รายได้ของ Sabeco ผู้ผลิตเบียร์ยักษ์ใหญ่ของเวียดนาม และหนึ่งในธุรกิจเครือไทยเบฟ กำลังได้รับผลกระทบอย่างมากในปีนี้ อันเกิดจากผลกระทบจาก 2 ปัจจัยหลักคือ บทลงโทษเมาแล้วขับที่รุนแรงขึ้น และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่รัฐบาลกำลังชั่งน้ำหนักการขายหุ้นที่เหลืออยู่ในบริษัท ทำให้แนวโน้มของ Sabeco จึงมืดมนกว่าที่เคย
‘การดื่มเบียร์’ ถือเป็นงานอดิเรกประจำชาติอย่างหนึ่งของเวียดนาม แต่แม้กระทั่งบาร์ยอดนิยมก็พยายามดิ้นรนเพื่อให้ลูกค้านั่งเต็มร้าน หลังจากในเดือนมกราคมที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามออกบทลงโทษที่รุนแรงสำหรับผู้ที่เมาสุราแล้วขับขี่รถจักรยานยนต์ อันเป็นวิธีเดินทางยอดนิยมของชาวเวียดนาม โดยโทษปรับได้เพิ่มเป็น 8 ล้านดอง หรือราว 10,800 บาท เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากก่อนหน้านี้ และได้กำหนดโทษยึดใบขับขี่อีก 2 ปี
เมื่อรวมกับการหยุดชะงักที่เกิดจากการระบาดของโรค ทำให้ความกระหายเบียร์ของชาวเวียดนามลดลง การบริโภคในช่วงครึ่งปีแรก 2020 ลดลง 23% เมื่อเทียบกับช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน และยังฟื้นตัวอย่างช้าๆ อีกด้วย
Sabeco ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีจากการเป็นเจ้าของแบรด์ Saigon Beer และ 333 มีการผลิตที่ลดลง 30% ในปีนี้ ขณะที่กำไรสุทธิลดลง 39% เป็น 3.25 ล้านล้านดอง หรือราว 4,400 ล้านบาท ราคาหุ้นของ Sabeco ลดลงประมาณ 20% จากต้นปี
เวียดนามเป็นผู้บริโภคเบียร์รายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ยังครองอันดับสามในเอเชียโดยรวมรองจากจีนและญี่ปุ่นเท่านั้น ด้วยจำนวนประชากรที่ค่อนข้างน้อยของเวียดนาม แต่มีอัตราการบริโภคที่มาก ทำให้ผู้ผลิตเบียร์จากทั่วโลกต่างจับตาดูศักยภาพของตลาดอย่างใกล้ชิด
ดังนั้นเมื่อรัฐบาลตัดสินใจขายหุ้นส่วนใหญ่ใน Sabeco ซึ่งควบคุมตลาดเวียดนามราว 40% จึงดึงดูดการเสนอราคาจากทั่วโลก ก่อนที่ ‘ไทยเบฟเวอเรจ’ ซึ่งเป็นผู้ผลิตเบียร์ช้างจะเป็นผู้ชนะข้อตกลง และเข้าซื้อหุ้นของ Sabeco ในปี 2017 ด้วยมูลค่า 156,000 ล้านบาท
ขณะเดียวกันความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปีนี้ได้เข้ามาบีบรายได้ของ Sabeco และทำให้เรื่องซับซ้อนยิ่งขึ้น เมื่อรัฐบาลได้ประกาศในช่วงปลายเดือนมิถุนายนว่าจะขายหุ้นที่เหลือในบริษัทประมาณ 130 แห่ง รวมถึง Sabeco ด้วย ซึ่งมีการประเมินว่า หุ้นที่รัฐบาลถืออยู่ 36% อาจมีมูลค่ามากขึ้น 1.8 พันดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5.7 หมื่นล้านบาท
ไทยเบฟที่จดทะเบียนในสิงคโปร์ถือเป็นผู้ที่มีแนวโน้มจะซื้อหุ้น Sabeco มากที่สุด ซึ่งในงานแถลงข่าวเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ผู้บริหารที่ดูแลกลุ่มธุรกิจเบียร์ก็ยอมรับว่า ‘สนใจที่จะเข้าซื้อหุ้นจริงๆ’
ทว่าการเข้าซื้อหุ้นของ Sabeco นั้น นักวิเคราะห์รายหนึ่งให้ความคิดเห็นกับ Nikkei Asian Review ว่าอาจทำให้ ‘ไทยเบฟ’ ได้รับผลกระทบทางการเงิน เพราะ “หากไทยเบฟซื้อหุ้น Sabeco มากขึ้นก็อาจต้องขาดทุนมากขึ้น”
และแม้ว่าการขายหุ้นเพิ่มเติมของ Sabeco จะไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของตลาดเบียร์ในเวียดนาม แต่หากไม่มีการตัดสินใจที่รวดเร็ว Sabeco อาจเผชิญกับผลประกอบการที่แย่ลงอีก
อย่างไรก็ตามสำหรับผลประกอบการในช่วง 9 เดือน (กันยายน 2562 – มิถุนายน 2563) ‘ไทยเบฟ’ มีรายได้ 190,099 ล้านบาท ลดลง 7.4% เฉพาะธุรกิจเบียร์มีรายได้ 79,317 ล้านบาท ลดลง 14.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ปริมาณการขายทั้งหมดลดลง 15.5% เป็น 1,741.6 ล้านลิตร สาเหตุที่ลดลงเยอะเป็นเพราะได้รับผลกระทบจากการห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์ในไทยและเวียดนาม โดย Sabeco ในเวียดนามได้รับผลกระทบมากที่สุด
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- https://asia.nikkei.com/Business/Food-Beverage/Vietnam-s-top-beer-maker-Sabeco-loses-its-fizz
- https://thestandard.co/end-of-vision-2020-thaibev-passion-2025/