×

World Bank เพิ่มคาดการณ์ GDP ไทยปีนี้เป็น 3.1% แต่หั่น GDP จีนเหลือ 2.8% ชี้ ‘เวียดนาม’ จ่อขึ้นแท่นผู้นำเศรษฐกิจในภูมิภาค

27.09.2022
  • LOADING...

ธนาคารโลก (World Bank) ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้เป็น 3.1% หนุนโดยการบริโภคในประเทศและการท่องเที่ยวฟื้นตัว ซึ่งเป็นการขยายตัวเร็วกว่าเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะขยายตัว 2.8% ขณะเดียวกัน คาดการณ์ว่าเวียดนามจะกลายเป็นผู้นำเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกในปีนี้ โดย GDP น่าจะขยายตัวถึง 7.2%

 

วันนี้ (27 กันยายน) ธนาคารโลก (World Bank) เปิดตัวรายงานเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ฉบับเดือนตุลาคม 2022 โดยคาดการณ์ว่า การเติบโตตัวของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกทั้งหมด 23 ประเทศจะชะลอตัวเหลือขยายตัว 3.2% ในปีนี้จาก 7.2% ในปีก่อน โดยปัจจัยส่วนใหญ่มาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนในปีนี้ 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


หากไม่รวมจีน การเติบโตตัวของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกคาดว่าจะขยายตัวถึง 5.3% ในปี 2022 จาก 2.6% ในปี 2021 ขณะที่เศรษฐกิจจีนซึ่งครองสัดส่วน 86% ของ GDP ภูมิภาค คาดว่าจะชะลอตัวเหลือ 2.8% ในปีนี้ จาก 8.1% ในปีก่อน

 

รายงานยังระบุว่า การฟื้นตัวของประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคมาจากการบริโภคของภาคเอกชนที่ฟื้นขึ้นมาหลังจากการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตาในปี 2021 และความต้องการจากทั่วโลกสำหรับการส่งออกของภูมิภาคยังคงอยู่ ขณะที่การคุมเข้มนโยบายการเงินหรือการคลังยังคงมีจำกัด

 

สำหรับเศรษฐกิจไทย ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า จะขยายตัว 3.1% ในปีนี้ สูงกว่าคาดการณ์เมื่อเดือนเมษายนที่ 2.9% เนื่องมาจากการบริโภคในประเทศและการท่องเที่ยวกำลังฟื้นตัว 

 

ขณะเดียว ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า เวียดนามจะเป็นผู้นำในภูมิภาคด้วยการเติบโตของ GDP ที่ 7.2% ในปีนี้

 

นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังคาดการณ์ว่า GDP ของฟิลิปปินส์ ไทย และกัมพูชา จะกลับสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาดภายในสิ้นปีนี้

 

ธนาคารโลกยังเตือนอีกว่า มีปัจจัย 3 ประการที่เป็นภัยคุกคามต่อการเติบโตอย่างครอบคลุมและยั่งยืนของภูมิภาคนี้ ได้แก่

 

  1. แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะกดดันความต้องการส่งออก การผลิต และสินค้าโภคภัณฑ์ของภูมิภาค
  2. ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในต่างประเทศยังคงเร่งให้ธนาคารกลางขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้เกิดการไหลออกของเงินทุน การอ่อนค่าของสกุลเงินท้องถิ่น และทำให้ภาระในการชำระหนี้เพิ่มขึ้น
  3. มาตรการเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อและหนี้สินบางประการกำลังบิดเบือนตลาดอาหาร เชื้อเพลิง และการเงิน

 

ขณะที่ อาดิตยา แมตทู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกของธนาคารโลก ยังแนะนำให้รัฐบาลในภูมิภาคใช้มาตรการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมๆ กับการปฏิรูปนโยบายที่ทำให้เกิดการบิดเบือนตลาดที่มีมายาวนาน ตัวอย่างเช่น การใช้มาตรการจ่ายเงินสดให้แก่ประชาชนแทนการควบคุมราคา จะไม่บิดเบือนทางเลือก และสามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายไปยังผู้ที่ต้องการที่สุดได้

 

ในด้านอาหาร รัฐบาลควรหันมาให้ความสำคัญกับจากความมั่นคงด้านอาหารที่เน้น ‘ข้าว’ เป็นหลักไปสู่ ‘ความมั่นคงทางโภชนาการ’ โดยการลดเงินอุดหนุนและอุปสรรคทางการค้าเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมข้าว และหันมาช่วยส่งเสริมการผลิตอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่หลากหลายแทน

 

ในด้านเชื้อเพลิง การตอบสนองนโยบายควรช่วยตอบสนองความต้องการพลังงานราคาไม่แพงในทันที โดยไม่กระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานและความยั่งยืน ตัวอย่างเช่น การส่งเสริมการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนอาจช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาเชื้อเพลิงฟอสซิล และช่วยรัฐบาลบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยมลพิษได้

 

ในด้านการเงิน ควรต้องส่งเสริมความสามารถของภาคการเงินในการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การรายงานคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารอย่างโปร่งใสและทันเวลา จะสามารถช่วยประเมินและจัดการกับความเสี่ยงของการจัดสรรเครดิตที่ผิดพลาดที่เกิดในช่วงการระบาดใหญ่ได้

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising