×

รัฐบาลเวียดนามเร่งพัฒนาคนเก่งเทคโนโลยีขั้นสูง 50,000 คน ป้อนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์

11.03.2024
  • LOADING...

หลังข่าวคราวเหล่าผู้จบจากฮาร์วาร์ดและออกซ์ฟอร์ดเวียดนามหวนคืนถิ่นบ้านเกิดกำลังเป็นจุดเปลี่ยนในการพลิกโฉมเศรษฐกิจเวียดนามอีกครั้ง จากประเทศรับจ้างผลิตราคาถูก ฝันในการเป็น Silicon Valley คงอยู่ไม่ไกล  

 

เมื่อล่าสุดรัฐบาลเวียดนามให้ความสำคัญกับการลงทุนพัฒนาแรงงาน ‘คน’ ในสาขาเทคโนโลยีขั้นสูง อย่างอุตสาหกรรมใหม่, เซมิคอนดักเตอร์, AI, และไฮโดรเจน ขณะนี้เวียดนามกลายเป็นสปอตไลต์ดึงดูด FDI ขึ้นแท่นศูนย์กลางของการลงทุนระหว่างประเทศภูมิภาคอย่างน่าจับตา

 

สำนักข่าว Xinhua รายงานว่า รัฐบาลเวียดนามโดยกระทรวงแผนและการลงทุนของเวียดนาม มีนโยบายผลักดันและพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะเพื่อพัฒนาวิศวกรอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ให้ได้ 50,000 คนภายในปี 2030 โดยศูนย์นวัตกรรมกำหนดวัตถุประสงค์หลักของแผนดังกล่าว คือการจัดหาแรงงานที่มีทักษะให้เพียงพอสำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในเวียดนาม และเพื่อการส่งออกแรงงานไปยังตลาดอื่นๆ ในอนาคต  

 

Vu Quoc Huy ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมแห่งชาติ (NIC) กล่าวว่า ปัจจุบันเวียดนามพึ่งพาซัพพลายเออร์จากต่างประเทศสำหรับผลิตเซมิคอนดักเตอร์ และมีบริษัทในประเทศเพียง 2 แห่งเท่านั้นคือ Viettel High Tech และ FPT Semiconductor ผลิตในขั้นตอนการออกแบบ แต่ขณะนี้เริ่มมีบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ยักษ์ใหญ่จากสหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และประเทศในยุโรปจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ แสดงความสนใจลงทุนในเวียดนาม และบางส่วนเปิดโรงงานในประเทศเวียดนามแล้ว

 

อนาคตจึงต้องการบุคลากรกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น เนื่องจากรายงานการวิจัยตลาดของ Technavio ระบุว่า ตลาดเซมิคอนดักเตอร์ของเวียดนามอาจเติบโตประมาณ 6.5% ต่อปีในช่วงปี 2564-2568 ดังนั้น อนาคตเวียดนามอาจขาดแคลนทรัพยากรแรงงานขั้นสูง จุดนี้จึงถือเป็นความท้าทายที่สำคัญอย่างมากสำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในเวียดนาม

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


 

Hanoi Times ระบุอีกว่า ปีที่ผ่านมา GDP ของเวียดนามสูงถึง 5.05% ถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศเศรษฐกิจที่มีอัตราการเติบโตก้าวกระโดด ด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจมหภาคที่มีเสถียรภาพ สามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ รักษาสมดุลทั้งหนี้สาธารณะ หนี้รัฐบาล หนี้ต่างประเทศ อีกทั้งการขาดดุลงบประมาณของรัฐล้วนอยู่ภายใต้การควบคุม แม้จะมีความยากลำบาก แต่รายรับการคลังก็ดีเกินคาด

 

รวมไปถึงการรักษาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศของเวียดนามกับมหาอำนาจสำคัญๆ เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีน โดยกระชับความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ให้แข็งแกร่งขึ้น ส่งผลให้ภาพลักษณ์ อิทธิพล ชื่อเสียง และสถานะของเวียดนามสูงขึ้นไปอีกระดับ

 

นอกจากนี้ หน่วยงานจัดอันดับระดับโลก เช่น Moody’s และ Fitch Ratings ต่างให้การยอมรับเศรษฐกิจของเวียดนาม และดัชนีนวัตกรรมระดับโลกของ WIPO เวียดนามไต่ระดับขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากอันดับที่ 59 ในปี 2016 มาเป็นอันดับที่ 46 ในปี 2023 อีกทั้งอันดับความน่าเชื่อถือของเวียดนามจาก BB เป็น BB+ และมีแนวโน้ม ‘Stable’

 

ส่งผลให้เวียดนามกลายเป็นสปอตไลต์เศรษฐกิจโลก และเป็นจุดศูนย์กลางของการลงทุนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น อุตสาหกรรม 4.0, ชิปเซมิคอนดักเตอร์, AI และไฮโดรเจน แม้จะมีความท้าทายด้านการลงทุน แต่เวียดนามสามารถดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ได้มากกว่า 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2023 โดยมีการเบิกจ่ายเป็นประวัติการณ์ที่ 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ 

 

Le Hong Hiep นักวิชาการอาวุโสของสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ในสิงคโปร์ และอดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม กล่าวว่า เมื่อพลิกดูนโยบายด้านเศรษฐกิจของประเทศเวียดนามในขณะนี้จะเห็นได้ว่า หนึ่งในเป้าหมายหลักของการพัฒนาประเทศคือการยกระดับขีดความสามารถการผลิตที่ตอบโจทย์กระแสการกระจายห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ในปัจจุบัน โดยนักวิชาการอาวุโสรายนี้มองว่า อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์คือหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สำคัญมาก ที่สามารถช่วยให้เวียดนามเปลี่ยนแปลงไปสู่ชาติเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วและมีรายได้สูงภายในปี 2045 ซึ่งเมื่อพิจารณาแค่ในแง่ของกรอบเวลากับการกำหนดกลยุทธ์ เวียดนามสามารถพัฒนาเพื่อตอบโจทย์การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ได้แน่นอน 

 

เรียกได้ว่าเมื่อมองเผินๆ ในภาพรวมแล้ว เป้าหมายด้านชิปของเวียดนามดูเหมือนจะเฟื่องฟูท่ามกลางเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามา 

 

อย่างไรก็ตาม หากมองท่าทีของผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลกอย่าง NVIDIA กลับยังรู้สึกได้ว่า เวียดนามยังมีปัจจัยที่ไม่เอื้อต่อการผลิตเซมิคอนดักเตอร์อย่างถาวรในระยะยาว ยกตัวอย่างเช่น แรงงานวิศวกรที่ปัจจุบันมีอยู่ราว 5,000 คนต่อปีที่ได้รับการฝึกอบรมในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ แต่สภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (US-ASEAN Business Council) ประเมินว่า ถ้าเวียดนามต้องการจะเป็นฐานการผลิต ต้องใช้แรงงานวิศวกรอย่างน้อย 20,000 คนต่อปี และต้องผลิตคนให้ได้จำนวนดังกล่าวภายใน 5 ปีข้างหน้า 

 

Zachary Abuza ศาสตราจารย์แห่งวิทยาลัย National War College ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งมุ่งเน้นการศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่า บริษัทต่างชาติส่วนใหญ่แสดงความเห็นว่า จากเอกสารบนหน้ากระดาษทำให้เวียดนามมีความน่าสนใจ แต่เมื่อมองลึกถึงความเป็นจริงในแง่ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน ความพร้อมของพลังงาน และทรัพยากรมนุษย์ Abuza ไม่คิดว่าเวียดนามจะเป็นผู้ผลิตที่ตอบโจทย์บริษัทต่างชาติได้อย่างที่คิดไว้ 

 

กระนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าเวียดนามจะไม่สามารถเป็นฐานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลกที่น่าสนใจได้ เนื่องจากเวียดนามยังมีเงื่อนไขที่ตอบโจทย์อยู่ นั่นคือความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐฯ ในฐานะชาติพันธมิตร ซึ่งรวมถึงสิทธิพิเศษทางการค้าที่หาไม่ได้ในประเทศอื่นๆ อีกทั้งสหรัฐฯ เองยังมีนโยบายสนับสนุนเต็มที่ ทำให้ไม่น่าแปลกใจที่บริษัทชิปในสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งจะประกาศแผนการตั้งฐานการผลิตในเวียดนาม 

 

ยกตัวอย่างเช่น Amkor จากรัฐแอริโซนา จะเริ่มดำเนินการผลิตที่โรงงานชิปมูลค่า 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐทางตอนเหนือของเวียดนามในเดือนตุลาคมนี้ ในขณะที่ Marvell ผู้ผลิตชิปซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในเดลาแวร์ประกาศเมื่อเดือนพฤษภาคมว่าจะสร้างศูนย์ออกแบบเซมิคอนดักเตอร์ในเวียดนาม

 

นอกจากนี้ Samsung บริษัทเกาหลีใต้ ก็ประกาศทุ่มลงทุน 3.3 พันล้านดอลลาร์เพื่อผลิตส่วนประกอบเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศเวียดนาม และ Hana Micron Vina ซึ่งเชี่ยวชาญด้านบรรจุภัณฑ์ชิปและผลิตภัณฑ์หน่วยความจำ กำลังสร้างโรงงานแห่งที่สองในเวียดนาม และวางแผนที่จะลงทุน 1 พันล้านดอลลาร์ในประเทศเวียดนามภายในปี 2025

 

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า แม้จะขาดแคลนคน แต่เวียดนามก็ได้เปรียบในเรื่องของจำนวนคนหนุ่มสาวที่กระตือรือร้นในการเข้าเรียนสาย STEM ซึ่งเป็นสายทักษะแรงงานในอนาคต และเป็นสายที่คนหนุ่มสาวเวียดนามมองว่า สามารถทำเงินเข้ากระเป๋าได้อย่างมหาศาล บวกกับการที่หลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ และยุโรป ต่างให้การสนับสนุนในการจัดคอร์สฝึกอบรมพัฒนาทักษะแรงงาน และความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาของเวียดนามกับประเทศต่างๆ ในสหรัฐฯ และภูมิภาคยุโรป 

 

ขณะที่ปัญหาในแง่ของเสถียรภาพด้านพลังงานซึ่งไม่ค่อยเพียงพอ ทำให้เกิดไฟฟ้าดับบ่อยครั้ง และเป็นปัญหาเสียหายต่อสายการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ ทางรัฐบาลก็ประกาศหนักแน่นในการเร่งเครื่องเดินหน้ายกระดับโครงสร้างพื้นฐานการผลิตพลังงาน การจัดเก็บและการกระจาย เพื่อป้องกันปัญหาขาดแคลนพลังงาน โดยหลายฝ่ายเตือนว่า หากเวียดนามยังไม่สามารถจัดการกับช่องว่างด้านพลังงานนี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม การลงทุนในด้านการผลิตเซมิคอนดักเตอร์อาจไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่เวียดนามคาดการณ์ไว้ 

 

ภาพ: Mathisworks / Getty Images 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X