×

ตลาดหุ้นเวียดนาม 2022 ครึ่งปีแรกกับครึ่งปีหลังอาจต่างกันราวฟ้าดิน กูรูแนะจับตาปัญหาเงินเฟ้อ-ฟองสบู่

21.01.2022
  • LOADING...
ตลาดหุ้นเวียดนาม 2022 ครึ่งปีแรกกับครึ่งปีหลังอาจต่างกันราวฟ้าดิน กูรูแนะจับตาปัญหาเงินเฟ้อ-ฟองสบู่

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • เศรษฐกิจประเทศเวียดนามมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว แม้ว่าในปีนี้อาจจะต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อปรับที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก แต่ก็มีผลไม่มากต่อการพัฒนาประเทศ 
  • เวียดนามยังเป็น Frontier Market มีความคล้ายคลึงกับไทยในสมัยก่อนที่คนต่างจังหวัดเข้ามาทำงานในเมือง เพราะได้ค่าแรงมากกว่าทำงานในภาคเกษตรกรรม เป็นการย้ายจากชนบทเข้าเมืองนั่นเอง
  • หากนักลงทุนจะเข้าไปลงทุนในเวียดนาม ควรเลือกเข้าไปลงทุนในกองทุนรวมก่อนเพื่อลดความเสี่ยง
  • ตลาดหุ้นเวียดนามครึ่งปีแรกยังเป็นปีทอง แต่ครึ่งปีหลังต้องระวังปัญหาฟองสบู่และเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น 
  • การลงทุนในเวียดนามระยะสั้นยังคงเติบโตในอัตราแบบก้าวกระโดด ขณะที่ระยะกลาง และระยะยาว ค่อยๆ ลดลงตามขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้น

 

ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าทั่วโลกต่างประสบกับความผันผวนทางเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด ยกเว้น ‘เวียดนาม’ ที่สามารถฝ่าด่านอรหันต์นี้ไปได้จากมาตราการป้องกันการแพร่ระบาดการคุมเข้มจากทางภาครัฐ ส่งผลให้เศรษฐกิจภายในประเทศมีการเติบโตดีที่สุดในโลก 

 

โดย GDP ของเวียดนามเติบโตเฉลี่ย 7-8% ต่อปี ขณะที่ดัชนี VNI ของเวียดนามสามารถทำ All Time High ได้ถึง 4 ครั้ง ในปีที่ผ่านมา รวมทั้งยังเป็นตลาดที่ให้ผลตอบแทนดีสุดในโลกที่ประมาณ 35% ด้วย

 

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investor) กล่าวกับทีมข่าว THE STANDARD WEALTH ว่าเศรษฐกิจประเทศเวียดนามมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว แม้ว่าในปีนี้อาจจะต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อปรับที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก แต่ก็มีผลไม่มากต่อการพัฒนาประเทศ 

 

หากย้อนกลับไปดูเวียดนามช่วงหลายสิบปีก่อน ช่วงที่เวียดนามกำลังตื่นตัวต่อการพัฒนาเศรษฐกิจให้เจริญเติบโต มีการปรับตัวเองจากประชากรที่อยู่ในภาคเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ หลังจากที่มีการพัฒนาประเทศเพิ่มมากขึ้นประชากรต่างเดินทางเข้าสู่เมืองมาอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม หลังจากที่หลายประเทศต่างย้ายฐานกำลังการผลิตมาที่ประเทศเวียดนาม เนื่องจากมีค่าแรงที่ถูกกว่าหลายๆ ประเทศ ทำให้เกิดการจ้างงานและความต้องการแรงงานค่อนข้างมาก ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างประสิทธิภาพและศักยภาพให้แก่ประเทศเวียดนามไม่น้อย 

 

อย่างไรก็ตาม เวียดนามเป็น Frontier Market หรือตลาดชายขอบ ที่ ณ ปัจจุบันมีความคล้ายคลึงกับประเทศไทยในสมัยก่อนที่คนต่างจังหวัดเข้ามาทำงานในเมือง เพราะได้ค่าแรงมากกว่าทำงานในภาคเกษตรกรรม เป็นการย้ายจากชนบทเข้าเมืองนั่นเอง ซึ่งกว่าเวียดนามจะมีการเติบโตได้เท่ากับไทยอาจจะต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี แต่จะเป็นการเติบโตแบบระยะยาว

 

ขณะที่ตลาดหุ้นเวียดนามมีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัดสามารถทำ All Time High ได้ในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งเม็ดเงินลงทุนระยะยาวส่วนใหญ่ปัจจุบันเป็นนักลงทุนรายย่อยที่เป็นนักเก็งกำไร โดยปีที่ผ่านมามีการเปิดบัญชีเพิ่มมากขึ้น หรือเฉลี่ยตกเดือนหนึ่งอยู่ที่ประมาณ 100,000 กว่าบัญชี รวมถึงนักลงทุน Hedge Fund (กองทุนที่มีการป้องกันความเสี่ยง) 

 

ส่วนนักลงทุนสถาบัน ณ ปัจจุบันยังมีน้อยมาก เนื่องจากเวียดนามยังไม่มีการพัฒนาเพียงพอ รวมถึงระบบ Saving การเก็บออมเงินเพื่อการเกษียณอายุยังไม่เป็นรูปธรรมมากนัก หากวันหนึ่งเวียดนามมีการสร้างระบบตรงนี้เข้ามารองรับกับผู้ที่มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะเป็นตัวช่วยเสริมให้เม็ดเงินจากนักลงทุนสถาบันและต่างชาติเข้ามาลงทุนเพิ่มมากขึ้น 

 

อย่างไรก็ตาม หากเวียดนามปรับขึ้นมาเป็น Emerging Market หรือตลาดกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น ประเทศไทย ก็จะทำให้เวียดนามมีรายได้เข้ามามหาศาล รวมถึงมีเงินก้อนยักษ์จากสถาบันต่างประเทศเข้ามาอย่างแน่นอน ซึ่งในอนาคตอย่างไรเวียดนามก็ต้องขึ้นเป็น Emerging Market 

 

ทั้งนี้ หากนักลงทุนจะเข้าไปลงทุนในเวียดนาม ควรเลือกเข้าไปลงทุนในกองทุนรวมก่อนเพื่อลดความเสี่ยง หากจะเน้นเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามโดยตรงอาจจะต้องเข้าใจถึงข้อจำกัดหลายอย่างให้ถี่ถ้วน 

 

จับตาเงินเฟ้อขวางตลาดหุ้นเวียดนาม

ด้าน ประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปีนี้ยังถือเป็นปีทองของเวียดนามต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากว่าเวียดนามได้เผชิญกับสถานการณ์โควิดและสามารถควบคุมได้ จนสามารถกลับมาเปิดเมืองเปิดประเทศได้ ส่งผลให้ภาคการลงทุนฟื้น 

 

และที่สำคัญคือเวียดนามเป็นแหล่งโยกย้ายฐานกำลังการผลิตจากจีน เพราะต้นทุนการผลิตมีราคาถูกกว่า จึงน่าจะยังเป็นปีที่มีการเติบโตขึ้นไปอีก แต่อาจจะเป็นแค่ช่วงครึ่งปีแรกมากกว่าครึ่งปีหลัง เพราะเวียดนามอาจต้องประสบกับปัญหาฟองสบู่ในตลาดหุ้น รวมถึงเงินเฟ้อพุ่งขึ้นในปีนี้ด้วย ซึ่งน่าจะเป็นตัวขัดขวางให้ตลาดหุ้นมีการปรับตัวลงมาได้ 

 

ทั้งนี้ คาดว่าในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2565 ยังมีโอกาสที่จะเข้าไปลงทุนในเวียดนามได้ แต่หลังจากเดือนเมษายนหรือพฤษภาคม 2565 อาจจะต้องมีความระมัดระวังในเรื่องทิศทางนโยบายการเงินที่จะปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก 

 

ส่วนอัตราแลกเปลี่ยน ณ ขณะนี้ค่าเงินดองของเวียดนามยังคงค่อนข้างดีมีเสถียรภาพมาก เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลเวียดนามได้ลงนามเซ็นสนธิสัญญาด้านภาษีกับทั่วโลก รวมถึงกระแสเงินลงทุนจากต่างชาติ หรือ Foreign Direct Investment ในการสร้างฐานการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกได้ 

 

คาดระยะสั้นการลงทุนในเวียดนามยังเติบโตก้าวกระโดด

ขณะที่ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลเสริมว่า เวียดนามช่วงปีที่ผ่านมาถือว่าให้ผลตอบแทนดีที่สุดในโลก การลงทุนในเวียดนามระยะสั้นยังคงเติบโตในอัตราแบบก้าวกระโดด  

 

ขณะที่ระยะกลางและระยะยาว ค่อยๆ ลดลงตามขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นธรรมชาติตามหลักทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ หากเศรษฐกิจที่ใหญ่มาถึงระดับหนึ่งแล้ว อัตราการเติบโตก้าวกระโดดได้เหมือน Emerging Market เช่นเดียวกับประเทศไทยที่เคยเติบโตในช่วงทศวรรษ 1980-1990 และหลังจากนั้นจะค่อยๆ ลดลง 

 

แต่ ณ ปัจจุบันเวียดนามมีการเติบโตแบบก้าวกระโดดเยอะมาก ซึ่งไม่ได้มาจากขนาดเศรษฐกิจหรือค่าแรงเท่านั้น แต่รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ของเวียดนามสร้างปัจจัยเสริมที่ทำให้เกิดการเขย่งก้าวกระโดดเป็นอย่างมากด้วย หากย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน แม้เวียดนามมีประเด็นข้อพิพาทกับจีนเรื่องทะเลจีนใต้ แต่เวียดนามเองก็นำการพัฒนาประเทศจีนมาใช้เป็นโมเดลในการพัฒนาประเทศ และร่วมมือกันทำการค้าการลงทุน ซึ่งถือว่าเวียดนามรับเงินลงทุนจากจีนมากที่สุดเมื่อเทียบกับอาเซียน 10 ประเทศ 

 

และย้อนกลับไปช่วง Subprime Crisis ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลกช่วงปี 2006-2007 และลามไปกระทบถึงประเทศจีนเมื่อช่วงปี 2009-2010 แน่นอนว่าเมื่อไปถึงจีนก็ต้องไปถึงเวียดนามด้วย แต่เวียดนามใช้ช่วงเวลาวิกฤตนี้คิดค้นทำโปรเจกต์ที่เรียกว่า 30 โดยตั้งเป้าหมายในการแก้ไขกฎหมาย กฎเกณฑ์ กฎระเบียบของรัฐบาลในประเทศทั้งในระดับรัฐบาลกลางลงมาถึงรัฐบาลท้องถิ่น สิ่งไหนที่ดูจะล้าสมัยไม่เป็นไปตามมาตรฐานโลกอย่างน้อย 30% ต้องโยนทิ้งไป ซึ่งถือเป็นการปฏิรูปกฎหมายครั้งใหญ่ เสร็จในปี 2015 พร้อมๆ กับที่เศรษฐกิจโลกฟื้นพอดี 

 

ฉะนั้นแล้ว ในปัจจุบันกฎหมายของเวียดนามถือได้ว่าทัดเทียมกับมาตรฐานโลก ทัดเทียมกับ FTA (Free Trade Area หรือเขตการค้าเสรี) หรือทัดเทียมกับมาตรฐานของ OECD (Organization for Economic Cooperation and development หรือสมาชิกขององค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจเเละการพัฒนา) และจัดทำกฎหมายออกมารองรับ 2 ภาษา ทั้งภาษาเวียดนามและภาษาอังกฤษ เพื่อให้ทั่วโลกเข้าใจกฎหมายของเวียดนามได้ 

 

กฎหมายที่ทันสมัยของเวียดนามสามารถเปิดช่องให้เข้าไปทำข้อตกลงเจรจาการค้าเสรี (FTA) กับประเทศใดก็ได้ ซึ่งเวียดนามมี FTA เท่ากับประเทศไทยคือจำนวน 14 ฉบับเท่ากัน แต่ประเทศไทยเปิดเสรีกับ 18 ประเทศ ขณะที่เวียดนามมี 14 ฉบับ แต่เปิดเสรีไป 56 หรือ 58 ประเทศ เนื่องจากเวียดนามมี FTA กับสหภาพยุโรป เพราะสหภาพยุโรปประเทศเดียวก็ทำการค้าไป 27 ประเทศแล้ว สามารถลดต้นทุนในกับภาคเอกชนได้ประมาณปีละ 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบันถือว่าเวียดนามมีการเติบโตด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2015 และคาดว่าประมาณปี 2040 เวียดนามจะขยับกลายมาเป็นผู้นำเศรษฐกิจเบอร์ 19-20 ของโลก จากปัจจุบันอยู่อันดับที่ 32 หรือ 33 

 

แม้ก่อนหน้านี้เวียดนามต้องประสบปัญหาเงินเฟ้อราว 30% เพราะพึ่งพาต่างประเทศสูงมาก และระยะหลังเวียดนามค่อยๆ ควบคุมเงินเฟ้อได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งปัจจุบันกระแสเงินเฟ้อในขณะนี้เป็นกระแสที่เกิดขึ้นทั้งโลก เพราะหากย้อนกลับไปช่วงวิกฤตเศรษฐกิจช่วง Subprime Crisis จนกระทั่งโควิด ทุกประเทศก็ใช้ QE หมด ซึ่งถือว่าเป็นตัวการผลักดันให้เกิดปริมาณเงินที่มันล้นระบบ เพียงแต่ว่าในอดีตเงินที่มีปริมาณที่มันล้นระบบถูกแก้ไขได้ เพราะมีการเปิดเสรีการค้า 

 

“ยกตัวอย่างเช่น ในอดีตสหรัฐฯ ก็ส่งออกเงินเฟ้อให้จีนได้ เพราะเวลาจะพิมพ์เงินเพิ่มต้องมีการออกพันธบัตรและขายพันธบัตร ส่วนใหญ่ในอดีตเวลาสหรัฐฯ ขายพันธบัตรจีนจะเป็นผู้ที่ซื้อมากสุด เพราะฉะนั้นเวลาที่คนจีนซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ ไม่สามารถนำเงินหยวนมาซื้อได้ก็ต้องทำการแลกเงินหยวนมาเป็นเงินดอลลาร์ เพราะถ้าแลกเงินหยวนเป็นเงินดอลลาร์ หยวนก็จะอ่อนค่า ดอลลาร์ก็จะแข็งค่าขึ้น เพราะฉะนั้นคนลงทุนก็ย่อมที่จะอยากนำเงินไปลงทุนที่จีน เพราะว่าซื้อของได้มากขึ้น เมื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ก็ซื้อของได้ถูก เงินก็ไม่เฟ้อระดับราคาก็ไม่ขึ้น เวียดนามเองก็ใช้โมเดลเดียวกันกับจีนในช่วงที่ผ่านมา ก่อนที่จะเกิดสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ”  

 

ห่วง Fed ขึ้นดอกเบี้ยกดดันเงินไหลออกตลาดหุ้น

ส่วนการปรับขึ้นดอกเบี้ยและการคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed เวียดนามอาจจะต้องประสบกับปัญหาเงินไหลนอกประเทศเช่นกัน เพราะค่าเงินดองจะอ่อนค่าลง แต่ก็จะเป็นผลดีกับหุ้นกลุ่มส่งออก

 

อย่างไรก็ตาม ในอีก 5 ปีข้างหน้าการเติบโตของ GDP เวียดนามจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก 7% ต่อปี หรือขยายตัวในระดับที่ 6.6% และอีก 15 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจเวียดนามจะขยายการติบโตได้ถึง 5 เท่า คาดว่าจะสามารถขยับเลื่อนขั้นมาอยู่ที่อันดับ 19 ของโลกได้ จากการขยายตัวอย่างสม่ำเสมอและมีเสถียรภาพของเวียดนามจะทำให้ขยับแซงหน้าเศรษฐกิจในเอเชีย

 

 

ภาพประกอบ: ธิดามาศ เขียวเหลือ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising