×

เมื่อหนึ่งธุรกรรมสะเทือนถึงดวงดาว มองความปลอดภัยดิจิทัลผ่านงาน Visa Asia Pacific Security Summit 2018

21.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 MINS READ
  • Visa Asia Pacific Security Summit 2018 คือ งานสัมมนาด้านการเงินที่ใหญ่ระดับภูมิภาคจากประเทศสิงคโปร์
  • Visa เผยคนไทยกว่า 75% ยังใช้เงินสด สัดส่วนของการฉ้อโกงข้อมูลในระบบกว่า 80% เกิดจากการชำระเงินโดยไม่ต้องโชว์บัตร
  • รู้จักเทคโนโลยีใหม่ในการป้องกันข้อมูลและยกระดับชีวิตผู้บริโภค Visa ประกาศใช้โทเคนทั้งระบบในปี 2020

ในยุคที่การทำธุรกรรมทางการเงินเป็นเรื่องง่าย เข้าถึงผู้คนและสะดวกสบายแบบทุกวันนี้ เบื้องหลังของแต่ละกิจกรรมที่เกิดขึ้นถูกตรวจสอบอย่างละเอียดผ่านระบบที่ถูกจัดการอย่างรัดกุม แต่ทุกวันนี้ก็ยังมีคนร้ายที่พยายามขโมยข้อมูลและนำไปหาผลประโยชน์ โดยใช้เทคโนโลยีและลูกเล่นที่สลับซับซ้อนมากขึ้น ความปลอดภัยทางการเงินจึงถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่พึงมีและต้องพัฒนาอยู่ตลอดเวลา

 

สำนักข่าว THE STANDARD ได้เข้าร่วมงานสัมมนา Visa Asia Pacific Security Summit 2018 ที่ผ่านมา จัดขึ้นในประเทศสิงคโปร์ ศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาค และพบกับเรื่องราว นวัตกรรม สิ่งใหม่ๆ ที่น่าสนใจ และโฉมหน้าใหม่ของระบบการชำระเงินที่จะมีบทบาทกับชีวิตของเรานับจากนี้ต่อไป

 

Visa และความท้าทายของ 3 หมื่นล้านช่องทางการชำระเงินในอนาคต

 

 

Chris Clark Regional President, Asia Pacific ของ Visa กล่าวถึงภาพรวมของระบบการชำระเงินในปัจจุบัน ซึ่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีนัยสำคัญต่อ Visa เนื่องจากมูลค่าการใช้บริการของพื้นที่นี้คิดเป็น 23% ของทั้งโลก กระจายในพื้นที่ 42 ประเทศและเขตการปกครอง ซึ่งมีบัตรที่ใช้บริการของ Visa ถึงเกือบ 1 พันล้านใบภายใต้การจัดการของ 900 สถาบันการเงิน

 

 

ด้วยประชากรนับพันล้านคน ซึ่งมากกว่าครึ่งใช้ชีวิตอยู่ในเขตเมือง จึงทำให้ยอดการใช้บริการชำระเงินอยู่ในปริมาณที่สูงและเกี่ยวพันกับแทบทุกชีวิต โดย Visa ในพื้นที่เอเชียแปซิฟิกมียอดการชำระเงินสูงถึง 11 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งประเมินว่าผู้คนส่วนใหญ่ถึง 55% ในเอเชียแปซิฟิกยังใช้จ่ายผ่านเงินสดและเช็กคิดเป็นมูลค่าถึงกว่า 6.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นโอกาสในการขยายตลาดได้อีกพอสมควร เมื่อพิจารณาเป็นกลุ่มประเทศจะพบตัวเลขที่น่าสนใจดังนี้

 

 

Chris กล่าวว่า พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งการขยายตัวของตลาดสมาร์ทโฟนและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในต้นทุนที่ถูกลง ทำให้เลือกทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์มือถือก่อนช่องทางอื่นๆ (Mobile First) ซึ่งความสะดวกสบายในการใช้งานยังเป็นปัจจัยสำคัญให้เกิดการใช้งานผ่านมือถือมากขึ้น

 

Visa ประเมินว่า ภายใน 5 ปีจากนี้จะเพิ่มช่องทางการชำระเงินใหม่จากเดิมใช้จ่ายผ่านบัตร 3 พันล้านใบ จะกลายเป็นรูปแบบการชำระเงินใหม่ถึง 3 หมื่นล้านช่องทาง นั่นคือผู้บริโภคจะสามารถจ่ายเงินผ่านอุปกรณ์อื่นๆ ที่สามารถชำระเงินได้ ระบบคลาวด์ หรือกระทั่งรถยนต์สำหรับอนาคต ขณะที่ปัจจุบัน 46 ล้านร้านค้าที่รับชำระเงินผ่านระบบของ Visa จะเพิ่มช่องทางการรับชำระเป็น 400 ล้านร้านค้า ซึ่งธุรกรรมใหม่สามารถเกิดขึ้นได้ในรูปแบบใหม่ๆ ต่างจากภาพเดิมที่คุ้นเคย

 

 

ขณะที่ Ellen Richey Chief Risk Officer & Vice Chairman ของ Visa ก็ยอมรับว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องจับมือกับผู้เล่นรายใหม่ๆ เพื่อสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีขนาดใหญ่ (Big Tech) และกลุ่มฟินเทคเพื่อสร้างการเข้าถึงบริการทางการเงินที่ครอบคลุม (Financial Inclusion) ภายใต้โลกใบใหม่ที่ทุกอย่างถูกเชื่อมโยงและติดต่อสื่อสารแบบสุดโต่ง (Hyper-Connected World)  Ellen ให้ข้อมูลว่า ภายในปี 2020 นี้จะมีอุปกรณ์ต่างๆ ที่เชื่อมโยงถึงกันกว่า 2.1 หมื่นล้านชิ้น นอกจากความสะดวกที่เพิ่มขึ้นแล้ว สิ่งที่น่ากังวลตามมาก็คืออาชญากรรมทางการเงิน (Fraud) ที่จะเพิ่มขึ้นตามตัว

 

เมื่อพิจารณาข้อมูลของอาญชากรรมทางการเงินที่เกิดขึ้นในปี 2017 ของประเทศไทยพบว่า 89% เกิดจากกรณีชำระเงินโดยไม่ต้องโชว์บัตร (Card-not-present) ซึ่งใช้กันแพร่หลายกรณีที่สมัครใช้บริการหักค่าใช้จ่ายอัตโนมัติ การแบ่งชำระสินค้า และกรณีอื่นที่เป็นการตัดเงินอัตโนมัติ ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ท้าทายในการแก้ไขปัญหาและป้องกันคนร้ายขโมยข้อมูลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์

 

Visa ในฐานะผู้ให้บริการการชำระเงินมาถึง 6 ทศวรรษก็เห็นความสำคัญเรื่องนี้ และยกระดับความปลอดภัยทางการเงินโดยแบ่งออกเป็น 4 ด้านสำคัญคือ

1.  การปกป้องข้อมูล (Protecting Data)

2.  การลดทอนข้อมูลออกจากระบบ (Devalue Data)

3.  การใช้ประโยชน์จากข้อมูล (Harness Data)

4.  การยกระดับความรู้ผู้บริโภค (Empowering Consumer)

 

 

การปกป้องข้อมูลจะยึดตามมาตรฐานสากลของ Payment Card Industry (PCI) ซึ่งครอบคลุมทั้งบัตรเดบิต บัตรเครดิต บัตรแบบเติมเงิน บริการทางอิเล็กทรอนิกส์และบริการ ณ จุดขาย ซึ่งจะต้องมีการเข้ารหัสธุรกรรม (Point-To-Point Encryption) ที่ปลอดภัย ขณะที่การลดทอนข้อมูลออกจากระบบถือเป็นกลยุทธ์สำคัญ ไม่เพียงแต่การใช้ชิปการ์ดซึ่งอยู่ในรูปแบบสมาร์ทการ์ด EMV (Europay, MasterCard, Visa) ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลและช่วยป้องกันการปลอมแปลงบัตรแล้ว จะใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการรักษาความปลอดภัยอย่างโทเคน (Tokenization) มาเปลี่ยนโฉมหน้าของระบบการชำระเงินด้วย

 

เมื่อผู้บริโภคต้องการสั่งซื้อสินค้าจากช่องทางอีคอมเมิร์ซ โดยปกติเราอาจคุ้นเคยกับการให้ข้อมูลเลขบัตรเครดิตและรหัสตรวจสอบบัตร (CVV) ซึ่ง Visa มองว่าควรลดจำนวนข้อมูลดังกล่าวลง ร้านค้าไม่จำเป็นต้องรู้รายละเอียดบัตรของลูกค้า เมื่อลูกค้ากรอกข้อมูลครั้งแรกในระบบไปแล้ว ข้อมูลจะถูกสร้างเป็นโทเคนซึ่งเป็นอีกชุดข้อมูล ซึ่งใช้ในการสื่อสารกับผู้ขายแทนโดยที่ผู้ขายไม่เห็นรายละเอียดของบัตร สำหรับบัตรเครดิต 1 ใบสามารถสร้างโทเคนได้หลายรายการ กรณีที่ฐานข้อมูลของร้านบนอีคอมเมิร์ซถูกเจาะระบบหรือขโมยข้อมูล คนร้ายก็ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลของลูกค้าได้แต่อย่างใด นี่เป็นกลยุทธ์สำคัญที่ Visa ต้องการผลักดันให้เกิด Tokenization ทั้งระบบภายในปี 2020 นี้

 

นอกจากนี้ Visa ยังพัฒนารูปแบบการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการป้องกันเหตุอาชญกรรมทางการเงิน ผ่านการทำงานของปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ในการวิเคราะห์ธุรกรรมของผู้ใช้งานอย่างแม่นยำ ซึ่งจะพิจารณาละเอียดตั้งแต่ประเทศที่ลูกค้าสั่งซื้อสินค้า ประวัติการเดินทาง ยอดการใช้จ่าย ตรวจสอบทั้งระบบของร้านค้ากับธนาคารผู้ออกบัตร เพื่อทำให้มั่นใจว่าการใช้จ่ายแต่ละครั้งเกิดจากเจ้าของบัตรตัวจริง

 

Visa ยังมีระบบ Visa Purchase Alert ซึ่งสามารถแจ้งเตือนลูกค้าและธนาคารผู้ออกบัตรให้ทราบกรณีเกิดธุรกรรมที่ผิดปกติขึ้น โดยปกติแล้วเมื่อรูดซื้อสินค้า ข้อมูลที่ปรากฏในระบบจะถูกตรวจสอบจากเกณฑ์พิจารณา 500 รายการ เพื่อประเมินออกมาเป็นคะแนน 0-99 คะแนน และใช้ในการวิเคราะห์ที่แม่นยำ ขณะเดียวกันกรณีที่ร้านค้าหรือฐานข้อมูลของระบบอีคอมเมิร์ซที่ใช้บริการมีความสุ่มเสี่ยงหรือถูกเจาะเข้าระบบ ก็จะสามารถแจ้งเตือนลูกค้าเพื่อให้ระมัดระวังด้วย

 

 

สิ่งที่เป็นเทรนด์สำคัญที่ Visa ต้องการผลักดันการชำระเงินแบบไร้สัมผัส (Contactless Payment) ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค สำนักข่าว THE STANDARD ได้สอบถามข้อมูลกับพาร์ตเนอร์ของ Visa อย่าง Tappy ซึ่งพัฒนาชิปอัจฉริยะที่สามารถฝังเข้าไปกับสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ตั้งแต่สายนาฬิกาข้อมือ เครื่องประดับ กระเป๋าเอกสาร หรือกระทั่งแว่นตาที่สวมใส่ ถือเป็นนวัตกรรมในการชำระเงินที่สะดวกมากขึ้นโดยไม่ต้องพกบัตรเครดิต และผู้ใช้งานยังสามารถควบคุมการชำระเงินได้ผ่านแอปพลิเคชัน ในกรณีที่ของใช้ที่ฝังชิปหายไปก็สามารถสั่งยกเลิกการใช้จ่ายได้แบบเรียลไทม์ ขณะนี้เริ่มใช้งานอย่างเป็นทางการที่ประเทศอังกฤษและสิงคโปร์แล้ว

 

 

สำหรับอนาคตของ Visa จากนี้ต่อไปค่อนข้างชัดเจนว่าจะเป็นมากกว่าเรื่องการชำระเงินและบัตรเครดิต Chris Clark ยอมรับว่าการใช้งานบัตรพลาสติกจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต แต่เชื่อว่าในทศวรรษนี้จะยังเห็นการใช้งานบัตรเหล่านี้อยู่ ซึ่ง Visa ก็พร้อมที่จะเป็นพันธมิตรกับผู้ที่มีศักยภาพรวมถึงฟินเทคที่กำลังแข่งขันกันอย่างรุนแรงในตลาด ข้อได้เปรียบนการแข่งขัน (Competitive Advantage) ของ Visa ยังเป็นเรื่องการเป็นที่ยอมรับจากทุกพื้นที่ทั่วโลก (Acceptance) ซึ่งไม่มีระบบการชำระเงินใดมาแทนที่ได้ ขณะที่ความแข็งแกร่งของแบรนด์เองก็ทำให้ผู้บริโภคยังคงไว้ใจอยู่จนถึงทุกวันนี้

 

เป็นไปได้ที่ Visa จะก้าวข้ามจากระบบให้บริการชำระเงินไปสู่โครงสร้างพื้นฐานที่ฝังตัวอยู่ในทุกส่วนของชีวิตยุคดิจิทัล ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีใครคาดเดาอนาคตได้จากนี้ต่อไป

 

ความเชื่อมั่นคือสิ่งที่อยู่เหนือกาลเวลา ไม่ว่าจะยุคสมัยใดก็ตามที

 

อ้างอิง:

  • Visa Asia Pacific Security Summit 2018
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X