×

ทำไมเวียดนามโตแรงและกำลังเบียดแซงเพื่อนบ้าน แม้แต่บิ๊กคอร์ปไทย อมตะ – WHA ยังเข้าไปบุกยึดหัวหาด

07.03.2025
  • LOADING...
vietnam-economic-growth

ท่ามกลางสงครามการค้า เศรษฐกิจถดถอยในหลายๆ ประเทศ แต่เวียดนามกลับไม่ได้ถดถอยลง โดยปีนี้น่าจะเป็นอีกปีที่น่าจับตา

ที่อาจเห็นการย้ายฐานผลิต FDI หลั่งไหลไปเวียดนามมากขึ้น แม้แต่บิ๊กคอร์ปไทย อมตะ-WHA ยังมุ่งขยายพอร์ต เข้าไปบุกยึดหัวหาด

 

อมตะซิตี้ ฮาลองรับดีมานด์ทุนจีนย้ายฐานผลิตอิเล็กทรอนิกส์-เซมิคอนดักเตอร์ เทคขั้นสูง

 

สมหะทัย พานิชชีวะ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะ วีเอ็น จำกัด (มหาชน) หรือ AMATAV เปิดเผยว่า บริษัทจะผลักดันเวียดนามให้เป็นศูนย์กลางการผลิตและการลงทุนระดับโลก ด้วยพื้นที่รองรับการลงทุนกว่า 18,000 ไร่ สร้างเม็ดเงิน 200,000 ล้านบาท ผ่าน 4 นิคมอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อมตะซิตี้ เบียนหัว, อมตะซิตี้ ลองถั่น, อมตะซิตี้ ฮาลอง และนิคมอุตสาหกรรมกว่างจิ 

 

โดยใกล้เมืองสำคัญและท่าเรือหลัก เป็นที่ตั้งของโรงงานจากบริษัทระดับโลกใน Global Fortune 500 (2023) อาทิ Nestlé, PepsiCo, Swarovski, Shiseido, Brother, Tiger, Kao, Jinko Solar, Autoliv, Foxconn, YKK และ Kingfa

 

สมหะทัย ระบุว่า ในปี 2567 บริษัทมีรายได้รวม 5,379.40 ล้านบาท จากยอดขายที่ดินส่วนใหญ่มาจากนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ฮาลอง ซึ่งเป็นทำเลที่ลูกค้ามีความต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่ และขณะนี้อมตะวีเอ็นมียอดขายที่ดินรอโอน (Backlog) อีกประมาณ 130 ไร่ คาดว่าจะทยอยโอนกรรมสิทธิ์ภายในปี 68 

 

“ปี 2568 บริษัทตั้งเป้าการขายที่ดินในนิคมเวียดนามเติบโตเพิ่มขึ้น 30-40% โดยสัดส่วนหลักของการขายที่ดินจะมาจากนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ฮาลอง (ภาคเหนือของเวียดนาม) ซึ่งมีลูกค้าจำนวนมากที่ต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่ คิดเป็น 60-70% ของยอดขายทั้งหมด”

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

โรงงานเวียดนาม

 

“ปัจจัยบวกในการลงทุนในเวียดนาม มาจากการปรับตัวภายในประเทศที่ช่วยลดต้นทุนและระยะเวลาในการขออนุญาตต่างๆ รวมถึงสิทธิทางภาษีที่เอื้อต่อการผลิตเพื่อการส่งออก ต้นทุนการผลิตที่ต่ำ และการเป็นจุดศูนย์กลางการค้าของภูมิภาคทำให้เวียดนามยังคงเป็นหมุดหมายปลายทางหลักของนักลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อขยายการลงทุนใหม่”

 

ทั้งนี้ อมตะ วีเอ็น ยังคงมองหาโอกาสในการลงทุนใหม่ๆ ขณะนี้ได้มีการศึกษาโครงการนิคมใหม่ที่คาดว่าจะไม่ได้ใบอนุญาตภายในปี 2568 ซึ่งหากได้รับใบอนุญาตในปีนี้ คาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 15-20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ขณะที่ในปี 2569 บริษัทจะลงทุนทั้งในเรื่องที่ดินและค่าก่อสร้าง โดยมีแผนจะพัฒนานิคมใหม่ขนาดประมาณ 500 เฮกเตอร์ หรือประมาณ 3,000 ไร่ การย้ายฐานการผลิตและผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก 

 

ศึกษาพัฒนานิคมฯ ใหม่จ.ฟู้เถาะ ตอนเหนือเวียดนาม ใกล้ชายแดนจีน

 

สมหะทัย ระบุอีกว่า แม้เศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าระหว่างประเทศ แต่เวียดนามยังคงเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับนักลงทุนต่างชาติที่ต้องการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีน โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ ที่มีการใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น และต้องการพื้นที่ที่มีความสะดวกในการขนส่ง 

 

วิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ปีนี้จะเป็นก้าวใหม่ของบริษัทอมตะที่นอกเหนือจากในไทยแล้วยังมีฐานการลงทุนที่สำคัญที่เวียดนามและ สปป.ลาว

 

“โดยเฉพาะ ล่าสุด อมตะอยู่ระหว่างการศึกษาพัฒนานิคมฯ ใหม่ในจังหวัดฟู้เถาะ ทางตอนเหนือของเวียดนาม ใกล้ชายแดนจีน ซึ่งตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญเชื่อมเส้นทางรถไฟจากเวียดนามสู่จีน”

 

WHA สร้างโลจิสติกส์ เซ็นเตอร์แห่งแรกเวียดนามเหนือ จ่อพัฒนาทำเลทองอีก 4,000 ไร่

 

ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งบริษัทไทย ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA จับมือ บริษัท ไดวะ เฮ้าส์ อินดัสทรี จำกัด เปิดศูนย์โลจิสติกส์ดีพีแอลเวียดนามมินห์กวาง (DPL Vietnam Minh Quang) บนพื้นที่โครงการ 70,109 ตร.ม. ภายในนิคมอุตสาหกรรมมินห์กวาง จังหวัด ฮึงเอียน (ห่างจากกรุงฮานอยไปทางทิศตะวันออกราว 40 กิโลเมตร) 

 

โครงการนี้ถือเป็นโครงการโลจิสติกส์ เซ็นเตอร์แห่งแรกของ WHA ในเวียดนามตอนเหนือ นับว่าเป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์เพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจโลจิสติกส์ที่เน้นการรองรับอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูง เช่น อีคอมเมิร์ซ สินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก 

 

โดย จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ย้ำว่า WHA Group ตั้งเป้าหมายรายได้รวม 5 ปีที่ 1.5 แสนล้านบาท โดยวางกลยุทธ์หลักในการขยายความเป็นผู้นำธุรกิจโลจิสติกส์อาเซียน

 

ซึ่งล่าสุดได้อัดงบลงทุนกว่า 1.19 แสนล้านบาท วางแผนสร้างรายได้ให้เติบโตประมาณ 2.9 เท่า โดยหนึ่งในธุรกิจหลักคือโอกาสในการขยายการลงทุนในเวียดนามที่อยู่ระหว่างการขออนุมัติใบอนุญาตลงทุนเพิ่มกับรัฐบาลท้องถิ่นทัญฮว้า (Thanh Hoa) พัฒนาเขตอุตสาหกรรม 2 แห่ง 4,000 ไร่

 

เวียดนามทุ่ม 1.5 พันล้านดอลลาร์ สร้าง Data Center ดึงลงทุนเทค ใหญ่สุดในประเทศ

 

รายงานข่าวระบุอีกว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 มี.ค.2568 กองทุนในเวียดนามเปิดตัวโครงการ Data center มูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งหากแล้วเสร็จจะเป็นแห่งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยมีกำลังการผลิต 150 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสร้างเสร็จภายใน 2 ปี

 

โดยได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุน Saigon Asset Management (SAM) ซึ่งโครงการนี้มีชื่อว่า SAM DigitalHub โดย SAM ได้จับมือเป็นพันธมิตรกับ Vietnam Singapore Industrial Park (VSIP) ซึ่งเป็นผู้พัฒนาเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ได้รับการสนับสนุนจากทั้งสองรัฐบาล โดยได้ซื้อที่ดินขนาด 50 เฮกตาร์ในจังหวัด Binh Duong ทางตอนใต้ภายใน VSIP 

 

นอกจากนี้ SAM ยังวางแผนที่จะจัดตั้งกองทุนมูลค่า 300 ล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล และตั้งเป้าดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามามากขึ้น

 

ทั้งนี้ ตามข้อมูลของนักวิเคราะห์ DC Byte ระบุ หากเทียบการลงทุนเทคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาเลเซียได้กลายมาเป็นผู้นำ Data center โดยมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 80 เมกะวัตต์ในปี 2019 เป็น 3,279 เมกะวัตต์ในปี 2023 

 

จับตาปี 2025 FDI หลั่งไหลไปเวียดนาม

 

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสงครามการค้า (Trade War) เวียดนามได้กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตอาเซียน และมีเป้าหมายที่จะดึงดูดการลงทุนด้านเทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น ไม่แพ้มาเลเซียและไทย 

 

โดยเวียดนามได้วางนโยบายปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย และหวังให้มีการลงทุน Data Center เพิ่มขึ้น กระตุ้นการลงทุนด้านเทคโนโลยีมากขึ้น โดยปีที่ผ่านมา มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) สูงถึง 25,350 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นสถิติใหม่ เพิ่มขึ้น 9.4% จากปีก่อนหน้า

 

สำหรับปีนี้ ข้อมูลจากหน่วยงานการลงทุนจากต่างประเทศ ภายใต้กระทรวงการคลังเวียดนามระบุว่า ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2568 มูลค่าเงินลงทุนจากต่างประเทศในเวียดนามสูงถึงมากกว่า 6.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 35.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

 

“การเพิ่มขึ้นของจำนวนโครงการลงทุนใหม่เป็นเครื่องยืนยันอย่างต่อเนื่องว่าเวียดนามเป็นตลาดการลงทุนที่นักลงทุนต่างชาติให้ความไว้วางใจ รวมถึงมีการขยายโครงการลงทุนที่มีอยู่ ซึ่งปัจจุบันพันธมิตรรายใหญ่ที่สุดของเวียดนามยังคงเป็นเอเชีย โดยอันดับ1 เป็นนักลงทุนเกาหลีใต้”

 

ในช่วง 2 เดือนแรกของปี นักลงทุนชาวเกาหลีได้ลงทุนในเวียดนามมากกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นมากกว่า 21.7% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้น 5.4 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน จากเงินลงทุนเพิ่มเติมของ Samsung Display 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ตามด้วยสิงคโปร์ มูลค่าการลงทุนกว่า 1.48 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 21.4% ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด ลดลง 32.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน รองลงมาคือลงทุนจีน ญี่ปุ่น ไทย ตามลำดับ

 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ในบรรดาเศรษฐกิจในกลุ่ม 11 ประเทศอาเซียน หากพูดถึงคู่แข่งทางการค้าที่สำคัญ หลักๆ ของไทยนั้น มาจาก 6 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย 

 

ทว่า แม้เวียดนามจะมีความเสี่ยงด้านภาษีสูงที่สุดในอาเซียน แต่ปัจจัยพื้นฐานยังคงแข็งแกร่ง โดยคาดว่าจีดีพีเวียดนามปี 68 จะโตถึง 6.5% สูงสุดในอาเซียน จากการย้ายฐานการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) การลงทุนเทคขั้นสูงเข้ามาในประเทศอย่างต่อเนื่อง บวกกับอานิสงส์สงครามการค้า ทรัมป์ 2.0 ปีนี้ 2025 จึงเป็นอีกปีที่น่าจับตาเวียดนาม ว่าที่เสือตัวใหม่แห่งเอเชีย! 

 

ภาพ: Huy thuai, Mongolian chuewong / Getty Images 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising