“I will return to Vietnam, to NVIDIA’s second homeland”
Jensen Huang, CEO of NVIDIA
เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา NVIDIA ประกาศความร่วมมือกับรัฐบาลเวียดนามในการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) แห่งแรกในประเทศ ซึ่งจะกลายเป็นศูนย์กลางสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรม AI สำหรับ NVIDIA พันธมิตรทางธุรกิจ นักวิจัย และสตาร์ทอัพในเวียดนาม เพื่อประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น การแพทย์ การศึกษา การขนส่ง และการเงิน
โดยตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา NVIDIA ได้ลงทุนในเวียดนามด้วยมูลค่ารวมกว่า 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมทั้งสนับสนุนสตาร์ทอัพด้าน AI มากกว่า 100 ราย และร่วมมือกับมหาวิทยาลัยกว่า 65 แห่งทั่วประเทศ ท่ามกลางแรงผลักดันของรัฐบาลเวียดนามที่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรม ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศและการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี
NVIDIA เป็นตัวอย่างหนึ่งในบรรดาบริษัทชั้นนำระดับโลกที่เลือกลงทุนในเวียดนาม และยังมีบริษัทข้ามชาติรายใหญ่อื่นๆ เช่น Apple, Samsung และ Nike ที่เข้ามาลงทุนในประเทศนี้ นอกจากนี้ SpaceX บริษัทของ อีลอน มัสก์ ยังแสดงความตั้งใจที่จะลงทุนในเวียดนามด้วยมูลค่าสูงถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อขยายการให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม Starlink สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของเวียดนามในการก้าวเข้ามาเป็นจุดหมายปลายทางของการลงทุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม ดัชนี VN Index ปรับตัวเพิ่มขึ้น +12.1% ในปี 2024 ที่ผ่านมา และยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากปัจจัยสำคัญต่างๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตในปี 2025 ดังต่อไปนี้ แม้จะอยู่ภายใต้สภาวะที่ตลาดการเงินทั่วโลกยังคงเผชิญกับความผันผวนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ประการที่ 1 เศรษฐกิจเวียดนามยังคงเติบโตในระดับสูงต่อเนื่องจากปี 2024 โดยรัฐบาลตั้งเป้าเศรษฐกิจเติบโตกว่า 8% ในปี 2025 โดยจากรายงานของสำนักงานสถิติเวียดนาม (General Statistics Office: GSO) ในปี 2024 GDP เวียดนามขยายตัว +7.09%YoY โดยประมาณ สูงกว่าเป้าหมายของรัฐบาลที่ 6.50-7.00% และมีทิศทางการเติบโตอย่างเด่นชัด โดย GDP เวียดนามขยายตัวในไตรมาสที่ 4/24 ที่ +7.55%YoY เร่งตัวจาก +7.43%YoY ในไตรมาสที่ 3/24, +7.25%YoY ในไตรมาสที่ 2/24 และ +5.98% ในไตรมาสที่ 1/24 จากแรงสนับสนุนในภาคการผลิตและการส่งออก
สำหรับปี 2025 สมัชชาแห่งชาติเวียดนามกำหนดเป้าหมายอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ที่ 6.50-7.00% พร้อมกับความพยายามเพื่อให้บรรลุการเติบโตที่สูงแตะระดับ 7.00-7.50% โดยในช่วงครึ่งหลังของเดือนธันวาคม 2024 นายกรัฐมนตรีฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ออกคำสั่งสำคัญถึงสองครั้งเกี่ยวกับการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งสั่งการให้ตั้งเป้าอัตราการเติบโตที่สูงกว่า 8% และเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการตั้งเป้าหมายการเติบโตในระดับตัวเลขสองหลัก (Double-Digit Growth) ซึ่งต้องทำให้สำเร็จอย่างน้อยในช่วง 20 ปีข้างหน้า เพื่อให้เวียดนามกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีรายได้สูง
ในส่วนของมุมมองจากภาคเอกชน Vietnam Investment Review ณ วันที่ 13 มกราคม 2025 ได้รวบรวมความคิดเห็นจากนักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันการเงินระดับโลก 23 แห่ง ซึ่งคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามในปี 2025 จะขยายตัวเฉลี่ยที่ +6.50%YoY โดยมีการประเมินอัตราการเติบโตสูงสุดที่ +7.2%YoY จาก Fitch Solutions และต่ำสุดที่ +5.4%YoY จาก J.P.Morgan Securities ถึงแม้การคาดการณ์จะแตกต่างกันไป แต่ภาพรวมยังสะท้อนถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับสูง เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคและทั่วโลก ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับสูงเป็นปัจจัยบวกต่อผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน
ประการที่ 2 รัฐบาลเวียดนามเพิ่มงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่หนี้สาธารณะเทียบกับ GDP อยู่ในระดับต่ำ รัฐบาลเวียดนามได้ตั้งเป้าการใช้จ่ายในด้านการลงทุนและพัฒนาสำหรับปี 2025 ไว้ที่ประมาณ 3.16 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 30% จากเป้าหมายเดิม และเพิ่มขึ้น 16.7% จากแผนปี 2024 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้คาดการณ์การขาดดุลทางการคลังในปี 2024 ไว้ที่ 1.58 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.4% ของ GDP และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.91 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.8% ของ GDP ในปี 2025 การเพิ่มงบประมาณดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลเชิงบวกต่อหุ้นในกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ เช่น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และวัสดุก่อสร้าง
นอกจากนี้ระดับหนี้สาธารณะของเวียดนามที่ยังคงอยู่ในระดับเพียง 37% ของ GDP ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับรัฐบาลในการขยายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานโดยไม่ส่งผลกระทบต่อวินัยทางการคลัง ทั้งยังมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจและรักษาอัตราการเติบโตได้อย่างมั่นคง แม้ในกรณีที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงหรือผลกระทบจากปัจจัยภายนอก (External Shock) ขณะเดียวกันการปฏิรูปกฎหมายสำคัญหลายฉบับมีกำหนดเริ่มบังคับใช้ในปี 2025 ซึ่งรวมถึงกฎหมายที่ดิน กฎหมายการลงทุนสาธารณะ และกฎหมายการประกอบกิจการไฟฟ้า ซึ่งเราคาดว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะช่วยเสริมประสิทธิภาพการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ
ประการที่ 3 ตลาดหุ้นเวียดนามมีโอกาสได้รับการยกระดับจากตลาดชายขอบ (Frontier Market) เป็นตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ภายในปี 2025 การแก้ไขกฎหมายหลักทรัพย์ของเวียดนามเพิ่มโอกาสที่ FTSE จะปรับสถานะของเวียดนามจากตลาดชายขอบเป็นตลาดเกิดใหม่ ซึ่งจากการประเมินของ Vietcap Securities คาดว่าการปรับสถานะโดย FTSE จะส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดผ่านกองทุน ETF ราว 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่การปรับสถานะโดย MSCI อาจดึงดูดเงินทุนเพิ่มขึ้นถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอิงจากมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ปรับด้วยสัดส่วนหุ้นที่หมุนเวียน (Float-Adjusted Market Capitalization) ของ FTSE และ MSCI ณ วันที่ 30 สิงหาคม 2024 พบว่าตลาดหุ้นเวียดนามคิดเป็นประมาณ 0.5% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมของตลาดเกิดใหม่
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงสำคัญที่ยังคงกดดันตลาดหุ้นเวียดนามคือความไม่แน่นอนในการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเวียดนามที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก โดยมูลค่าการส่งออกของประเทศคิดเป็น 81% ของ GDP โดยเวียดนามได้รับประโยชน์อย่างมากจากนโยบายการผลิต ‘China+1’ หรือการกระจายฐานการผลิตออกจากจีน ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากจีน (Foreign Value Added) ในสินค้าส่งออกของเวียดนามที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากค่าเฉลี่ย 12% ในช่วงปี 2016-2017 เป็น 18% ในช่วงปี 2022-2023 ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชีย แสดงถึงบทบาทสำคัญของจีนในห่วงโซ่อุปทานการส่งออกของเวียดนาม
ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ได้กลายเป็นตลาดปลายทางที่สำคัญที่สุดสำหรับสินค้าส่งออกของเวียดนาม โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติเวียดนามระบุว่า เวียดนามมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงถึง 1.046 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2024 และตามการคาดการณ์ของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (Ministry of Industry and Trade: MoIT) มูลค่าการส่งออกของเวียดนามไปยังสหรัฐฯ อาจเพิ่มขึ้นแตะ 1.197 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีเดียวกัน คิดเป็น 29.5% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของสหรัฐฯ ในฐานะคู่ค้าหลักและตลาดปลายทางสำหรับสินค้าส่งออกของเวียดนาม
ในมุมมองของเรา ผลกระทบจากนโยบายการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารประเทศของประธานาธิบดีทรัมป์สมัยที่สองยังคงไม่ชัดเจน แต่ผลกระทบจากการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ต่อภาคการส่งออกของเวียดนามมีแนวโน้มเกิดขึ้นอย่างจำกัด แม้ว่าสินค้าส่งออกของเวียดนามบางประเภทอยู่ในห่วงโซ่การผลิตที่เกี่ยวข้องกับจีนและอาจมีผู้ผลิตจีนใช้เวียดนามเป็นช่องทางในการส่งออกสินค้า แต่เราคาดว่าสินค้าส่งออกจากเวียดนามจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าสินค้าส่งออกที่มาจากจีนโดยตรง
ขณะเดียวกัน เวียดนามมีการขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากสหรัฐฯ อีกทั้งยังเข้าร่วมข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreements: FTAs) ถึง 20 ฉบับ ซึ่งครอบคลุมประเทศคู่ค้ากว่า 50 ประเทศ โดยในจำนวนนี้มี 16 ฉบับที่มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว ความร่วมมือเหล่านี้ช่วยลดอุปสรรคทางการค้ากับประเทศคู่ค้า และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับความสามารถในการแข่งขันของเวียดนาม นอกจากนี้สินค้าส่งออกหลักของเวียดนาม เช่น เครื่องจักรและอิเล็กทรอนิกส์ ยังเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของพันธมิตรของสหรัฐฯ ซึ่งลดความเสี่ยงต่อการกำหนดภาษีนำเข้าสินค้าประเภทดังกล่าวลง
สุดท้ายนี้ เราคาดว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของทรัมป์อาจมีการเจรจาเพื่อกำหนดข้อตกลงทางธุรกิจที่เอื้อต่อผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ หากผลกระทบจากมาตรการภาษีของทรัมป์มีอยู่อย่างจำกัดจริง เรามองว่าตลาดหุ้นเวียดนามยังคงเป็นหนึ่งในตลาดที่มีศักยภาพสูง สอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ซึ่งนักลงทุนไม่ควรมองข้าม
ภาพ: Dilok Klaisataporn / Shutterstock