทั้งหมด

           

Vision 2030 จึงถือกำเนิดขึ้น ในแผนที่แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศภายในระยะเวลา 14 ปี ให้กลายเป็นซาอุดีอาระเบียโฉมใหม่ที่แตกต่างจากเดิม

           

ในแผน Vision 2030 นั้นมีเสาหลัก 3 ต้นด้วยกัน

 

  • Vibrant Society หรือการสร้างสังคมที่มีชีวิตชีวา เป็นเมืองที่พร้อมโอบกอดวัฒนธรรม รวมถึงความบันเทิงและกีฬาที่จะสร้างสีสันใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น
  • Thriving Economy หรือเศรษฐกิจยิ่งใหญ่ไพศาล เพิ่มความสามารถในการแข่งขันระดับสากล ลงทุนสร้างพื้นฐานของประเทศใหม่ ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และพัฒนาสินค้าส่งออกใหม่ เพื่อลดการพึ่งพาน้ำมัน
  • Ambitious Nation หรือการนำพาชาติด้วยความทะเยอทะยาน พลิกโฉมซาอุดีอาระเบียให้กลายเป็นประเทศที่ไม่พึ่งพารายได้จากน้ำมัน สร้างรัฐบาล E-Government เพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ประชากร เพิ่มจำนวนประชากร และสิ่งสำคัญคือเรื่องสิทธิสตรีที่เคยเป็นตราบาปในสายตาชาวโลก ซาอุดีอาระเบียพร้อมจะปรับตัวให้เข้ากับกระแสสังคมโลกสมัยใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับสิทธิสตรีและความเท่าเทียม

 

แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงในสเกลใหญ่ระดับนี้เป็นเรื่องที่ยากและต้องใช้ความพยายามอย่างสูง อีกทั้งซาอุดีอาระเบียยังหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญกับเครื่องหมายคำถามจากสังคมโลกไม่ได้อยู่ดีว่า สิ่งที่พยายามทำอยู่นั้นเป็นความตั้งใจจริงหรือเป็นเพียงแค่การสร้างภาพ โดยเฉพาะในประเด็นอ่อนไหวอย่างเรื่องของสิทธิสตรี ที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงขับรถได้หรือเข้าชมการแข่งขันกีฬาในสนามได้

           

แต่มากบ้างน้อยบ้าง การเปลี่ยนแปลงก็ได้เกิดขึ้นแล้ว และสิ่งที่ชัดเจนที่สุดที่เรามองเห็นได้คือ ‘ท่าที’ ที่มีต่อมิตรสหายนานาประเทศในช่วงที่ผ่านมา

 

ด้วยมิตรและไมตรี มีชัยไปกว่าครึ่ง

 

ภาพการเสด็จฯ เยือนไทยของมกุฎราชกุมารมุฮัมมัด บิน ซัลมาน เมื่อเดือนพฤศจิกายน เพื่อเข้าร่วมการประชุม APEC ในฐานะแขกของรัฐบาลไทย (ลิงก์ https://thestandard.co/pm-saudi-arabia-apec-2022/) ถือเป็นภาพประวัติศาสตร์ของสองชาติที่กลับมารื้อฟื้นความสัมพันธ์กันอีกครั้งนับจากการตัดความสัมพันธ์กันไปเป็นระยะเวลากว่า 32 ปี

           

ผลจากการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุ หมายถึงโอกาสมากมายในการลงทุนระหว่างสองประเทศ ที่ไม่เพียงแค่ทางฝั่งซาอุดีอาระเบียจะมาลงทุนหรือสั่งสินค้าจากประเทศไทย รวมถึงเปิดโอกาสให้แรงงานคุณภาพสูงได้มีโอกาสกลับไปค้าแรงงานที่ซาอุดีอาระเบียเหมือนในอดีตอีกครั้ง แต่ยังหมายรวมถึงโอกาสของทุนจากไทยที่จะไปลงทุนในประเทศที่มีศักยภาพอย่างซาอุดีอาระเบียด้วยเช่นกัน

           

แต่ไม่ใช่แค่ไทยที่ซาอุดีอาระเบียจับมือด้วย

           

ตลอดช่วงระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลซาอุดีอาระเบียมีความพยายามอย่างยิ่งในการที่จะผูกสัมพันธ์กับชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจีนที่มีการร่วมมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจและพลังงาน เช่นเดียวกับรัสเซีย ซึ่งทั้ง 3 ชาติมีแผนที่จะล้มเปโตรดอลลาร์ให้ได้

           

หรือไม่นานนี้ ซาอุดีอาระเบียได้ยกระดับความร่วมมือด้าน ‘พลังงานยั่งยืน’ กับญี่ปุ่น สนับสนุนการพัฒนาและการใช้พลังงานสะอาด ไม่ว่าจะเป็นพลังงานไฮโดรเจน-แอมโมเนีย หรือเชื้อเพลิงคาร์บอนรีไซเคิล ซึ่งจะช่วยเสริมความมั่นคงทางพลังงานของทั้งสองฝ่าย

           

แม้กระทั่งชาติที่เป็นคู่ขัดแย้งกันอย่างกาตาร์ ที่มีกรณีปัญหาอย่างรุนแรง (ลิงก์ https://thestandard.co/solidarity-and-stability-agreement-gcc-41/) ก็มีความพยายามที่จะยุติความขัดแย้ง จนในที่สุดก็มีการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ของสองชาติ ซึ่งเป็นผลดีต่อบรรยากาศทางการเมืองภายในอ่าวอาหรับเป็นอย่างมาก

           

แต่สำหรับความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกนั้นยังคงต้องจับตาดูอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับสหรัฐอเมริกาที่มีปัญหากับท่าทีทางการทูตของซาอุดีอาระเบีย จนถึงขั้นมีการสั่งทบทวนความสัมพันธ์กันเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว ก่อนที่จะมีความพยายามกระชับความสัมพันธ์ ด้วยการนำคณะไปเยือนซาอุดีอาระเบีย ซึ่งนำโดย แอนโธนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยนักธุรกิจและผู้นำกว่า 40 คน

           

เพราะสุดท้ายหากซาอุดีอาระเบียและสหรัฐฯ กลับมากระชับความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดได้อีกครั้งก็จะส่งผลต่อหลากหลายด้าน ซึ่งย่อมดีกว่าการที่ทั้งสองชาติขัดแย้งกันอย่างแน่นอน

           

ทั้งนี้ ต้องให้เครดิตกับความพยายามในการปรับตัวของซาอุดีอาระเบีย โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนที่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น และทำให้นานาประเทศเองก็ยินดีที่จะเปิดใจให้อีกครั้ง

           

และนั่นจะนำไปสู่การค้าขายแลกเปลี่ยนกัน รวมถึงการเข้ามาลงทุนของนานาประเทศในซาอุดีอาระเบีย ที่พร้อมทุ่มงบประมาณมหาศาล เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศให้กลายเป็นเมืองแห่งอนาคต

 

NEOM อภิมหาโปรเจกต์เปลี่ยนทะเลทรายให้กลายเป็นเมืองแห่งอนาคต

 

นอกจากนโยบายการต่างประเทศที่เปลี่ยนไปเพื่อแสวงหามิตรใหม่และรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับเพื่อนเก่าแล้ว ใน Vision 2030 สิ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็น ‘หัวใจ’ คือโครงการระดับ Giga Project อย่าง NEOM

           

NEOM (นิอุม) NEOM คือชื่อของโปรเจกต์ยักษ์และเป็นหัวใจของ Vision 2030 ยุทธศาสตร์แห่งชาติระยะยาว ซึ่งมีการเปิดตัวเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2016 โดยมีพันธกิจในการทำให้ซาอุดีอาระเบียไม่เป็นชาติที่พึ่งพาแต่น้ำมันอีกต่อไป เพราะ ‘ทองคำดำ’ ที่อยู่ใต้ผืนดินนั้นมีวันหมด และถ้ามันหมด ผืนดินของพวกเขาจะไม่เหลืออะไรอีกนอกจากเม็ดทรายจำนวนมหาศาล

           

ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การสร้างแผ่นดินใหม่ หรือความจริงควรจะบอกว่า เป็นนิยามของโลกสมัยใหม่ในอนาคตที่ชาวซาอุดีอาระเบีย รวมถึงชาวโลก จะสามารถอยู่อาศัยในนั้นได้อย่างยั่งยืน และอยู่อย่างสุขสบายไปอีกหลายชั่วยุคสมัย

           

โดยในคำว่ายั่งยืนนั้นเป็นเพราะหัวใจของ NEOM คือการใช้พลังงานสะอาดหมุนเวียนร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำให้ไม่เกิดมลพิษ โดยหนึ่งในกำลังสำคัญคือ โรงงานผลิตไฮโดรเจนที่จะเป็นอุตสาหกรรมใหม่ในการสร้างพลังงานสะอาด เพื่อเป็นรายได้ใหม่ของประเทศแทนที่น้ำมัน

           

และนั่นคือเหตุผลว่า ทำไมโครงการนี้จึงชื่อว่า NEOM เพราะมันเป็นการผสมผสานระหว่างคำว่า Neo ซึ่งแปลว่า ‘ใหม่’ ในภาษากรีก และ Mustaqbal ซึ่งแปลว่า ‘อนาคต’ ในภาษาอารบิก

           

พื้นที่ของโครงการนั้นตั้งอยู่ที่แคว้นตะบูก ทางตะวันตกเฉียงเหนือของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งอยู่ติดกับทะเลแดง และมีภูเขามีเดียนซึ่งมีหิมะปกคลุมบนยอดเขา โดยเป็นพื้นที่ที่ซาอุดีอาระเบียเตรียมใช้งบประมาณเหนือจินตนาการถึง 5 แสนล้านดอลลาร์ หรือกว่า 18 ล้านล้านบาท เพื่อเปลี่ยนผืนดินที่แห้งแล้งให้เป็นโลกใหม่

           

โดยใน NEOM เองก็มีมหาโปรเจกต์ที่กำลังเริ่มต้นอย่างจริงจังทั้งหมด 3 โครงการด้วยกัน ประกอบไปด้วย

           

  1. Oxagon เมืองอุตสาหกรรมและท่าริมชายฝั่งกลางน้ำ
  2. Trojena สวรรค์ที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเอง เมืองรีสอร์ตที่แฝงตัวลึกอยู่ในหุบเขาที่จะไม่ทำให้ใครอยากไปไหนอีก
  3. THE LINE เมืองที่อยู่อาศัยแห่งอนาคตที่อยู่เหนือจินตนาการของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน

 

ในจำนวนนี้ THE LINE ถือเป็นสุดยอดโครงการที่สร้างความฮือฮามากที่สุด

           

ตามข้อมูลที่มีการเปิดเผยออกมาเมื่อปีที่แล้ว THE LINE จะเป็นเมืองแนวนอนที่มีความกว้าง 200 เมตร ความยาว 170 กิโลเมตร ความสูง 500 เมตร โดยมีกระจกทำหน้าที่เป็นกำแพงตลอดระยะทาง ใช้พลังงานสะอาดหมุนเวียน ไม่มีมลพิษ เพราะไม่มีถนน และที่ไม่มีถนนเพราะไม่ต้องใช้รถ แถมยังมีพื้นที่สีเขียวปกคลุมตลอดทั้งเมืองให้เหมาะสมกับการอยู่อาศัย

           

เรียกได้ว่าแนวคิดของ THE LINE นั้นไม่ใช่แค่การออกแบบสิ่งก่อสร้างธรรมดา แต่เป็นการสร้างโลกใบใหม่และออกแบบการใช้ชีวิตใหม่ของมนุษย์แห่งอนาคตเลยทีเดียว (ลิงก์ https://thestandard.co/the-line-saudi-arabia/)

           

โดยเมืองใหม่แห่งนี้ไม่ได้ทำขึ้นมาเพื่อรองรับชาวซาอุดีอาระเบียเท่านั้น แต่พร้อมเปิดใจให้ประชาคมโลกที่มีความต้องการมาทำธุรกิจหรือใช้ชีวิตในเมืองอนาคตแห่งนี้ด้วยเช่นกัน แม้ว่าการก่อสร้างจะยังไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจน และมีคำถามว่าจะเสร็จทันกำหนด 2030 หรือไม่

           

แต่นี่คือหนึ่งในความหวังใหม่ หรือหากพูดให้ถูกคือ เป็นส่วนหนึ่งของความหวังใหม่ของซาอุดีอาระเบีย เพราะหาก NEOM เสร็จสมบูรณ์ทั้ง 3 โครงการ (Oxagon, Trojena และ THE LINE) ทะเลทรายแห่งนี้จะกลายเป็นเมืองทองคำได้เลยทีเดียว

 

โดยซาอุดีอาระเบียต้องการเพิ่มจำนวนประชากรที่ปัจจุบันมี 33 ล้านคน เป็น 37 ล้านคนภายในปี 2030 และเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต

 

รีแบรนด์ซาอุดีอาระเบีย

 

ซาอุดีอาระเบียไม่ได้คิดแค่เรื่องของการขับเคลื่อนประเทศ ด้วยการใช้อภิมหาโครงการหรือการพึ่งพาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเท่านั้น

           

เพราะอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือเรื่องของการท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งเดิมทีซาอุดีอาระเบียคือจุดหมายที่ชาวมุสลิมทั่วโลกมีความปรารถนาจะมาเยือน เพื่อร่วมแสวงบุญในพิธีฮัจญ์และอุมเราะห์ ซึ่งเดิมผู้มาเยือนเฉลี่ยปีละกว่า 8 ล้านคน

           

แต่นับจากปี 2020 ได้มีการขยายขีดความสามารถในการรับรองชาวมุสลิมทั่วโลกเพิ่มเป็นปีละ 15 ล้านคน และมีแผนที่จะรองรับให้ได้ 30 ล้านคนภายในปี 2030

           

นอกเหนือจากนี้ซาอุดีอาระเบียยังต้องการขับเคลื่อนประเทศด้วยแนวทางสมัยใหม่อย่าง ‘Soft Power’ เพื่อเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของประเทศให้เป็นมิตรในความรู้สึกของประชาคมโลกมากขึ้น ผ่านงานเทศกาล ความบันเทิง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กีฬา

           

ที่ผ่านมาซาอุดีอาระเบียมีการจัดงานเคานต์ดาวน์ต้อนรับปีใหม่ใจกลางกรุงริยาด มีการจุดพลุไฟอย่างสวยงาม ซึ่งนอกจากจะเป็นงานเทศกาลเพื่อความบันเทิงแล้ว ยังเป็นการส่งสัญญาณให้ประชาชนชาวซาอุดีอาระเบียได้เห็นว่า ประเทศกำลังเปิดอีกครั้ง เพื่อปฏิรูปสังคมใหม่ไปสู่อนาคต

           

ซาอุดีอาระเบียยังมีการจัดงาน Fashion Futures ในกรุงริยาด เพื่อเป็นการสนับสนุนแฟชั่นและวัฒนธรรมของประเทศ ไปจนถึงการจัดงาน Riyadh Seson ที่นอกจากความสนุกสนานแล้ว ยังเน้นย้ำในเรื่องวัฒนธรรมอาหรับที่ภาคภูมิใจ ซึ่งนอกจากจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ยังดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศด้วย

           

ไม่นับเรื่องของการเตรียมจัดสร้างศูนย์การแสดง เพื่อรองรับการจัดมหกรรมคอนเสิร์ต รวมถึงการสร้างโรงภาพยนตร์เพิ่มกว่า 2,500 โรง เพื่อทำให้ประเทศกลายเป็นศูนย์กลางด้านความบันเทิงที่ไม่ใช่เพียงเฉพาะตะวันออกกลาง แต่อาจหมายถึงศูนย์กลางความบันเทิงของโลกได้เลยทีเดียว เพราะซาอุดีอาระเบียอยู่ใกล้กึ่งกลางการเดินทางระหว่างตะวันออกและตะวันตก อีกทั้งยังสามารถสร้างงานในประเทศได้อีกกว่า 30,000 ตำแหน่ง

           

แต่ที่มาแรงที่สุดในช่วงที่ผ่านมาคือ เรื่องของการใช้กีฬานำชาติ

           

ตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แฟนฟุตบอลทั่วโลกได้ตื่นเต้นกับข่าวการโยกย้ายของนักเตะระดับซูเปอร์สตาร์ของโลก ที่ทยอยเก็บข้าวของย้ายมาค้าแข้งในซาอุดี​โปรลีก ซึ่งทุกอย่างเริ่มต้นจากการย้ายมาสโมสรอัล นาสเซอร์ ของ คริสเตียโน​ โรนัลโด ก่อนที่จะเป็น คาริม เบนเซมา เจ้าของบัลลงดอร์คนล่าสุด, เอ็นโกโล กองเต, รูเบน เนเวส และล่าสุดคือ ฟาบินโญ กองกลางตัวหลักของสโมสรดังอย่างลิเวอร์พูล ที่เตรียมจะย้ายมาร่วมทีมอัล อิตติฮัด อีกคน

           

โดยลีกซาอุดีอาระเบียนั้นได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก PIF กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ที่เข้ามามีส่วนช่วยเหลือวงการฟุตบอลของประเทศตามยุทธศาสตร์ด้านกีฬา ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของ Vision 2030 

           

“ตามแผน Vision 2030 มีเสาหลัก 3 ต้นด้วยกัน และหนึ่งในนั้นคือเรื่องของคุณภาพชีวิต และส่วนหนึ่งของคุณภาพชีวิตก็คือกีฬา” อิบราฮิมา อัลกาสซิม เลขานุการสหพันธ์ฟุตบอลซาอุดีอาระเบีย (SAFF) ให้สัมภาษณ์ต่อ Goal

           

อัลกาสซิมเชื่อว่า กีฬาจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม และนั่นทำให้ซาอุดีอาระเบียเดินหน้าอย่างเต็มที่ ซึ่งไม่เฉพาะแค่วงการฟุตบอลเท่านั้น หากแต่ยังมีการเจาะวงการกอล์ฟ เทนนิส เบสบอล ไปจนถึงการแข่งขันรถฟอร์มูลาวัน และอื่นๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน ซึ่งแม้ในโลกกีฬาจะมองการเข้ามาแทรกแซงของซาอุดีอาระเบียว่าเป็นภัยซ่อนเร้นต่อรากฐานอันดีงาม แต่สำหรับซาอุดีอาระเบียแล้ว พวกเขาแค่ต้องการใช้กีฬาช่วยสร้างชาติ

           

ซาอุดีอาระเบียยังได้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลก 2030 ร่วมกับกรีซและอียิปต์ รวมถึงเจ้าภาพการแข่งขันเอเชียนคัพ 2027 และการแข่งขันฟุตบอลหญิง เอเชียนคัพ 2026 อีกด้วย

           

ทั้งหมดนี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของความพยายามในการรีแบรนด์ซาอุดีอาระเบียใหม่

           

เพื่อจะมูฟออนประเทศให้ไปสู่อนาคตและยุคสมัยใหม่อย่างเข้มแข็ง

           

ไม่ต่างอะไรจากการปลูกต้นไม้แห่งความหวังเอาไว้กลางทะเลทราย และจะไม่มีวันดูดายให้ต้นไม้นี้แห้งตายอย่างเด็ดขาด เพราะนี่คือความหวังสำหรับคนรุ่นใหม่ คนรุ่นถัดไปที่จะต้องอยู่บนแผ่นดินนี้ต่อไป

           

นั่นคือเหตุผลว่า ทำไมอะไรที่ซาอุดีอาระเบียคิดว่าจะทำได้ พวกเขาจึงพร้อมจะทำและทำอย่างเต็มกำลังความสามารถ ไม่ว่าใครจะมองอย่างไรก็ตาม

 

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising