เชื่อว่ามีไม่กี่คนแน่ๆ ที่อัปโหลดอินสตาแกรมสตอรีแล้วไม่เคยเช็กดูว่ามีใครบ้างที่แอบเข้ามาติดตามความเคลื่อนไหวของคุณอยู่บ่อยๆ
ใครกันจะไม่อยากรู้ว่าภายใน 24 ชั่วโมงก่อนสตอรีจะหายไปนั้น หนุ่มหรือสาวที่คุณกำลังคุยอยู่เปิดเข้ามาดูบ้างไหม หรือคนคนนั้นที่คุณไม่ปรารถนาเข้ามาสอดแนมอยู่เรื่อยๆ กระทั่งคนที่อยากให้อิจฉาสุดๆ แอบกดเข้ามาดูความเป็นไปบ้างหรือเปล่า
แต่ไม่รู้ว่าผู้เขียนคิดไปเองหรือเปล่า เพราะรู้สึกว่าอันดับ 5 คนแรกกลับไม่ใช่คนใกล้ตัวหรือคนสนิท แต่อาจเป็นคนที่ชอบเข้ามา ‘ส่อง’ ด้วยเหตุประการบางอย่าง และอันดับที่โผล่ขึ้นมาของผู้เขียนเรียงได้ตามนี้
ชายหนุ่มที่เคยเจอนับครั้งได้ตามงานสังคมที่เราไม่ได้กดตาม
เพื่อนที่โรงเรียน
รุ่นน้องที่ฟิตเนส
คนรัก
เพื่อนของเพื่อนที่ยังไม่เคยเจอ
ลำดับอย่างนี้เรียงจากอะไร ใช่การเข้ามาดูก่อนหลังจริงหรือ
ฉันพยายามหาคำตอบวิธีการจัดอันดับของอินสตาแกรมว่าเป็นการสุ่มหรือไม่ด้วยการสังเกตในสตอรีที่ต่างๆ กัน เพื่อหาคำตอบว่าลำดับที่เราเห็นนั้นบอกอะไรได้บ้าง
แน่นอนว่าเรื่องนี้หนีไม่พ้นเว็บบอร์ดอย่าง Reddit พันทิปของชาติตะวันตก ที่หยิบยกทฤษฎีที่ว่าคนคนนั้น ‘ย่องตามเงา’ คุณอยู่ ว่าง่ายๆ ว่าคนกลุ่มนี้คือแฟนคลับตัวยง หรือถ้าจะเรียกให้ฟังดูพิลึกหน่อยแบบฝรั่งก็คือเขา ‘stalk’ คุณอยู่นั่นเอง ซึ่งคนกลุ่มนี้หากสังเกตดีๆ เขาหรือเธออาจไม่ได้กดไลก์สิ่งที่คุณโพสต์หรือเคยคอมเมนต์อะไรใดๆ เลยก็ได้ แต่พวกเขานี่แหละที่เข้ามาดูหน้าอินสตาแกรมของคุณบ่อยที่สุด
นอกจากนั้นก็มีทฤษฎีที่เรียงลำดับการเข้ามาชมสตอรีจำนวน 50 คน แสดงให้เห็นว่าใครเข้ามาชมก่อน 50 คนแรก แต่เมื่อมีจำนวนเกิน 50 คน อัลกอริทึมนี้จะเปลี่ยนไป
ทีนี้กลับมาที่ทฤษฎีผู้ติดตามอีกรอบ
หลายคนมองว่าหลังจากเปลี่ยนอัลกอริทึมที่ว่าข้างต้นแล้ว อันดับจะจัดเรียงจากใครก็ตามที่ติดต่อกับคุณผ่านโปรไฟล์เยอะที่สุด โดยดูจากการดูหน้าอินสตาแกรม การคอมเมนต์ การกดไลก์ กดดูสตอรี ไปจนการแลกเปลี่ยนข้อความหลังไมค์หากัน เป็นต้น
ซึ่งในกรณีนี้วัดจากการกดชมภาพอินสตาแกรมเป็นหลัก ดังนั้นแปลว่าถ้าแฟนเก่าเจ้ากรรมของคุณ (หรือคนรักใหม่ของแฟนเก่าก็ดี) ผู้ซึ่งไม่เคยกดไลก์คุณสักครั้ง แต่กลับขึ้นมาติดอันดับ 5 คนแรก นั่นอาจแปลว่าเขากำลังจับตามองคุณอยู่แล้วล่ะ
เพจ เธเลน (Paige Thelen) ฝ่ายสื่อสารด้านเทคโนโลยีของอินสตาแกรม เผยกับเว็บไซต์ Social Media Week ว่าดูจากการพิจารณา 3 อย่างในการจัดอันดับผู้ใช้ โดยใช้เกณฑ์ช่วงเวลาที่โพสต์ ความสัมพันธ์ของผู้ใช้ ไปจนแนวโน้มที่ว่าผู้ใช้นั้นๆ อาจชอบสตอรีที่คุณโพสต์
“เราใช้วิธีใกล้เคียงกับการไล่ฟีดบนอินสตาแกรม อินสตาแกรมสตอรีจัดอันดับโดยดูจากช่วงเวลานั้นๆ ว่าคุณกำลังสนใจอะไร
“การจัดเรียงนี้ดูจาก 3 อย่างด้วยกันคือ หนึ่ง ความน่าจะชอบในคอนเทนต์นั้นๆ สอง ช่วงเวลาในการโพสต์ และสามคือความสัมพันธ์ของคนที่ชมต่อผู้โพสต์ ซึ่งเทคโนโลยีนี้เกิดจากการศึกษาการใช้ของคนคนนั้นโดยมีกลไกต่างๆ มาช่วย และจัดให้เหมาะกับพฤติกรรมของผู้ใช้”
เพจยังเสริมอีกว่า “การเข้าไปดูโปรไฟล์ก็มีส่วนสำคัญเช่นเดียวกับการกดไลก์และกดคอมเมนต์ต่างๆ”
แปลได้ว่าใครก็ตามที่โผล่หราอยู่ในอันดับ 5 คนแรกของคุณอาจติดตามความเคลื่อนไหวของคุณอยู่ตลอดมา แม้ว่าเขาหรือเธอจะไม่ได้กดหัวใจให้คุณ หรือกระทั่งติดต่อกับคุณแล้วก็ตาม ดังนั้นเวลาที่เห็นแฟนเก่าไม่เอาไหนโผล่เข้ามาติดโผ จงรู้ไว้ว่าเขาอาจยังคงนึกถึงคุณอยู่ และหากเป็นเพื่อนสนิทก็จงรู้ไว้ว่าเพื่อนคนนี้รักและใส่ใจคุณเสมอ และเป็นประธานสมาชิกแฟนคลับตัวยงของคุณคนหนึ่งเช่นเดียวกับในชีวิตจริงนั่นเอง
อ้างอิง: