×

ย้อนรอยร้าวอ่าวอาหรับ สู่การฟื้นคืนสัมพันธ์ซาอุฯ-กาตาร์ และการประชุม GCC ครั้งที่ 41 ที่อาจเป็นจุดเปลี่ยนการเมืองตะวันออกกลาง

11.01.2021
  • LOADING...
ย้อนรอยร้าวอ่าวอาหรับ

HIGHLIGHTS

10 mins. read
  • เป็นประเด็นการเมืองตะวันออกกลางที่น่าจับตารับปี 2021 เมื่อกาตาร์ที่ก่อนหน้านี้ถูกกลุ่มประเทศอาหรับ นำโดยซาอุดีอาระเบียตัดสัมพันธ์ทางการทูตและปิดล้อมอย่างหนัก กลับได้รับการฟื้นฟูความสัมพันธ์อย่างไม่มีเงื่อนไขจากบรรดาชาติอาหรับ
  • สัญญาณการฟื้นคืนความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบียกับกาตาร์เริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2020 เมื่อกษัตริย์แห่งซาอุดีอาระเบียได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีตุรกี เพื่อหาทางคลี่คลายปัญหาความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างทั้งสองประเทศ จนนำไปสู่การลงนามร่วมกันในคำประกาศอัลอูลา หรือ ‘ข้อตกลงความเป็นปึกแผ่นและเสถียรภาพ’ (Solidarity and Stability) เมื่อต้นเดือนมกราคม 2021
  • ความพยายามในการประสานรอยร้าวระหว่างรัฐสมาชิกอ่าวอาหรับมีมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งความพยายามจากภายในที่มีคูเวตกับโอมานทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานการพูดคุย และความพยายามจากภายนอกทั้งจากตุรกีที่ต้องการให้โลกอาหรับรวมตัวกัน
  • ขณะที่สหรัฐฯ ต้องการให้ GCC ผนึกกำลังกันต่อต้านอิหร่าน โดยพยายามกดดันประเทศในแถบอ่าวให้หาทางแก้ไขวิกฤต โดยย้ำว่าการขาดความเป็นเอกภาพจะยิ่งทำให้อิหร่านเข้มแข็งมากขึ้น
  • การที่กาตาร์ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากซาอุดีอาระเบียและลงนามในข้อตกลงเพื่อยกระดับความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับกลุ่ม GCC โดยไม่ได้พูดถึงเงื่อนไขความขัดแย้งที่ผ่านมา อาจตีความได้ว่านี่เป็นความสำเร็จของ GCC และเป็นชัยชนะของกาตาร์อย่างแท้จริง
  • หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ภูมิทัศน์การเมืองตะวันออกกลางพลิกโฉมไป อาจมาจากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ โจ ไบเดน เป็นผู้ชนะ โดยที่ผ่านมาไบเดนเน้นจุดยืนการทบทวนความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบียใหม่ อันเป็นผลจากปัญหาสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้เขายังมีท่าทีต่อต้านผู้นำตุรกี ซึ่งอาจกลายเป็นโจทย์ใหญ่ร่วมกันของทั้งซาอุดีอาระเบียและตุรกีที่จะต้องรับมือในอนาคต ด้วยเหตุนี้ ซาอุดีอาระเบียจึงหันมาสร้างความเป็นเอกภาพในกลุ่ม GCC รวมทั้งการปรับสัมพันธ์กับตุรกีด้วย และนั่นก็อาจเป็นที่มาของกระบวนการพูดคุยระหว่างกันที่ปรากฏชัดมาตั้งแต่ปลายปี 2020 ซึ่งปูทางสู่การฟื้นสัมพันธ์กับกาตาร์ในที่สุด

วันอังคารที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา ซาอุดีอาระเบียได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council) ครั้งที่ 41 ที่เมืองอัลอูลา (Al-Ula) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ การประชุมครั้งนี้ได้รับความสนใจเป็นพิเศษและมีความสำคัญมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะซาอุดีอาระเบียได้เชิญ เชค ตะมีม บิน ฮาหมัด อัล ซานี เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์เข้าร่วมด้วยเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีครึ่งที่ทรงเสด็จมาด้วยพระองค์เอง หลังจากที่กาตาร์ถูกซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี), บาห์เรน รวมทั้งอียิปต์ ตัดความสัมพันธ์ทางการทูต คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ และปิดล้อมการคมนาคมทั้งทางบก ทางอากาศ และทางทะเล มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2017 จนเกิดเป็นวิกฤตความสัมพันธ์รัฐอ่าวอาหรับครั้งรุนแรงที่สุด

การประชุม GCC และการฟื้นความสัมพันธ์ภายในกลุ่มรัฐอ่าวอาหรับครั้งนี้ นอกจากบรรยากาศที่ชื่นมื่นแล้ว ยังมีความน่าสนใจหลายประการ เริ่มตั้งแต่เมื่อเจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์เสด็จถึงสนามบินและก้าวลงจากเครื่องบิน ก็ได้รับการต้อนรับและการสวมกอดจากเจ้าชายมูฮัมหมัด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นผู้นำโดยพฤตินัยของซาอุดีอาระเบีย มีการทักทายยิ้มแย้มและเดินสนทนากันฉันมิตรเสมือนว่าที่ผ่านมาไม่มีอะไรเกิดขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นในการประชุมก็ไม่ได้มีการพูดถึงปัญหาความขัดแย้งที่ผ่านมา ซึ่งอาจตีความหมายได้ว่าข้อพิพาทระหว่างกันอาจดำรงอยู่เหมือนเดิมแต่ไม่พูดถึงหรือจะพูดในโอกาสถัดๆ ไป หรือปมปัญหาเหล่านั้นอาจคลี่คลายไปแล้วอย่างเงียบๆ โดยที่ผ่านมามีหลายประเทศมีส่วนในการผลักดันให้ซาอุดรอาระเบียกับกาตาร์ปรับความสัมพันธ์กัน ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา คูเวต หรือแม้แต่ตุรกี

บทความนี้ต้องการนำเสนอให้เห็นที่มาของปัญหาความขัดแย้งในกลุ่มรัฐอ่าวอาหรับ โดยเฉพาะระหว่างซาอุดีอาระเบียกับกาตาร์ และวิเคราะห์ปัจจัยที่นำมาสู่การปรับความสัมพันธ์กัน ตลอดจนแนวโน้มและนัยของการประชุม GCC ครั้งที่ 41 ต่อภูมิภาคตะวันออกกลาง

 

ย้อนรอยร้าวอ่าวอาหรับ


อดีตและปัจจุบันของ GCC
คณะมนตรีความร่วมมืออ่าวอาหรับ หรือ GCC คือการรวมตัวกันของกลุ่มประเทศรอบอ่าวอาหรับ หรือบางคนเรียกอ่าวเปอร์เซีย ประกอบด้วย ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน ยูเออี กาตาร์ โอมาน และคูเวต ก่อตั้งขึ้นในปี 1981 โดยในช่วงนั้นมีเป้าหมายร่วมกันคือเพื่อต่อต้านอิหร่าน เพราะหวั่นเกรงต่อกระแสการส่งออกแนวคิดการปฏิวัติอิสลามอิหร่านที่เกิดขึ้นในปี 1979 ตามมาด้วยความขัดแย้งรุนแรงระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่าน จนเกิดเป็น 2 ขั้วอำนาจสำคัญในภูมิภาค ด้านหนึ่งซาอุดีอาระเบียร่วมกับสหรัฐฯ สนับสนุนอิรัก ทำสงครามกับอิหร่าน หรือที่เรียกกันว่าสงคราม 8 ปีอิรัก-อิหร่าน อีกด้านหนึ่งรัฐรอบอ่าวอาหรับก็รวมกลุ่มกันเพื่อให้เกิดเอกภาพในการต่อต้านอิทธิพลของอิหร่าน จึงเป็นที่มาของกลุ่ม GCC ซึ่งเน้นความร่วมมือกันทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง

ที่ผ่านมา GCC ถือเป็นองค์การระดับภูมิภาคที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดแห่งหนึ่ง เป็นกลุ่มประเทศร่ำรวยน้ำมัน มีกฎบัตรร่วมกัน และพยายามพัฒนาสู่การเป็นสหภาพทางเศรษฐกิจและการเมือง มีฐานะทางการเงินที่มั่นคง มีซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศพี่ใหญ่และมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป รวมทั้งสถาบันการเงินที่สำคัญอย่างธนาคารโลก (World Bank)

อย่างไรก็ตาม แม้ GCC จะมีซาอุดีอาระเบียเป็นพี่ใหญ่ที่มีบทบาทในการชี้นำ และในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาก็ทำงานด้วยกันอย่างราบรื่น ไม่ปรากฏให้เห็นภาพของความขัดแย้งภายในบ่อยครั้งนัก แต่ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าเริ่มมีรอยร้าวมากขึ้น ทั้งนี้ GCC ไม่เคยปะทะขัดแย้งกันรุนแรงหรือใช้กำลังระหว่างกัน แต่ก็ไม่ได้เป็นเอกภาพเหมือนในอดีต ในความเป็นจริงอาจแบ่งกลุ่มใน GCC ตามลักษณะของการดำเนินนโยบายต่างประเทศได้อีก เช่น กลุ่มที่ใกล้ชิดล่มหัวจมท้ายกัน และมีบทบาทเชิงรุกในภูมิภาคอย่าง ซาอุดีอาระเบีย ยูเออี และบาห์เรน แต่ช่วงหลังยูเออีกับซาอุดีอาระเบียก็มีท่าทีต่างกันในบางเรื่องเช่นปัญหาในเยเมน 

 

กลุ่มต่อมาคือประเทศเล็กๆ ที่ดำเนินนโยบายเป็นกลางอย่างคูเวตกับกาตาร์ ซึ่งมักแสดงบทบาทเป็นกาวใจในยามที่เกิดความไม่ลงรอยกันเหมือนที่ทำอยู่ในปัจจุบัน สองประเทศนี้จะมีส่วนสำคัญในการประสานรอยร้าวระหว่างซาอุดีอาระเบียกับกาตาร์ สุดท้ายคือประเทศที่ดำเนินนโยบายอิสระอย่างกาตาร์ที่หลายครั้งตัดสินใจสวนทางกับประเทศสมาชิกอื่นโดยเฉพาะ ไม่สนใจพี่ใหญ่อย่างซาอุดีอาระเบีย เช่น การไปสนับสนุนอดีตประธานาธิบดีมุรซีของอียิปต์ หรือไปสานสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอิหร่านและตุรกี สนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ตลอดจนสำนักข่าว Al Jazeera ที่รายงานข่าวเหตุการณ์อาหรับสปริงจากมุมมองของผู้ประท้วงทำให้รัฐกษัตริย์หลายแห่งไม่พอใจ ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลหลักที่นำไปสู่วิกฤตตัดความสัมพันธ์กันระหว่างรัฐอ่าวอาหรับกับกาตาร์เมื่อ 3 ปีก่อน

 

ย้อนรอยร้าวอ่าวอาหรับ


ปมปัญหาที่มา ซาอุดีอาระเบียตัดสัมพันธ์กาตาร์
วันที่ 5 มิถุนายน 2017 ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน อียิปต์ มัลดีฟส์ เยเมน และลิเบีย ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์ ด้วยข้อกล่าวหาว่ากาตาร์ให้การสนับสนุนทั้งกำลังและเงินทุนต่อกลุ่มก่อการร้าย รวมถึงกรณีกล่าวหาว่าสำนักข่าวของกาตาร์เผยแพร่ทัศนคติเชิงลบต่อประเทศซาอุดีอาระเบีย

การที่กาตาร์ถูกโดดเดี่ยวหรือถูกตัดความสัมพันธ์อย่างสิ้นเชิงจากกลุ่มประเทศอาหรับทั้งหลาย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเยือนซาอุดีอาระเบียของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ระหว่างวันที่ 20-21 พฤษภาคม 2017 ซึ่งทรัมป์เองในตอนแรกก็อ้างเป็นผลงานเขา แต่ในภายหลังได้เรียกร้องให้มีการพูดคุยปรับความสัมพันธ์กัน

การเยือนครั้งนั้น โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ร่วมประชุมกับบรรดาผู้นำประเทศมุสลิม 55 ประเทศ ทรัมป์ใช้โอกาสนี้พูดกับผู้นำประเทศเหล่านั้นโดยให้ความสำคัญกับ 2 เรื่องหลัก เรื่องแรกคือเรียกร้องให้โลกมุสลิมต่อต้านอิทธิพลของอิหร่าน โดยกล่าวหาอิหร่านว่ากำลังบ่อนทำลายเสถียรภาพของภูมิภาค

อีกเรื่องคือต้องการให้กลุ่มประเทศมุสลิมโดยเฉพาะในตะวันออกกลางสร้างพันธมิตรที่เหนียวแน่นเพื่อต่อต้านกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์ กลุ่มไอเอส และที่สำคัญคือทรัมป์จัดให้กลุ่มภราดรภาพมุสลิม หรือกลุ่มอิควานนุลมุสลิมูน (Ikhwan al Muslimoon /Muslim Brotherhood) เป็นกลุ่มก่อการร้ายด้วยเช่นกัน ทั้งๆ ที่ในสายตาของมวลชนส่วนใหญ่ในโลกอาหรับรวมทั้งในอีกหลายๆ ประเทศค่อนข้างนิยมชมชอบกลุ่มภราดรภาพมุสลิมในฐานะขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง กลุ่มภราดรภาพมุสลิมได้รับความนิยมมากขึ้นโดยเฉพาะหลังเหตุการณ์อาหรับสปริง นอกจากนี้ยังมีส่วนสำคัญในการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนปาเลสไตน์และกลุ่มฮามาสในการต่อสู้กับอิสราเอล

ในอีกด้านหนึ่ง กระแสอิสลามการเมือง (Political Islam) หรือการเรียกร้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองตามแนวทางอิสลามที่เพิ่มมากขึ้น และการสนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิมที่ขยายวงกว้างทำให้ชนะการเลือกตั้งในหลายประเทศ จนรัฐกษัตริย์หรือระบอบอำนาจนิยมในตะวันออกกลางรู้สึกหวาดหวั่น จึงนำไปสู่การกล่าวหาว่ากลุ่มภราดรภาพมุสลิมเป็นกลุ่มก่อการร้าย ดังเช่นที่ศาสตราจารย์จรัญ มะลูลีม ได้ชี้ให้เห็นว่า “ในการกล่าวหาขบวนการภราดรภาพมุสลิมนั้นพบว่าอัล-ซิซี ประธานาธิบดีของอียิปต์ และบรรดารัฐกษัตริย์แถบอ่าวเปอร์เซียต่างก็มองว่าขบวนการภราดรภาพเป็นสิ่งคุกคามต่อรัฐบาลของพวกเขา สิ่งที่กลุ่มนี้ต้องการคือการปกครองที่มีศาสนาอิสลามเป็นหลัก ซึ่งแน่นอนย่อมกระทบกับสถานะของผู้นำในอ่าวเปอร์เซียทั้งหลาย”

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าทั้งอิหร่านที่ขยายอิทธิพลเพิ่มมากขึ้นในตะวันอออกกลาง และกลุ่มภราดรภาพมุสลิมที่กำลังได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ ถูกมองเป็นภัยคุกคามความมั่นคงต่อทั้งซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ อิสราเอล และสหรัฐอเมริกา การสร้างพันธมิตรที่เหนียวแน่นในการต่อต้านอิหร่านและการก่อการร้าย จึงเป็นวาระสำคัญที่มหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นในภูมิภาค โดยมีซาอุดีอาระเบียเป็นหัวจักรในการขับเคลื่อนในฐานะพี่ใหญ่ที่ต้องสร้างความเป็นเอกภาพและกำหนดจุดยืนที่ชัดเจน โดยเฉพาะในกลุ่มอ่าวอาหรับที่เน้นให้สมาชิกต้องต่อต้านอิหร่านและกลุ่มภราดรภาพมุสลิม รวมไปถึงตุรกีที่สนับสนุนแนวทางอิสลามการเมืองของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม

ถ้ามองประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม GCC อาจไม่ค่อยมีปัญหามากนัก เพราะทุกประเทศพร้อมที่จะดำเนินนโยบายตามซาอุดีอาระเบียอยู่แล้ว แต่สำหรับกาตาร์ที่มีความระหองระแหงกับหลายประเทศ โดยเฉพาะกับซาอุดีอาระเบีย กลายเป็นประเทศที่แตกแถวหรือดำเนินนโยบายอิสระและสร้างความไม่พอใจให้กับหลายประเทศในตะวันออกกลาง กาตาร์ดำเนินนโยบายทั้งสานสัมพันธ์กับอิหร่าน มีผลประโยชน์ด้านพลังงานและทรัพยากรทางทะเลร่วมกัน แม้ในสมรภูมิซีเรียจะอยู่ตรงข้ามกันก็ตาม อีกทั้งยังใกล้ชิดกับตุรกี และสนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิม

ในเหตุการณ์อาหรับสปริง สำนักข่าวสำคัญอย่าง Al Jazeera ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กาตาร์ ก็ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงนำเสนอข่าวของมวลชนคนอาหรับที่ลุกฮือประท้วงโค่นล้มผู้นำเผด็จการในหลายประเทศ เป็นการเสนอข่าวสารตามมาตรฐานสื่อสากล ทำให้รัฐกษัตริย์และระบอบอำนาจนิยมในหลายประเทศของตะวันออกกลางไม่พอใจ Al Jazeera เป็นอย่างมาก มองว่า Al Jazeera พยายามแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ในบางประเทศที่การปฏิวัติสำเร็จ รัฐบาลที่มีตัวแทนของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับกาตาร์ เช่น กรณีอียิปต์และตูนีเซีย โดยเฉพาะอียิปต์ อดีตประธานาธิบดีมุรซีที่มาจากการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ ก็เป็นสมาชิกของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม แต่พอถูกรัฐประหารโดยนายพลอัล-ซิซี กลุ่มภราดรภาพมุสลิมก็ถูกขึ้นบัญชีเป็นกลุ่มก่อการร้ายสำหรับอียิปต์และซาอุดีอาระเบีย ทั้งสองประเทศนี้ยังปราบปรามกลุ่มภราดรภาพมุสลิมในประเทศของตัวเองอย่างหนัก

กาตาร์เคยถูกซาอุดีอาระเบียและกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับร่วมกันกดดันมาแล้วในปี 2014 โดยซาอุดีอาระเบีย ยูเออี และบาห์เรน ได้เรียกเอกอัครราชทูตกลับจากกาตาร์ เพราะไม่พอใจที่กาตาร์ให้การสนับสนุนประธานาธิบดีมุรซี แรงกดดันในครั้งนั้น แม้จะไม่หนักหนาเหมือนครั้งล่าสุด แต่ก็ทำให้กาตาร์ต้องยอมโอนอ่อนผ่อนตามพอสมควรเพื่อปรับความสัมพันธ์กันใหม่ โดยกาตาร์ยอมลดการสนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิมและบีบให้สมาชิกบางส่วนออกนอกประเทศ ไม่ให้ใช้กาตาร์เคลื่อนไหวทางการเมือง ประเทศต่างๆ จึงยอมส่งทูตกลับมา ใช้เวลาถึง 8 เดือนกว่าจะคลี่คลายปัญหาระหว่างกันได้ ในช่วงต้นปี 2016 ที่ซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านมีปัญหากันอย่างรุนแรง กาตาร์ก็เป็นประเทศหนึ่งที่ร่วมกับกลุ่มประเทศในแถบอ่าวตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่าน แต่กระนั้นก็ตาม กาตาร์ก็ยังสานสัมพันธ์ด้านอื่น ๆ กับอิหร่าน มีการแสดงความยินดีกับประธานาธิบดีโรฮานี ที่ชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 อีกทั้งยังคงให้การสนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะให้ที่พักพิงกับแกนนำสำคัญๆ ในขณะที่ Al Jazeera ก็ยังคงนำเสนอข่าวตามมาตรฐานสากล ทำให้หลายประเทศไม่พอใจ

หลายคนมองว่าข้อกล่าวหาต่างๆ ที่ยกมาเป็นเหตุผลในการตัดความสัมพันธ์กับกาตาร์เป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ว่ากาตาร์สนับสนุนการก่อการร้าย หรือข้อกล่าวหาว่ากาตาร์ร่วมมือกับกองกำลังติดอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านในเมืองกาตีฟซึ่งมีมุสลิมชีอะห์เป็นชนกลุ่มใหญ่ รวมทั้งในประเทศบาห์เรน หรือแม้แต่กรณีที่อ้างว่าสำนักข่าว QNA ของทางการกาตาร์ได้เผยแพร่ความเห็นของกษัตริย์ ตามีม บิน ฮามัด อัล ซานี ที่เป็นการแสดงทัศนะคติเชิงลบต่อประเทศซาอุดีอาระเบีย แม้กาตาร์ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้และชี้แจ้งว่าเว็บไซต์ดังกล่าวถูกแฮ็กก็ตาม แต่ประเทศอ่าวอาหรับเพื่อนบ้านก็ไม่สนใจและสั่งปิดสื่อกาตาร์หลายสำนัก รวมทั้งปิดสำนักงาน Al Jazeera ในประเทศของตัวเองด้วย

ซาอุดีอาระเบียอาจต้องการเพียงแค่ลงโทษกาตาร์โดยไม่ได้คาดหมายว่าจะตัดความสัมพันธ์กันถาวร สหรัฐฯ ก็เช่นกันเพราะมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับกาตาร์ มีฐานทัพขนาดใหญ่ของตัวเองอยู่ในประเทศนี้ เพียงแต่ต้องการให้กาตาร์เลือกข้างและมีจุดยืนที่ชัดเจนเหมือนกับพันธมิตรรายอื่นในกลุ่ม GCC โดยจะเห็นได้ว่าสหรัฐฯ ก็เรียกร้องให้มีการเจรจาหาทางออกร่วมกัน สหรัฐฯ ออกโรงเชิญผู้นำกาตาร์มาเยือนเพื่อหารือทางออกร่วมกัน การกดดันและลงโทษที่รุนแรงขนาดนี้ ในอีกด้านหนึ่งคือการเปิดโอกาสให้ประเทศอื่นยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือกาตาร์ ไม่ว่าจะเป็นอิหร่าน ตูนิเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตุรกีที่ออกมาสนับสนุนกาตาร์เต็มที่ ทั้งแทรกแซงมาตรการคว่ำบาตรและส่งทหารเข้าคุ้มครองกาตาร์ เป็นต้น ดังนั้นความพยายามในการกระชับความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศอาหรับเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายและอิหร่านด้วยวิธีการกดดันหรือลงโทษประเทศที่แตกแถวอย่างกาตาร์ อาจเป็นนโยบายที่ผิดพลาดหรือเพลี่ยงพล้ำของทรัมป์และมหาอำนาจในภูมิภาค เพราะบีบให้กาตาร์ตีตัวออกห่างแล้วไปแสวงหาพันธมิตรนอกกลุ่มเพื่อความอยู่รอด จนกระทั่งการปิดล้อมผ่านไปมากกว่า 3 ปี ปรากฏว่ากาตาร์ประคองตัวอยู่รอดมาได้อย่างมั่นคงและกลายเป็นประเทศที่มีอิสระในการดำเนินนโยบายในกลุ่มรัฐอ่าวอาหรับ จนซาอุดีอาระเบียต้องยอมรับและหันกลับมาปรับความสัมพันธ์กันใหม่

 

ย้อนรอยร้าวอ่าวอาหรับ


เงื่อนไขเพื่อแลกการยกเลิกมาตรการปิดล้อม
การตัดความสัมพันธ์และปิดล้อมกาตาร์เป็นไปอย่างเข้มข้น ทั้งซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน ยูเออี และอียิปต์ โดยเป็นการตัดขาดกาตาร์ในทุกมิติ ห้ามไม่ให้กาตาร์ใช้น่านฟ้า ซาอุดีอาระเบียปิดพรมแดนทางบก ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญที่กาตาร์ใช้เดินทางและขนส่งสินค้าผ่านซาอุดีอาระเบีย นอกจากนี้ประเทศเหล่านี้ยังสั่งให้พลเมืองของตนออกจากกาตาร์ และสั่งให้ชาวกาตาร์ที่อาศัยอยู่ในซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน ยูเออี อียิปต์ เดินทางออกไปภายใน 2 สัปดาห์ เรียกว่าไม่คบไม่ค้าไม่ต้องไปมาหาสู่กันเลย 

 

มีการตั้งชุดเงื่อนไขขึ้นมาว่าหากกาตาร์ต้องการให้ยกเลิกมาตรการปิดล้อมนี้ กาตาร์ต้องปฏิบัติ ดังนี้

1. ระงับความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่าน ปิดสถานทูตกาตาร์ในอิหร่าน จำกัดการค้าขายกับอิหร่านเพื่อให้เป็นไปตามมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และนานาประเทศ
2. ตัดขาดกับองค์การก่อการร้ายและบุคคลตามบัญชีผู้ก่อการร้ายของประเทศที่ร่วมปิดล้อมกาตาร์ อีกทั้งกาตาร์ต้องชดเชยเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบทั้งที่เสียชีวิตและผลกระทบทางการเงิน อันเป็นผลมาจากนโยบายของกาตาร์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
3. ปิดสำนักข่าว Al Jazeera และเครือข่ายสถานีของสำนักข่าวดังกล่าว ยุติการให้ทุนกับสื่อต่างๆ ที่ริยาด มองว่ากาตาร์กำลังให้การสนับสนุนอยู่ เช่น Middle East Eye (ทั้งนี้ทั้ง MEE และกาตาร์ปฏิเสธไม่ได้เกี่ยวข้องสนับสนุนกัน)
4. ยุติความร่วมมือทางการทหารกับตุรกีทันที
5. หยุดพฤติกรรมแทรกแซงกิจการภายในและอธิปไตยของประเทศอื่น รวมทั้งยุติการติดต่อและการสนับสนุนผู้นำการเมืองฝ่ายตรงข้ามซาอุดีอาระเบีย ยูเออี อียิปต์ และบาห์เรน นอกจากนั้น ต้องส่งมอบเอกสารหลักฐานทั้งหมดที่กาตาร์เคยติดต่อหรือให้การสนับสนุนกลุ่มฝ่ายตรงข้ามเหล่านั้นในประเทศต่างๆ
6. กาตาร์ต้องวางแนวนโยบายเดียวกับรัฐรอบอ่าวอื่นๆ ทั้งในด้านการทหาร การเมือง สังคม และเศรษฐกิจ

กาตาร์นอกจากไม่ยอมรับข้อกล่าวหาต่างๆ แล้ว ยังปฏิเสธที่จะทำตามข้อเรียกร้องดังกล่าว โดยมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่อาจทำได้ แต่ที่น่าแปลกใจและอาจกล่าวได้ว่าเป็นชัยชนะของกาตาร์คือซาอุดีอาระเบียและรัฐรอบอ่าวอื่นๆ ที่ปิดล้อมกาตาร์กลับยอมฟื้นฟูความสัมพันธ์อย่างไม่มีเงื่อนไข โดยค่อยๆ ดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปี 2020 แล้ว

คำประกาศอัลอูลา (Al-Ula Declaration) ชัยชนะของ GCC และชัยชนะของกาตาร์
ความพยายามในการประสานรอยร้าวระหว่างรัฐสมาชิกอ่าวอาหรับมีมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งความพยายามจากภายในที่มีคูเวตกับโอมานทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานการพูดคุย และความพยายามจากภายนอกทั้งจากตุรกีที่ต้องการให้โลกอาหรับรวมตัวกัน ขณะที่สหรัฐฯ ต้องการให้ GCC ผนึกกำลังกันต่อต้านอิหร่าน โดยพยายามกดดันประเทศในแถบอ่าวให้หาทางแก้ไขวิกฤตโดยย้ำว่าการขาดความเป็นเอกภาพจะยิ่งทำให้อิหร่านเข้มแข็งมากขึ้น

สัญญาณการฟื้นคืนความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบียกับกาตาร์เริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2020 เมื่อกษัตริย์ซัลมานแห่งซาอุดีอาระเบียได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีแอร์โดอันแห่งตุรกี เพื่อหาทางคลี่คลายปัญหาความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างทั้งสองประเทศ จากนั้นไม่นานรัฐมนตรีต่างประเทศเจ้าชายไฟซอล บิน ฟัรฮาน อัล ซาอูด ได้เปิดเผยว่าริยาดกำลังหาทางยุติการปิดล้อมกาตาร์ จนกระทั่งวันที่ 4 ธันวาคม เจ้าชายไฟซอลได้ประกาศว่า “ใกล้จะบรรลุข้อตกลงขั้นสุดท้ายแล้ว” ในขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศของกาตาร์ เชค มูฮัมหมัด บิน อับดุลเราะห์มาน อัล ซานี ก็ยืนยันทำนองเดียวกัน โดยกล่าวว่า “มีความคืบหน้าบางอย่างที่คาดหวังได้ว่าจะนำมาสู่การยุติวิกฤตที่เกิดขึ้น”

วันที่ 30 ธันวาคม GCC ประกาศว่า กษัตริย์ซัลมานของซาอุดีอาระเบีย ได้เชิญเจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์เข้าร่วมการประชุมสุดยอด GCC ครั้งที่ 41 ในวันที่ 5 มกราคม 2021 โดยหนึ่งวันก่อนที่จะมีการประชุมหรือวันที่ 4 มกราคมนั้น รัฐมนตรีต่างประเทศคูเวต อะหมัด นาซิร อัล ซาบาห์ ได้ประกาศว่าซาอุดีอาระเบียและกาตาร์บรรลุข้อตกลงร่วมกันแล้วในการเปิดน่านฟ้า พรมแดนทางบก และทางทะเลระหว่างกัน วันถัดมาจึงได้เห็นภาพมกุฎราชกุมาร บิน ซัลมาน และเจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์สวมกอดกันที่สนามบินเมืองอัลอูลา ก่อนการประชุมซึ่งนำไปสู่การลงนามร่วมกันในคำประกาศอัลอูลา หรือ ‘ข้อตกลงความเป็นปึกแผ่นและเสถียรภาพ’ (Solidarity and Stability) โดยมี จาเร็ด คุชเนอร์ ลูกเขยและที่ปรึกษาอาวุโสประธานาธิบดีทรัมป์ เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ด้วย

การที่กาตาร์ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากซาอุดีอาระเบียและลงนามในข้อตกลงเพื่อยกระดับความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับกลุ่ม GCC โดยไม่ได้พูดถึงเงื่อนไขความขัดแย้งที่ผ่านมา อาจตีความได้ว่านี้เป็นความสำเร็จของ GCC และเป็นชัยชนะของกาตาร์อย่างแท้จริง

 

ย้อนรอยร้าวอ่าวอาหรับ


โจ ไบเดน โจทย์ใหญ่สำหรับซาอุดีอาระเบียและตุรกี กับเหตุผลฟื้นสัมพันธ์กาตาร์
นอกจากความพยายามของตัวแสดงต่างๆ ทั้งในและนอกภูมิภาคที่ต้องการให้รัฐอ่าวอาหรับกลับมาคืนดีกัน มีความเป็นไปได้ว่าผลจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปลายปี 2020 ที่ปรากฏว่า โจ ไบเดน ชนะทรัมป์และกำลังก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ซาอุดีอาระเบียและตุรกีต้องคิดหนักหรือหันหน้ามาพูดคุยกัน

เพราะจากท่าทีหรือแนวนโยบายของไบเดนที่ผ่านมา ค่อนข้างเป็นปัญหาสำหรับทั้ง 2 ประเทศ กล่าวคือ ไบเดนมีแนวโน้มที่จะทบทวนความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบียจากกรณีข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการสังหาร จามาล คาช็อกกี เมื่อปี 2018 นอกจากนี้ไบเดนและพรรคเดโมแครตจะกดดันซาอุดีอาระเบียกรณีปัญหาสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ส่วนตุรกี โจ ไบเดน ก็แสดงท่าทีชัดเจนมากว่าเขาต่อต้านประธานาธิบดีแอร์โดอันมาตลอดตั้งแต่สมัยที่เป็นรองประธานาธิบดียุคโอบามา

ไบเดนเคยเสนอว่าสหรัฐฯ ต้องสนับสนุนฝ่ายค้านตุรกีเพื่อโค่นแอร์โดอันผ่านการเลือกตั้ง ดังนั้นหากไบเดนขึ้นเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ และมีจุดยืนเดิม เขาอาจกลายเป็นโจทย์ใหญ่ร่วมกันของทั้งซาอุดีอาระเบียและตุรกีที่จะต้องรับมือในอนาคต ด้วยเหตุนี้ ซาอุดีอาระเบียจึงควรสร้างความเป็นเอกภาพในกลุ่ม GCC ให้ได้จะดีที่สุด รวมทั้งการปรับสัมพันธ์กับตุรกีด้วย จึงเป็นที่มาของกระบวนการพูดคุยระหว่างกันที่ปรากฏชัดมาตั้งแต่ปลายปี 2020 ปูทางสู่การฟื้นสัมพันธ์กับกาตาร์ในที่สุด

 

สัญญาณและแนวโน้มภูมิทัศน์การเมืองระหว่างประเทศหลังการลงนาม Al Ula Declaration
การประชุม GCC ครั้งที่ 41 จบลงด้วยดี มีการออกคำประกาศอัลอูลา หรือการลงนามร่วมกันของผู้นำกลุ่มรัฐรอบอ่าวอาหรับที่เรียกว่า ‘ข้อตกลงความเป็นปึกแผ่นและเสถียรภาพ’ (Solidarity and Stability Agreement) เป็นการตอกย้ำความเป็นเอกภาพและความร่วมมือกันของกลุ่ม GCC ในทุกมิติ เพื่อเดินหน้าสร้างสหภาพรัฐอาหรับรอบอ่าวต่อไป

ในข้อตกลงได้ระบุถึงประเด็นความร่วมมือมากถึง 117 เรื่อง รวมไปถึงความร่วมมือในการต่อสู้กับโรคระบาดโควิด-19 ด้วย ข้อตกลงดังกล่าวถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อภูมิทัศน์การเมืองระหว่างประเทศในตะวันออกกลาง นักวิเคราะห์บางคนมองว่าเป็นจุดสิ้นสุดหรือเป็นสัญลักษณ์ของการยุติความขัดแย้งระหว่างกาตาร์กับซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน ยูเออี และอียิปต์

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางคนมองว่าความขัดแย้งยังคงดำรงอยู่แต่ข้อตกลงนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพูดคุยหาทางคลี่คลายปัญหาต่อไป ทั้งนี้ไม่ว่าจะมองมุมไหนก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อบรรยากาศการเมืองในตะวันออกกลาง หลายประเทศร่วมยินดีกับข้อตกลงนี้ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ตุรกี อียิปต์ อิรัก เลบานอน ลิเบีย เลขาธิการสหประชาชาติ และประธานาธิบดีมะห์มูด อับบาส แห่งปาเลสไตน์ อิหร่านโดยรัฐมนตรีต่างประเทศ จาวาด ซารีฟ แม้จะไม่ได้พูดถึงการประชุม GCC แต่ก็แสดงความยินดีกับกาตาร์ที่สามารถทนต่อแรงกดดันอย่างหาญกล้าจนประสบความสำเร็จ นอกจากนี้อิหร่านยังพูดฝากไปถึงผู้นำอาหรับอื่นๆ ว่า อิหร่านไม่ได้เป็นศัตรูและไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อพวกเขาเลย

การปรับความสัมพันธ์ระหว่างกันครั้งนี้ ยังอาจนำไปสู่ภูมิทัศน์ใหม่ของการเมืองตะวันออกกลาง หรืออย่างน้อยในกลุ่ม GCC โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายที่เป็นมิตรและให้อิสระต่อกันมากขึ้น ควบคู่กับการกระชับความร่วมมือเพื่อพัฒนาสู่ความเป็นสหภาพที่เข้มแข็ง ทั้งนี้มีข้อสังเกตหลายประการที่เป็นสัญญาณดีซึ่งเกิดขึ้นจากการประชุมครั้งนี้ ประการแรกคือ ไม่มีการหยิบยกประเด็นความขัดแย้งที่ผ่านมาขึ้นมาพูดให้เสียบรรยากาศการประชุม ประการต่อมาคือการปรับสัมพันธ์กับกาตาร์แบบไม่มีเงื่อนไข ซาอุดีอาระเบียไม่เรียกร้องให้กาตาร์ต้องทำหรือไม่ทำอะไร ซึ่งอาจหมายความได้ว่ากาตาร์มีอิสระในการดำเนินนโยบายต่างประเทศกับตุรกี หรือแม้แต่อิหร่าน ไม่ได้บีบให้กาตาร์ต้องตัดความสัมพันธ์กับอิหร่านเหมือนที่ผ่านมา

และแม้ว่าในระหว่างการประชุม มกุฎราชกุมาร มูฮัมหมัด บิน ซัลมาน จะเน้นว่า GCC ต้องร่วมมือกันรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงและภัยคุกคามจากอิหร่าน แต่ในเอกสารคำประกาศหรือข้อตกลงร่วมก็ไม่ระบุถึงการต่อต้านอิหร่านตรงๆ ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นเพียงท่าทีของซาอุดีอาระเบียกับมกุฎราชกุมาร บิน ซัลมาน เท่านั้น ไม่ใช่ความเห็นพ้องร่วมกันของกลุ่ม GCC โดยหลังจากการประชุม รัฐมนตรีต่างประเทศของกาตาร์ยืนยันชัดเจนว่ากาตาร์ยังคงจะสานต่อความสัมพันธ์กับอิหร่านและตุรกี

ข้อเรียกร้องที่เคยถูกนำมาเป็นเงื่อนไขกับกาตาร์ว่าต้องยุติความร่วมมือทางทหารกับตุรกี และยุติการสนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิมก็ไม่ได้มีการพูดถึง อาจหมายถึงการยอมรับจุดยืนของกาตาร์และอิสระในการดำเนินนโยบายด้วยเช่นกัน แต่กระนั้นประเด็นเหล่านี้ก็อาจถูกหยิบยกขึ้นมาหารือต่อรองกันในภายหลัง

การฟื้นสัมพันธ์รัฐอ่าวอาหรับกับกาตาร์ที่เกิดขึ้นในการประชุม GCC และสามารถบรรลุข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ร่วมกันได้ อาจเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของภูมิทัศน์การเมืองระหว่างประเทศในตะวันออกกลาง โดยมีกาตาร์เป็นตัวสร้างสมดุลใหม่ การยอมรับปรับความสัมพันธ์กับกาตาร์อาจนำไปสู่การคลี่คลายปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบียกับตุรกี และอาจรวมไปถึงอียิปต์ในอนาคต ความสัมพันธ์ระหว่างกาตาร์กับอิหร่านอาจจะช่วยลดทอนปัญหาความขัดแย้งระหว่างสมาชิก GCC กับอิหร่านได้บ้าง กาตาร์อาจทำหน้าที่เป็นพื้นที่กลางในการประสานพูดคุยระหว่างรัฐกษัตริย์ในตะวันออกกลาง รวมทั้งอียิปต์กับกลุ่มภราดรภาพมุสลิมเพื่อคลายความขัดแย้งและความหวาดระแวงที่มีต่อกัน ในอีกด้านหนึ่งการไม่กดดันกาตาร์ให้ปิด Al Jazeera ก็อาจหมายถึงการยอมรับเสรีสื่อในระดับหนึ่ง

ทั้งหมดนี้จึงเป็นสัญญาณที่ดีรับปี 2021และอาจนำไปสู่ภูมิทัศน์ใหม่ของการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ต้องติดตามกันต่อไป

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising