×

20 มีนาคม วัน ‘วสันตวิษุวัต’ เวลากลางวันยาวเท่ากลางคืน

19.03.2024
  • LOADING...

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (National Astronomical Research Institute of Thailand: NARIT) เผยแพร่ข้อมูล ระบุว่าวันพรุ่งนี้ (20 มีนาคม) จะถือเป็นวัน ‘วสันตวิษุวัต (Vernal Equinox)’ หรือวันที่ช่วงเวลากลางวัน ยาวเท่ากับเวลากลางคืน โดยดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี 

 

คำว่า Equinox นั้นมีรากศัพท์มาจากภาษาละติน 2 คำ คือ Aequus ที่แปลว่า เท่ากัน และ Nox แปลว่า กลางคืน ดังนั้น Equinox จึงหมายถึงวันที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน ตรงกับคำว่า วิษุวัต ที่แปลว่า ‘จุดราตรีเสมอภาค’ หรือจุดที่ดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลกพอดี 

 

โดยวันที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากันนี้จะเกิดขึ้นเพียง 2 ครั้งต่อปี คือในช่วงเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ เรียกว่า วันวสันตวิษุวัต และในช่วงเริ่มต้นฤดูใบไม้ร่วง เรียกว่า วันศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox)

 

ปกติแล้วในแต่ละวันดวงอาทิตย์จะปรากฏในตำแหน่งต่างกัน เปลี่ยนตำแหน่งไปประมาณวันละ 1 องศา และตั้งแต่เดือนธันวาคมดวงอาทิตย์จะเคลื่อนจากจุดใต้สุดขึ้นมาทางเหนือเรื่อยๆ จนถึงตำแหน่งที่ตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลก 

 

โดยในวันที่ 20 มีนาคมนี้ ดวงอาทิตย์จะขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออก และจะตกทางทิศตะวันตกพอดี สำหรับประเทศไทย ดวงอาทิตย์จะขึ้นในเวลาประมาณ 06.22 น. และตกลับขอบฟ้าเวลาประมาณ 18.28 น. (เวลา ณ กรุงเทพมหานคร) นับเป็นวันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเริ่มต้นฤดูใบไม้ร่วงของประเทศในซีกโลกใต้ 

 

การที่แกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้พื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกได้รับแสงอาทิตย์ในปริมาณไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณหภูมิต่างกัน รวมถึงระยะเวลากลางวันและกลางคืนก็ต่างกัน ด้วยเหตุนี้ทำให้เกิดฤดูกาลต่างๆ ขึ้นบนโลก

 

สำหรับปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ในครั้งถัดไปตรงกับวันที่ 21 มิถุนายน เป็นวันครีษมายัน (Summer Solstice) ที่ช่วงเวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี และนับเป็นวันเริ่มต้นฤดูร้อนของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเริ่มต้นฤดูหนาวของประเทศในซีกโลกใต้ 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X