×

เมื่อเสียงปืนลั่น เสียงสันติภาพแผ่วลงหรือไม่? ประมวลสถานการณ์และจุดยืนต่อเหตุรุนแรงชายแดนภาคใต้

06.05.2025
  • LOADING...
เหตุความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่งผลกระทบต่อประชาชนและกระบวนการสันติภาพที่หยุดชะงักมาเกือบหนึ่งปี

ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายน 2568 เหตุความสงบและคลื่นความรุนแรงถาโถมเข้าสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกครั้ง ความขัดแย้งที่ไม่เคยจางหายกลับถูกตอกย้ำด้วยสถานการณ์น่าสะเทือนใจ ‘เหตุไม่สงบ’ เริ่มรุนแรงขึ้นจนเข้าขั้น ‘การก่อการร้าย’ โดยไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเท่านั้น แต่เสมือนว่าพุ่งเป้าไปที่พลเรือนและกลุ่มเปราะบาง ที่ตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้งที่ฝังลึก

 

เสียงปืนปะทุ คร่าผู้บริสุทธิ์

 

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 ขณะที่รถกระบะของตำรวจอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา นำพระภิกษุและสามเณรออกบิณฑบาต คนร้ายสองคนขี่รถจักรยานยนต์ตามประกบ ก่อนกราดยิงเข้ากระจกฝั่งซ้าย ทำให้สามเณรรูปหนึ่ง อายุ 16 ปี มรณภาพขณะนำตัวส่งโรงพยาบาล และสามเณรรายอื่นได้รับบาดเจ็บอีก 5 รูป

ต่อมาเมื่อ 2 พฤษภาคม 2568 เกิดเหตุคนร้ายยิงประชาชนชาวไทยพุทธในพื้นที่อำเภอจะแนะ และอำเภอตากใบ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวม 4 ราย และบาดเจ็บ 3 ราย โดยในจำนวนผู้เสียชีวิตของเหตุการณ์ดังกล่าว มีหญิงชราอายุ 76 ปี ซึ่งพิการทางสายตา และเด็กหญิงอายุเพียง 9 ขวบ รวมอยู่ด้วย

 

สถานการณ์ยิ่งทวีความรุนแรง เมื่อมีรายงานการลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ตำรวจ ชุดสืบสวนคดีความมั่นคง กองกำกับการสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส เหตุเกิดบริเวณบ้านไอร์ซือเระ ตำบลช้างเผือก อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้บาดเจ็บ จำนวน 3 ราย และต่อมาเจ้าหน้าที่ 1 รายได้เสียชีวิตลง

 

BRN ย้ำไม่มีนโยบาย ‘พุ่งเป้าพลเรือน’

 

ในวันที่ 3 พฤษภาคม สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต และผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ พร้อมทั้งยืนยันเจตนารมณ์ของรัฐบาลในการที่จะดำเนินมาตรการทุกวิถีทางเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 

 

“สมช. ตระหนักดีว่า เพียงคำพูดไม่อาจทำให้บาดแผลที่เกิดขึ้นหายไป แต่ขอให้คำมั่นว่าภาครัฐจะทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างถึงที่สุด และจะมุ่งผลักดันมาตรการคุ้มครองและปกป้องประชาชนผู้บริสุทธิ์อย่างเต็มกำลังความสามารถ” ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุ

 

ในอีกด้านหนึ่ง ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (BRN) ซึ่งถูกเพ่งเล็งอย่างกว้างขวางว่าอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ได้ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อเหตุการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการสูญเสียชีวิตของพลเรือนผู้บริสุทธิ์ พร้อมทั้งยืนยันว่าเป้าหมายของการต่อสู้ของพวกเขาไม่ใช่การทำร้ายพลเรือน 

 

“BRN ขอเน้นย้ำว่า เราไม่มีนโยบายโจมตีเป้าหมายพลเรือน และยังคงยึดมั่นในหลักการของการต่อสู้ที่ให้เกียรติต่อชีวิต ศักดิ์ศรี และสิทธิมนุษยชนของทุกฝ่าย เป็นนโยบายการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและศักดิ์ศรีของประชาชนมลายูปาตานี”

 

แถลงการณ์ของ BRN ยังระบุว่า จะยึดมั่นในสิทธิแห่งการกำหนดอนาคตตนเองของประชาชนมลายูปาตานี และจะเดินหน้าต่อสู้ต่อไปโดยเคารพหลักสิทธิมนุษยชนสากล และกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ มุ่งเน้นการสร้างพื้นที่ทางการเมืองที่ยุติธรรมและครอบคลุม เพื่อให้ประชาชนสามารถกำหนดอนาคตของตนเองได้โดยปราศจากการกดขี่จากรัฐไทย

 

พร้อมเจรจาใต้เงื่อนไข รัฐไทยไม่แบ่งแยก

 

จากห่วงโซ่ของสถานการณ์ภาคใต้อันร้อนระอุ รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ แพทองธาร ชินวัตร กำลังเผชิญแรงกดดันอย่างหนักจากสังคมทุกภาคส่วน โดยเฉพาะความคืบหน้าและประสิทธิภาพของกระบวนการเจรจาพูดคุยเพื่อสันติภาพ 

 

ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุถึงเงื่อนไขในการพูดคุยไว้ว่า “ต้องหยุดความรุนแรงจริงๆ ไม่ใช่เกมการเมือง”

 

รองนายกฯ ย้ำว่าไทยยินดีที่จะเจรจาพูดคุยภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญไทย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐเป็นรัฐเดียวแบ่งแยกไม่ได้ ดังนั้น “การจะเจรจาเพื่อเป็นรัฐปาตานี หรือรัฐอะไรก็ตาม เราไม่พร้อมเจรจาด้วย” 

 

ขณะที่ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มองกรณีที่ผู้สูญเสียเป็นชาวไทยพุทธจำนวนมาก ว่าขอให้มีการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ก่อน เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของศาสนา แต่การกระทำกับกลุ่มเปราะบางเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง พร้อมย้ำว่า หลักการสูงสุดในการแก้ปัญหาคือ “ต้องเอาความปลอดภัยและอยู่ดีกินดีของประชาชนเป็นหลัก”

 

นอกจากนี้ภูมิธรรมยังมอบหมาย พล.อ. ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งเคยเป็นรองผู้บัญชาการทหารบก และอดีตเลขา สมช. ให้ลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อพูดคุยกับแม่ทัพภาคที่ 4 และหน่วยงานในพื้นที่ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งรัดการดำเนินการ ซึ่งที่ผ่านมาส่วนใหญ่ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นผู้รับผิดชอบ 

 

สำหรับ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า รัฐบาลไม่สนับสนุนความรุนแรงทุกรูป พร้อมมอบหมายรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องให้กำกับดูแลประเด็นนี้อย่างเข้มข้นแล้ว ทั้งนี้ ยังขอสื่อมวลชนช่วยในเรื่องแบ่งคำพูด เชื้อชาติ ศาสนา เพราะทุกคนก็คือคนที่มีครอบครัว ไม่ควรมาแบ่งแยก และความรุนแรงก็ไม่ควรจะเกิดขึ้น ทุกชีวิตที่เสียไป มีคุณค่าและมีความหมายต้องช่วยกัน ทำความเข้าใจในเรื่องนี้ 

 

อย่างไรก็ตาม บิดาของนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาประธานอาเซียน ได้แสดงออกถึงความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ดีกับ อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียน และความพร้อมที่จะร่วมมือกันขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งดูมีแนวโน้มดีขึ้น ก่อนเหตุรุนแรงจะหวนมาปะทุหนักข้ออีกครั้งหลังเดือนรอมฎอนผ่านพ้นไป

 

ฝ่ายค้านชี้ ความรุนแรงจะตอกย้ำอคติ

 

ด้านพรรคประชาชน แกนนำหลักของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้ออกจดหมายเปิดผนึกในนามพรรค ซึ่งแสดงออกถึงการสนับสนุนให้เปิดพื้นที่เพื่อเจรจา โดยในช่วงหนึ่งใช้คำว่า “ขบวนการที่คิดว่ากำลังต่อสู้เพื่อพี่น้องมลายูมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร องค์กรไหน”

 

พรรคประชาชนชี้ว่า การสังหารพลเรือนผู้บริสุทธิ์เป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักศาสนา กฎหมาย และมนุษยธรรมระหว่างประเทศ อีกทั้งยังส่งผลร้ายแรงต่อการสร้างสันติภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ ความรุนแรงต่อพลเรือนจะสร้างความเกลียดชังและอคติต่อชาวมลายูมุสลิม บดบังความเข้าใจในความอยุติธรรมที่พวกเขาเคยได้รับ ผลักสังคมไปสู่การตอบโต้ที่ไม่สิ้นสุด และบ่อนทำลายความชอบธรรมทางการเมืองของการต่อสู้ 

 

“พรรคประชาชนจึงเรียกร้องให้หยุดการสังหารพลเรือนโดยทันที ซึ่งจะเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการพูดคุยสันติภาพ และขบวนการต่อสู้ต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองและแสดงความพร้อมที่จะใช้กระบวนการทางการเมืองในการแก้ไขปัญหา”

 

พรรคประชาชนยังมีความเห็นต่อรัฐบาลว่า การที่ความรุนแรงปะทุขึ้นอีกครั้งอาจมีสาเหตุจากความไม่ชัดเจนในยุทธศาสตร์ของรัฐบาลเกี่ยวกับการสร้างความยุติธรรม นิติรัฐ และสันติภาพ โดยเฉพาะการปล่อยให้กระบวนการพูดคุยหยุดชะงักไปเกือบ 1 ปี พรรคประชาชนจึงเรียกร้องให้รัฐบาลกลับมาสานต่อกระบวนการพูดคุยโดยเร็ว โดยต้องรับฟังเสียงประชาชนทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบ และจัดเวทีคู่ขนานเพื่อให้ทั้งชาวพุทธและมุสลิมมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของกระบวนการสันติภาพร่วมกัน

 

ขณะเดียวกัน กัณวีร์ สืบแสง สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ได้วิจารณ์ทั้งการดำเนินการที่เพิกเฉยของรัฐบาลไทย พร้อมประณามการกระทำของผู้ก่อเหตุร้าย ซึ่งหากเป็น BRN จริง กัณวีร์ชี้ว่า การสังหารผู้บริสุทธิ์คือการทำลายกระบวนการสันติภาพของกลุ่มที่อ้างว่าตนเองเป็นนักรบ จะยิ่งทำให้คนในพื้นที่ระแวง หวาดกลัว และจะไม่มีใครยอมรับ 

 

“รัฐไทยก็ทำให้มืด คู่เจรจาอย่าง BRN ก็ทำให้มืด แล้วประชาชนเจ้าของพื้นที่ที่ต้องอยู่กับปัญหาทุกวัน จะหาแสงสว่างของสันติภาพได้จากไหน สถานการณ์มันกลายเป็นอาชญากรรมสงครามเป็นที่เรียบร้อยแล้ว” กัณวีร์ระบุในช่วงหนึ่ง

 

คนพื้นที่ประสานเสียง ต้องการเจรจา

 

ดร.ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้มุมมองว่า การหยุดชะงักของกระบวนการเจรจาสันติภาพที่ยาวนานเกือบ 1 ปี เป็นปัจจัยสำคัญที่อาจนำไปสู่การปะทุของความรุนแรงระลอกใหม่ ข้อมูลจาก Deep South Watch ที่แสดงให้เห็นถึงสถิติเหตุการณ์ความไม่สงบที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่มีการเริ่มต้นกระบวนการเจรจาในปี 2556 เป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่า การพูดคุยเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการลดความรุนแรง 

 

ดร.ชญานิษฐ์ ยังวิพากษ์วิจารณ์เงื่อนไขของรัฐบาลในการพูดคุยกับ ‘ตัวจริง’ ว่าเป็นอุปสรรคต่อการเริ่มต้นกระบวนการ และตั้งคำถามถึงความพยายามของรัฐบาลในการทำความเข้าใจโครงสร้างและความซับซ้อนของกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ นอกจากนี้เธอยังเตือนถึงอันตรายของกระแสการสร้างความเกลียดชังแบบเหมารวมต่อชาวมุสลิม ซึ่งจะยิ่งทำให้สันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นสิ่งที่ไกลเกินเอื้อม

 

“ท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น หากยังไม่เกิดกระบวนการพูดคุยกันอีก อาจแปลความได้ว่าทั้งรัฐบาลไทยและขบวนการติดอาวุธไม่ได้มีเจตจำนงที่จะสร้างสันติภาพอย่างแท้จริง ผลคือความชอบธรรมของทั้งรัฐบาลและขบวนการจะลดลงเรื่อยๆ และทั้งสองฝ่ายก็จะไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างที่พยายามกล่าวอ้างมาโดยตลอด เพราะขณะนี้ประชาชนประสานเสียงต้องการให้เกิดการพูดคุย ฉะนั้นการพูดคุยเร็วเท่าไหร่ยิ่งเป็นผลดีกับทุกฝ่ายมากขึ้นเท่านั้น” นักวิชาการธรรมศาสตร์กล่าว

 

ดร.ชญานิษฐ์ กล่าวอีกว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งเหตุการณ์ความรุนแรงต่อพลเรือนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ภาคประชาสังคมและประชาชนกลุ่มต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งที่เป็นชาวมลายูและไทยพุทธ ต่างก็แสดงความต้องการไปในทิศทางเดียวกัน คือเรียกร้องให้รัฐบาลและขบวนการกลับสู่กระบวนการเจรจาสันติภาพโดยเร็ว ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเครือข่ายวิชาการ PEACE SURVEY นับตั้งแต่ปี 2559-2566 รวมทั้งสิ้น 7 ครั้ง โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นทั้งชาวมลายูและคนไทยพุทธ อายุ 18-70 ปี จำนวนรวมกว่า 10,581 คน ทั่วจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ในการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั้ง 7 ครั้ง สนับสนุนให้ใช้การพูดคุยสันติภาพเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาความรุนแรง และไม่เคยมีผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนครั้งใดเลยที่ได้รับคำตอบว่าสนับสนุนการพูดคุยสันติภาพน้อยกว่าร้อยละ 55 

 

“ความไม่สงบจนเป็นผลให้มีผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตจำนวนไม่น้อยนั้นถือเป็นเรื่องที่น่าเศร้าอย่างยิ่ง แม้ว่าหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าอาจจะเป็นการกระทำจากขบวนการ BRN แต่ล่าสุดขบวนการ BRN ก็ได้ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อเหตุรุนแรงและยืนยันไม่มุ่งโจมตีพลเรือน แม้ว่าการปะทุขึ้นของความรุนแรงในปี 2547 จะสามารถทำความเข้าใจได้ว่าเป็นผลมาจากประวัติศาสตร์และความรู้สึกที่ได้รับการกดขี่หรือถูกกระทำ แต่ก็คงไม่มีเป้าหมายไหนจะสูงส่งพอที่จะอนุญาตให้คุณทำร้ายคนชรา เด็ก และผู้พิการได้ มันเป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถยอมรับได้” ดร.ชญานิษฐ์ กล่าว 

 

ทั้งนี้ แม้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ในทางหนึ่งจะเป็นการต่อสู้กันทางอาวุธ แต่ในอีกมุมก็ยังเป็นพื้นที่ของการต่อสู้ทางการเมืองด้วย เพราะทั้งรัฐไทยและขบวนการติดอาวุธ ต่างฝ่ายต่างก็ต้องพยายามช่วงชิงความชอบธรรมระหว่างกันด้วย ส่วนตัวมองว่า การที่ขบวนการติดอาวุธทำเช่นนี้ย่อมส่งผลให้ตัวขบวนการฯ ต้องสูญเสียความชอบธรรมทางการเมืองไป ถือเป็นความพ่ายแพ้ทางการเมืองอย่างสำคัญ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising