×

ต่างชาติแห่ปักหมุด ลงทุนเวียดนาม ยอด FDI พุ่งแซงไทยแบบไม่เห็นฝุ่น สัญญาณบ่งชี้ ไทยเริ่มไร้เสน่ห์?

05.09.2022
  • LOADING...
FDI

ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ที่ขยายตัวได้ 2.5% และในช่วงครึ่งปีแรกที่ขยายตัวได้เพียง 2.4% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นตัวเลขที่ออกมาค่อนข้างต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ หากเจาะเข้าไปดูในแถลงการณ์ของสภาพัฒน์จะพบว่า หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ GDP ไทยเติบโตได้ค่อนข้างน้อยคือการลงทุน

 

ในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา การลงทุนในภาพรวมของไทยปรับตัวลดลง 1% ตามการลงทุนของภาครัฐที่หดตัวลง 9% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนก็ขยายตัวได้เพียง 2.3% ชะลอลงจากการขยายตัว 2.9% ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่มูลค่าการลงทุนทางตรงจากต่างชาติ หรือ FDI ของไทยในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ประมาณ 2.1 แสนล้านบาท


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


เวียดนามเนื้อหอม ต่างชาติแห่ปักหมุดลงทุน

สถานการณ์การลงทุนของไทยดูเหมือนจะกำลังสวนทางกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ที่ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สามารถขยายตัวได้ที่ 6.42% และหากดูเฉพาะตัวเลขในไตรมาส 2 เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวได้ถึง 7.72% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่เร็วที่สุดในรอบเกือบ 10 ปี และสูงสุดในภูมิภาค

 

การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว ทำให้เวียดนามสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามาได้เกือบ 5 แสนล้านบาทนับจากต้นปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังมีข่าวว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก ไม่ว่าจะเป็น Apple ของสหรัฐอเมริกา, Foxconn ของไต้หวัน และ Samsung จากเกาหลีใต้ ต่างให้ความสนใจเข้าไปตั้งฐานการผลิตและขยายการลงทุนกันอย่างต่อเนื่อง

 

ล่าสุดกระทรวงวางแผนและการลงทุนของเวียดนามรายงานสถิติการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 ว่า มียอดลงทะเบียนขอลงทุน (FDI Registration) สูงถึง 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่ยอดการลงทุนจริง (FDI Disbursement) อยู่ที่ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ 

 

โดยปัจจุบันมีบริษัทต่างชาติจาก 84 ประเทศทั่วโลกเข้ามาลงทุนในเวียดนาม โดย 5 ประเทศที่มีการลงทุนมากที่สุดในเวียดนามในช่วง 6 เดือนแรกของปี คือ สิงคโปร์ด้วยมูลค่าการลงทุน 4.1 พันล้านดอลลาร์ รองลงมาเป็นเกาหลีใต้ที่ 2.6 พันล้านดอลลาร์ เดนมาร์ก 1.3 พันล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยจีน ญี่ปุ่น และฮ่องกง

 

การไหลเข้าของ FDI ถือเป็นตัวแปรที่ทำให้เศรษฐกิจและการส่งออกของเวียดนามขยายตัวได้อย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยทั้งมูลค่าการส่งออกและ FDI ของเวียดนามได้แซงหน้าไทยไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

สถิติการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไทย vs. เวียดนาม

 

FDI

 

หากเทียบสถิติ FDI ระหว่างไทยกับเวียดนามย้อนหลังจะพบว่า ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา เวียดนามได้รับเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ 11.96 พันล้านดอลลาร์ต่อปี อีกทั้งมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ไทยได้รับเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ 8.02 พันล้านดอลลาร์ต่อปี โดยเฉพาะหลังจากเกิดรัฐประหารในปี 2014 พบว่า FDI ของไทยมีแนวโน้มที่ลดลงและไม่เคยมีปีไหนเลยที่ไทยจะมี FDI สูงกว่าเวียดนาม (ในปี 2011 ประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์)

 

Double M เว็บไซต์ด้านการลงทุนได้ระบุถึง 3 ปัจจัยหลักที่ทำให้บริษัทต่างชาติหลายแห่งเลือกที่จะปักหมุดตั้งฐานการผลิตในประเทศเวียดนาม ได้แก่

 

  1. เสถียรภาพด้านเศรษฐกิจและการเมือง โดยเวียดนามจัดเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมืองสูง ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะปกครองด้วยระบบคอมมิวนิสต์ แต่ก็มีการปฏิรูปเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง จนสามารถเปลี่ยนจากการเป็นประเทศยากจนไปสู่ประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางได้สำเร็จ 

 

  1. โครงสร้างประชากร ด้วยจำนวนประชากรเวียดนามที่มีขนาดใหญ่กว่า 98 ล้านคน และมีอายุเฉลี่ยเพียง 32 ปี ซึ่งเป็นวัยแรงงาน การบริโภคจึงเติบโตสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มวัยแรงงานเริ่มออกจากภาคเกษตรและเข้าสู่ภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น จึงทำให้รายได้แรงงานเติบโตขึ้นทุกปีที่ราวๆ 8-9% ต่อปี สะท้อนจากตัวเลขค้าปลีกในภาวะปกติจะโตราวๆ 10%

 

  1. ต้นทุนค่าแรงที่ยังถูกและสิทธิประโยชน์จากข้อตกลงการค้า แรงหนุนจากการความต้องการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนของชาติตะวันตก ทำให้บริษัทข้ามชาติเพิ่มการลงทุนหรือย้ายฐานการผลิตมาเวียดนาม เพื่อใช้ประโยชน์จากค่าแรงที่ไม่แพง ขณะเดียวกันยังมีแรงหนุนจากข้อตกลงทางการค้าที่เวียดนามทำไว้กับนานาประเทศ ทำให้ปัจจุบันแบรนด์ชั้นนำระดับโลกหลายแบรนด์ล้วนมีฐานการผลิตในเวียดนามทั้งสิ้น 

 

FDI เข้าไทยผันผวน ญี่ปุ่น-จีนเริ่มสนใจเวียดนาม

ขณะที่ข้อมูลที่ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ของธนาคารไทยพาณิชย์ เคยวิเคราะห์เอาไว้ระบุว่า หากเทียบ FDI ของเวียดนามกับไทยจะพบว่า FDI ของเวียดนามมีการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง และเป็นการเข้าลงทุนในภาคการผลิตเป็นหลัก ในขณะที่ FDI เข้าไทยค่อนข้างผันผวน นอกจากนี้ญี่ปุ่นและจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้ลงทุนหลักในไทย ยังขยายการลงทุนในเวียดนามมากขึ้นในระยะหลัง 

 

ข้อมูลของ EIC ชี้ว่า หากนับย้อนหลังไปจนถึงปี 2010 เกือบ 60% ของ FDI ที่เข้าเวียดนามอยู่ในภาคการผลิตเป็นหลัก ขณะที่ FDI เข้าไทยค่อนข้างผันผวน และเข้าลงทุนในภาคบริการเป็นส่วนใหญ่ คิดเป็น 59% ของ FDI รวม 

 

ในแง่ของประเทศผู้ลงทุน ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศผู้ลงทุนหลักในไทย ได้เริ่มขยายการลงทุนในเวียดนาม โดยในปี 2010 FDI จากญี่ปุ่นเข้าไทย (4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) มีมูลค่าสูงกว่า FDI เข้าเวียดนาม (1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ถึง 4.2 เท่า แต่ในปี 2018 สัดส่วนดังกล่าวกลับลดลงเป็น 1.4 เท่า (FDI จากญี่ปุ่นเข้าไทยรวม 5.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ FDI จากญี่ปุ่นเข้าเวียดนามรวม 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) 

 

กูรูชี้ ไทยต้องรีบเดินเกมรุกก่อนหมดบุญเก่า

อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาไทยมียอดลงทะเบียนขอลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติอยู่ที่ราว 2.2 แสนล้านบาท โดยส่วนตัวมองว่าเม็ดเงินดังกล่าวยังไม่มากพอที่จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยทะยานได้ โดยมองว่าไทยควรจะทำได้ดีกว่านี้หากพิจารณาจากกระแสในเวลานี้ ที่ธุรกิจจำนวนมากต้องการย้ายฐานการผลิตจากจีนเข้ามาในอาเซียน

 

“Foxconn กับ Apple ไปเวียดนาม ขณะที่ Tesla น่าจะไปอินโดนีเซีย ส่วนไทยเราไม่มีบริษัทขนาดใหญ่ที่จะสามารถดึงคลัสเตอร์การผลิตให้ตามเข้ามาได้เลย ผมคิดว่าเราพลาดโอกาสที่จะทำให้โตได้มากกว่านี้ ตัวเลข FDI ที่ 2 แสนล้าน สะท้อนว่าเราไม่ได้ถูกลืม แต่ก็ไม่ใช่ตัวเลือกแรกๆ ของต่างชาติอีกแล้ว” อมรเทพกล่าว

 

อมรเทพระบุว่า หากเทียบระหว่างไทยกับเวียดนามในเวลานี้จะพบว่า เวียดนามมีข้อได้เปรียบอยู่หลายด้าน เช่น เวียดนามมีจำนวนประชากรในวัยแรงงานสูง ขณะที่ไทยมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน การเจรจาเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของเวียดนามมีความยืดหยุ่นกว่าไทย โดยต่างชาติสามารถเจรจาต่อรองเป็นรายบริษัทได้ และข้อสำคัญคือการที่เวียดนามมีข้อตกลงทางการค้าที่มากกว่าไทย

 

“ต่างชาติที่เข้ามาลงทุนจะต้องมองตลาดภายในและการส่งออกสินค้า ซึ่งทั้งสองส่วนนี้เวียดนามได้เปรียบไทย ทั้งจากจำนวนประชากรและข้อตกลง FTA เวียดนามอยู่ทั้งใน RCEP และ CPTPP เราต้องเร่งปิดช่องว่างตรงนี้ ต้องเล่นเกมรุกมากขึ้น” อมรเทพกล่าว

 

อย่างไรก็ดี อมรเทพกล่าวอีกว่า การดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในประเทศจะต้องไม่คำนึงถึงการเติบโตในเชิงตัวเลขเพียงอย่างเดียว แต่ต้องดูด้วยว่าต่างชาติที่เข้ามาใช้ทรัพยากรในประเทศไทยมากน้อยแค่ไหน และไทยเองจะได้รับประโยชน์จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีบ้างหรือไม่ด้วย

 

“ในอดีตเราเคยผิดพลาดตรงที่ดึงต่างชาติเข้ามา แต่ไม่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี ขายแรงงานถูกอย่างเดียว ทำให้ทุกวันนี้เราแทบไม่มีเทคโนโลยีของตัวเองเลย การไม่มีเทคโนโลยีทำให้เรายังติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง เวียดนามในตอนนี้อาจจะเป็นแบบเราในอดีตก็ได้ เพราะแม้ว่าตัวเลขส่งออกเขาจะสูง แต่ตัวเลขการนำเข้าก็สูงเหมือนกัน ต้องจับตาดูต่อไป” อมรเทพกล่าว

 

ขณะที่ พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ที่ทำให้ไทยมีความน่าดึงดูดลดลงในสายตาของต่างชาติคือ โครงสร้างประชากรที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยและปัญหาขาดแคลนแรงงานทักษะสูง ซึ่งหากเทียบกับเวียดนามที่มีต้นทุนค่าแรงถูกกว่าและมีประชากรวัยทำงานสูงกว่า หรือในกรณีของอินโดนีเซียที่มีประชากร 300 ล้านคน และมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ จะทำให้ไทยค่อนข้างเสียเปรียบ

 

“เรื่องแรงงานทักษะสูง ในท้ายที่สุดเราอาจต้องแก้ปัญหาเรื่องนี้ด้วยการเปิดเสรีแรงงาน แต่โครงสร้างประชากรไม่ใช่เรื่องที่จะแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันการที่ปัจจุบันไทยไม่ได้เป็นฐานการผลิตราคาถูกอีกต่อไปแล้ว ทำให้เราคงไปแข่งกับเวียดนามไม่ได้ เราคงต้องพุ่งเป้าไปสู่อุตสาหกรรมที่มี Value Added เช่น EV ที่เราพอมีซัพพลายเชนอยู่” พิพัฒน์กล่าว

 

พิพัฒน์กล่าวอีกว่า อีกหนึ่งปัจจัยที่ไทยต้องเร่งแก้ไขหากต้องการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนมากขึ้นคือ ปัญหาเรื่องกฎเกณฑ์และข้อระเบียบต่างๆ รวมถึงปัญหาคอร์รัปชัน ซึ่งในกรณีของกฎเกณฑ์ หากเทียบกับเวียดนามจะเห็นว่า รัฐบาลของเขามีความยืดหยุ่นและใจป้ำค่อนข้างมาก ขณะเดียวกันการเมืองของเขาก็มีเสถียรภาพ

 

“ตอนนี้เรายังกินบุญเก่าอยู่ แต่ก็ต้องรีบสร้างบุญใหม่แล้ว เพราะคนอื่นเขาไปถึงไหนต่อไหนกันแล้ว ช่วงก่อนหน้านี้จีนกับฮ่องกงมีปัญหากัน ไทยควรจะฉวยโอกาสพัฒนาตัวเองเป็นศูนย์กลางการเงินบ้าง แต่เขาก็เลือกไปสิงคโปร์หรือดูไบกันหมด ล่าสุดจีนทะเลาะกับไต้หวันก็เป็นอีกโอกาสที่ไทยจะดึงอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์มาบ้าง ก็ต้องจับตาดูว่าเราจะทำได้ดีแค่ไหน” พิพัฒน์กล่าว

 

ทำไมไทยจึงไม่น่าดึงดูดเหมือนเก่า

ทั้งนี้ KKP Research เคยออกบทวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่ทำให้ต่างชาติเมินไทยในมิติต่างๆ เอาไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

 

1. ในมิติสถาบันเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน และคุณภาพแรงงาน ไทยยังมีปัญหาบางอย่างที่เกิดขึ้นต่อเนื่องและยังไม่มีนโยบายแก้ไขที่ชัดเจน เช่น การผูกขาดของตลาดสินค้าในประเทศ ภาษีการค้าระหว่างประเทศที่ยังสูง บทบาทของสถาบัน โครงสร้างพื้นฐาน ทักษะแรงงาน ยิ่งไปกว่านั้นในระยะหลังประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามมีการพัฒนาในหลายหัวข้อ แต่ไทยยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน

 

2. โครงสร้างการผลิตสินค้าของไทยยังมีสัดส่วนของสินค้า High-Tech ที่ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง และมีการพัฒนาที่ล่าช้า ไทยยังมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าในกลุ่ม High Technology เมื่อเทียบกับการส่งออกทั้งหมด ต่ำกว่าภูมิภาคและประเทศในระดับรายได้ใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่มีความต้องการสูงจากตลาดโลกในช่วงที่ผ่านมา 

 

โดยโครงสร้างการส่งออกสินค้าของไทยในปัจจุบันยังขาดสินค้าในกลุ่มเทคโนโลยีขั้นสูง หากเปรียบเทียบสินค้าส่งออกกับประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม จะเห็นภาพชัดว่าเวียดนามมีการพัฒนาการผลิตสินค้าไปในกลุ่มเทคโนโลยีใหม่ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะโทรศัพท์แบบเครื่องและพกพา ที่เป็นที่ต้องการในตลาดโลก และไทยยังแทบไม่มีการผลิตสินค้ากลุ่มนี้ 

 

3. ไทยเคยได้ประโยชน์จากค่าแรงราคาถูกที่ดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย ความน่ากังวลในวันนี้คือ หากดูตัวเลขค่าแรงของไทยจะพบว่าค่าแรงเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ผลิตภาพยังไม่ถูกพัฒนาไปมาก ทำให้ไม่สามารถดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อนสูงได้ 

 

4. เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำ กำลังจะเข้าสู่สังคมสูงอายุ และยังไม่มีแผนการลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ชัดเจน ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยกำลังจะเผชิญความท้าทายจากโครงสร้างประชากรที่มีแนวโน้มเปลี่ยนไปเป็นสังคมสูงอายุเต็มตัวในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จะส่งผลให้แรงงานของประเทศลดลง ขนาดของตลาดในประเทศเล็กลง ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจ (Potential Growth) ต่ำลง เมื่อตลาดขยายตัวได้ช้า ความน่าสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทยก็ลดน้อยลงไป และที่น่ากังวลกว่านั้นคือการลงทุนและการพัฒนาด้าน R&D ของไทยที่จะช่วยเพิ่มผลิตภาพยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising