×

สัมภาษณ์ Victor Sanz ครีเอทีฟไดเรกเตอร์แบรนด์ TUMI ที่ทำงานมานาน 2 ทศวรรษ

30.12.2023
  • LOADING...
Victor Sanz

เมื่อพูดถึงตำแหน่ง ‘ครีเอทีฟไดเรกเตอร์’ ของแบรนด์ลักชัวรี หลายคนก็คงนึกถึงดีไซเนอร์ที่โชว์ผลงานคอลเล็กชันตาม Fashion Week รอบโลกที่เป็นเซเลบริตี้ดาราในตัว แต่กับแบรนด์อย่าง TUMI เชื่อว่าหลายคนก็คงรู้จักในฐานะแบรนด์กระเป๋าเดินทางสุดพรีเมียมระดับโลก

 

แต่ในความเป็นจริงแล้ว TUMI เองก็มีครีเอทีฟไดเรกเตอร์มือฉมังอย่าง Victor Sanz ที่อยู่กับแบรนด์มานาน 20 ปี ผู้ผลักดันและพัฒนาผลงานดีไซน์และขอบเขตความเป็นไปได้ด้านฟังก์ชันสินค้า เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของคนยุคปัจจุบัน พร้อมกับทำให้ TUMI ยังร่วมสมัยและไม่ล้าหลัง

 

ล่าสุด THE STANDARD POP ได้มีโอกาสร่วมทริปเดินทางไปยังกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อไปร่วมงานเปิดตัวโฉมใหม่ร้าน TUMI สาขาโอโมเตะซันโด ที่นับเป็นแฟลกชิปสโตร์โซนเอเชีย-แปซิฟิก พร้อมทั้งยังได้สัมภาษณ์ พูดคุย และทำความรู้จักกับ Victor Sanz ด้วย

 

 

อธิบายหน้าที่ของคุณในฐานะ Creative Director ของแบรนด์ TUMI ให้ฟังหน่อย

 

Victor Sanz: บทบาทของผมที่ TUMI คือการผลักดันแบรนด์ไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง มองความต้องการของลูกค้าและความต้องการของธุรกิจ เพื่อรวมเข้าด้วยกันในการสร้างสรรค์คอลเล็กชันใหม่ สร้างประสบการณ์ใหม่ หมวดหมู่สินค้าใหม่ และยกระดับชีวิตของลูกค้าของเรา โดยหากมองถึงความแตกต่างของผมและครีเอทีฟไดเรกเตอร์ในวงการอื่นๆ ผมมองว่าผลิตภัณฑ์ TUMI ต้องตอบโจทย์เรื่องฟังก์ชันเป็นอย่างแรกก่อน แล้วค่อยเสริมด้วยเรื่องสไตล์เข้าไป ซึ่งแปลว่าทุกไอเท็มไม่เพียงแต่ต้องดูสวย แต่ยังต้องใช้งานได้ในระดับที่สูงมากอีกด้วย 

 

ดังนั้นผมเลยต้องใช้ความคิดและมันสมองหลายด้านที่ไม่ใช่เพียงความคิดสร้างสรรค์ แต่ต้องคิดเป็นเหมือนวิศวกรควบคู่กับการเป็นนักธุรกิจ เพื่อนำมาประกอบเป็นแต่ละไอเท็มที่ดีไซน์

 

หลายคนมองว่า TUMI เป็นแบรนด์กระเป๋าเดินทาง แต่พอเดินเข้ามาในร้านก็จะพบว่ามีสินค้าหมวดอื่นมากมาย เลยอยากให้คุณนิยาม TUMI ในความคิดของคุณ

 

Victor Sanz: ผมจะนิยาม TUMI ว่าเป็น ‘Performance Luxury Lifestyle Brand’ โดยผมก็เห็นด้วยนะว่าพอพูดชื่อ TUMI หลายคนก็จะนึกถึงกระเป๋าเดินทางสีดำสุดคลาสสิก ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของดีเอ็นเอและประวัติความเป็นมาของแบรนด์ที่เราภูมิใจมาก เพราะเป็นอะไรที่คนจำได้ทันที ซึ่งก็ไม่ง่ายเลยในโลกของดีไซน์ แต่มาวันนี้เราก็ได้วิวัฒนาการตัวเองที่มากไปกว่าแค่สินค้าสำหรับสนามบิน แต่มาวันนี้เรามีสินค้าที่สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวันตั้งแต่เช้าไปทำงาน จนไปเจอเพื่อนหรือครอบครัวช่วงกินข้าวเย็นหรือไปดื่มค็อกเทล

 

มากไปกว่านั้น ทุกวันนี้เราก็ได้ขยายไปสู่ไอเท็มที่ไม่ได้ตรงตัวกับไลฟ์สไตล์การเดินทาง น้ำหอม เครื่องใช้ไฟฟ้า เคสโทรศัพท์ แอ็กเซสซอรีเครื่องหนัง หรือแม้แต่แว่นตา แต่ทุกอย่างก็ยังคงเรื่องของการตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้

 

 

คุณต้องศึกษาเทรนด์ของโลกโซเชียลมีเดียมากน้อยขนาดไหนเวลาจะดีไซน์ไอเท็มใหม่

 

Victor Sanz: แน่นอน ผมและทีมงานที่ TUMI รับรู้ถึงเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นในโซเชียลมีเดียและอะไรกำลังเป็นที่พูดถึง แต่สำหรับเราแล้ว เราสนใจมากกว่าสินค้าอะไรจะอยู่ได้นานจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งเราไม่ได้สนใจที่จะผลิตสินค้าแค่เพราะเข้ากับเทรนด์ในช่วงนั้นๆ เพราะมันก็อาจจะอยู่ไม่ได้นาน เราเลยต้องหาบาลานซ์ที่ลงตัว เพื่อที่จะสร้างสรรค์สินค้าที่ดูร่วมสมัย เช่น สีและวัสดุ แต่ลูกค้าก็สามารถใช้ได้ในอีก 5-10 ปี

 

คุณหาแรงบันดาลใจจากที่ไหน

 

Victor Sanz: ผมเดินทางบ่อยมาก ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีพอที่ต้องดีไซน์ไอเท็มให้กับแบรนด์ที่โฟกัสเรื่องการเดินทางเป็นหลัก แต่ถ้าให้พูดถึงแรงบันดาลใจจริงๆ แล้วมันก็มาจากทั้งการได้ทำงานกับทีมออกแบบ การได้เดินทางไปทั่วโลกเพื่อไปแบ่งปันเรื่องราว การพบปะผู้คน เช่น ตัวคุณเอง การได้เห็นว่าชีวิตของคุณเป็นอย่างไร และการได้เห็นว่าสถานที่ต่างๆ มีวัฒนธรรมและผู้คนที่ต่างกันแบบไหน 

 

และเหตุผลที่ผมและทีม TUMI มีแรงบันดาลใจที่หลากหลายในแต่ละซีซันก็เนื่องจากมีลูกค้าอยู่ทั่วโลก เราไม่ได้ออกแบบแค่สำหรับลูกค้าที่อยู่นิวยอร์กเท่านั้น แต่เราดีไซน์ให้คนที่จะเดินทางไปนิวยอร์กหรือคนที่มาจากโตเกียว ออสเตรเลีย หรือมาจากเมืองเล็กๆ กลางสหรัฐอเมริกา ซึ่งตอนดีไซน์ผมเลยไม่เคยนึกถึงแค่ใครคนใดคนหนึ่งหรือแค่เมืองเดียว แต่คิดถึงรอบโลกจริงๆ 

 

TUMI วางเกมด้านการสร้าง Brand Awareness ผ่านแอมบาสเดอร์และอินฟลูเอ็นเซอร์อย่างไรท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

 

Victor Sanz: การที่ TUMI เป็นแบรนด์ระดับโลก เราสามารถเชื่อมโยงกับคนหลากหลายประเภทและวัฒนธรรม ซึ่งกับแอมบาสเดอร์และ KOL ที่เราเลือกใช้ สิ่งหนึ่งที่เรากำหนดไว้เสมอคือ พวกเขาต้องมีความ Authentic เป็นคนที่รักแบรนด์ของเรา เคยใช้สินค้าของเรา และมีไลฟ์สไตล์ที่สะท้อนความเป็น TUMI ซึ่งพอผมได้ร่วมงานกับบุคคลเหล่านี้ ผมก็ได้เข้าใจพวกเขามากขึ้นและได้ยินเรื่องราวการเดินทางไม่ว่าจะเป็นดีเจที่เดินทางปีละ 300 วัน หรือจะเป็น Son Heung Min แอมบาสเดอร์ของเราที่คุณเห็นในภาพแคมเปญหน้าร้าน ซึ่งจากการได้เรียนรู้เรื่องการเดินทางของเขา ผมก็ไม่ได้เข้าใจเพียงในมุมมองของการเป็นนักกีฬาเท่านั้น แต่เขาก็เป็นนักธุรกิจด้วย หรือมีด้านของการไปเยี่ยมครอบครัวอยู่เป็นประจำ ซึ่งพอเราได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกัน ผมและทีม TUMI ก็จะรู้ว่าเราควรปรับไอเท็มอย่างไรที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของเขาและที่เป็นความต้องการของคนทั่วโลกด้วย

 

จากซ้าย: Collaboration พิเศษกับ McLaren, Staples และ Missoni

 

คุณเลือกแบรนด์ที่จะมา Collaboration กับ TUMI อย่างไร

 

Victor Sanz: ผมต้องบอกก่อนว่า TUMI เริ่มทำ Collaboration มานานมากก่อนที่จะกลายเป็นเทรนด์ที่เราเห็นกันทุกวันนี้ โดยผมยังจำได้ดีถึงโปรเจกต์แรกที่ทำกับศิลปินชื่อดัง Anish Kapoor ก่อนที่ต่อมาเราจะได้ร่วมงานกับทั้งดีเจ นักออกแบบเครื่องประดับ เหล่าแฟชั่นนิสต้า หรือจะเป็นช่วงปีหลังๆ ที่ทำงานกับแบรนด์อย่าง Missoni, Staples และ McLaren ซึ่งก็เห็นได้ชัดว่าคนที่เราทำงานด้วยก็มีหลากหลาย โดยหากถามว่าทำไมเราถึงร่วมงานกับแบรนด์หรือคนพวกนี้ ก็เพราะความ Authentic และการที่พวกเขาเคยใช้สินค้าของเราด้วย 

 

หลายครั้งก็เป็นพวกเขาเดินเข้ามาหาเราก่อน เราเดินเข้าไปหาเขา หรือเดินมาเจอพร้อมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่สวยงาม เพราะเราสามารถมานั่งคุยกันและสร้างคอลเล็กชันที่ไฮไลต์ทั้งสองฝ่ายได้ดี ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ผมมองว่าสำคัญ เพราะเราไม่อยากให้ใครเด่นกว่าใคร และสามารถเป็นคอลเล็กชันที่โชว์ Identity ของแต่ละคน และโชว์การมารวมตัวเพื่อสร้างอะไรใหม่ๆ

 

ช่วยเล่าถึงผลงานประติมากรรม 3 มิติที่อยู่ใจกลางร้าน TUMI สาขาโอโมเตะซันโด ให้ฟังหน่อย

 

Victor Sanz: เพราะร้าน TUMI สาขาโอโมเตะซันโด ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็นแฟลกชิปสโตร์ของเราสำหรับโซนเอเชีย-แปซิฟิก ผมเลยอยากให้ร้านนี้มีจุดเชื่อมโยงที่เห็นได้ชัดกับตัวสินค้าของเรา ซึ่งด้านหน้าร้านคุณก็จะเห็นดีไซน์การนำชิ้นอะลูมิเนียมเป็นซีกๆ มาตกแต่งที่สะท้อนดีไซน์ของไลน์สินค้า 19 Degree Aluminium โดยต่อมาเราก็อยากมีผลงานศิลปะสักชิ้นที่แตกต่างและจะช่วยยกระดับความสวยงามของสเปซในร้าน เราเลยตัดสินใจร่วมงานกับ Michael Murphy อีกครั้ง หลังเคยทำงานกับเขามาแล้วสำหรับป๊อปอัพที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ โดยผลงานชิ้นที่ร้านโอโมเตะซันโดเราจะเห็นว่าพอดูจากมุมหนึ่งมันก็ชัดเจนว่าเป็นอะไร แต่พอคุณหมุนรอบตัวมัน สิ่งที่คุณเห็นก็จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่งคุณก็จะเห็นเป็นรูปกระเป๋าเดินทาง 19 Degree ด้วย

 

ร้าน TUMI สาขาโอโมเตะซันโด

 

ผลงานประติมากรรม 3 มิติของ Michael Murphy

 

คุณเคยมีโอกาสได้ไปประเทศไทยไหม และชอบอะไรในประเทศไทยมากที่สุด

 

Victor Sanz: ผมเคยได้ไปประเทศไทยหลายครั้งแล้ว ซึ่งมันอาจดูเป็นคำตอบที่เชย แต่ผมต้องยกให้เรื่องอาหารเป็นที่หนึ่งเกี่ยวกับประเทศของคุณ เพราะมันสุดยอดมาก โดยผมก็เติบโตมากับคุณพ่อที่เป็นเชฟชาวสเปน ซึ่งด้วยวัฒนธรรมของเรา เราเลยสนใจเรื่องอาหารเสมอ มีอยู่ครั้งหนึ่งผมจำได้ว่าเคยไปกินอาหารไทยที่ประเทศไทย และมันมีความ Authentic มาก คือมันไม่ใช่ที่เคยกินตามร้านอาหารในแถบอเมริกาเหนือเลย แถมหนึ่งในเพื่อนสนิทของผมและครอบครัวของเขาก็เคยเปิดร้านอาหารที่ประเทศไทยชื่อ Face ผมเลยจำได้ดีถึงเรื่องอาหารที่ประเทศไทย

 

อะไรเป็นสิ่งที่คุณประทับใจที่สุดกับการได้ทำงานที่ TUMI มานานกว่า 20 ปีแล้ว

 

Victor Sanz: เป็นคำถามที่ดี ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาผมได้เห็นวิวัฒนาการของแบรนด์ โดยเฉพาะเรื่องความยั่งยืนที่เราให้ความสำคัญมากและอยากสร้างสรรค์สินค้าที่จะอยู่ได้ไปอีกหลายรุ่น ซึ่งทุกวันนี้ผมยังได้เห็นหลายสินค้าที่ดีไซน์ตั้งแต่สมัยแรกที่มาทำงานที่ TUMI อยู่เลย โดยเรื่องความยั่งยืนและการทำสินค้าที่อยู่ได้เป็นสิบๆ ปีเป็นอะไรที่เราใส่ใจและไม่ได้ทำแค่เพื่อติ๊กช่องถูกในการตามเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งมันก็ท้าทายเรามากอยู่เหมือนกัน เพราะอย่างเช่นถ้าจะให้เราทำสินค้าจากวัสดุรีไซเคิล เราก็ยังอยากให้สินค้านั้นใช้ได้นานจริงๆ และไม่ใช่ว่าใช้ไปได้สักพักเดียวก็พัง ซึ่งวัสดุรีไซเคิลบางอย่างที่เราใช้ก็ต้องมีการศึกษากว่า 2 ปี เพื่อให้มั่นใจว่าผ่านมาตรฐานทั้งหมด อย่างเช่น ในไลน์ 19 Degree เราก็ใช้โพลีคาร์บอเนตที่ถูกรีไซเคิล หรือจะซับใน (Lining) ในกระเป๋าหลายรุ่นก็ทำมาจากวัสดุรีไซเคิลเช่นกัน

 

อะไรคือคำแนะนำที่คุณมีต่อเด็กรุ่นใหม่ที่อยากมาเป็นครีเอทีฟไดเรกเตอร์เหมือนคุณ

 

Victor Sanz: จงอย่าหยุดเรียนรู้เรื่องศาสตร์ของคุณ และจำไว้ว่าโอกาสและความสำเร็จมักไม่ได้ถูกเสิร์ฟมาให้บนถาดเงินทันที เพราะผมคิดว่าด้วยโซเชียลมีเดียและความเร็วของมัน หลายคนก็จะชอบคิดว่าทุกอย่างได้มาง่ายดาย แต่มันไม่ใช่อย่างนั้นเลย และคุณต้องใฝ่หาความรู้อยู่เสมอ อย่างเช่น ตอนผมช่วยดีไซน์กระเป๋า 19 Degree ผมไม่ได้ทำแค่เพื่อความสวยงามแบบเปลือกนอกเท่านั้น แต่มันคือบททดสอบในด้านวิศวกรรมอย่างหนึ่งที่ผมต้องเรียนรู้ ตั้งแต่ดีเทลการล็อกกระเป๋าว่าตัวแม็กเน็ตจะใช้งานอย่างไรและต้องใช้แรงกดมากน้อยขนาดไหน โดยผมก็ต้องไปพูดคุยกับหลายฝ่ายเพื่อหาคำตอบ ซึ่งผมก็แนะนำให้คุณต้องกล้าถามคำถามจากคนอื่นและให้พวกเขาได้อธิบายให้คุณเข้าใจมัน แถมอย่าลืมที่จะเป็นคนจิตใจดีกับคนรอบตัวคุณและโลกใบนี้ที่คุณอยู่ด้วย

 

ภาพ: TUMI

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X