Virtual Bank โอกาสทางธุรกิจครั้งใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น สำหรับบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งในไทย โอกาสครั้งนี้น่าตื่นเต้นแค่ไหนในเชิงธุรกิจ อะไรคือความท้าทายที่รออยู่ และที่สำคัญประชาชนจะได้อะไร
หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศเตรียมเปิดรับสมัครผู้ที่สนใจขอใบอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank ระหว่างวันที่ 20 มีนาคม – 19 กันยายน 2567 ก่อนที่แต่ละบริษัทจะเริ่มจัดตั้งได้ในช่วงกลางปี 2568
ล่าสุด เราพอจะเห็นโฉมหน้าของผู้ที่สนใจตามหน้าสื่อแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก คือ
- การจับมือกันของ ธนาคารกรุงไทย (KTB), กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF), แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) และ ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR)
- การจับมือกันของ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และ KaKaoBank จากเกาหลีใต้
- เครือซีพี (CP) ซึ่งรวมถึงธุรกิจในเครืออย่าง Ascend ที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนา TrueMoney
- การจับมือกันของ กลุ่มธุรกิจเจมาร์ท (JMART) และ Kookmin Bank จากเกาหลีใต้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เปิด 7 คุณสมบัติที่แบงก์ชาติมองหาในผู้สมัครขอไลเซนส์ Virtual Bank พร้อมสรุปไทม์ไลน์ คนไทยจะได้ใช้เมื่อไร?
- คลังคลอดเกณฑ์ Virtual Bank แล้ว! เปิดทางตั้งได้ไม่จำกัดจำนวน ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 1 หมื่นล้านบาท
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า หนึ่งในเป้าหมายของการตั้ง Virtual Bank ขึ้นมา เพราะต้องการจะแก้ปัญหาเรื่องของหนี้นอกระบบ และการช่วยให้คนที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อมีโอกาสเข้าถึงมากขึ้น ทำให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของ Virtual Bank กับธนาคารดั้งเดิม (ไม่ว่าจะออฟไลน์หรือออนไลน์) เป็นกลุ่มที่แตกต่างกัน
แน่นอนว่า Virtual Bank ถือเป็นเรื่องใหม่ในไทย และก็อาจเรียกว่าใหม่ได้สำหรับอีกหลายประเทศ ซึ่งเพิ่งจะเริ่มต้นได้ประมาณ 2-3 ปีเท่านั้น
หนึ่งในความท้าทายสำคัญของ Virtual Bank คือการสร้างความน่าเชื่อและดึงดูดลูกค้าใหม่ รวมทั้งบริหาร ‘หนี้เสีย’ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
ตัวอย่างที่อาจเป็นกรณีศึกษาให้กับบ้านเราได้คือ Virtual Banking ในฮ่องกงที่เปิดตัวตั้งแต่ปี 2019 หลังจากธนาคารกลางฮ่องกง (HKMA) ออกใบอนุญาตให้ Virtual Banking 8 แห่ง ก่อนที่จะเริ่มดำเนินการในปี 2021
ซึ่งในระยะแรก Virtual Bank เหล่านี้ไม่สามารถทำกำไรได้ ขณะที่ Quinlan & Associates บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจเคยวิเคราะห์ไว้ว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากต้นทุนในการหาลูกค้าต่อรายที่สูงราว 65-90 ดอลลาร์ต่อคน หรือราว 2,300-3,200 บาทต่อคน
ขณะที่การแข่งขันกับธนาคารดั้งเดิมเพื่อดึงดูดลูกค้าใหม่ๆ ก็ค่อนข้างยาก นอกจากนี้ การที่ Virtual Bank ตั้งอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นหลัก ทำให้การสร้างความน่าเชื่อถือและสร้างเอกลักษณ์ของแบรนด์ทำได้ยากขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มคนที่ค่อนข้างอนุรักษนิยม
ยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาทั้งในเชิงกลยุทธ์ในการเข้าถึงฐานลูกค้า และวิธีการที่จะลดความเสี่ยงในด้านต่างๆ ซึ่งในช่วงแรกจะเป็นลักษณะของการค่อยๆ ปรับใช้วิธีการต่างๆ
“จุดแข็งของเราคือฐานข้อมูลของลูกค้าที่มีอยู่ร่วมกันประมาณ 40-45 ล้านคน จากบริษัทที่จะเข้ามาร่วมทุนแต่ละราย ทั้งกัลฟ์, กรุงไทย, โออาร์ และเอไอเอส หัวใจสำคัญคือการวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ให้แม่นยำเพื่อลดความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด”
ธนภัทร ฉัตรเสถียร ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ มองว่าความท้าทายสำคัญ 2 ด้าน คือ
- การดึงฐานเงินฝากจากธนาคารดั้งเดิม ซึ่งต้องอาศัยความเชื่อใจจากลูกค้า แต่หากดึงมาได้น้อยก็ต้องใช้เงินทุนจากแหล่งอื่น ซึ่งต้นทุนจะสูงกว่าเงินฝากหลายเท่า
- การปล่อยสินเชื่อเพื่อหารายได้ อาจต้องอาศัยการลองผิดลองถูกระยะหนึ่ง ทำให้เราเห็นว่าหลายกลุ่มต้องการประสบการณ์ของผู้ที่เคยทำธุรกิจสินเชื่อมาก่อน
“ช่วง 1-2 ปีธุรกิจยังมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง แต่ละรายน่าจะขาดทุน แต่ด้วยฐานลูกค้ากลุ่มหนี้นอกระบบที่มีจำนวนมาก เดาว่าอาจมากถึงครึ่งหนึ่งของลูกหนี้ใต้สถาบันการเงินปัจจุบัน ทำให้ระยะยาวยังมีโอกาส”
ธนภัทรมองว่า กุญแจสำคัญของการปั้น Virtual Bank ให้ประสบความสำเร็จ ขึ้นอยู่กับว่าจะบริหารจัดการหนี้เสียได้ดีแค่ไหน และการใช้ประโยชน์จากข้อมูลให้ได้มากที่สุด
“คำว่าหนี้นอกระบบหมายความว่า ไม่มีใครรู้ว่ามีหนี้ที่แท้จริงเท่าไร หรือมีรายได้เท่าไร ขณะที่การเก็บข้อมูลของ Virtual Bank อาศัยการกรอกจากลูกค้า” กรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย กล่าวถึงความท้าทายด้านข้อมูลที่ใช้ประกอบการวิเคราะห์ของ Virtual Bank
อีกหนึ่งจุดที่น่ากังวลคือ “ข้อมูลของไทยไม่ได้เชื่อมกันอย่างดี ทำให้ข้อมูลบางอย่างอาจไม่ตรงตามจริง เช่น ลูกหนี้ของธุรกิจอย่างเมืองไทยแคปปิตอล ที่ไม่ได้แสดงข้อมูลในเครดิตบูโร อาจทำให้ระบบของ Virtual Bank วิเคราะห์ว่าลูกค้าที่เป็นหนี้ Non-Bank อาจไม่มีหนี้”
หรือการใช้ข้อมูลอื่นๆ เช่น ประวัติการชำระค่าบริการต่างๆ หรือการใช้จ่ายผ่านร้านสะดวกซื้อ จะสามารถตรวจสอบได้อย่างไรว่ายอดใช้จ่ายเป็นของบุคคลนั้นๆ เพียงคนเดียว เช่น กรณีที่คนซื้อเป็นแม่บ้านประจำของบ้านใดบ้านหนึ่งที่ต้องซื้อสินค้าสำหรับทุกคน
อย่างไรก็ดี การเกิดขึ้นของ Virtual Bank น่าจะส่งผลดีต่อประชาชนโดยส่วนใหญ่ที่มีเงินฝากกับสถาบันการเงิน
กรกชมองว่า Virtual bank อาจช่วยให้ผลิตภัณฑ์เงินฝากมีหลากหลายมากขึ้น และการเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่จะทำให้เกิดการแข่งขันเพิ่มขึ้น
“เมื่อรายใหม่เข้ามาในตลาด สิ่งที่จะช่วยดึงดูดลูกค้าคือการแข่งขันด้านเงินฝากที่มากขึ้น ทั้งเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และการฝากอาจมีหลายรูปแบบจากเดิมที่มีเพียงเงินฝากออมทรัพย์และเงินฝากประจำ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่”
ในมุมกลับกันธุรกิจธนาคารดั้งเดิมอาจได้รับผลกระทบบางส่วน เช่น ฐานเงินฝากที่อาจถูกดึงออกไปบ้าง หรือต้นทุนเงินฝากที่เพิ่มขึ้น
โดยสรุปแล้ว ในมุมธุรกิจที่ยังมีความเสี่ยงอยู่พอสมควร เชื่อว่าแต่ละบริษัทอาจต้องใช้เวลาในการลองผิดลองถูกสักระยะหนึ่ง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นโอกาสใหม่ที่เปิดขึ้น โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจธนาคารดั้งเดิมที่โตได้จำกัด ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ไม่ได้เติบโตสูง เช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ ที่อยากจะกระโดดเข้ามาในอุตสาหกรรม ซึ่งอาจเป็นเหมือนการต่อเรือเพิ่มเพื่อแล่นออกไปหาน่านน้ำใหม่ เผื่อว่าจะมีโอกาสรออยู่
อ้างอิง: