เวียดนาม ประเทศเพื่อนบ้านที่กำลัง ‘มาแรง’ บนเวทีเศรษฐกิจโลก ได้รับการจับตามองอย่างใกล้ชิด รายงาน World Economic League Table 2022 จาก Center for Economic and Business Research (CEBR) สถาบันวิจัยชั้นนำระดับโลก ได้คาดการณ์ถึงอนาคตว่า เวียดนามจะก้าวขึ้นเป็น ‘ชาติเศรษฐกิจใหญ่สุดอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ (รองจากอินโดนีเซีย) และจะพุ่งทะยานขึ้นเป็น ‘ชาติเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 20 ของโลก’ ได้ภายในปี 2036
รายงานดังกล่าวชี้ว่า นี่คือเรื่องราวที่ไม่ต่างจาก ‘ปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจ’ หลังจากการปฏิรูปโด๋ยเหม่ย (Doi Moi) ในช่วงกลางทศวรรษ 1980 ควบคู่ไปกับกระแสโลกที่เอื้ออำนวย ทำให้เวียดนามมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว และสามารถพลิกโฉมจาก ‘ประเทศยากจน’ กลายเป็น ‘ประเทศรายได้ปานกลางระดับล่าง’ ได้สำเร็จ
การจัดอันดับของ CEBR คาดว่าเวียดนามจะสามารถไต่อันดับจากที่ 41 ในปี 2021 ขึ้นไปสู่ที่ 20 ได้อย่างมีนัยสำคัญภายในปี 2036
ณ ปี 2021 เวียดนามมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ต่อคนอยู่ที่ 11,608 ดอลลาร์สหรัฐ และเวียดนามยังตั้ง ‘เป้าหมายที่ท้าทาย’ คือการผลักดันตัวเองขึ้นเป็น ‘ประเทศรายได้สูง’ ให้ได้ภายในปี 2045 ซึ่งหากต้องการบรรลุเป้าหมายนี้ เวียดนามจำเป็นต้องมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องที่ราว 5% ต่อปี (คิดเฉลี่ยต่อประชากร)
อย่างไรก็ตาม ภาพการเติบโตนี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ รายงาน East Asia and Pacific Economic Update ล่าสุดของ World Bank ชี้ให้เห็นถึง ‘ความท้าทายสำคัญ’ ที่เวียดนามต้องเผชิญ โดยคาดการณ์ว่าการเติบโตของ GDP จะชะลอตัวลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 5.8% ในปี 2025 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก ‘ความไม่แน่นอน’ ที่เพิ่มขึ้นในนโยบายการค้าโลก
ในฐานะ ‘ประเทศที่พึ่งพาการค้าสูง’ อย่างยิ่ง โดยมูลค่าการนำเข้าและส่งออกรวมกันเกือบ 170% ของ GDP ทำให้เวียดนามมีความเสี่ยงเป็นพิเศษต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในนโยบายการค้าโลกปัจจุบัน
โดยสหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม คิดเป็น 30% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด ขณะที่ จีน เป็นแหล่งนำเข้าสินค้าใหญ่ที่สุด คิดเป็น 38%
World Bank ยังชี้ให้เห็นถึงความท้าทายภายในอื่นๆ เช่น ความไม่แน่นอนที่อาจทำให้ความเชื่อมั่นและการใช้จ่ายผู้บริโภคอ่อนแอลง ซึ่งที่ผ่านมาก็เติบโตช้ากว่า GDP ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ความเปราะบางในภาคการเงินยังคงมีอยู่ โดยอัตราส่วนการตั้งสำรองหนี้เสียโดยเฉลี่ยของ 26 ธนาคารอยู่ที่ 83% เทียบกับ 150% ในปี 2022 และแม้รัฐบาลจะมีพื้นที่ทางการคลังในการกระตุ้นความต้องการ แต่การนำไปใช้จริงอาจถูกขัดขวางจากการเบิกจ่ายงบลงทุนสาธารณะที่ล่าช้าเรื้อรัง
ผู้เชี่ยวชาญมองว่ามาตรการเชิงนโยบายที่สำคัญคือการเร่ง ‘ลงทุนภาครัฐ’ เพื่ออุดช่องว่างโครงสร้างพื้นฐานที่กำลังเกิดขึ้น การลดความเสี่ยงในภาคการเงินผ่านการปฏิรูปเชิงโครงสร้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบในภาคบริการสำคัญๆ
เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ไฟฟ้า และการขนส่ง เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่สีเขียว, สร้างทรัพยากรมนุษย์ และปรับปรุง สภาพแวดล้อมทางธุรกิจซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว
World Bank คาดการณ์ว่าแนวโน้มการเติบโตในระยะกลางของเวียดนามยังคง ‘เป็นบวก’ โดยคาดว่า GDP จะฟื้นตัวขึ้นสู่ 6.1% ในปี 2026 และ 6.4% ในปี 2027
ภาพ: pploylp / Shutterstock
อ้างอิง: