×

การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส กับการกลายพันธุ์และสูญพันธุ์ของภาคการผลิต

02.04.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • การกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนาที่กำลังระบาดหนักทั่วโลกในเวลานี้จะเปลี่ยนแนวทางการดำเนินชีวิต แนวทางการทำมาหากิน รวมถึงแนวทางการประกอบธุรกิจของเราไปตลอดกาล
  • วิวัฒนาการในกระบวนการผลิต การค้า และการลงทุนระหว่างประเทศกำลังเกิดขึ้น และอาจกล่าวได้ว่าโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่ 3 หรือ Third Unbundling ซึ่งมีเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน 

“การกลายพันธุ์ (Mutation) มันเป็นกุญแจสำคัญในวิวัฒนาการของเรา มันทำให้เราสามารถวิวัฒนาการจากสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวไปสู่สายพันธุ์ที่โดดเด่นบนโลก กระบวนการนี้ช้าและใช้เวลานานนับพันปี แต่ทุกๆ ไม่กี่ร้อยสหัสวรรษ วิวัฒนาการจะก้าวกระโดดไปข้างหน้า” – ศ.ชาร์ลส์ เซเวียร์ จากภาพยนตร์ X-Men (2000)

 

ผมเป็นแฟนทั้งคอมิกและภาพยนตร์ X-Men ครับ แม้คำกล่าวที่ผมยกมาจะเป็นเพียงบทภาพยนตร์ที่สร้างจากคอมิก แต่มันคือความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เชื้อไวรัสโคโรนาที่ทำให้มนุษย์ป่วยเป็นไข้หวัดมานานนับสหัสวรรษ แต่เมื่อกลายพันธุ์ขึ้นมามันก็สามารถทวีความรุนแรงได้ตั้งแต่กลายเป็นโรคซาร์สที่ระบาดในปี 2002-2003 โรคเมอร์สที่ระบาดในปี 2015 และร้ายกาจที่สุดคือเมื่อกลายพันธุ์เป็นไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โควิด-19 ที่ระบาดจนทำให้ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่า 8 แสนราย และเสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 43,500 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 1 เมษายน 2020) การกลายพันธุ์ของไวรัสในรอบนี้จะเปลี่ยนแนวทางการดำเนินชีวิต แนวทางการทำมาหากิน รวมถึงแนวทางการประกอบธุรกิจของเราไปตลอดกาล

 

ในด้านการผลิต วิวัฒนาการในกระบวนการผลิต การค้า และการลงทุนระหว่างประเทศก็เกิดขึ้นเช่นกัน ถ้าใช้คำตามอย่าง ริชาร์ด บอลด์วิน ศาสตราจารย์ทางด้านเศรษฐศาสตร์แห่ง Graduate Institute of International and Development Studies ณ กรุงเจนีวา ซึ่งมีหนังสือเล่มดังในปี 2016 อย่าง The Great Convergence: Information Technology and the New Globalization บอลด์วินใช้คำว่า ‘The Unbundling’ แปลเป็นไทยน่าจะใช้คำว่าการกระจายตัวของการผลิต 

 

ถ้าใช้การอธิบายของ กรกรัณย์ ชีวะตระกุลพงษ์ และคณะ ในบทความ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าในโลก และผลกระทบต่อรูปแบบการค้า การส่งออกและการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของประเทศไทย ที่เผยแพร่โดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ้งภากรณ์ เราจะสามารถอธิบายปรากฏการณ์ Unbundling ได้ว่ารูปแบบการค้าระหว่างประเทศในโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลา 

 

โดยปัจจัยสำคัญที่อธิบายการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าโลกคือการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมือง หากพิจารณาการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าโลกนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา จะถือว่าการค้าระหว่างประเทศในยุคนี้เป็นช่วงที่มีการแบ่งขั้นตอนการผลิต (Fragmentation) ซึ่งจะเรียกรวมกันว่า ‘Unbundling Periods’ 

 

โดยเราสามารถแบ่งรูปแบบการค้านับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1990 ออกเป็น 3 ยุคคือ ยุค ‘First Unbundling’ ที่ประเทศที่พัฒนาแล้วย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศกำลังพัฒนาที่อยู่ใกล้เคียงกัน อันเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตในประเทศที่พัฒนาแล้ว และการลดลงของต้นทุนในการขนส่ง ซึ่งทำให้เกิดรูปแบบการค้าในลักษณะของกลุ่มการค้า 

 

ในขณะที่ยุคที่ 2 หรือ ‘Second Unbundling’ เป็นผลมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสาร ไอที และคอมพิวเตอร์ ซึ่งทำให้เกิดการแบ่งแยกขั้นตอนการผลิตไปดำเนินการผลิตในประเทศต่างๆ ได้ ประกอบกับการสิ้นสุดของสงครามเย็น ซึ่งทำให้ประเทศคอมมิวนิสต์เดิม เช่น จีน ยุโรปตะวันออก มีการเปิดประเทศ จึงเกิดการย้ายฐานการผลิตในขั้นตอนการผลิตที่เน้นใช้แรงงานสูงไปยังประเทศเหล่านี้ ซึ่งทำให้รูปแบบการค้าโลกในยุคนี้อยู่ในลักษณะของห่วงโซ่อุปทานในแนวดิ่งเป็นหลัก โดยมีประเทศจีนเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญ และประเทศที่กำลังพัฒนามีบทบาทเพิ่มขึ้นในการค้าระหว่างประเทศของโลกเป็นอย่างมาก

 

ในขณะที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรุดหน้า โลกกำลังจะเข้าสู่ยุคที่ 3 ของการกระจายตัวของการผลิต หรือ ‘Third Unbundling ซึ่งหมายถึงการที่ขั้นตอนการผลิตบางขั้นซึ่งอาจจะกระจายตัวอยู่ในบางประเทศไม่จำเป็นต้องไปตั้งอยู่ในบริเวณนั้นเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) อีกต่อไปแล้ว เช่น จากเดิมในยุค Second Unbundling การผลิตขั้นตอนที่ 1 ที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติต้องไปตั้งอยู่ในประเทศที่ทรัพยากรราคาถูกๆ ส่งทรัพยากรไปแปรรูปในประเทศที่ 2 ที่ค่าแรงถูกๆ กลายเป็นวัตถุดิบขั้นกลาง จากนั้นจึงส่งให้ประเทศที่ 3 ที่มีแรงงานฝีมือเอาวัตถุดิบขั้นกลางจากหลายๆ แหล่งผลิตมาประกอบ โดยมีประเทศที่ 4 ทำหน้าที่ออกแบบ วิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ และเจ้าของกิจการนั่งบริหารอยู่ในประเทศที่ 5 

 

ในโลกยุค Third Unbundling การผลิตขั้นตอนที่ 1 ที่ตั้งอยู่ในแหล่งทรัพยากรธรรมชาติยังคงได้ไปต่อ ในขณะที่ขั้นตอนที่ 2 และ 3 ซึ่งเคยอยู่ในหลายๆ ประเทศอาจจะไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะในยุค 4.0 ที่หุ่นยนต์ราคาลดลง AI ฉลาดขึ้น การสื่อสารข้ามพรมแดนกลายเป็นต้นทุนที่ต่ำลง ตรงข้ามกับความเร็วและเสถียรภาพที่พัฒนาขึ้น การผลิตขั้นที่ 2 และ 3 อาจจะไปอยู่ที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องพึ่งแรงงานราคาถูก ไม่จำเป็นต้องพึ่งแรงงานฝีมืออีกต่อไป

 

โดยหากใช้การอธิบายของ ฟุกุนาริ คิมูระ ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเคโอ ประเทศญี่ปุ่น และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันวิจัยที่เป็นคลังสมองของอาเซียนอย่าง Economic Research Institute for ASEAN and East Asia (ERIA) เขาสรุปการกระจายตัวของการผลิตโดยใช้แผนภาพดังนี้

 

 

ลองนึกดูนะครับ การกระจายตัวของการผลิตอย่างที่อธิบายมาแล้วข้างต้น แต่เดิมมันค่อยๆ เกิดขึ้นช้าๆ ทำให้ทุกประเทศปรับตัวได้ทัน จะเห็นได้จากแผนภาพว่าก่อนยุคโลกาภิวัตน์ใช้เวลาในการพัฒนาเป็นร้อยๆ ปี จากนั้นใช้เวลาเพียงร้อยกว่าปีนิดๆ จากยุค First Unbundling สู่ยุค Second Unbundling และใช้เวลาเพียงไม่ถึง 30 ปีจาก Second Unbundling สู่ Third Unbundling ซึ่งแน่นอนว่าโดยปกติแต่ละประเทศทั่วโลกอาจจะมีระยะเวลาในการปรับเปลี่ยนไม่เท่ากัน 

 

แต่แล้วก็เหมือนอย่างที่ ศ.ชาร์ลส์ เซเวียร์ ในภาพยนตร์ X-Men กล่าวครับ การกลายพันธุ์คือตัวเร่ง จากที่ทุกคนไม่เคยพร้อม ไม่เคยทดลอง หรือแม้แต่ไม่เคยคิดที่จะใช้เทคโนโลยีการสื่อสารทางไกลเพื่อทำงานจากที่บ้าน ใช้เทคโนโลยีในการติดต่อลูกค้า ใช้เทคโนโลยีในการควบคุมการผลิตระยะไกลๆ นาทีนี้การระบาดของโรคร้ายอย่างโควิด-19 กลับกลายเป็นสภาพบังคับให้เราต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมือ ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้มากยิ่งขึ้น หากเรายังอยากจะมีที่ยืนในการทำมาหากินในทางเศรษฐกิจ

 

ดังนั้นการเข้าสู่ Third Unbundling มาแน่ และมาเร็วกว่าที่เราคิดแน่นอน คำถามที่สำคัญคือประเทศไทยและอาเซียนที่เคยปรับตัวอย่างแรงตลอดทศวรรษ 1980-1990 ทำให้เราตามทัน Second Unbundling แล้วเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานระดับโลกจนเราสร้างความมั่งคั่งมาตลอด นาทีนี้เราพร้อมหรือไม่ที่จะเข้าสู่ยุค Third Unbundling เราเป็นข้อของห่วงโซ่ที่ยังได้ไปต่อ หรือเราจะเป็นข้อของห่วงโซ่ที่ถูกตัดทิ้งได้

 

ถ้าไม่อยากถูกตัดทิ้ง ใช้เวลานี้นี่ล่ะครับที่เราต้องกักตัวเองอยู่ในบ้าน เรียนรู้เทคโนโลยี เทคนิค และวิธีการทำงานแบบโลกสมัยใหม่ได้แล้วครับ

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising