×

Virgil Abloh ลูกชายผู้อพยพชาวกานา สู่การเป็นดีไซเนอร์ Louis Vuitton และ Off-White

06.07.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 MINS READ
  • ชีวิตในวัยเด็กของเวอร์จิลถูกล้อมรอบด้วยวัฒนธรรมสเกตบอร์ด บทเพลงของ Nirvana และวงฮิปฮอปอย่าง Wu-Tang Clan ซึ่งดีเอ็นเอเชิงความคิดและการแต่งตัวของวัยรุ่นในช่วงนั้นก็เป็นสิ่งที่ติดตัวเขามาตลอดและเป็นเสาหลักในการผลิตผลงานของเขาในทุกวันนี้
  • ในปี 2013 เวอร์จิลเริ่มแบรนด์ Off-White ที่เขาตั้งใจให้เป็นแบรนด์ลักชัวรีแบรนด์แรกที่โซเชียลมีเดียช่วยสร้างขึ้นมา เหมือนการกดปุ่มรีเซตใหม่ และสร้างระบบ Hybrid ที่ผสมผสานความดั้งเดิมในการทำงานของวงการแฟชั่นเข้ากับความ Disruptive สมัยใหม่ที่สร้างกฎเกณฑ์ใหม่ๆ
  • มีหลายคนรู้สึกว่าเวอร์จิลใช้ความคิดเหมือน Copy and Paste สิ่งต่างๆ ที่เคยเห็นมาแล้วและขาดความเป็นออริจินัล แต่เวอร์จิลก็ชัดเจนในคอนเซปต์ ‘3%’ ของเขา ที่ชอบนำไอเท็ม รูปทรง หรือชิ้นงานที่ไอคอนิกและอินสไปร์ เขานำมาผลิตใหม่พร้อมปรับเปลี่ยนตกแต่งใหม่นิดๆ หน่อยๆ แบบเพิ่มความคิดเขา 3%
  • เดือนมีนาคมที่ผ่านมา LVMH ประกาศว่าเวอร์จิลจะมาทำงานที่ Louis Vuitton ในตำแหน่งอาร์ทิสติกไดเรกเตอร์เสื้อผ้าผู้ชาย ซึ่งเขากลายเป็นดีไซเนอร์ผิวสีคนแรกของแบรนด์ตั้งแต่ก่อตั้งในปี 1854

 

จากบนมาล่าง: เวอร์จิลที่โชว์ Dior Men Spring/Summer 2019,เวอร์จิลกับคานเยที่แฟชั่นโชว์, สตรีทสไตล์แบรนด์ Off-White

 

หากต้องเลือกหนึ่งดีไซเนอร์ที่เป็นผลผลิตสำคัญของยุค Disruption ที่สะท้อนว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ เราต้องยกตำแหน่งนี้ให้กับ เวอร์จิล แอบโลห์ (Virgil Abloh) อาร์ทิสติกไดเรกเตอร์เสื้อผ้าผู้ชายของ Louis Vuitton และผู้ก่อตั้งแบรนด์ Off-White ที่กำลังจะมีร้านในประเทศไทยช่วงเดือนกันยายนนี้

 

การก้าวกระโดดของผู้ชายคนนี้เพื่อมาอยู่แถวหน้าของวงการ เปรียบเสมือนการเขียนหนังสือประวัติศาสตร์แฟชั่นเล่มใหม่ของยุคมิลเลนเนียลส์ ที่ปฏิเสธกฎเกณฑ์แบบเดิมๆ ว่า “ต้องดีไซน์แบบนี้ เรียนที่นี่ หรือคิดแบบนี้”

 

เวอร์จิลเกิดวันที่ 30 กันยายน ปี 1980 และเติบโตในเมือง Rockford ใกล้ๆ ชิคาโก คุณพ่อ Nee Abloh ทำงานเป็นผู้จัดการร้านสี คุณแม่ Eunice Abloh เป็นช่างเย็บเสื้อผ้า ทั้งคู่อพยพมาจากประเทศกานา และมีพี่สาวอีกคนชื่อ Edwina Abloh โดยชีวิตในวัยเด็กช่วงยุค 90s ของเขาถูกล้อมรอบด้วยวัฒนธรรมสเกตบอร์ด บทเพลงของวง Nirvana และวงฮิปฮอปอย่าง Wu-Tang Clan ซึ่งดีเอ็นเอเชิงความคิดและการแต่งตัวของวัยรุ่นในช่วงนั้นก็เป็นสิ่งที่ติดตัวเขามาตลอด และเป็นเสาหลักในการผลิตผลงานของเขาในทุกวันนี้

 

เวอร์จิลเรียนจบปริญญาตรีด้านวิศกรรมโยธาจาก University of Wisconsin-Madison และปริญญาโทด้านสถาปัตยกรรมจาก Illinois Institute of Technology และในปี 2009 เขาแต่งงานกับภรรยา Shannon Abloh ที่คบหากันตั้งแต่มัธยมปลาย และมีลูกด้วยกัน 2 คน Lowe และ Grey Abloh ซึ่งครอบครัวก็ยังใช้ชีวิตอยู่ชิคาโก แม้เวอร์จิลจะเดินทางกว่า 320 วันต่อปี และบินมากกว่า 8 ไฟลต์ต่อสัปดาห์ แต่เขาก็ต้องกลับไปชิคาโกเป็นประจำเพื่อไปดูแลกิจการร้านมัลติแบรนด์สโตร์ของเขาชื่อ RSVP Gallery ที่เพิ่งเปิดสาขาที่ 2 ที่ลอสแอนเจลิสอีกด้วย

 

จากบนมาล่าง: งานแต่งงานเวอร์จิล, ร้าน RSVP Gallery

 

 

ย้อนกลับไปในปี 2009 เวอร์จิลได้ไปฝึกงานที่ห้องเสื้อ Fendi กับเพื่อนสนิทและที่ปรึกษาคนสำคัญ คานเย เวสต์ ซึ่งคานเยก็ได้ชวนเวอร์จิลและก๊วนไปปารีสแฟชั่นวีกในปีนั้น และมีหนึ่งภาพถ่ายโดยช่างภาพสตรีทสไตล์ Tommy Ton ที่กลายเป็นกระแสไวรัลอย่างถล่มทลายตอนที่กลุ่มของเขาไปยืนหน้าโชว์ Comme des Garçons ที่ปารีส พร้อมคานเยถือกระเป๋าเดินทาง Goyard ซึ่งในตอนนั้นพวกเขาได้รับเชิญไปแค่ 60% ของโชว์ และบางคนก็มองด้วยหางตาและเมินเฉยใส่

 

เวอร์จิลให้สัมภาษณ์กับทางนิตยสาร W Magazine ในปี 2017 เกี่ยวกับโมเมนต์นั้นว่า “เราเป็นเจเนอเรชันของคนที่สนใจและหลงใหลแฟชั่น แม้เราจะดูเหมือนไม่มีสิทธิ์ที่จะยืนอยู่ตรงนั้น แต่เรามองว่าตอนนั้นคือโอกาสที่จะเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและสร้างบริบทใหม่ๆ พูดได้ว่าตอนนั้นเรากำลังสร้างความตื่นเต้นใหม่ๆ ให้กับรูปแบบเดิมๆ ของอุตสาหกรรมแฟชั่น”

 

ต่อมาเวอร์จิลก็ได้เป็นครีเอทีฟไดเรกเตอร์ให้ครีเอทีฟเอเจนซี ‘DONDA’ ของคานเย ที่ดูแลโปรเจกต์ต่างๆ เช่น อัลบั้ม Watch the Throne ในปี 2011 ของคานเย และ Jay-Z ที่เวอร์จิลได้เข้าชิงแกรมมีสาขา Recording Package สำหรับภาพปกอัลบั้มที่ทำร่วมกับ ริคคาร์โด ทิสซี ครีเอทีฟไดเรกเตอร์ของ Givenchy ในตอนนั้น และ Chief Creative Officer ของ Burberry ในตอนนี้

 

จากบนมาล่าง: เวอร์จิลที่ร้าน Off-White, Off-White คอลเล็กชัน Cruise 2019, Off-White คอลเล็กชัน Fall/Winter 2017

 

ในปี 2012 เวอร์จิลก่อตั้งแบรนด์ Pyrex Vision ที่โดดเด่นด้วยการซื้อเสื้อเชิ้ต Ralph Lauren แบบ Deadstock ราคา 40 เหรียญ และนำไปสกรีนด้านหลังและขายในราคา 550 เหรียญ แต่ในปีถัดมาแบรนด์ก็ปิดตัวลง เพราะเขาได้เริ่มแบรนด์ใหม่อย่าง Off-White ที่เวอร์จิลบอกกับทาง The New York Times ว่า ตั้งใจให้เป็นแบรนด์ลักชัวรีแบรนด์แรกที่โซเชียลมีเดียช่วยสร้างขึ้นมา โดยแกนหลักสำคัญคือการนำสินค้าเบสิกของสตรีทแวร์ อาทิ เสื้อยืด เสื้อฮู้ด หรือกางเกงวอร์มมาดีไซน์ใหม่ และผลิตที่โรงงานในอิตาลีกับเนื้อผ้าไฮเอนด์ อย่างเช่นเสื้อฮู้ดทำมาจากผ้าออร์แกนซา

 

รูปแบบการทำงานของเวอร์จิลกับ Off-White เหมือนเป็นการกดปุ่มรีเซตใหม่และสร้างระบบ Hybrid ที่ผสมผสานความดั้งเดิมของวงการแฟชั่น เช่น การจัดแฟชั่นโชว์ที่ปารีสแฟชั่นวีก และมีสำนักงานใหญ่ในมิลาน แต่ความ Disruptive อยู่ที่การปล่อยสินค้าแบบจำนวนจำกัดให้คนไม่ทันตั้งตัว โดยบอกผ่านอินสตาแกรมก่อน 1 วัน ซึ่งคนก็จะแห่ไปต่อคิวซื้อที่ร้านเพราะอยากสะสม และหลายชิ้นก็จะมีราคาสูงขึ้นตอนนำไปขายต่อ

 

พูดได้ว่าแค่ 5 ปีในวงการของ Off-White แบรนด์ได้เปิดร้านค้าทั่วโลก เข้าชิงรางวัลหลายเวที อาทิ CFDA Awards และ British Fashion Awards และเวอร์จิลเองก็ได้รับเลือกเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของนิตยสาร Time ก็ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้มีให้เห็นกันบ่อยนัก

 

แม้แต่การดีไซน์ของเวอร์จิลก็ถือว่าแหวกแนวในทางที่เบสิกสุดและไม่ได้ตามสูตรของดีไซเนอร์ที่เรียนจบด้านแฟชั่นโดยตรง ซึ่งเขาได้ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Complex ว่า การทำงานของเขาบางครั้งก็เรียบง่ายถึงขั้นที่แค่เสิร์ชหาเสื้อยืดสีขาวเปล่าบน Google Image ลากลง Adobe Photoshop และต่อมาก็เล่นกับเครื่องมือต่างๆ บนโปรแกรมจนคิดว่าดีไซน์คือใช่ ส่วนตัวฟอนต์ของ Off-White ที่ใช้เหมือนกับ Pyrex Vision และร้าน RSVP Gallery ของเขาก็นำมาจากเว็บไซต์ 1001 Fonts ที่ให้โหลดฟรี ซึ่งเพราะแนวคิดการดีไซน์แบบนี้เลยไม่แปลกใจว่าทำไมเขามีอิทธิพลต่อเยาวชนอย่างมหาศาล เพราะสิ่งที่เขาทำเหมือนสร้างแรงบันดาลใจให้คนเห็นว่าใครๆ ก็สามารถเป็นดีไซเนอร์และประสบความสำเร็จเหมือนเขาได้ แต่คุณแค่ต้องมีกิมมิกอะไรที่เหนือกว่าคนอื่น

 

จากบนมาล่าง: Off-White x Jimmy Choo, Virgil Abloh X Takashi Murakami, Off-White x Ikea

 

ด้านการหยิบแรงบันดาลใจมาสร้างสรรค์ผลงานก็เป็นอีกประเด็นที่ติดตัวมากับเวอร์จิลตั้งแต่แรก เพราะหลายคนรู้สึกว่าเขาได้ใช้ความคิดเหมือน Copy and Paste สิ่งต่างๆ ที่เคยเห็นมาแล้วและขาดความเป็นออริจินัล แต่เวอร์จิลก็ชัดเจนในคอนเซปต์ ‘3%’ ของเขาที่เคยบอกเล่าตอนไปเป็นวิทยากรที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยเวอร์จิลชอบนำไอเท็ม รูปทรง หรือชิ้นงานที่ไอคอนิกและอินสไปร์เขานำมาผลิตใหม่ พร้อมปรับเปลี่ยนตกแต่งใหม่นิดๆ หน่อยๆ แบบเพิ่มความคิดเขา 3% อย่างเช่นในคอลเล็กชัน Spring/Summer 2018 เขาก็ได้ใช้เจ้าหญิงไดอานาเป็นมิวส์ ซึ่งหลายชุดก็เป็นการนำลุคสุดคลาสสิกมาดัดแปลงใหม่ แต่เปลี่ยนแค่การทำสไตล์ลิ่ง ปรับโครงสร้างให้ทันสมัย หรือเพิ่มแอ็กเซสซอรี เช่น แว่นตากันแดดเข้าไป

 

ส่วนอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ Off-White เป็นที่พูดถึงอยู่ตลอดเวลาคือ การทำโปรเจกต์ร่วมกับแบรนด์อื่นๆ ที่มีบทบาทสำคัญในสังคม ทั้ง Ikea, Nike, Moncler, Levi’s, Rimowa, Jimmy Choo หรือแม้แต่กับศิลปินชาวญี่ปุ่น Takashi Murakami โดยเห็นได้ว่าแต่ละโปรเจกต์เป็นการต่อยอดและทำให้ Off-White ได้เหยียบเข้าไปในตลาดเฉพาะทางของแต่ละแบรนด์ ทั้งยังเข้าถึงฐานลูกค้าที่อาจไม่ได้รู้จักแบรนด์หรือไม่สามารถเป็นเจ้าของสินค้าของ Off-White เพราะราคาที่สูง อย่างเช่นกระเป๋ากระดาษรุ่น Sculpture ที่ทำกับ Ikea ก็มีราคาอยู่ที่ 500 บาท ส่วนถ้าเป็นกระเป๋าหนังที่เขียน Sculpture เหมือนกันจากคอลเล็กชัน Off-White เองก็มีราคาอยู่ที่ 30,000 บาท

 

เวอร์จิลในชุด Louis Vuitton กับเคนดัลล์ เจนเนอร์ ในชุด Off-White ที่งาน Met Gala ปี 2018

 

แรปเปอร์ Kid Cudi เดินบนรันเวย์คอลเล็กชัน Spring/Summer 2019 ของ Louis Vuitton

 

 

พอมาในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตอน LVMH ประกาศว่าเวอร์จิลจะมาทำงานที่ Louis Vuitton ก็สร้างกระแสอย่างหนักหน่วง ถามว่าน่าแปลกใจไหมที่แบรนด์ลักชัวรีเบอร์หนึ่งของวงการจะเลือกเขามาสานต่อผลงานของ Kim Jones ที่ถือว่ายอดเยี่ยม ก็ต้องบอกว่าไม่ เพราะเวอร์จิลเคยอยู่ในสารบบของ LVMH อยู่แล้วตั้งแต่ประกวดรางวัล LVMH Prize ในปี 2015 แถมเขาก็ดูสนิทสนมกับลูกๆ ของ Bernard Arnault เจ้าของ LVHM ทั้ง Delphine Arnault ที่ดูแล Louis Vuitton และ Alexandre Arnault ที่ดูแล Rimowa ซึ่งทั้งคู่เข้าใจว่าในยุคสมัยนี้แต่ละแบรนด์ต้องสามารถครีเอตกระแสแบบ ‘Digital Hype’ ที่ทุกคนต้องพูดถึง โพสต์ลงรูป และดีไซเนอร์เองก็ต้องมีเครือข่ายเพื่อนคนดังที่จะช่วยสนับสนุนผลงาน สร้างยอดเอ็นเกจเมนต์ออนไลน์ และเป็น Domino Effect ที่คนอยากไปซื้อสินค้าตาม แม้จะเป็นแค่พวงกุญแจหรือแว่นกันแดด ซึ่งสิ่งนี้เวอร์จิลมาพร้อมทั้งหมดถ้าเทียบกับดีไซเนอร์คนอื่นๆ

 

โดยถ้าต้องเจาะจงพูดถึงตัวคอลเล็กชัน Spring/Summer 2019 ที่เวอร์จิลดีไซน์ให้ Louis Vuitton เป็นครั้งแรก ก็ถือว่า ‘ผ่าน’ ในเกณฑ์ที่ว่ายังมีความหวังต่อไป แม้จะมีความนิ่งและเหมือนยังไม่สุด หลายคนในวงการต่างกังวลใจว่าด้วยประสบการณ์และแนวทางการดีไซน์ของเขา เราจะเห็น Off-White เวอร์ชัน 2.0 ที่เอาคำว่า ‘Louis Vuitton’ มาแปะแทน แต่เวอร์จิลได้โชว์ว่าเขาก็มีมิติอื่นๆ อยากนำเสนอและพูดถึงเรื่องราวการตัดเย็บ Tailoring ที่สำคัญมากสำหรับแบรนด์ระดับ Louis Vuitton ซึ่งต่อไปเวอร์จิลก็ควรโชว์ศักยภาพในการค้นคว้าและเรียนรู้การทำเสื้อผ้าแบบชั้นสูง พร้อมเอาข้อได้เปรียบเรื่องเครื่องมือ อุปกรณ์ และทุนทรัพย์ที่เขาสามารถหาได้จาก Louis Vuitton เพื่อเดินหน้าต่อไปและสะท้อนสิ่งที่คนยุคใหม่ต้องการ ซึ่งเป็นหลักการของเขาตั้งแต่นับหนึ่งในการเป็นดีไซเนอร์

 

 

แต่สิ่งที่ได้คะแนนเต็มของโชว์นี้คือ การที่เวอร์จิลและ Louis Vuitton สามารถแบรนด์ดิ้งโชว์นี้ให้กลายเป็นโมเมนต์ที่ถูกจารึกมากกว่าแค่ในประวัติศาสตร์แฟชั่น แต่ประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมสังคมกับการนำคอนเซปต์ ‘Diversity’ หรือความหลากหลายของกลุ่มคนมาเล่นอย่างน่าชื่นชม และเป็นกลายเป็นผู้นำในด้านนี้ เพราะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การนำประเด็นนี้มาใช้ของบางแบรนด์ก็ยังดูสะเปะสะปะและเหมือนเป็นการเกาะกระแส แต่สำหรับโชว์ Louis Vuitton ในครั้งนี้ที่ทำรันเวย์สายรุ้งไล่สีที่สวน Palais Royal ในปารีส เราได้เห็นอาร์ทิสติกไดเรกเตอร์ของแบรนด์ที่เป็นผิวสีคนแรกตั้งแต่แบรนด์ก่อตั้งในปี 1854 และมีการแคสต์นายแบบจากทุกเชื้อชาติ ไม่ว่าจะเป็นคนอินเดีย คนเอเชีย คนผิวสี คนยุโรป ซึ่งบนที่นั่งของแขกทุกคนก็มีโปรแกรม Show Note ที่วาดภาพแผนภาพของโลก พร้อมแต้มจุดสถานที่เกิดของนายแบบ และที่เกิดของพ่อแม่นายแบบด้วย แถมเวอร์จิลก็ได้ชวนนักศึกษากว่าพันคนให้มาชมโชว์ เพราะเขามองว่าเด็กเหล่านี้คืออนาคตของสังคมที่ควรมีโอกาสมาสัมผัสงานระดับนี้ ซึ่ง Tim Blanks หนึ่งในนักวิจารณ์คนสำคัญของเว็บไซต์ Business of Fashion ก็กล่าวว่า โชว์นี้เป็นหนึ่งในไฮไลต์ตลอดการทำงานเกือบสามทศวรรษในวงการของเขา

 

แต่คงไม่มีโมเมนต์ไหนจากโชว์นี้ที่เด่นไปกว่าตอนจบที่เราได้เห็นเวอร์จิลออกมาโค้งคำนับและเข้าไปกอดคานเยที่ยืนข้างๆ ภรรยา คิม คาร์ดาเชียน เวสต์ และน้องสาวไคลี เจนเนอร์ พร้อมร้องไห้ยาวเกือบนาที ซึ่งสำหรับเราแล้วมันมากกว่าแค่ความซาบซึ้ง แต่เป็นนาทีที่เหมือนทลายกำแพงอะไรบางอย่างที่แต่ก่อนคนกลุ่มน้อยดูเหมือนจะเป็นได้แค่ตัวประกอบวงการและอยู่เบื้องหลังผ้าม่านของวงการนี้เป็นประจำ

 

ใครจะไปคิดว่า 9 ปีก่อนหน้านี้จะมีผู้ชายผิวสีคนหนึ่งที่มาปารีสแฟชั่นวีกครั้งแรก ไม่ได้เข้าทุกโชว์ แต่แบกหัวใจที่เต็มไปด้วยความฝัน ความมุ่งมั่น และความทะเยอทะยาน จะมาถึงจุดนี้ได้ในเส้นทางที่เขาสร้างด้วยตัวเอง

 

ถ้าใครยังไม่เชื่อในตัวผู้ชายที่ชื่อ เวอร์จิล แอบโลห์ คุณก็มีสิทธิ์ เพราะทุกคนก็ไม่ได้รักแอนดี้ วอร์ฮอล หรือปิกัสโซ หรือคานเย เวสต์ หรือมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก หรือเอดี สลีมาน หรือสตีฟ จ็อบส์ หรือเอลเลน ดีเจนเนอเรส หรือไมเคิล แจ็คสัน หรือแม้แต่โอปราห์ วินฟรีย์ แต่สิ่งที่เราเลี่ยงไม่ได้คือ เวอร์จิลอยู่ตรงนี้แล้ว และยังทำให้เห็นว่าชื่อเสียงจากผลงานที่เขาสร้างเป็นของจริง เป็นไปได้ว่านี่ยังไม่ใช่จุดที่ประสบความสำเร็จที่สุด แต่อาจเป็นแค่จุดเริ่มต้นของเขา

 

เวอร์จิล คานเย และกลุ่มเพื่อนที่หน้าโชว์ Comme des Garçons ในปี 2009

 

เวอร์จิล คานเย และกลุ่มเพื่อนที่หน้าโชว์ Louis Vuitton Spring/Summer 2019

 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X